วันที่ 28 สิงหาคม 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า จากกรณีการแสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติ ไม่มีสีน้ำเงิน เมื่อปี 2564 โดย ‘รามิล’ หรือ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ และ ‘เท็น’ หรือ ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ สองนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่มศิลปิน Artn’t โดยศาลเชียงใหม่พิพากษาตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 สั่งจำคุกรวม 3 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 1,500 บาท ให้รอลงอาญา 3 ปี คุมประพฤติ 2 ปี ผู้กล่าวหาคดีนี้คือ พันตำรวจโทอานนท์ เชิดชูตระกูลทอง และ นายศรีสุวรรณ จรรยา
สืบเนื่องจากการแสดงงานศิลปะที่มีลักษณะคล้ายธงชาติ แต่ไม่มีแถบสีน้ำเงิน และใช้พลาสติกใสห่อหุ้มหุ่นกระบอกแทนที่ ในงานกิจกรรมชุมนุมขับไล่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บริเวณสนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 ตามคำร้องกล่าวหาคดีโดย พ.ต.ท.อานนท์ และนายศรีสุวรรณ ที่ สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ จากนั้นทั้งสองนักศึกษาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่จึงสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 18 มกราคม 2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมว่า จำเลยทั้งสองและทนายจำเลยเดินทางมาศาล โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนนักศึกษา เพื่อนศิลปิน ร่วมเดินทางมาให้กำลังใจ และติดตามคดี
ศาลพิจารณาจากพยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ผู้เห็นเหตุการณ์ 3 ปาก พบชาย 2 คนถือวัสดุคล้ายธงชาติไปวางไว้ มีประชาชนมาร่วมเขียนข้อความหลายคน โดยศาลเห็นว่า วัสดุดังกล่าวใกล้เคียงกับลักษณะของธงชาติ ความจากพยานโจทก์ให้การว่า จำเลยชูวัสดุดังกล่าวในช่วงที่มีการเปิดเพลงและเคารพธงชาติ แม้จำเลยทั้งสองจะให้การปฏิเสธ ไม่ได้มีเจตนาทำผลงานคล้ายธงชาติ และชูขึ้นเพียงเพื่อพับเก็บเท่านั้น แต่ภาพถ่ายพยานหลักฐานในคดี บางภาพเห็นการเคลื่อนที่ของจำเลยและวัสดุคล้ายธงชาติ ดูไม่เหมือนลักษณะการพับเก็บตามที่จำเลยอ้าง
ส่วนข้อความบนวัสดุ มีการกล่าวถึงคำว่า ‘Revolution Flag’ ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับธง จึงทำให้เข้าใจไปได้ว่าวัสดุดังกล่าวมีลักษณะคล้ายธงชาติ เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522
นอกจากนั้น บนวัสดุคล้ายธงชาติ พื้นที่ตรงกลางบริเวณสีน้ำเงินถูกแทนที่ด้วยพลาสติกใสห่อหุ้มด้วยหุ่นกระบอก ซึ่งเป็นพื้นที่อันหมายถึงพระมหากษัตริย์ในธงชาติไทย ศาลจึงพิจารณาเห็นว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของพระมหากษัตริย์ กอปรด้วยข้อความหลายข้อความที่ปรากฏบนวัสดุ ซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรมให้ประชาชนได้นำปากกามาเขียนข้อความต่างๆ บนวัสดุ
ศาลพิจารณาเห็นว่า องค์ประกอบต่างๆ ทำให้บุคคลย่อมทราบและเข้าใจความหมายได้ว่า “ให้พระมหากษัตริย์หยุดได้แล้ว” จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าใจความหมาย และข้อความปรากฏเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพ จึงเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลพิจารณาว่าอาจเห็นข้อความได้ไม่ชัด ถึงจะมีข้อความอื่นๆ ประกอบแต่ก็เป็นตัวอักษรขนาดเล็ก จึงไม่เข้าข่ายความผิดในกรณีนี้ อย่างไรก็ดี จากคำฟ้องของโจทก์ บรรยายถึงการกระทำที่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 หลายประการ ทำให้ศาลเห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้ลงโทษเป็นกระทงความผิดตามมาตรา 112 จำคุก 4 ปี และความผิดตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 51 ให้ลงโทษจำคุก 8 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท
จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง จึงลดโทษให้ 1 ใน 4 ของข้อหาเหลือโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 1,500 บาท และเห็นว่าทั้งสองยังเป็นนักศึกษาใกล้สำเร็จการศึกษาแล้ว โดยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี คุมประพฤติอีก 2 ปี และรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานทั้งหมด 8 ครั้ง