ภาพประกอบ: Shhhh
รัฐประหาร [รัดถะปฺระหาน, รัดปฺระหาน] น. การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน.
ครั้งหนึ่ง รัฐประหารเป็นวิธีที่ได้ผลต่อการโค่นล้มรัฐบาลชุดปัจจุบันในเวลานั้น
ใช่ ในยุคสงครามเย็น รัฐประหารโดยใช้กำลังทหารเป็นวิธีที่นิยมกันมากในหลายประเทศ และเมื่อปีนี้คือ ปี 2017 โลกก้าวผ่านมาสู่ศตวรรษที่ 21 และพ้นยุคสงครามเย็นมาได้สักพักใหญ่ๆ รัฐประหารจึงเป็นสิ่งที่ล้าสมัย โบราณ ตกยุค เกือบทั้งโลกเบือนหน้าหนีการใช้กำลังที่ไม่ได้พาชาติก้าวหน้าไปข้างหลังนี้แบบแทบไม่ชายตามอง
และไม่ใช่แม้แต่จะเป็น ‘ทางเลือกสุดท้าย’ ที่ผู้เจริญแล้วใช้เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองการปกครอง
ซึ่งเจ้าของสถิติโลกการรัฐประหาร 13 ครั้งของไทย คงอยู่ในเกณฑ์ยกเว้นด้วยเหตุผลนานาประการ คำเรียกหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมกับคณะรัฐประหารว่าเป็น ‘ผู้ก่อการรัก’ คงสะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง ซึ่งในกรณีนี้ เรากำลังพูดถึงการรัฐประหารทั่วโลก ยกเว้นไทย ดินแดนเหนือจริงที่อยู่ในระดับ ‘BEYOND’ …
กระนั้นก็ตาม รัฐประหารยังเป็นที่ฮอตฮิตอยู่บ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ยากจน กองทัพเป็นใหญ่ ข้าไพร่ประชาชนเป็นรอง ที่น่าแปลกและชวนให้สงสัยคือ ทั้งๆ ที่อยู่คนละฟากโลก แต่กลับมีดีเอ็นเอเดียวกันราวพี่น้อง เพราะกระบวนการ วิทยายุทธ์ หรือคำมั่นสัญญา ของแต่ละกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหารมีความคล้ายกัน ราวกับเป็น ขนบธรรมเนียมของการก่อรัฐประหารโดยทหาร
อ้างอิงจากประเทศ ‘BEYOND’ ในวาระครบรอบ 11 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นหลักหมุดสำคัญของรัฐประหารหลังศตวรรษที่ 21 WAY ขอหยิบยกบางประเทศที่ก่อรัฐประหารโดยทหารในศตวรรษที่ 21 มาคลี่ดูว่ามีดีเอ็นเอ ลักษณะทางพันธุกรรม เหมือนกันอย่างไร
โดยเฉพาะความคล้ายคลึงในคติโบราณเรื่อง ‘ทำเพื่อชาติ’ และ ‘กำจัดคนไม่ดีให้หมดไป’ และ ‘ผู้นำคนเดิมกำลังทำลายชาติของเรา’ และ ‘จะคืนอำนาจให้เร็วที่สุด’
ปากีสถาน: รัฐประหารปี 1999
อาจไม่ใช่การรัฐประหารที่อยู่ในศตวรรษที่ 21 แต่นับว่าเกิดขึ้นใกล้เคียงกับการข้ามศตวรรษใหม่ช่วงปลายปี 1999 ถ้าจะไม่หยิบยกมาพูดถึง ก็ดูเหมือนจะใจร้ายไปสักนิด
หมุนเวลากลับไปวันที่ 12 ตุลาคม 1999 เวลาตี 2.50 (ตามเวลาท้องถิ่น) กองทหารปากีสถานบุกเข้าไปยังบ้านของนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชาริฟ (Nawaz Sharif) พร้อมกันนั้นยังสั่งปิดสนามบิน ห้ามทุกสายการบินทุกไฟลท์ขึ้นและลง รวมถึงเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ห้ามฉายรายการใดๆ ทั้งสิ้น เหตุผลเพราะว่า ผู้บัญชาการทหารบก พลเอกเปอร์เวซ มูชาราฟ (Pervez Musharraf) ผู้นำการรัฐประหาร จะนั่งโต๊ะแถลงสาเหตุการรัฐประหาร และต้องมีการถ่ายทอดสดทุกช่อง ซึ่งเป็นการสื่อสารให้คนทั้งประเทศรับรู้ถึงการยึดอำนาจได้รวดเร็ว เข้าถึงทุกจอแก้วในทุกหลังคาเรือน – ช่างคล้ายคลึงแท้ๆ
ในฐานะที่เป็นผู้ปรารถนาดีต่อประเทศ เมื่อชาติอยู่ในความวุ่นวายและความไม่แน่นอน จึงไม่อาจนิ่งเฉยนอนดูดายให้ประเทศถูกย่ำยีไปมากกว่านี้ มูชาราฟอ้างว่า รัฐบาลชาริฟกำลังทำลายสถาบันกองทัพและสถาบันทางการเมือง อืม อีกทั้งยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานในแคชเมียร์ได้ เขาจึงเสนอตัวเองเป็นผู้ดูแล ขอตำแหน่งผู้นำเพื่อไปสะสางปัญหานี้แทน
ดูเหมือนว่าเหล่าผู้ปรารถนาดีต่อประเทศของปากีสถานจะไม่ได้มีแค่มูชาราฟคนเดียว เพราะการรัฐประหารครั้งนี้ไม่มีประชาชนออกมาประท้วง แถมยังมีการจัดงานเฉลิมฉลองในวาระที่นายกรัฐมนตรีชาริฟพ้นจากตำแหน่งอีกด้วย อืม…
นาวาซ ชาริฟ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1997 ชนะขาดลอยเหนือแคนดิเดตทุกคน แต่ความนิยมของเขาก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จากปัญหารุมเร้ารอบตัวอย่างเรื่องปากท้องชาวบ้านและความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้งแคชเมียร์
อย่างไรก็ตาม รัฐประหารครั้งนี้ หลายคนมองว่า มูชาราฟตัดสินใจทำเพราะล่วงรู้มาว่า ชาริฟกำลังจะปลดตัวเองออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก จึงต้องรีบชิงจัดการเสียก่อน
เวลาผ่านไปแปดปี วันที่ 8 มีนาคม 2007 ประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารของพลเอกเปอร์เวซ มูชาราฟ เริ่มเปลี่ยนความคิดใหม่ ออกมาลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตย คราวนี้คือการหลั่งเลือดบนท้องถนน ความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น มีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 40 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก หนึ่งปีถัดจากนั้น วันที่ 18 สิงหาคม เขาก็ยอมลงจากตำแหน่ง และปากีสถานก็ไม่เคยเจอกับคำว่า ‘เสถียรภาพทางการเมือง’ อีกเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก:
prachatai.com
sameaf.mfa.go.th
nytimes.com
สาธารณรัฐฟิจิ: รัฐประหารปี 2006
ปีเดียวกับที่ไทยเกิดรัฐประหาร อีกฟากโลกหนึ่งก็เกิดรัฐประหารเช่นกัน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2006 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ไลเซเนีย การาเซ (Laisenia Qarase) ถูกปลดลงจากตำแหน่งโดย นายพลแฟรงค์ ไบนิมารามา (Frank Bainimarama) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยให้เหตุผลว่า ‘การาเซกำลังทำลายรัฐธรรมนูญและเศรษฐกิจของชาติ’
“ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้พลเมืองทุกคนสงบสติอารมณ์และรักษาสันติภาพที่มีอยู่”
คือสิ่งที่ไบนิมารามากล่าวต่อชาวฟิจิผู้เป็นกังวลทั้งหลาย ในระหว่างที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังระส่ำระสาย ไบนิมารามาจึงอาสาเป็นผู้ดูแล โดยสถาปนาตัวเองเป็นประธานาธิบดี พร้อมทั้งกล่าวคำมั่นสัญญาว่า ทันทีที่สถานการณ์สงบ เขาจะลงจากตำแหน่งและคืนให้กับ ราตู โจเซฟา อิโลอิโล (Ratu Josefa Iloilo) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ขณะทำการรัฐประหาร อีกทั้งยังยืนยันว่าจะให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยเร็วที่สุด อืม…
แต่ดูเหมือนว่านาฬิกาของไบนิมารามากับคนอื่นจะไม่ตรงกัน เพราะกว่าชาวฟิจิจะได้เลือกตั้งใหม่อีกครั้งก็กันยายน ปี 2014 จากตอนแรกที่กำหนดไว้เมื่อเดือนเมษายน 2012
การรัฐประหารครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหารเมื่อปี 2000 ที่เริ่มต้นจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติ หลังจากการาเซขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เขาเตรียมเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมและเสนอให้ยุติการสอบสวนกลุ่มที่ก่อรัฐประหารครั้งนั้น รวมทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง สร้างความไม่พอใจให้กับไบนิมารามาอย่างยิ่ง โดยเขาเคยประกาศกร้าวเมื่อปี 2005 ว่า หากการาเซยืนยันเช่นนั้น เขาจะทำการรัฐประหาร หนึ่งปีถัดมา เขาก็ทำตามสัญญาที่ว่าไว้จริง
หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลไบนิมารามาได้ประกาศ ‘Five Year Roadmap สู่ประชาธิปไตย’ เพื่อปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย แต่สั่งห้ามให้มีการชุมนุมรวมถึงสั่งสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง อีกทั้งยังควบคุมและจำกัดการรายงานข่าวของสื่อในประเทศ ห้ามรายงานข่าวในแง่ลบของรัฐบาล
สงสัยทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ ของดินแดนหมู่เกาะใต้แห่งนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก:
prachatai.com
news.bbc.co.uk
cia.gov
aspa.mfa.go.th
สาธารณรัฐฮอนดูรัส: รัฐประหารปี 2009
นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์รัฐประหารที่อื้อฉาวและมีความแอ็คชั่นเมามันมาก เมื่อค่ำคืนของวันที่ 28 มิถุนายน 2009 ประธานาธิบดี มานูเอล เซลายา (Manuel Zelaya) แห่งสาธารณรัฐฮอนดูรัส ถูกกองทหารบุกอุ้มลักพาตัวจากบ้าน พานั่งเครื่องบินทั้งชุดนอน เนรเทศเขาไปยังประเทศคอสตาริกา ท่ามกลางการรับรู้ของเหล่าชนชั้นนำทางการเมืองในฮอนดูรัส แน่นอนว่า สร้างความ ‘อึ้ง’ และมึนงงให้กับคนทั้งโลก
หลังจากนั้น สภาฮอนดูรัสได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า มานูเอล เซลายา เป็นผู้ยื่นลาออกเอง พร้อมแสดงหลักฐานคือจดหมายลาออกของเขา แต่เซลายาที่ถูกขับไล่ไปคอสตาริกาตอบกลับอย่างฉุนเฉียวว่า จดหมายดังกล่าวเป็นจดหมายปลอม และยืนยันว่า เขายังคงเป็นประธานาธิบดีแห่งฮอนดูรัสซึ่งมาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง
แต่ดูเหมือนว่าสภาจะไม่ได้สนใจไยดีคำพูดของเขาสักเท่าไร เพราะได้ประกาศให้ โรเบอร์โต มิเคลเลทตี (Roberto Micheletti) เป็นประธานาธิบดีรักษาการจนกว่าวาระทางการเมืองของเซลายาจะหมดลงในวันที่ 27 มกราคม 2010 และจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2009
ส่วนสาเหตุที่เหล่าสภาและชนชั้นนำร่วมมือกันก่อรัฐประหาร เนื่องจากเซลายาพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองสามารถลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองได้อีกครั้ง สร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่าย ซึ่งรวมถึงประชาชนฮอนดูรัส จนเกิดการประท้วงต่อต้านเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนในปีเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม อีกกระแสหนึ่งมองว่า เป็นเพราะเซลายาไปท้าทายอำนาจของเหล่าชนชั้นนำในฮอนดูรัส ก่อนที่จะหันมาลงสนามการเมือง เขาเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ เป็นเจ้าของไร่ปศุสัตว์ จนมาสังกัดพรรคเสรีนิยม และได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2005 จากนโยบายที่เป็นไปในทิศทาง ‘ประชานิยม’ อืม…
แน่นอนว่าแนวคิดนี้สร้างความหวาดกลัวให้กับเหล่าชนชั้นนำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนในสภา ทหาร หรือชนชั้นกลางบางส่วน พวกเขาจึงหาทางโจมตีเซลายาโดยตลอด ไม่ว่าจะเรื่องความสนิทสนมกับประธานาธิบดีเวเนซูเอลา ฮูโก ชาเวซ หรือปัญหาภายในที่ฮอนดูรัสเผชิญมาตลอดไม่ว่าจะในสมัยไหนก็ตาม อย่างเรื่องยาเสพติด ประกอบกับการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นทั่วโลกในปี 2008 ส่งผลให้ความนิยมในตัวเซลายาลดลงเรื่อยๆ
แม้สถานการณ์การเมืองจะวุ่นวาย แต่สภาฮอนดูรัสก็ไม่ได้ออกมาเลื่อนการเลือกตั้ง และให้เป็นไปตามกำหนดการเดิม ส่งผลให้ ปอร์ฟิริโอ โลโบ โซซา (Porfirio Lobo Sosa) จากพรรคชาตินิยม (National Party of Honduras) พรรคขั้วตรงข้ามของเซลายา ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทน
อ้างอิงข้อมูลจาก:
nytimes.com
prachatai.com
www.mfa.go.th
สาธารณรัฐมาลี: รัฐประหารปี 2012
มาลีตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก เป็นประเทศที่ยากจน ไม่มีทางออกสู่ทะเล รายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกฝ้ายและทำเหมืองทองคำ อีกทั้งยังคงต้องรับความช่วยเหลือแทบทุกทางจากนานาชาติ
รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นจากคณะทหารที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อคืนประชาธิปไตยและฟื้นฟูรัฐ’ (The National Committee for the Return of Democracy and the Restoration of State: CNRDR) ภายใต้การนำของ ร้อยเอกอามาดู ซาโนโก (Captain Amadou Sanogo) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2012 โดยพวกเขาบุกเข้าไปยังทำเนียบประธานาธิบดี อามาดู ตูมานี ตูเร (Amadou Toumani Toure) ควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐ ยึดสถานีโทรทัศน์ และสั่งปิดสนามบินในกรุงบามาโก เมืองหลวงของสาธารณรัฐมาลี
จากนั้นจึงถ่ายทอดสดแถลงการณ์รัฐประหารครั้งนี้ผ่านสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศ โดยอ้างว่ารัฐบาลไร้ศักยภาพในการจัดการกับกบฏชาวตัวเร็ก (Tuareg) ทางตอนเหนือของประเทศ และให้สัญญาว่า หลังประเทศกลับสู่ความสงบจะจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่
เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน
อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่าเบื้องหลังสาเหตุที่แท้จริงของกลุ่มก่อรัฐประหารคือ รัฐบาลไม่อนุมัติงบประมาณทางการทหารและอาวุธตามที่กองทัพได้ยื่นเสนอไป เพราะต้องการนำไปต่อสู้กับกลุ่มกบฏตามชายแดน จึงตัดสินใจก่อรัฐประหาร นั่งเป็นผู้นำสูงสุดแทน จะได้ยื่นของบประมาณเพื่อปกป้องประเทศชาติได้อย่างสบายใจ
สถานการณ์ในมาลีเวลานั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด นอกจากจะมีการชุมนุมประท้วงของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยแล้ว ยังมีกลุ่มชายนิรนามใส่ชุดทหารออกมาปล้นสะดมร้านค้า ทำลายรถและทรัพย์สินของรัฐตามท้องถนน มีผู้บาดเจ็บกว่า 20 คน แน่นอนว่า ทางกลุ่มก่อรัฐประหารออกมาปฏิเสธการกระทำดังกล่าว ตามด้วยการประกาศเคอร์ฟิว
หนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ผู้ก่อรัฐประหารจะไม่นั่งเก้าอี้เป็นผู้นำอย่างที่กล่าวไว้ เมื่อสัญญาต้องเป็นสัญญา ประธานรัฐสภา ยอนกุนดา ตราโอเร (Dioncounda Traore) จึงถูกเสนอชื่อให้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการแทน แต่ด้วยสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มก่อรัฐประหารอย่างมาก อีกทั้งไม่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มสภาสูงอิสลาม จึงทำให้รัฐบาลของเขาอยู่ได้ไม่นาน