บทนำ
ผมเริ่มต้นเขียนบันทึกทางศิลปะนี้ในค่ำคืนอันเยียบเย็นริมฝั่งน้ำโขง หลังจากมีโอกาสเยี่ยมชมงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่จังหวัดเชียงราย หรือเป็นที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อ เชียงรายเบียนนาเล่ 2023 (Thailand Biennale, Chiang Rai 2023)
มหกรรมทางศิลปะครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากหน่วยงานและศิลปินหลากหลายกลุ่ม ทั้งจากหน่วยงานของรัฐ เอกชน รวมไปถึงศิลปินและภัณฑารักษ์ที่ได้รับการนับถือในระดับท้องถิ่นและยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งล้วนต้องการโปรโมตให้เชียงรายเป็น ‘เมืองศิลปะ’ การใช้คำว่าเบียนนาเล่ (Biennale) ในประเทศไทย คือการอ้างอิงไปสู่โลกทางศิลปะที่มีการแสดงศิลปะนานาชาติ 2 ปีครั้ง
เบียนนาเล่ครั้งแรกคือ เวนิสเบียนนาเล่ (Venice Biennale) เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1895 ความยิ่งใหญ่และงดงามของเทศกาลทางศิลปะในห้วงเวลานั้น มีปูมหลังและข้อถกเถียงมากมายทั้งการแสดงแสนยานุภาพของลัทธิการไล่ล่าอาณานิคมผ่านมิติเชิงสุนทรียศาสตร์ พลังทางศิลปะของจักรวรรดินิยม รวมไปถึงโลกตะวันตกที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างในหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
พิจารณาในแง่มุมนี้ งานเทศกาลทางศิลปะจึงไม่ใช่เรื่องการแสดงสิ่งสวยงามและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงทัศนาเพียงอย่างเดียว ทว่ายังหมายรวมถึงกระบวนการทำให้เกิดสุนทรียศาสตร์ทางการเมือง (aestheticization of politic) ช่วยกลบเกลื่อนความเป็นการเมืองผ่านการสร้างวิถีการรับรู้ใหม่ๆ ผ่านกระบวนการทำงานทางศิลปะและความรื่นรมย์ ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นการเมืองกับสุนทรียศาสตร์นี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการรับรู้ความเป็นจริงของโลกและการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในระบบของสังคม หรือที่เรียกว่าการเมืองในเชิงสุนทรียศาสตร์ (the politics of aesthetics)
การอ้างอิงตนเองของประเทศไทยต่อการจัด ‘เบียนนาเล่’ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แน่นอน มันไม่ใช่เรื่องของเทศกาลอันเก่าแก่ในโลกศิลปะ แต่คำถามสำคัญคือ อะไรคือนัยที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการสถาปนาศิลปะให้เป็นหมุดหมายในการทำงานทางวัฒนธรรมของรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราย้อนคิดได้มิติในเชิงสถานที่ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์-การเมือง และความหมายของศิลปะร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในอาณาบริเวณนี้ถูกถักทอเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบแน่น
นิทรรศการศิลปะและระบอบอำนาจนิยม
การศึกษาระบอบอำนาจนิยมในประเทศไทยมีพัฒนาการมาอย่างนานหลายทศวรรษและเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะงานวิจัยทางรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างทางการเมืองและบทบาทของผู้นำทางการเมืองเป็นสำคัญ (Chaloemtiarana, 2007; Ivarsson and Isager, 2010; Chaiching 2010) ในขณะที่การศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง กลับเป็นภูมิทัศน์ที่ไม่มีการกล่าวถึงนักในแวดวงวิชาการ
ในความเป็นจริง งานศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในลักษณะนี้มีความลุ่มลึกและน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพยายามทำความเข้าใจกับบทบาทและผลงานของศิลปินไทยที่กำลังส่งคำถามสู่สาธารณะผ่านกระบวนการทำงานศิลปะ เดวิด เทห์ (David Teh) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอเอาไว้คล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1990 แวดวงศิลปะในไทยเกิดแรงตึงแย้งระหว่าง ท้องถิ่น (local) และ โลก (global) อย่างเข้มข้น
ศิลปินในประเทศไทยเกิดความตื่นตัว ตั้งคำถามกับกระแสโลกาภิวัตน์และความทันสมัย ผ่านการนำเอาความคิดทางวัฒนธรรมและประเพณีขึ้นมาผลิตผลงานทางศิลปะของตนเอง เทห์มีความเห็นว่าในระดับปรากฏการณ์ การทำงานดังกล่าวทำให้เกิดขั้วตรงข้ามกันระหว่างท้องถิ่นกับโลก ทว่าในแง่ข้อเท็จจริง ศิลปินในไทยได้มีความเชื่อมโยงกับศิลปะโลกอยู่ก่อนหน้า ควบคู่กับการต่อต้านโลกาภิวัตน์โดยมีอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นฉากหลัง
ตัวอย่างเทศกาลทางศิลปะที่โดดเด่นและเป็นตัวแทนของยุคสมัย (ในขณะนั้น) คือ โครงการเชียงใหม่จัดวางสังคม ซึ่งทำให้เกิดศูนย์กลางทางศิลปะนอกเมืองหลวงของประเทศไทย (Sethaseree, 2011; Teh, 2017, 2018) อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ชาตินิยมในกลุ่มศิลปินไทยเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่หยั่งรากและเติบโตอย่างงอกงามในเรือนร่างความก้าวหน้าทางศิลปะ ความสัมพันธ์ที่ดูย้อนแย้งระหว่างอุดมการณ์ชาตินิยมกับโลกาภิวัตน์นี้ทำให้เข้าใจได้ว่า ด้านหนึ่งอุดมการณ์ชาตินิยมในศิลปะมีส่วนช่วยให้ระบบนิเวศน์ในโลกศิลปะ ถูกขับเคลื่อนโดยระบบทุนนิยมมากขึ้น ศิลปินมีโอกาสเชื่อมโยงกับโลกศิลปะผ่านการแสดงและขายผลงานมากยิ่งขึ้น
ขณะที่อีกด้าน อุดมการณ์ชาตินิยมในศิลปะไม่ได้นำทางศิลปินไปสู่จินตนาการว่าด้วยเสรีภาพ แต่มีส่วนผลักดันให้ศิลปินที่มีชื่อเสียงจำนวนมากเห็นชอบกับการทำรัฐประหารและระบอบอำนาจนิยม โดยเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกว่า ‘Art Lane’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกำจัดตัวแทนของระบบทุนนิยมสามานย์ (evil capitalism) และเผด็จการประชาธิปไตย (authoritarian democracy) ออกไปด้วยการสนับสนุนกองกำลังทหารเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2557
สำหรับผม มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าแต่เป็นความจริงที่ว่า ความก้าวหน้าของผลงานทางศิลปะไทยของทศวรรษที่ 1990 ได้กลายเป็นอนุสรณ์ย้ำเตือนถึงความรุ่งโรจน์ของอุดมการณ์ชาตินิยม ขณะเดียวกันผลงานทางศิลปะเหล่านั้นก็ไร้ศักยภาพที่จะดำรงอยู่ต่อไปอย่างร่วมสมัย มีสถานะเป็นซากปรักหักพังทางศิลปะที่รอคอยการหนุนเสริมจากระบอบอำนาจนิยม
การดำรงอยู่ร่วมกันและการพึ่งพาอาศัยระหว่างเทศกาลทางศิลปะและระบอบอำนาจนิยม มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากเกิดการรัฐประหารในประเทศไทย มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติในประเทศไทยหรือไทยแลนด์เบียนนาเล่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2018 ที่จังหวัดกระบี่ ครั้งที่สองที่จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2021 ทั้ง 2 ครั้งจัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้การดำเนินการโดยรัฐบาลทหารที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
สถานะของไทยแลนด์เบียนนาเล่ที่ผ่านจึงเป็นหัวข้อถกเถียงกันพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยเสรีภาพในการทำงานศิลปะกับการถูกผนึกรวม (incorporate) เข้าไว้กับกลไกอำนาจทางการเมืองและให้ความชอบธรรมกับระบอบอำนาจนิยม สถานะของงานศิลปะซึ่งมุ่งเน้นความสร้างสรรค์และสุนทรียศาสตร์จึงกลายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ร่วมกับระเบียบราชการและการบริหารงานราชการของทหาร
มากไปกว่านั้น ไทยแลนด์เบียนนาเล่ยังได้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญสู่โลกทางศิลปะในระดับนานาชาติ โดยการเชื้อเชิญภัณฑารักษ์ทางศิลปะและผู้อำนวยการด้านศิลปะที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เข้ามาดำเนินการ ประหนึ่งกับเป็นลักษณาการใหม่ของระบอบอำนาจนิยมที่หันมาให้ความสนใจกับอำนาจโน้มนำ (soft power) สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของรัฐบาลทหารให้มีความทันสมัยและทันโลกมากยิ่งขึ้น
คล้ายกับวงการศิลปะไทยได้กลับมาอยู่ในช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์อีกครั้ง จากการอุปถัมภ์จากระบอบอำนาจนิยม ในทางกลับกัน วงการศิลปะไทยก็ตกอยู่ในช่วงเวลาที่ท้าทายมากที่สุดด้วยเช่นกัน
ในช่วงเวลาของการดำเนินงานด้านศิลปะนานาชาติของรัฐบาล มีศิลปินไทยและนานาชาติที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นักศึกษาและประชาชนจำนวนมาก ถูกจับกุม ถูกตั้งข้อหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เขาและเธอเหล่านั้นออกมารณรงค์ในพื้นที่สาธารณะเพื่อขับไล่เผด็จการทหารและระบอบอำนาจนิยม ผู้ถูกจับกุมจำนวนไม่น้อยเป็นนักศึกษาศิลปะและประชาชนทั่วไป ซึ่งใช้ปฏิบัติการทางศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารทางสังคม ท้าทายอำนาจที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงสด กราฟิตี และละครเวที รวมไปถึงการสร้างสรรค์บทเพลง
ในประเทศไทย คำถามที่ว่าศิลปะคืออะไร อาจไม่มีความสำคัญเท่ากับศิลปะทำงานอย่างไร ถูกอุปถัมภ์โดยใคร และให้ความชอบธรรมกับอุดมการณ์ประเภทใด
หากเราหลับตาและนึกถึงงานศิลปะต่างๆ ที่แสดงในไทยแลนด์เบียนนาเล่ เราอาจค้นพบความบันเทิงทางปัญญา (intellectual entertainment) ที่งานศิลปะดังกล่าวส่งผ่านให้กับโลกทางความคิดและการใช้ชีวิตของผู้ชม ค้นพบความรื่นรมย์จากการเสพอาหารทางสายตา รวมไปถึงค้นพบโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจที่มีการท่องเที่ยวทางด้านศิลปะวัฒนธรรมเป็นตัวกระตุ้น แต่เราจะยังสามารถจินตนาการถึงงานศิลปะในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการสนับสนุนของรัฐได้อีกหรือไม่ งานศิลปะของสามัญชนและผู้ที่ไม่ใช่ศิลปิน งานศิลปะที่ไม่ได้ถูกจัดแสดงในเทศกาลศิลปะแต่ปรากฏบนพื้นถนน และงานศิลปะซึ่งท้าทายอำนาจอย่างตรงไปตรงมา ไร้ซึ่งความซับซ้อนทางความคิดและซึ่งความบันเทิงทางปัญญา
ผลงานศิลปะของศิลปินไร้ชื่อเสียงและผู้ถูกจับกุมเหล่านี้ อยู่ตรงไหนในจินตนาการว่าด้วยสุนทรียศาสตร์ในสังคมไทย
นักวิชาการไทยที่ศึกษาในประเด็นข้างต้นนี้มีจำนวนน้อยมาก อาทิ งานศึกษาของ ธนาวิ โชติประดิษฐ์ ศึกษาการเซนเซอร์ทางศิลปะไทยร่วมสมัยในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในแกลลอรี่ทางศิลปะ หลังการรัฐประหารหลายต่อหลายครั้งในรอบทศวรรษที่ผ่านมาของประเทศไทย (Chotpradit, 2018) และการศึกษาการต่อสู้ของบรรดานักกิจกรรมและศิลปินในไทย ต่ออำนาจเผด็จการในยุคสมัยของรัฐบาลทหารนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะอย่างการต่อสู้ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Chotpradit, 2022) งานศึกษาของบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ซึ่งมุ่งเน้นวิพากษ์ศิลปินแนวหน้าล้ำยุคในไทยช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งในการสนับสนุนการทำรัฐประหารในทศวรรษที่ผ่านมา (Chanrochanakit, 2016) รวมไปถึงบทบาทสำคัญของถนอม ชาภักดี (1958 – 2022) นักวิชาการผู้ล่วงลับ ถนอมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจัดตั้งแนวรบทางความคิดและปฏิบัติการทางศิลปะ ที่มิใช่แค่การต่อต้านอำนาจแต่ยังมีส่วนช่วยให้ศิลปะเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น
ในสังคมไทย ศิลปะมีแง่มุมที่เปราะบางและอันตราย เพราะงานศิลปะสามารถปิดปากและปิดกั้นคำถามของผู้ชมด้วยกระบวนการทางสุนทรียศาสตร์ การผนึกรวมการทำงานทางศิลปะเข้ากับระบอบอำนาจนิยม จึงเปรียบเสมือนการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบอำนาจนั้นๆ เอง ทั้งยังเป็นส่วนช่วยในการกำหนดกรอบเชิงสุนทรียศาสตร์ว่า งานศิลปะใดควรได้รับการสนับสนุน จัดแสดง และงานศิลปะใดควรที่จะถูกดำเนินคดีความ
ศิลปะนานาชาติร่วมสมัยที่ชายแดนภายใต้ความผันผวนทางการเมือง
ไทยแลนด์เบียนนาเล่ครั้งที่ 3 ในปี 2023 จังหวัดเชียงราย ริเริ่มและเกิดขึ้นในบริบททางการเมืองที่แตกต่างจาก 2 ครั้งแรกอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตื่นตัวของพลเมืองไทยที่มีต่อการเลือกตั้งในปี 2022 ซึ่งปลุกเร้าบรรยากาศของความหวังและความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในทุกระดับ
การเมืองของความหวัง (politics of hope) ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาเลือกตั้ง มีส่วนสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้สามัญชนจำนวนมากเกิดความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็น แสดงออกทางการเมืองหลังจากถูกปกครองภายใต้ระบอบอำนาจนิยมมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ความวิตกกังวลได้ทวีพูนขึ้นในกลุ่มอนุรักษ์นิยมไปทุกขณะ
ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2022 เป็นเอกฉันท์ว่า พรรคการเมืองทหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ่ายแพ้การเลือกตั้ง อย่างไรตามพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคความหวังทางการเมืองใหม่ของคนในประเทศและได้เสียงมากที่สุดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่งผลทำให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองอันดับ 2 มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จภายใต้การรวมนักการเมืองจากระบอบอำนาจนิยมเดิมเข้าร่วมรัฐบาล
ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองนี้ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ครั้งที่ 3 ทำในสิ่งที่น่าชื่นชมมากที่สุดประการหนึ่ง นั่นคือ การนำเสนอเสียงของสามัญชนให้ปรากฏออกมาผ่านกระบวนการทางศิลปะ
ผมมีโอกาสพบปะและพูดคุยกับคุณกฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของเชียงรายเบียนนาเล่หลายครั้ง เธอเน้นย้ำว่า การนำเสนอเสียงของสามัญชนเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างจินตนาการถึงประวัติศาสตร์ชาติ การทำให้สิทธิและความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะเสียงจากกลุ่มคนสถานะรอง (subaltern group) และไร้ซึ่งตัวตนในประวัติศาสตร์ไทย
กฤติยา เล่าว่าสาเหตุหลักที่เธอเลือกจังหวัดเชียงรายเป็นสถานที่จัดงานเพราะเชียงรายเป็นเมืองชายแดน สถานะของเมืองชายแดนมีความพิเศษตรงที่สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เป็นจุดบรรจบกันของอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองหลากหลายประเภท เมืองชายแดนยังอุดมไปด้วยเรื่องเล่าของคนข้ามพรมแดน ผู้อพยพพลัดถิ่น ตลอดจนเรื่องราวของการต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลาง
นอกจากนี้ ชายแดนในบริเวณจังหวัดเชียงรายเป็นที่รู้จักกันมานานผ่านภาพลักษณ์ของสามเหลี่ยมทองคำ อันเต็มไปด้วยเรื่องเล่าของยาเสพติดและความมั่นคงของรัฐไทย ซึ่งถูกประกอบสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ความเป็นเมืองชายแดนของเชียงรายจึงเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดยรัฐ ดังนั้นการนำเสนอเรื่องราวของผู้คนจากเบื้องล่างผ่านกระบวนการทำงานทางศิลปะ จึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเมืองของความหวัง
งานศิลปะของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ซึ่งนำเสนอในงานเชียงรายเบียนนาเล่ภายใต้หัวข้อ Silence Traces เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ทำให้ผู้ชมมีโอกาสสำรวจตรวจตรากลไกทางอำนาจและเทคโนโลยีว่าด้วยแผนที่ของรัฐไทย
นิพันธ์เลือกใช้แผนที่หลากหลายประเภทเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการเล่าเรื่องหลักของนิทรรศการ แผนที่ชุดแรกเป็นแผนที่ทางการทหารในบริเวณชายแดนของเชียงราย โดยเลือกใช้ฉบับที่เก่าที่สุดซึ่งผลิตขึ้นในปี 1936 และใช้ไปจนถึงปี 1967 ชุดแผนที่ดังกล่าวนี้ได้ความร่วมมือจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในการขอคัดสำเนามาแสดงผลงาน
แผนที่ชุดที่สองคือการจัดแสดงภาพถ่ายทางอากาศ ครอบคลุมเชียงรายทั้งจังหวัด และเป็นภาพที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและดาวโหลดได้ทั่วไป
แผนที่ชุดสุดท้ายคือ กระบวนการจัดวางทางศิลปะอยู่กลางห้องโถง เป็นที่น่าสนใจว่านิพันธ์ได้เลือกทำงานกับแผนที่ของเชียงรายจำนวน 5 อำเภอจากเว็บไซต์ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เขานำชุดข้อมูลดังกล่าวมาพิมพ์เป็นแผ่น จากนั้นตัดเจาะองค์ประกอบต่างๆ บนแผนที่ออก เหลือไว้เพียงถนนหนทางและแม่น้ำ แผ่นที่ถูกตัดเจาะนี้เองได้กลายเป็นแม่แบบสำคัญเพื่อให้นิพันธ์สามารถโรยผงแป้งลงไปแทนที่บริเวณว่างเปล่าที่ถูกตัดออกไป กระทั่งแป้งจับตัวเป็นก้อนภูมิทัศน์บนฉากที่ทำจากผืนผ้าใบอีกทีหนึ่ง
งานของนิพันธ์ไม่เพียงทำให้เราเข้าใจถึงมิติด้านพื้นที่และพรมแดนของชาติมากขึ้น แต่ยังได้เปิดโอกาสให้ดวงตาของมนุษย์ทำงานซ้อนทับลงไปในเทคโนโลยีด้านภาพของทหาร การทดลองมองผ่านสายตาความมั่นคงของรัฐเช่นนี้ คือช่วงเวลาสำคัญให้ผู้ชมทบทวนมิติของพื้นที่ในอดีตจากมุมมองปัจจุบัน เปิดช่วงเวลาให้เรื่องประสบการณ์จริงของผู้ชมได้สนทนากับเรื่องเล่าของรัฐ นิพันธ์ไม่เพียงสร้างร่องรอย (traces) ให้ปรากฏบนพื้นผิวของงานศิลปะ แต่งานของเขาได้เปล่งเสียงทางความคิดผ่านการสร้างร่องรอยต่างๆ ให้ปรากฏขึ้นในความเงียบงัน
นี่คือผลงานอันโดดเด่นในฐานะที่เป็นวิภาษวิธีของการทัศนา (visual dialectic) ระหว่างความทรงจำส่วนบุคคล ความทรงจำส่วนรวม และความทรงจำที่สร้างขึ้นโดยรัฐ
หากงานของนิพนธ์คือความพยายามรื้อถอนและตั้งคำถามกับพื้นที่ ซึ่งถูกออกแบบและแต่งเติมโดยรัฐ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ภัณฑารักษ์แห่ง ศาลาสล่าขิ่น: เปิดโลก จ. พรหมมินทร์ ได้ดำเนินการในทิศทางที่สวนกัน โดยเฉพาะการนำเสนอผลงานภาพวาดทิวทัศน์ของจำรัส พรหมมินทร์ ศิลปินชาวเชียงรายผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1934 – 1999
จำรัสเป็นจิตรกรที่ฝึกฝนความสามารถด้วยตนเอง และสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นเอกลักษณ์ผ่านการสร้างสีผสมจากสีอุตสาหกรรม ดูผิวเผินการทำงานของเขาอาจไม่โดดเด่นหรือแสดงให้เห็นถึงกระบวนการอันซับซ้อน ทว่าพิจารณาลึกลงไป งานจิตรกรรมของของเปรียบเสมือนบทบันทึกและสำรวจภูมิทัศน์ของจังหวัดเชียงราย ผ่านกระบวนการทำงานทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตพื้นบ้าน ทิวทัศน์ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ งานของจำรัสมีลักษณะที่คล้ายกับงานที่เรียกว่าการนิพนธ์เรื่องด้วยภาพ (pictorial ethnography) มุ่งเน้นอธิบายรายละเอียดชีวิตของผู้คนผ่านกระบวนการผลิตและสร้างสรรค์ภาพ ขนบในการทำงานเช่นนี้อยู่ในการศึกษาทางมานุษยวิทยามาอย่างยาวนาน ต่างกันตรงที่จำรัสไม่ใช่นักชาติพันธุ์นิพนธ์ที่มุ่งเน้นศึกษาสังคมอื่น งานศิลปะของเขากำลังบันทึกเรื่องราวของผู้คนในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ผ่านการเดินทางและฝึกฝนสายตาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวซึ่งเติมเต็มในสิ่งที่ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ทางทหารไม่อาจทำได้
พิจารณาในแง่มุมนี้ ศาลาสล่าขิ่น: เปิดโลก จ. พรหมมินทร์ จึงประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งในการปลดปล่อยเรื่องราวและมุมมองของสามัญชนที่มีต่อบ้านเกิดและดินแดนของตนเอง ให้ออกมาโลดแล่นผ่านชุดความทรงจำมากมายที่เกิดขึ้นในห้วงขณะของการชมภาพวาดแสนจะเรียบง่ายของจำรัส
หากเราเข้าใจว่าอำนาจอธิปไตย (sovereignty) ของรัฐสมัยใหม่ที่คอยควบคุมและบงการชีวิตของผู้คนและอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจากแผนที่ (Winichakul, 1997) งานภัณฑารักษ์ของบัณฑิตมีศักยภาพในการพาผู้ชมไปสู่การตั้งคำถามกับ Geo-body (Big – G) ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นมาผ่านนวัตกรรมทางอำนาจอย่างแผนที่และเทคโนโลยีทางการทหาร ไปสู่การเติมแต่งเรื่องราวในช่องว่างที่เกิดจากการตัดกันของเส้นรุ้งและเส้นแวงด้วยทัศนะและมุมมองของสามัญชน ทั้งยังนำพาเราไปสู่จินตนาการว่าด้วย geo-body (little – g) ที่ถูกวาดขึ้นมาใหม่จากประสบการณ์ชีวิตของผู้คน
แน่นอน ชายแดนและพื้นที่ของเชียงรายในการสำรวจของศิลปินและภัณฑารักษ์เป็นเรื่องที่น่าท้าทาย ชายแดนยังเป็นพื้นที่ของชีวิตและการสาบสูญ เป็นสนามของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับท้องถิ่นอยู่เสมอ งานศิลปะในหัวข้อ The Actor from Golden Triangle โดย สวี่ เจีย-เหว่ย (Hsu Chia-Wei) ศิลปินชาวไต้หวัน สำรวจและเชื่อมโยงประสบการณ์ของผู้คน มิติทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ และอาณาบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าสนใจ ผ่านภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นภายในห้องที่ติดฟิล์มสีแดง
เนื้อหาภาพยนตร์เป็นการสัมภาษณ์นักสอนศาสนาท่านหนึ่ง ซึ่งมีอดีตอันเจ็บปวดในฐานะสายลับซีไอเอและทำงานในเขตสามเหลี่ยมทองคำ อดีตสายลับคนนี้เคยถูกจับและทรมานจากขบวนการของขุนส่า ผู้มีอิทธิพลและค้ายาเสพติดในชายแดน
ในฐานะศิลปิน เจีย-เหว่ย ได้ทำงานร่วมกับเด็กกำพร้าในกระบวนการฝึกสอนทักษะการถ่ายทำสารคดีเบื้องต้น ทั้งวิธีการใช้อุปกรณ์และขั้นตอนการถ่ายทำ ผู้ปกครองของเด็กกำพร้าเหล่านี้เสียชีวิตจากการเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด และนักสอนศาสนาท่านนี้ได้รับมาอุปถัมภ์ เรื่องราวในภาพยนตร์ถูกดำเนินคล้ายกับคลื่นที่ปั่นป่วนภายใต้พื้นผิวของน้ำโขงที่ไหลเอื่อยและสงบ บรรยากาศสีแดงของห้องได้กลายเป็นสิ่งขับเร้าถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัย และสภาวะยกเว้นของเรื่องราวในอาณาบริเวณชายแดนแห่งนี้ เจีย-เหว่ยนำเสนอเรื่องราวที่ถูกเก็บกด ปิดกั้น และเรื่องราวที่ดำรงอยู่ได้เพียงพื้นที่ระหว่างชายแดนไปสู่ประเด็นพื้นที่สาธารณะ ผ่านกระบวนการทางศิลปะ ผลงานของเขาจึงเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามบอกเล่าถึงกลุ่มคนที่ถูกทำให้หลงลืมไปในการเขียนประวัติศาสตร์รัฐสมัยใหม่
การเมืองของความหวังคืออะไร คำถามนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองในประเทศไทย ความหวังได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า สามัญชนสามารถสร้างความหวังให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ในสถานการณ์ที่นักกิจกรรมทางศิลปะยังคงถูกดำเนินคดี ถูกจับเข้าห้องสอบสวน งานศิลปะที่จัดแสดงในเชียงรายเบียนนาเล่เหล่านี้คือประจักษ์พยานสำคัญต่อการเก็บรักษาความหวังเอาไว้ ผ่านกระบวนตั้งคำถามและทลายความชอบธรรมที่อำนาจรัฐนำมาใช้ควบคุมและครอบงำประชาชน
งานศิลปะคือการส่งข่าวสารแห่งความหวัง
การปกครองเชิงสุนทรีย์ศาสตร์และสุนทรีย์ศาสตร์เพื่อการปลดปล่อย
ผลงานศิลปะที่กล่าวถึงในข้างต้น เป็นเพียงงานบางส่วนที่จัดแสดงในเชียงรายเบียนนาเล่เท่านั้น โดยตัวมันเองแล้ว เบียนนาเล่เป็นงานที่มีความหลากหลายของศิลปิน และกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน และไม่สามารถสร้างข้อสรุปได้อย่างทั่วไปได้ว่า นี่คืองานเบียนนาเล่ที่ดีที่สุดในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การเยี่ยมชมครั้งนี้ทำให้ผมทบทวนและย้อนคิดอยู่ตลอดเวลาว่า เชียงรายเบียนนาเล่มีความแตกต่างจากบรรยากาศ ‘ความก้าวหน้าทางศิลปะแบบชาตินิยม’ ในไทยเป็นอย่างมาก แน่นอนเงื่อนไขสำคัญของความแตกต่างนั้น น่าจะอยู่ที่สถานะทางการเมืองของสุนทรีย์ศาสตร์ ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมหรือปกครองผู้คนอีกต่อไป
ผมนึกถึงข้อเสนอสำคัญของ ฌาคส์ ร็องซีแยร์ (Jacques Rancière) นักปรัชญาและนักทฤษฎีชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักจากผลงานด้านสุนทรียภาพ การเมือง และทฤษฎีวิพากษ์ (Rancière, 2004) ร็องซีแยร์ นำเสนอประเด็นอันโดดเด่นเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างสุนทรียศาสตร์และการเมือง ผ่านการท้าทายแนวคิดทางศิลปะแบบเดิมๆ และเสนอข้อคิดใหม่อย่างถอนรากถอนโคนว่าด้วยประสบการณ์เชิงสุนทรียศาสตร์
ข้อเสนอประเด็นสำคัญของแนวคิดเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ของเขามีหลายแง่มุม แต่ผมคิดว่าหัวใจสำคัญมีอยู่สองประการ
ประการแรกคือ ความเท่าเทียมกันทางสุนทรียศาสตร์ ร็องซิแยร์เน้นแนวคิดเรื่อง ความเสมอภาคเชิงสุนทรีย์ (aesthetic equality) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทุกคนมีขีดความสามารถสำหรับประสบการณ์ด้านสุนทรียศาสตร์และสามารถมีส่วนร่วมในปริมณฑลแห่งศิลปะได้ เขาปฏิเสธแนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ในฐานะขอบเขตพิเศษที่สงวนไว้สำหรับผู้เชี่ยวชาญหรือชนชั้นสูงที่ได้รับสิทธิพิเศษ ตามความเห็นของร็องซิแยร์ ประสบการณ์ด้านสุนทรียศาสตร์นั้นเป็นประชาธิปไตยโดยเนื้อแท้ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังทางสังคมหรือวัฒนธรรมของพวกเขา
ประการที่สองคือ ความไม่ลงรอยกันและการเมืองแห่งสุนทรียศาสตร์ ร็องซิแยร์ให้เหตุผลว่าศิลปะมีมิติทางการเมือง สามารถท้าทายระเบียบที่มีอยู่ได้โดยการขัดขวางลำดับชั้นและโครงสร้างอำนาจที่ถูกสถาปนาขึ้น ปฏิบัติการทางศิลปะจึงไม่ใช่อื่นใดเลย นอกไปจากการส่งผ่านคำถามและท้าทายปัญหาอันเป็นอุปสรรคในการนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในเชิงสุนทรียศาสตร์
ประสบการณ์เชิงสุนทรีย์ศาสตร์ของเชียงรายเบียนนาเล่ เป็นสิ่งที่เปิดกว้างและโอบรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการจินตนาการถึงชีวิตและสังคมของความเสมอภาคเชิงสุนทรีย์ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของงาน ทำให้ผู้ชมทุกคนสามารถเข้าถึงงานศิลปะได้ในวิถีและรูปแบบของตนเอง
แน่นอน ผมสังเกตว่าตลอดการดำเนินการและแสดงผลงาน ตัวแทนอำนาจของรัฐพยายามเข้ามาช่วงชิงกระบวนการตีความผลงานทางศิลปะ รวมไปถึงศิลปินและพระที่มีชื่อเสียงแห่งจังหวัดเชียงราย พยายามผนวกรวมศิลปะให้เข้าไปในโลกทัศน์ของศาสนาพุทธ หรือพูดให้เข้าทีหน่อยก็คงเป็น Buddhistization of the art พวกเขาอาจมีความเชื่อว่าศาสนาพุทธเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทย และด้วยสถานะอันสูงส่งของศาสนาพุทธจะมีส่วนอุ้มชู ช่วยอุปถัมภ์ผลงานทางศิลปะให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
ทัศนะเช่นนี้คือส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางสุนทรีย์ศาสตร์ ทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญของการระลึกรู้ในความเท่าเทียมกันเชิงสุนทรีย์เป็นอย่างยิ่ง พิจารณาในแง่นี้ เชียงรายเบียนนาเล่จึงเป็นดั่งสนามประลองของการต่อสู้ในเชิงสุนทรีย์ศาสตร์ระหว่างกลุ่มคนที่พยายามรักษาคุณค่าทางศิลปะ เน้นย้ำสถานะพิเศษของศิลปินและความสูง-ต่ำของผลงานทางศิลปะ กับการสร้างสุนทรีย์ศาสตร์แห่งการปลดปล่อย เชื่อมั่นว่าทุกคนมีศักยภาพในการเข้าถึงงานศิลปะอย่างเท่าเทียมกัน น่าเสียดายที่บันทึกฉบับนี้ไม่มีเวลาเพียงพอในการอธิบายเรื่องนี้ให้เด่นชัดขึ้น
ผมคิดถึงบทสัมภาษณ์ของคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้เขียนบทภาพยนตร์คนสำคัญ ในประเด็นว่าด้วยสถานะของศิลปะจะเป็นอย่างไรในบริบทที่ AI เข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ และท้าทายสถานะของมนุษย์ในฐานะผู้สร้างสรรค์ (พิมพ์ชนก, 2024)
อภิชาติพงศ์ตอบคำถามอย่างน่าสนใจว่า สำหรับเขางานศิลปะคือความบันเทิงทางปัญญาที่ช่วยเปิดความใคร่รู้และเปิดประเด็นความสัมพันธ์ของทุกสิ่งในโลก โดยไม่จำเป็นต้องยึดหลักว่าผลงานศิลปะต้องถูกสร้างสรรค์โดยมนุษย์เท่านั้น ความบันเทิงทางปัญญาเป็นคำตอบที่ดูจะกว้างขวางและครอบคลุมในหลายบริบท แน่นอน การส่งเสริมให้มีการขบคิดและรื่นรมย์ทางปัญญาเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการทำงานทางศิลปะ แต่ประเด็นที่สมควรได้รับการใคร่ครวญมากกว่านั่นคือ ความบันเทิงทางปัญญานั้นๆ ได้ถูกผนวกรวมกับโครงสร้างอำนาจและความไม่เป็นธรรมในสังคมมาโดยตลอดอย่างไร
กิจกรรมทางศิลปะและเทศกาลทางศิลปะต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำจุนของรัฐในการคัดเลือก ส่งเสริมศิลปินและงานศิลปะ เพื่อใช้การทำงานเชิงสุนทรียศาสตร์เป็นเงื่อนไขหลักในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในระบบของสังคม ดังนั้น ความเห็นนี้ของอภิชาตพงศ์ในกรณีนี้ จึงต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม ตลอดจนความระมัดระวังในการตีความเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับผม สถานะความบันเทิงทางปัญญาของงานศิลปะจะมีคุณูปการเป็นอย่างยิ่ง หากมันเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตที่เดินทางอยู่ในโลกแห่งความคิด (vita contemplativa) นำไปสู่ การรื้อฟื้นมนุษย์สภาวะ (vita activa) งานศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปลดปล่อยให้มนุษย์หลุดออกไปจากความเชื่อที่ครอบงำชีวิตอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมไปถึงการทำให้การเดินทางในโลกทางความคิดเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง และแรงกระเพื่อมที่เข้าไปสั่นคลอนโครงสร้างทางความคิดแบบเดิม
พิจารณาในแง่นี้ ความบันเทิงทางปัญญาจึงไม่สามารถละเลยข้อถกเถียงเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และความเท่าเทียมกันในประสบการณ์เชิงสุนทรีย์ศาสตร์ได้
ส่งท้าย: จินตนาการสู่ศิลปะที่เป็นประชาธิปไตย
ผมสิ้นสุดการเขียนบันทึกทางศิลปะนี้ภายในห้องทำงานของสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกไม่กี่วันหลังจากนี้ เพื่อนร่วมงานของผมคนหนึ่ง นักศึกษา และผม จะต้องถูกดำเนินคดีความ จากการเข้าไปทวงคืนหอศิลปะวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นของสาธารณะ เปิดให้งานศิลปะทุกประเภทสามารถเข้าไปจัดแสดงและใช้ได้
ในปี 2021-2022 นักศึกษาของเราหลายคนถูกเซ็นเซอร์ผลงานศิลปะ ไม่สามารถจัดแสดงผลงานในหอศิลป์ของมหาวิทยาลัย นักศึกษาบางคนถูกดำเนินคดีความในมาตรา 112 เพราะกิจกรรมทางศิลปะของพวกเขากำลังพูดในเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย แต่พลังทางศิลปะคืออะไรเล่า หากมันไม่ใช่กระบอกเสียงของผู้คนที่ไร้เสียง หากมันไม่ใช่ความพยายามที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของความรู้สึกและสามัญสำนึกของผู้คนในสังคม สนามรบในเชิงสุนทรียศาสตร์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่
การเดินทางไปเยี่ยมเยือนเชียงรายเบียนนาเล่ครั้งนี้ ทำให้ผมตระหนักถึงหัวใจสำคัญของกระบวนการทำให้ศิลปะเป็นประชาธิปไตย ผมยังได้รับพลังใจที่ส่งมาจากผลงานทางศิลปะหลายต่อหลายชิ้น การนำเสนอสุ้มเสียงของสามัญชนและผู้คนยากไร้ผ่านกระบวนการทางศิลปะ จะกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความเท่าเทียมกันในเชิงสุนทรีย์ศาสตร์ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเคารพความหลากหลาย เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมไปถึงการตระหนักในสิทธิที่จะแสดงออกในสังคม
ผมตระหนักว่า ท่ามกลางความพยายามสถาปนาศิลปะให้เป็นหมุดหมายการทำงานของรัฐ ผลงานศิลปะที่กล่าวถึงในข้างต้นได้ทำการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างทางความคิดของรัฐอย่างเข้มข้น ต่อไปจากนี้ คงถึงเวลาแล้วที่จะพัฒนาเบียนนาเล่ให้เป็นอิสระจากการถูกอุปถัมภ์โดยรัฐ ถึงเวลาแล้วที่เทศกาลทางศิลปะจะต้องถูกดำเนินการโดยสามัญชน ปลดปล่อยสุนทรีย์ศาสตร์ให้มีเสรีภาพ ตามสิทธิและเสรีที่ประชาชนมีติดตัวมาแต่กำเนิด
อ้างอิง
- พิมพ์ชนก พุกสุข. (2024). A Conversation with Apichatpong ว่าด้วยดวงตะวัน ความฝันและการแตกดับของดวงอาทิตย์. The 101 World. 7 กุมภาพันธ์.
- Chaiching, Nattapoll. (2010). “The Monarchy and the Royalist Movement in Modern Thai Politics, 1932 – 1957”. In Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand. Edited by Soren Ivarsson and Lotte Isager. NIAS Studies in Asian Topics. NIAS Press.
- Chaloemtiarana, Thak. (2007). Thailand: The Politics of despotic paternalism. Ithaca. Cornell SEAP Publication.
- Chanrochanakit, Pandit. (2011). “Deforming Thai Politics: As read through Thai Contemporary Art”. Third Text. Vol. 25. No. 4. Pp. 419-429.
- Chanrochanakit, Pandit. (2016). “Reluctant Avant-Garde: Politics and Art in Thailand”. Obieg Magazine.
- Chotpradit, Thanavi. (2018). “Of Art and absurdity: military, censorship, and contemporary art in Thailand”. Journal of Asia-Pacific pop culture. Vol.3, No.1. Pp. 5-25.
- Chotpradit, Thanavi. (2022). “SHATTERING GLASS CEILING”.In The Routledge Companion to Art and Activism in the Twenty-First Century. Edited by Lesley Shipley and Mey-Yen Moriuchi (eds Taylor & Francis.
- Ivarsson, Soren and Lotte Isager. (2010). Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand. NIAS Studies in Asian Topics. NIAS Press.
- Rancière, J. (2004). The Politics of Aesthetics. The Distribution of the Sensible. New York/London: Continuum.
- Sethaseree, Thasnai. (2011). “The Po-Mo Artistic Movement in Thailand: Overlapping Tactics and Practices”. Asian Culture and History. Vol.3, No. 1. Pp. 31-45.
- Teh, David. (2017). Thai Art: Currencies of the Contemporary. The MIT Press.
- Teh, David and other authors. (2018). Artist-to-Artist: Independent Art Festivals in Chiang Mai 1992–98. Afterall Books in association with Asia Art Archive and the Center for Curatorial Studies, Bard College.