ส่องแผนจัดการวัคซีนในประเทศอาเซียน

วาระเร่งด่วนสำหรับทุกประเทศในขณะนี้คงหนีไม่พ้นการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชน แต่ประสิทธิภาพและวิธีการของรัฐบาลในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน ทำให้บางประเทศแม้จะได้รับวัคซีนมาจำนวนมาก แต่ยังคงกระจายได้ไม่ทั่วถึง เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น  WAY ชวนสำรวจประเทศในภูมิภาคอาเซียนว่าประเทศไหนมีวัคซีนตัวใดอยู่บ้าง วัคซีนเหล่านั้นได้มาจากช่องทางใด เพื่อให้เห็นถึงภาพของวิธีการเพื่อให้ได้วัคซีนมาของประเทศหนึ่งๆ

บรูไน: วัคซีนฟรีแม้ไม่มีสถานะพลเมือง

รัฐบาลบรูไนดารุสซาลามได้ประกาศในวันที่ 5 มีนาคม 2021 ว่า ประชาชนจะได้รับวัคซีนฟรี แม้ไม่ได้มีสถานะเป็นพลเมืองของประเทศ 

บรูไนเริ่มการฉีดวัคซีนในเดือนเมษายน 2021 โดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขวางเป้าหมายไว้ว่าปลายปี 2021 ประชากรในประเทศจะได้รับการฉีดวัคซีนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ วัคซีนที่ใช้ในประเทศ ได้แก่ แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) โดยรัฐสั่งซื้อและได้รับจากโครงการ COVAX หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก โดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน รวมทั้งองค์การอนามัยโลก

ทางด้านวัคซีน ไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน(Johnson & Johnson) รัฐบาลสั่งซื้อและเป็นผู้นำเข้ามา ส่วนวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ได้รับบริจาคจากจีน แต่ไม่ได้ประกาศใช้เร่งด่วน

กัมพูชา: วัคซีนฟรีจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2020 ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา มีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเศรษฐกิจ เตรียมงบประมาณไว้สำหรับการซื้อวัคซีนให้ชาวกัมพูชา 10 ล้านคน ได้รับวัคซีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

กัมพูชาเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 31 มีนาคม 2021 โดยวัคซีนที่ใช้ ได้แก่ ซิโนแวค (Sinovac) มีบางส่วนที่ซื้อมาและได้รับบริจาคจากจีน ส่วนซิโนฟาร์ม(Sinopharm) ได้รับบริจาคจากจีน 700,000 โดส ทางด้าน แอสตราเซเนกา ได้รับจากโครงการ COVAX และบางส่วนมาจากการบริจาคของอินเดียและสหรัฐอเมริกา 324,000 โดส นอกจากนี้ยังมีวัคซีนตัวอื่นที่รัฐซื้อเข้ามาอีกคือ วัคซีนโนวาแวกซ์(Novavax) และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน(Johnson & Johnson)

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดลำดับความสำคัญในการรับวัคซีนให้กับกลุ่มบุคลากรในสนามบิน บุคลากรทางการทูต และองค์กรระหว่างประเทศ โดย ฮุน เซน รับปากว่าจะให้วัคซีนฟรีสำหรับชาวกัมพูชาทุกคน รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยหรือทำงานในกัมพูชาก็สามารถรับวัคซีนฟรีได้ 

อินโดนีเซีย: วัคซีนฟรีทั้ง 4 ตัว

อินโดนีเซียเริ่มมีการฉีดวัคซีนกลางเดือนมกราคม 2021 โดยวัคซีนที่ใช้ ได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม สั่งซื้อจากรัฐบาลอินโดนีเซีย และ แอสตราเซเนกา ได้จากโครงการ COVAX

นอกจากนี้ รัฐบาลได้สั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 50 ล้านโดส และคาดว่าจะได้รับในเดือนสิงหาคม 2021 โดยประธานาธิบดีของอินโดนีเซียประกาศว่า วัคซีนทั้งหมดจะให้บริการฟรีสำหรับประชาชนทุกคน

ลาว: รัฐจัดการ ห้ามเอกชนซื้อขายเด็ดขาด

วัคซีนที่ใช้ในประเทศลาว ได้แก่ ซิโนฟาร์ม ได้รับการบริจาคจากจีน ส่วนไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา จากโครงการ COVAX 

นอกจากนี้ ออสเตรเลียประกาศด้วยว่าจะบริจาควัคซีนให้ลาว ทว่ายังไม่มีการระบุยี่ห้ออีกจำนวน 1 ล้านโดส 

ทั้งนี้ รัฐบาลสั่งห้ามเอกชนซื้อวัคซีนโควิดเพื่อนำมาขายในประเทศ และมีแผนการจัดหาแหล่งวัคซีนเพิ่ม เพื่อให้ประชาชนลาวได้รับวัคซีน 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นปี 2021 

มาเลเซีย: ทั้งสั่งซื้อ รับบริจาค และหาทางพัฒนาเอง

วัคซีนที่ประเทศมาเลเซียมีในขณะนี้คือ ไฟเซอร์ ซิโนแวค และ แอสตราเซเนกา โดยไฟเซอร์มาจากโครงการ COVAX ซึ่งบางส่วนรัฐบาลสั่งซื้อเอง และบางส่วนได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา ส่วนวัคซีนซิโนแวค รัฐบาลสั่งซื้อกับผู้ผลิตโดยตรง ในขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกา มีทั้งที่ได้รับบริจาค 1 ล้านโดส จากประเทศญี่ปุ่น และมีบางส่วนจากโครงการ COVAX และที่รัฐบาลซื้อเอง 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า มาเลเซียจะสั่งซื้อวัคซีนได้มากเพียงพอภายในเดือนธันวาคม 2021 และมีแผนที่จะพัฒนาวัคซีนเอง

เมียนมา: สถานการณ์ยังไม่จบ แต่ยังต้องใช้วัคซีนรบกับโควิด

วัคซีนที่ใช้ในประเทศเมียนมาคือ ซิโนฟาร์ม จากการบริจาคของจีน และ โควิชีลด์ (Covishield) จากประเทศอินเดียในเดือนกุมภาพันธ์ ผ่านการสั่งซื้อของรัฐบาลจำนวน 30 ล้านโดส และต่อมาในเดือนเมษายน เมียนมาได้รับการบริจาควัคซีน โดยไม่ระบุยี่ห้อจากประเทศจีนจำนวน 500,000 โดส 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคมพบว่า องค์การอิสรภาพคะฉิ่น (The Kachin Independence Organization) ได้ทำการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน 20,000 คนอย่างเงียบๆ ด้วยวัคซีนซิโนแวคที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีน

นอกจากนี้ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2021 รัฐบาลเมียนมาได้ทำการเจรจาต่อรองเพื่อสั่งซื้อวัคซีน สปุตนิค วี (Sputnik V) จากประเทศรัสเซีย จำนวน 7 ล้านโดส เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้การระบาดลดลง 

ฟิลิปปินส์: นำเข้าต่อเนื่องแทบทุกยี่ห้อ

วันที่ 27 มกราคม 2021 รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศว่าจะมีวัคซีนมาถึงในต้นกุมภาพันธ์ ได้แก่ แอสตราเซเนกา ซิโนแวค และ ไฟเซอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนที่รัฐบาลสั่งซื้อ โดยในเดือนเมษายน 2021 ฟิลิปปินส์ได้รับแอสตราเซเนกา จำนวนกว่า 1 ล้านโดส ซิโนแวค 2 ล้านโดส และในเดือนมิถุนายน รัฐบาลได้สั่งซื้อซิโนแวคเพิ่มอีก 1 ล้านโดส นอกจากนี้ยังได้รับบริจาคจากจีนอีก 1 ล้านโดส โดยรัฐบาลให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินสำหรับแพทย์ หรือผู้ทำงานเป็นด่านหน้าที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง   

ส่วนไฟเซอร์ รัฐได้กระจายให้ใช้กับแพทย์และผู้มีความเสี่ยงสูง ซึ่งได้จากโครงการ COVAX จำนวนกว่า 2.3 ล้านโดส และในเดือนพฤษภาคม 2021 รัฐบาลได้สั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มอีก 40 ล้านโดส 

สำหรับวัคซีนโมเดอร์นา ทางรัฐบาลได้สั่งไปแล้ว 10 ล้านโดส และกลางปี 2021 จะเข้ามาอีก 13 ล้านโดส โดยมาถึงฟิลิปปินส์แล้วในเดือนมิถุนายน 250,000 โดส จากเอกชน

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังได้สั่งซื้อวัคซีน สปุตนิค วี อีกกว่า 20 ล้านโดส และยังมีวัคซีนอีกจำนวน 500,000 โดส ที่ยังไม่ระบุยี่ห้อ จะถูกนำเข้ามาในประเทศโดยเอกชนเป็นผู้นำเข้า

สิงคโปร์: ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ฟรี

วัคซีนยี่ห้อแรกที่ได้ฉีดให้กับประชาชนสิงคโปร์ในเดือนมกราคม 2021 จำนวน 6,200 คน คือ ไฟเซอร์ ที่สั่งซื้อจากยุโรปโดยตรง และในเดือนเดียวกันนี้ สิงคโปร์ได้รับวัคซีนโมเดอร์นา แต่ไม่ระบุจำนวนโดส ซึ่งทั้งสองยี่ห้อเป็นวัคซีนฟรีที่รัฐจัดซื้อให้ประชาชน ส่วนวัคซีนซิโนแวครัฐนำเข้ามา เพื่อขายให้สถานพยาบาล 31 แห่ง โดยประชาชนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนตัวนี้ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

เวียดนาม: รับบริจาคและวางแผนพัฒนาเอง

ประเทศเวียดนามได้รับบริจาควัคซีน ไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตราเซเนกา จากญี่ปุ่น 1 ล้านโดส นอกจากนี้วัคซีนแอสตราเซเนกายังมีบางส่วนที่นำเข้าจากโครงการ COVAX และที่รัฐจัดซื้อมาด้วย เช่นเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์ที่มีบางส่วนรัฐซื้อเข้ามา ส่วนซิโนฟาร์ม ได้รับบริจาคจากจีน 500,000 โดส

ทางด้านวัคซีนสปุตนิค วี มีบางส่วนที่รัฐซื้อ และได้รับบริจาคจากรัสเซีย ทั้งนี้เวียดนามยังมีแผนจะพัฒนาวัคซีนภายในประเทศเองด้วยภายใต้ชื่อ นาโนโคแวกซ์(Nanocovax) อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามประกาศว่ารัฐบาลวางแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตวัคซีนให้กับโครงการ COVAX ในประเทศ หลังจากต่อรองการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา

ไทย: ทางหลักไม่อยากฉีด ทางเลือกยังล่าช้า

วัคซีนที่ไทยใช้เป็นหลักและฟรีสำหรับประชาชนคือ วัคซีนซิโนแวค และ แอสตราเซเนกา โดยซิโนแวครัฐบาลสั่งซื้อจากประเทศจีน รวมถึงได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีนด้วย รวมเป็นจำนวน 9.5 ล้านโดส และแอสตราเซเนกา ที่รัฐสั่งซื้อและผลิตเอง รวมทั้งคาดว่าจะได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่นอีกจำนวน 1 ล้านโดส

นอกจากนี้ยังมีวัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน สปุตนิค วี และ ซิโนแวค ที่รัฐสั่งซื้อและกำลังรอการดำเนินการอยู่ โดย ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศในวันที่ 16 มิถุนายน 2021 ว่ารัฐบาลพยายามจัดหาวัคซีนอีกจำนวน 105.5 ล้านโดส ตามแผนกระทรวงสาธารณสุขที่จะให้ประชาชน 70 เปอร์เซ็นต์ ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ภายในเดือนกันยายน 2021 

สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ มีการรายงานว่าในวันที่ 6 กรกฎาคม 2021 ครม. อนุมัติจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว จำนวน 20 ล้านโดส โดยจะนำเข้าในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนได้ฉีดฟรี และในวันต่อมากรมควบคุมโรคของไทยได้เซ็นสัญญารับมอบวัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นผู้บริจาค จำนวน 1.5 ล้านโดสอีกด้วย ถึงอย่างนั้น ในช่วงก่อนหน้านี้ได้มีเสียงวิพากวิจารณ์มากมายถึงการทำงานที่ล่าช้าของรัฐบาล ต่อการได้มาของวัคซีนไฟเซอร์ที่มีตัวเลขประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนอย่าง ซิโนแวค และ แอสตราเซเนกา ที่รัฐจัดหาให้จำนวนมากในก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ วัคซีนโมเดอร์นา และ ซิโนฟาร์ม ถือเป็นวัคซีนทางเลือกที่รัฐอนุญาตให้เอกชน และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้ามา เพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกที่หลากหลายขึ้น หากแต่ผู้ประสงค์ที่จะได้รับวัคซีนดังกล่าวต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

ในด้านการวิจัยและพัฒนา ไทยมีวัคซีนที่อยู่ในขั้นตอนนี้ ได้แก่

  • วัคซีนจุฬาคอฟ19 (ChulaCov19) เป็นวัคซีนชนิด mRNA โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนให้แก่ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวัคซีน ChulaCov19 และมี ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม เป็นผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้วัคซีนดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจาก ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย
  • วัคซีนโควิด-19 ใบยา จากทีมวิจัยจุฬาภายใต้ชื่อ ทีมไทยแลนด์ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาในมนุษย์ และจะเริ่มรวบรวมอาสาสมัครในเดือนสิงหาคม ซึ่ง ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกรรมการ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด หนึ่งในทีมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากใบยา หรือ ใบพืช คาดว่า เบื้องต้นจะใช้อาสาสมัครประมาณ 100 คน อายุประมาณ 18-55 ปี และ 65-75 ปี เริ่มทดลองฉีดช่วงเดือนกันยายน และเป็นวัคซีนที่คล้ายกับวัคซีน Novavax แต่ต่างกันที่ โนวาแวกซ์ใช้เซลล์แมลงผลิต แต่ วัคซีนโควิด-19 ใบยา ใช้ต้นไม้หรือพืชผลิต
  • วัคซีนขององค์กรเภสัชกรรมและ ม.มหิดล โดยวันที่ 23 มีนาคม 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของรัฐบาล เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิจัยวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 รวม 460 คน โดยฉีดเข็มแรกในอาสาสมัครกลุ่มแรกก่อน 18 คน คาดปลายปีนี้ได้สูตรที่ดีที่สุดเพื่อศึกษาต่อระยะที่ 3
อ้างอิง

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า