ต้นปีที่ผ่านมา เมืองใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศเยอรมนีอย่างฮัมบูร์ก ออกมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการห้ามใช้เครื่องทำกาแฟแบบ Keurig ที่ต้องใช้คู่กับแคปซูลกาแฟถ้วยเล็กหรือ K-Cup ในอาคารสำนักงานต่างๆ ของเทศบาลเมือง
เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองฮัมบูร์ก แถลงว่า การแบนครั้งนี้สืบเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า K-Cup หรือ แคปซูลรูปถ้วยพลาสติกขนาดเล็กแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่ภายในบรรจุผงกาแฟและฟิลเตอร์กรอง ก่อให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองและสร้างขยะจำนวนมาก มากกว่านั้น K-Cup ยังยากต่อการนำไปรีไซเคิล เพราะทำจากพลาสติกผสมอลูมิเนียม
“ผงกาแฟ 6 กรัมที่บรรจุในแพ็คเกจจิ้งน้ำหนัก 3 กรัม เราในฐานะชาวฮัมบูร์กคิดว่าไม่ควรจะนำเงินจากภาษีประชาชนมาซื้อสิ่งเหล่านี้” แจน ดิวบ์ โฆษกฝ่ายสิ่งแวดล้อมและพลังงานแห่งเทศบาลเมืองฮัมบูร์ก เผยที่มาของนโยบายดังกล่าว
นอกจากเครื่องทำกาแฟชนิดนี้แล้ว เทศบาลเมืองฮัมบูร์กยังสั่งแบนขวดน้ำ เบียร์ จาน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากพลาสติก แต่ก็ให้ความสำคัญมากที่สุดกับแคปซูลกาแฟแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
เมื่อปีที่แล้ว สื่ออย่าง The Atlantic รายงานว่าถ้าลองเอา K-Cup ที่ขายได้ทั้งหมดในปี 2014 มาเรียงต่อกัน จะสามารถวนรอบโลกได้เกือบ 12 รอบเลยทีเดียว
กระทั่ง จอห์น ซิลแวน ผู้ประดิษฐ์และคิดค้นเครื่องทำกาแฟแบบ Keurig ในปี 1992 ก็ออกมาขอโทษและแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่สร้างสรรค์นวัตกรรมนี้ขึ้นมา
“ผมเองไม่มีสักเครื่อง” ซิลแวนยอมรับ “มันเป็นอุปกรณ์การทำกาแฟที่ค่อนข้างแพง ยิ่งกว่านั้นรสชาติยังไม่เหมือนกาแฟดริปที่ขั้นตอนการทำค่อนข้างซับซ้อน” ทั้งนี้ซิลแวนขายหุ้นของเขาในบริษัทออกไปแล้วตั้งแต่ปี 1997 ในราคา 50,000 เหรียญ
แม้จะขึ้นชื่อว่าสร้างขยะ แต่ตลาดการบริโภคกาแฟ K-Cup ยังโตขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาเติบโตกว่าสามเท่าตัว และแคปซูลกาแฟเข้ามาแบ่งสัดส่วนการขายกาแฟถึง 1 ใน 3
โฆษกของ Keurig ติดต่อมายัง GlobalPost หลังจากข่าวนี้เผยแพร่ออกไป โดยแจ้งข้อมูลว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาแคปซูลที่นำไปรีไซเคิลได้
“แคปซูลกาแฟที่รีไซเคิลได้ ได้ทดลองจัดจำหน่ายไปแล้วในอเมริกาเหนือ นี่เป็นประเด็นที่เราให้ความสำคัญอย่างจริงจังแม้มันจะเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เราวางเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2020 แคปซูลกาแฟถ้วยของเราจะรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เรากำลังออกแบบร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมพลาสติกและรีไซเคิล”