จากลุงกำนันอยากเลือกตั้ง ถึงการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ

ลุงกำนัน

ทันทีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ประกาศแน่ชัดเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปท.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แม้ไม่รับตำแหน่งผู้บริหารในพรรค แต่ก็ต้องเผชิญกับการค่อนขอดมากมาย โดยเฉพาะประเด็น ‘ตระบัดสัตย์’ (ตามคำของคุณสุเทพเอง) เพราะเคยบอกว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกแล้ว อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่ได้ประหลาดใจกับการหวนกลับคืนสู่เวทีการเมืองครั้งนี้ของนายสุเทพแต่อย่างใด เพราะไม่ได้เชื่อถือวาจาของคุณสุเทพมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจมากกว่าก็คือ การประกาศร่วมตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ของกลุ่มคนที่เคยเป็นแกนนำขัดขวางการเลือกตั้งชนิดเลือดตกยางออก มีผู้เสียชีวิต 27 คน บาดเจ็บอีก 782 คน ด้วยการชูธง ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ กระทั่งกลายเป็นปัจจัยสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจของ คสช. ที่อ้างว่าบ้านเมืองมีการประท้วงนอกกรอบกันจนวุ่นวาย มาบัดนี้ คนกลุ่มดังกล่าวประกาศตั้งพรรคเพื่อลงเลือกตั้ง

เมื่อคนที่เคยขัดขวางการเลือกตั้งอย่างเอาเป็นเอาตายมาตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงเลือกตั้ง แม้คุณสุเทพจะไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเองก็ตาม ย่อมแสดงว่า การเลือกตั้งเป็นทิศทางที่ไม่มีใครสามารถเหนี่ยวรั้งยื้อยุดไว้ได้อีกต่อไป เพราะการเลือกตั้งเป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้รัฐบาลสามารถใช้อำนาจอย่างมีความชอบธรรมเพราะได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน

การกลับมายอมรับสนามของการเลือกตั้งครั้งนี้ นายสุเทพไม่ได้บอกว่าเป็นเพราะการปฏิรูปตามเจตนารมณ์ของ กปปส. ลุล่วงแล้วแต่อย่างใด แต่ถ้าถามคนส่วนใหญ่ ผู้เขียนคิดว่า ความเห็นน่าจะไปในทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปในทางที่ดีขึ้นในยุค คสช.

ยกตัวอย่างการป้องกันการทุจริตที่เคยเป็นข้ออ้างสำคัญในการขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย คสช. ก็ไม่ได้มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ซ้ำร้ายยังเกิดข้อกังขาว่าการทุจริตกำลังย้ายจากนักเลือกตั้งไปสู่บรรดาขุนทหารจากการจัดซื้อยุทโธปกรณ์อย่างเรือดำน้ำมูลค่า 36,000 ล้านบาท

และประเด็นที่สังคมคาใจที่สุดก็คือ นาฬิกาหรูของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ ป.ป.ช. ไม่เร่งรัดตรวจสอบ แถมยังแสดงท่าทีเกรงใจพลเอกประวิตรอย่างเห็นได้ชัด ส่วนนายกรัฐมนตรีก็ยังปกป้องอีกว่าเรื่องมีนาฬิกาเป็นเรื่องส่วนตัว ทั้งๆ ที่สังคมกำลังสงสัยรองนายกรัฐมนตรีว่าลำพังเงินเดือนทหารหรือรายได้ปกติอื่นๆ ไม่น่าจะซื้อนาฬิกาหรูเช่นนี้ได้ เรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่ คสช. และ ป.ป.ช. ต้องชี้แจงให้ประชาชนสิ้นสงสัย ไม่ใช่ตวาดผู้ที่มาเรียกร้องให้ทำการตรวจสอบ

หรือหากจะมองผลงานสำคัญของ คสช. คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ถูกออกแบบมาเพื่อลดทอนอำนาจของประชาชนที่จะใช้ผ่านการเลือกตั้งอย่างโจ่งแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นให้ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ องค์กรอิสระที่มากจากการแต่งตั้งของ คสช. ก็พร้อมจะทำหน้าที่อย่างขึงขังให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องหลุดจากตำแหน่ง รวมถึงการมีคณะกรรมการเขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เป็นการตีกรอบพรรคการเมืองไม่ให้สร้างสรรค์นโยบายอย่างเป็นอิสระ

ปัญหาสำคัญของการเขียนรัฐธรรมนูญแบบข้างต้นก็คือ ขาดการประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจ และสถาบันทางสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง สื่อมวลชน การใช้สิทธิใช้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน เพื่อสร้างจุดร่วมให้รัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่คนทั้งสังคมยอมรับร่วมกัน

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของคนที่ได้ชัยชนะจากการยึดอำนาจอย่างไม่ต้องเกรงใจใคร เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปฏิบัติภารกิจของ คสช. ที่อ้างว่าเข้ามาจัดการความขัดแย้ง แต่กลับเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นที่มาของความขัดแย้ง และตัวเองก็กลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง เพราะถูกมองว่าต้องการสืบทอดอำนาจ

แค่เรื่องปราบคอร์รัปชันและรัฐธรรมนูญใหม่ก็สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ความฝัน ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ โดยใช้อำนาจนอกระบบอย่างที่ กปปส. เคยชูธงเมื่อสี่ปีที่แล้วนั้น ไม่มีทางเป็นจริง

ตรงกันข้ามการปฏิรูปการเมืองที่จะเป็นจริงและยั่งยืน ต้องเกิดจากกระบวนการภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมและร่วมเป็นเจ้าของผลงานจากการปฏิรูป ในบรรยากาศที่เปิดกว้าง เช่นเมื่อครั้งกระบวนการปฏิรูปการเมืองที่ใช้เวลาร่วมสามปี ผ่านสามรัฐบาล จึงได้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ดังนั้น ความจำเป็นเฉพาะหน้าสำหรับคนปรารถนาให้สังคมการเมืองไทยก้าวไปข้างหน้าไม่ใช่ถอยหลังก็คือ ใช้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างสันติ เพื่อให้สังคมไทยกลับคืนสู่ภาวะปกติ ประชาชนมีสิทธิออกเสียงและแสดงความเห็นโดยเคารพสิทธิซึ่งกันและกันได้ ไม่ใช่อยู่ในภาวะที่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกทหารคุกคาม ถูกตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรมดังที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งกำลังประสบอยู่

สำหรับประชาชนที่นิยม คสช. และพลเอกประยุทธ์ไม่ควรหวาดกลัวการเลือกตั้ง เพราะหากพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ชนะการเลือกตั้ง การเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยของพลเอกประยุทธ์ก็จะมีความสง่างามกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนประชาชนที่ไม่นิยมระบอบ คสช. ซึ่งก็แสดงความอดทน ทำตามกติกาอย่างที่สุดแล้ว คือรอคอยที่จะใช้อำนาจของประชาชนอย่างสันติผ่านการเลือกตั้ง รัฐบาลควรเคารพเสียงประชาชน และไม่ควรเลื่อนการเลือกตั้งต่อไปอีกแล้ว ส่วนประชาชนที่เอือมระอากับ คสช. แต่ลังเลที่จะหันไปทางพรรคเพื่อไทย อย่างน้อยการเลือกตั้งก็ยังเปิดโอกาสให้สามารถใช้สิทธิลงคะแนนให้กับพรรคทางเลือกต่างๆ

การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการที่สังคมส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ จะมีก็แต่คนที่อยากกอดอำนาจไว้นานๆ เท่านั้นที่ไม่อยากลงสนามเลือกตั้ง ยิ่งข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า รัฐบาล คสช. นั้นยึดอำนาจเป็นรัฐบาลมาครบสี่ปีแล้ว ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกกำหนดไว้โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 102 ว่า เมื่อสภาผู้แทนฯ มีอายุครบสี่ปี ต้องสิ้นสภาพและมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน

ดังนั้นหาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสงค์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ก็ควรอยู่ในครรลองเดียวกัน คือกลับไปถามประชาชนผ่านการเลือกตั้ง (ไม่ใช่ด้วยการตะคอกถาม) ว่าจะอนุญาตให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่

ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนขณะนี้ สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะนิยม คสช. หรือไม่นิยม คสช. ก็คือ การส่งกระแสเสียงให้การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งควรเป็นหลักสุดท้ายที่จะไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก เพราะนี่ก็เป็นการเลื่อนจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่พลเอกประยุทธ์เคยพูดด้วยตัวเองมาครั้งหนึ่งแล้ว

และเพื่อให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมีความหมายสำคัญ พรรคการเมืองใดที่นิยม คสช. สนับสนุนพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ประสงค์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ คสช. ควรประกาศแสดงท่าทีให้ชัดเจน เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่ไม่ต้องการให้ คสช. สืบทอดอำนาจ และประสงค์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกลไกที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ (ซึ่งทำได้ยาก) เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจในการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น ว่าจะลงคะแนนเสียงให้ระบอบ คสช. ที่จะแปลงร่างใหม่กลับมาหรือไม่

หากผลการเลือกตั้งปรากฏว่าฝ่ายที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ได้รับเสียงข้างมาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงเกิดขึ้นได้ยากในอนาคตอันใกล้ แต่หากพรรคการเมืองฝั่งที่ไม่สนับสนุน คสช. ได้รับเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเริ่มไปตามกระบวนการ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องใช้เสียงของ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ด้วย

ทั้งหมดนี้ หากเริ่มต้นด้วยกติกายอมรับผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ก็จะไม่เกิดปรากฏการณ์ ‘รัฐธรรมนูญข้า ใครอย่าแตะ’ คือไม่เกิดการปลุกกระแสเกลียดชังคนที่ประสงค์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็จะเข้าสู่สนามเลือกตั้งอย่างสันติ

ที่สำคัญที่สุดคือ จากบทเรียนของการร่างรัฐธรรมนูญ คสช. และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองตลอด 10 ปีเศษที่ผ่านมา (2549-2561) ที่เกิดสภาวะผลัดกันรุกผลัดกันรับระหว่างกลุ่มอำนาจนอกระบบเลือกตั้งที่มีกองทัพและศาลเป็นฐานสำคัญ กับกลุ่มอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง โดยที่ไม่สามารถหาจุดร่วมที่แต่ละฝ่ายสามารถยอมรับได้ การรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นถี่ในช่วง 20 ปีหลัง

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งควรจะมีหลังการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่การขับอีกฝ่ายจนตกกระดาน แต่เป็นการหาจุดรอมชอม หาจุดสมดุลของอำนาจแต่ละฝ่ายให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงเสียงที่ประชาชนแสดงออกผ่านการเลือกตั้งเป็นฐานสำคัญ ขณะเดียวกัน การสร้างกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐก็ต้องยึดโยงกับประชาชน

ผู้เขียนย้ำอีกครั้งว่า สำหรับประชาชนไม่ว่าจะชอบ คสช. หรือไม่ก็ตาม การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สิ่งที่สำคัญมากกว่า ‘สุเทพตระบัดสัตย์’ ก็คือ ข้อพิสูจน์ที่ว่า ธง ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ กำลังเปื่อยสลายแล้ว เหลือแต่การปฏิรูปหลังเลือกตั้งด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางและสันติเท่านั้น การปฏิรูปการเมืองจึงพอจะมีความหวังเกิดขึ้นได้

ขนาดลุงกำนัน ยังต้องตั้งพรรคลงเลือกตั้ง คงไม่เกินเลยที่จะบอกว่า ถึงเวลาที่เราต้องบอกว่า ใครๆ ก็อยากเลือกตั้ง

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า