คำขวัญวันเด็กจากผู้ใหญ่ใจดี

 

WAY ชวนอ่านคำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรีทั้งเก้าท่าน อ่านบริบททางการเมืองของนายกรัฐมนตรีผู้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งเก้าท่าน และคำแถลงนโยบายที่พวกเขามีต่อเด็กและเยาวชนของชาติ

คำขวัญ/บริบทการขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี/คำแถลงนโยบาย

สามส่วนนี้จะมีความสอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไร WAY ขอยกให้เป็นวิจารณญาณของผู้อ่านกันเอง

01 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2502-2506)

ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า (พ.ศ. 2502)

ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย (พ.ศ. 2503)

ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด (พ.ศ. 2504)

ขอให้เด็กสมัยปฎิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียร (พ.ศ. 2505)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารใน พ.ศ. 2500 โค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้นำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่ตนเองตั้งขึ้นไว้ แล้วขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียเอง เลิกใช้รัฐธรรมนูญและล้มสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรองกฎหมายและร่างรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าเหมาะสม

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ ไม่ต้องรักษาสถาบันประชาธิปไตยไว้เป็นฉากหน้าอีกต่อไป

คำแถลงนโยบาย 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502

“รัฐบาลนี้สนใจเป็นพิเศษในการศึกษาของเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในวันหน้า โดยจะได้ดำเนินการให้เยาวชนได้รับทั้งวิทยาการ และจริยศึกษาควบคู่กันไป และได้จัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติขึ้นและให้ความอนุเคราะห์ตามความจำเป็น”

 

02 จอมพลถนอม กิตติขจร (พ.ศ. 2501-2516)

เด็กจะเจริญต้องรักเรียนและ เพียรทำดี (พ.ศ. 2508)

รู้เรียนรู้เล่นรู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ (พ.ศ. 2512)

เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส (พ.ศ. 2513)

ยามเด็กจงหมั่นเรียนเพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ (พ.ศ. 2514)

เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ (พ.ศ. 2515)

เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ (พ.ศ. 2516)

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอมได้ทำรัฐประหารตัวเอง และจัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้น มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญการปกครองดังกล่าวได้มีมติให้ จอมพลถนอม กิตติขจร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

จอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เนื่องจากเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และเกิดเหตุไม่สงบเรียบร้อยขึ้นภายในประเทศ จึงเดินทางออกนอกประเทศ

คำแถลงนโยบาย 25 มีนาคม พ.ศ. 2512

รัฐบาลนี้จะจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเฉพาะจะปรับปรุงและส่งเสริมการศึกษาทั้งในด้านการศึกษาสามัญ อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาให้ดียิ่งขึ้นเพื่อการนี้

รัฐบาลนี้จะพยายามขยายการศึกษาภาคบังคับออกไปทั่วทั้งประเทศปรับปรุงโรงเรียนทุกชนิด โดยเฉพาะโรงเรียนอาชีวะให้มีคุณภาพสูงขึ้นและเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น ช่วยเหลือบรรดาครูบาอาจารย์ในรูปสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้ได้มีความรู้สึกมั่นคงในอาชีพของตนสามารถอุทิศเวลาเพื่อการศึกษาอบรมแก่เยาวชน

นอกจากนั้นรัฐบาลนี้จะสนับสนุนให้เอกชนได้เข้ามีบทบาทในการให้การศึกษาแก่ประชาชนทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมประเพณีอันดีงามของชาติ บำรุงพระพุทธศาสนา ตลอดถึงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติด้วย

 

03 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ (พ.ศ. 2516-2518)

สามัคคีคือพลัง (พ.ศ. 2517)

เด็กคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความดี (พ.ศ. 2518)

หลังจาก จอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

คำแถลงนโยบาย 7 มิถุนายน พ.ศ. 2517

รัฐบาลจะเร่งรัดการศึกษาอบรมเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยเน้นในเรื่องการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรม

 

04 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (พ.ศ. 2519-2520)

รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นสมบัติของเยาวชนไทย (พ.ศ. 2520)

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของไทย ภายหลังจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

รัฐบาลของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีนโยบาย โดดเด่นคือการต่อต้านภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังมีอิทธิพลอย่างสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนั้น

คำแถลงนโยบาย 29 ตุลาคม พ.ศ. 2519

รัฐบาลนี้ถือว่าเป็นหน้าที่หลักตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในอันที่จะอบรมและเร่งเร้าเป็นพิเศษให้นักเรียนนิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วราชอาณาจักรตระหนักและเห็นคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีชาติศาสนา และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุของประเทศ มีความภาคภูมิในวัฒนธรรมไทย รู้จักใช้สิทธิเสรีภาพภายในกรอบกฎหมาย และตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

 

05 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ. 2523-2531)

เด็กไทยมีวินัยใจซื่อสัตย์ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม (พ.ศ. 2524)

ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย (พ.ศ. 2525)

รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม (พ.ศ. 2526)

รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดี มีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา (พ.ศ. 2527)

สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม (พ.ศ. 2528)

นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์สื่อ ถือคุณธรรม (พ.ศ. 2529)

ในสมัยรัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลเอกเปรมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และสมาชิกสภาปฏิรูป พ.ศ. 2520 และในสมัยรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สมัยที่ 2 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใน พ.ศ. 2522

เมื่อ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ลาออกจากตำแหน่ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมา

คำแถลงนโยบาย 28 มีนาคม พ.ศ. 2523

จะส่งเสริมสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจโดยเน้นการเจริญเติบโตของร่างกาย การป้องกันโรคและการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเป็นหลัก

จะเร่งรัดสร้างค่านิยมโดยเฉพาะด้านจริยธรรม และศาสนธรรมให้มีวินัยความซื่อสัตย์ ความอดทน ความขยันหมั่นเพียรรู้จักประหยัด รู้จักตนเองและรู้จักอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นด้วยความสมานฉันท์

จะส่งเสริมการพัฒนาด้านสติปัญญาการแสวงหาความรู้และการใช้เหตุผลในทางริเริ่มและสร้างสรรค์ ที่มีประสบการณ์เหมาะสมกับวัย

จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาให้เต็มที่ตามสภาพและความแตกต่างระหว่างบุคคลสงเคราะห์ และบำบัดรักษาเด็กที่มีปัญหาเฉพาะทั้งทางกาย สมองและอารมณ์รวมทั้งให้ความคุ้มครองเด็ก เยาวชนที่ทำงาน 

จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักในความสำคัญของความเป็นชาติ เข้าใจบทบาทของตนในการพัฒนาชาติ และการเป็นสมาชิกในสังคมนานาชาติ รัฐมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้เป็นรากฐานการปกครองของประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การประกอบอาชีพ การพัฒนาชนบท การให้เยาวชนไทยเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความรู้ ความคิด มีคุณธรรม จริยธรรมและพลานามัยสมบูรณ์

จะระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ มาเพื่อขยายการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับและการศึกษานอกโรงเรียนให้ทั่วถึงโดยรวดเร็ว เพื่อสร้างประชากรไทยให้มีคุณภาพสามารถในการประกอบอาชีพ และกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ รวมทั้งส่งเสริมให้มีสินเชื่อทางการศึกษาให้กับเด็กที่มีความสามารถได้เรียนอย่างทั่วถึง

จะปรับปรุงวิธีการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและให้มีคุณภาพทัดเทียมกันทุกระดับไม่ว่าสถานศึกษานั้นจะตั้งอยู่ ณ ที่ใด ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความต้องการของท้องถิ่นเป็นสำคัญ

 

06 นายอานันท์ ปันยารชุน (พ.ศ. 2534-2535)

สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม (พ.ศ. 2535)

หลังจากที่ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เข้ายึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ จากรัฐบาลของ พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ (สมัยที่ 2 ) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พลเอกสุจินดา คราประยูร พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล และ พลเอกอิสรพงศ์ หนุนภักดี ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ฉบับที่ 14 ) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534 โดยกำหนดให้มีสภาเดียว คือ ‘สภานิติบัญญัติแห่งชาติ’ และคณะ รสช. เสนอให้ แต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534

คำแถลงนโยบาย 4 เมษายน 2534

รัฐบาลจะปรับปรุงระบบการศึกษาให้สามารถพัฒนาศักยภาพมนุษย์รวมทั้งด้านจริยธรรมและคุณธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ โดยมีแนวทางดังนี้เร่งขยายโอกาสและบริการทางการศึกษาในและนอกระบบให้กว้างขวางและทั่วถึง เพื่อยกระดับการศึกษาพื้นฐานให้ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นอย่างต่ำ รวมทั้งขยายการศึกษาปฐมวัยในชนบทเพิ่มขึ้น

พัฒนาหน่วยงานทางการศึกษาในส่วนกลางส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ให้มีความคล่องตัวในการบริหารการศึกษา การศาสนา และการวัฒนธรรม เร่งรัดให้มีการประกาศใช้ปฏิญญาเพื่อเด็ก

07 พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ (พ.ศ. 2549-2551)

มีคุณธรรมนำใจใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข (พ.ศ. 2550)

สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม (พ.ศ. 2551)

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 โดยมี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

คำแถลงนโยบาย 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549

รัฐบาลเร่งรัดปฏิรูปการศึกษา โดยยึดคุณธรรมนำความรู้มุ่งมั่นที่จะขยายโอกาสทางการศึกษาของประชาชนให้กว้างขวางและทั่วถึง โดยคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ เสริมสร้างความตระหนักในคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสมานฉันท์ สันติวิธี วิถีชีวิตประชาธิปไตย พัฒนาคนโดยใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความร่วมมือของสถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันทางศาสนา และสถาบันการศึกษา

08 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พ.ศ. 2551-2554)

ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี (พ.ศ. 2552)

คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม (พ.ศ. 2553)

รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ (พ.ศ. 2554)

หลังจากที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน จากนั้น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วน จากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้รับรอง 214 เสียงเกิน 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดในสภา

การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งรัฐบาลได้ส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม และรถหุ้มเกราะ เข้าปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณแยกราชประสงค์ ระหว่างการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และยังไม่มีผู้ออกมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

คำแถลงนโยบาย 29 ธันวาคม พ.ศ. 2551

รัฐบาลจะปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการระดมทรัพยากร เพื่อการปรับปรุงการบริหารการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา พัฒนาหลักสูตร รวมทั้งปรับหลักสูตรวิชาแกนหลัก รวมถึงวิชาประวัติศาสตร์ ปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ ปรับบทบาทการศึกษานอกโรงเรียนเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต ตลอดจนส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นคุณธรรม

สำหรับการจัดการศึกษานั้น ให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ รวมทั้งยกระดับศูนย์เด็กเล็กในชุมชน และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาด นอกจากนี้จะส่งเสริมการทำนุบำรุงและรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยทุกด้าน รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย ให้มีความก้าวหน้าเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เสริมสร้างบทบาทสถาบันครอบครัวร่วมกับสถาบันทางศาสนา สถาบันการศึกษา ในการปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่ดีและการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่มีผลกระทบต่อการเบี่ยงเบนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน

09 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พ.ศ. 2557 – ปัจจุบัน)

ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต (2558)

เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต (2559)

เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง (2560)

ระหว่างวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2556 พลเอกประยุทธ์อ้างว่ากองทัพเป็นกลางและจะไม่รัฐประหาร ทว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารต่อรัฐบาลและควบคุมประเทศในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับแต่นั้นมาจนบัดนี้

คำแถลงนโยบาย 12 กันยายน 2557

รัฐบาลจะเน้นการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และความเป็นไทย มาใช้สร้างสังคมให้เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพและคุณธรรมควบคู่กัน…

 


อ้างอิงข้อมูลจาก: คำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีไทย โดย บุญญาภา อักษรกาญจน์

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า