ช่วงเวลาที่มืดมน
เกิดเหตุการณ์กราดยิงสังหารอย่างสยองขวัญในมัสยิดสองแห่งที่เมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ ระหว่างการทำละหมาดของชาวมุสลิมในวันศุกร์ เป็นเหตุให้ศาสนิกอย่างน้อย 49 รายเสียชีวิต และบาดเจ็บอย่างน้อย 48 คน
นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น แถลงว่าเหตุการณ์นี้เป็น “การโจมตีของผู้ก่อการร้าย” และเป็นหนึ่งใน “ช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด” ของประเทศ
ทางการตำรวจนิวซีแลนด์สั่งให้ทุกหน่วยทั่วประเทศจัดเตรียมความพร้อมและระแวดระวังเต็มกำลัง โรงแรมหลายแห่งใจกลางเมืองใหญ่เพิ่มการจัดวางกำลังหน่วยรักษาความปลอดภัยสำหรับสถานที่ของตน ตำรวจออกตระเวนในที่สาธารณะมากขึ้นกว่าปกติ
ตำรวจยืนยันว่าชายในวัยยี่สิบปลายคนหนึ่งถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม และกำลังจะส่งตัวเขาขึ้นสู่ศาลศาลในเช้าวันเสาร์
ผู้บัญชาการตำรวจ ไมค์ บุช กล่าวว่ามีชายอีกสองคนและผู้หญิงหนึ่งคนถูกกักตัวไว้ใกล้กับบริเวณนั้นและเป็นผู้ครอบครองอาวุธปืน ต่อมาตำรวจปล่อยตัวคนหนึ่งไปจากสถานะผู้ต้องสงสัย
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สก็อตต์ มอร์ริสัน ยืนยันว่าผู้ถูกจับกุมเป็นพลเมืองที่เกิดในออสเตรเลีย และเรียกเขาว่าเป็น “ผู้ก่อการเขย่าขวัญหัวรุนแรง ฝ่ายขวา สุดโต่ง”
เจ้าหน้าที่นิวซีแลนด์ได้แจ้งให้มัสยิดทุกแห่งปิดประตูสถานที่ไว้จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น
ผู้กำกับบุชกล่าวว่าเจ้าหน้าที่กำลังสอบสวนเพื่อทำความเข้าใจว่าอีกสองคนนั้นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อย่างใดหรือไม่
ยิงไป Facebook Live ไป
ตำรวจแจ้งว่ามือปืนดูเหมือนจะติดตั้งกล้องวิดีโอไว้บนศีรษะเพื่อถ่ายทอดสดการอาละวาดกราดยิงของเขาไปสู่ช่องทางของ Facebook ภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเขายิงอย่างไม่เจาะจงไปยังผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กเล็ก ในระยะเผาขน ที่ มัสยิด อัล-นอร์ (Al Noor) ซึ่งมีศาสนิกมาชุมนุมสวดภาวนาอยู่ประมาณ 400 คน
ตำรวจเรียกร้องให้ประชาชนไม่แชร์แบ่งปันคลิปภาพ “ที่น่าวิตกอย่างยิ่ง” ออนไลน์ ทางการของ Facebook กล่าวว่าได้ลบบัญชี Facebook และ Instagram ของมือปืนออกไปแล้ว และกำลังทำงานเพื่อลบสำเนาวิดีโอใดๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ทางการเชื่อว่าผู้ต้องสงสัยได้เผยแพร่แถลงการณ์สรุปความตั้งใจของเขาไว้ก่อนแล้ว เขาระบุว่าตัวเองมีอายุ 28 ปี เกิดในออสเตรเลีย และเชื่อมั่นในแนวทางการเมืองแบบขวาจัด และมีอุดมการณ์ต่อต้านการอพยพ
ผู้กำกับตำรวจบุชยืนยันว่าผู้ต้องสงสัยที่ถูกตั้งข้อหาไม่เป็นที่รู้จักของทางการมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นในหน่วยความมั่นคงปลอดภัยของทั้งนิวซีแลนด์ หรือออสเตรเลีย
นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น เรียกเหตุการณ์ว่าเป็น “หนึ่งในวันที่มืดมนที่สุดของนิวซีแลนด์” และ “สำหรับขณะนี้ เท่าที่เห็นชัดเจน สามารถอธิบายได้ว่าเป็นการโจมตีของผู้ก่อการร้ายเท่านั้น” เธอกล่าวแถลงต่อผู้สื่อข่าว
จากอัล-นอร์ ถึงลินวูด ยิงแล้วก็ยิง
รายงานการโจมตีครั้งแรกออกมาจากมัสยิด อัล-นอร์ ที่ใจกลางเมืองไครสต์เชิร์ช พยานหลายคนบอกผู้สื่อข่าวว่าตนเองต้องวิ่งหนีตายและเห็นร่างคนบาดเจ็บเลือดไหลนองอยู่กับพื้นนอกตัวอาคาร
หลังจากสังหารคนจำนวนมากที่มัสยิดอัล-นอร์ แล้ว มือปืนเคลื่อนย้ายต่อมาที่มัสยิดลินวูด แล้วสังหารคนที่นั่นอีก 10 ราย
มีการอพยพผู้คนออกจากมัสยิดแห่งที่สองในย่านลินวูด (Linwood) และยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมมาจากที่นั่น แต่ผู้กำกับตำรวจบุชยืนยันว่า “มีการปลดชนวนออกจากวัตถุระเบิด IED ชนิดประกอบเองจำนวนหนึ่งที่ถูกนำไปติดตั้งไว้กับรถยนต์”
ทางการนิวซีแลนด์แนะนำให้มัสยิดทุกแห่งปิดตนเองลงชั่วคราวจนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น ตำรวจถืออาวุธยืนเฝ้าอยู่ที่หน้าโรงเรียนบางแห่งในเมืองไครสต์เชิร์ชด้วย มีการปิดกั้นไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าในเขตโรงเรียน
ผู้กำกับตำรวจบุชชี้แจงต่อที่ประชุมผู้สื่อข่าวว่าตำรวจกำลังสอบสวนอย่างเข้มข้นว่าผู้ต้องสงสัยรายอื่นที่ถูกจับกุมไว้มีส่วนเกี่ยวพันอย่างใดในการกราดยิงหรือไม่ บุชแจ้งว่าตำรวจได้ยึดอาวุธปืนจำนวนหนึ่งจากสถานที่เกิดเหตุทั้งสองแห่ง
ลำดับของเหตุการณ์ยังคงไม่ชัดเจน ผู้สื่อข่าวอาศัยเพียงเรื่องเล่าจากผู้รอดชีวิต ชายคนหนึ่งที่ไม่ได้แจ้งชื่อกล่าวกับทีวีนิวซีแลนด์ว่า เขาอยู่ในมัสยิดอัล-นอร์ และเห็นมือปืนยิงชายคนหนึ่งเข้าตรงหน้าอก แล้วก็เดินต่อไปยังห้องสวดของผู้หญิง
พยานบอกว่าเขาเอาแต่ภาวนาให้กระสุนของมือปืนหมดลง “เขาเดินมาด้านนี้ แล้วยิง แล้วไปที่อีกห้องหนึ่ง แล้วไปที่ห้องของผู้หญิง แล้วยิงอีก ผมได้ยินว่าหญิงคนหนึ่งเพิ่งตายลง”
ชายชาวปาเลสติเนียนซึ่งไม่ขอแจ้งชื่อบอกกับสำนักข่าว AFP ว่าเขาได้ยิงเสียงปืนดังรัวติดต่อกัน และเห็นชายคนหนึ่งถูกยิงตรงศีรษะ “ผมได้ยินเสียงปืนสามนัด ภายใน 10 วินาทีมันดังขึ้นอีก น่าจะเป็นปืนอัตโนมัติ ถ้าเหนี่ยวไกเองไม่น่าเร็วขนาดนั้น ผู้คนเริ่มออกวิ่ง บางคนมีเลือดเปรอะเปื้อนร่าง”
ผู้กำกับตำรวจบุชในเบื้องต้นบอกว่า “ผู้ตายในสถานที่ทั้งสองแห่งมีจำนวนมาก”
ร่างทั้งของผู้ตายและบาดเจ็บถูกลำเลียงสู่โรงพยาบาลไครสต์เชิร์ช ตำรวจจำนวนหนึ่งมารักษาการณ์ที่นั่น แผนฉุกเฉินทางการรักษาพยาบาลของเขตเมืองถูกประกาศใช้ครอบคลุมทั้งเขต ตำรวจออกคำสั่งไม่ให้ผู้คนชุมนุมกันที่จตุรัส Cathedral ของเมือง ซึ่งก่อนหน้านั้นมีกลุ่มเด็กนักเรียนวางแผนจะชุมนุมทำกิจกรรมเพื่อต่อต้านโลกร้อน
ผู้กำกับตำรวจบุชแนะนำให้ชาวเมืองไครสต์เชิร์ชพยายามอยู่แต่ภายในบ้านและหากไม่จำเป็นไม่ควรออกมานอกถนน ที่มีกำลังตำรวจตระเวนรักษาการณ์ คำสั่งห้ามเข้าออกโรงเรียนในระหว่างเกิดเหตุถูกยกเลิก ผู้ปกครองได้รับแจ้งว่าให้ไปรับบุตรหลานได้ตามปกติ
มีคนโชคดีในความโชคร้าย
ดูเหมือนว่านักกีฬาคริกเก็ตทั้งหมดของทีมชาติบังคลาเทศกลายเป็นผู้โชคดีที่รอดตายจากเหตุการณ์กราดยิงไปอย่างหวุดหวิด ผู้สื่อข่าวที่ติดตามทีมแจ้งว่า ทีมมีกำหนดจะเล่นในแมตช์ทดสอบกับทีมชาตินิวซีแลนด์วันเดียวกัน แต่แมตช์ดังกล่าวสำหรับวันเสาร์ถูกยกเลิกไปก่อน และลูกทีมกำลังจะเดินทางไปเข้ามัสยิด แต่เกิดเหตุการณ์กราดยิงขึ้นเสียก่อน
นักกีฬา ทามิม อิกบัล (Tamim Iqbal) ทวีตว่า “พวกเราทั้งทีมรอดตายจากมือปืนที่กราดยิง”
โฆษกทีมชาติคริกเก็ตบังคลาเทศ จาลัล ยูนุส (Mohammed-Jalal-Yunus) แจ้งว่านักกีฬาส่วนใหญ่ของทีมเดินทางด้วยรถบัสไปที่มัสยิด แต่ไม่ทันได้เข้าประตูไปสู่ด้านใน ก็มีเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นเสียก่อน
“ทุกคนปลอดภัย แต่ก็ตระหนกเสียขวัญมาก เราจึงบอกให้พวกเขาอยู่แต่เพียงภายในห้องโรงแรมเท่านั้น” ยูนุสกล่าวกับ AFP
ตกตอนเย็นสมาชิกครอบครัวของผู้ตายและบาดเจ็บจำนวนมากพากันมาชุมนุมนอกแนวเส้นกั้นเขตของตำรวจที่หน้ามัสยิดอัล-นอร์ ชาวเมืองไครสต์เชิร์ชมากมายเดินเท้ามาสู่สถานที่เกิดเหตุพร้อมกับช่อดอกไม้และคำแสดงความเสียใจ บางคนเข้าพูดคุยกับผู้รอดชีวิตเพื่อปลอบใจและเสนอความช่วยเหลือ
ปฏิกิริยาจากผู้นำโลก
ผู้นำทั่วโลกกล่าวประณามเหตุการณ์กราดยิงโจมตีมัสยิดสองแห่งในนิวซีแลนด์ รวมถึงกลุ่มหัวรุนแรงต่อต้านมุสลิมและกลุ่มต่อต้านการอพยพ
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวว่า “เรารู้สึกโกรธเคือง เรายืนอยู่ที่นี่และประณามการโจมตีที่เกิดขึ้นในวันนี้โดยผู้ก่อการร้ายปีกขวาสุดโต่ง การก่อการนี้ทำให้เราตระหนักถึงความชั่วร้ายที่ยังคงปรากฏอยู่”
พระราชินีเอลิซาเบธแห่งสหราชอาณาจักร ประมุขโดยสัญลักษณ์ของรัฐนิวซีแลนด์ กล่าวว่า นั่นเป็น “เหตุการณ์ที่น่ากลัว” ทำให้พระองค์ทรงเศร้าพระทัยอย่างมาก
“เจ้าชายฟิลิปและฉันขอส่งความเสียใจไปยังครอบครัวและบรรดาเพื่อนของผู้ที่เสียชีวิต” พระองค์กล่าวในแถลงการณ์ “ฉันขอชื่นชมผู้ให้บริการฉุกเฉินและอาสาสมัครที่ให้การสนับสนุนแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บในช่วงเวลาที่น่าเศร้านี้ ความคิดและคำอธิษฐานของฉันคงอยู่กับชาวนิวซีแลนด์ทุกคน”
ประธานาธิบดีตุรกี เรเซป แอร์โดกัน กล่าวว่า “ในนามของประเทศ ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจต่อโลกอิสลามและชาวนิวซีแลนด์ซึ่งถูกกำหนดเป็นเป้าหมายของการกระทำที่น่าสังเวชนี้ – นี่คือตัวอย่างล่าสุดของการเหยียดเชื้อชาติ และความเกลียดกลัวอิสลาม”
นายกรัฐมนตรีปากีสถาน อิมราน ข่าน กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าตกตะลึงและน่าตกใจมาก และขอประณามอย่างรุนแรงต่อผู้ก่อการร้ายโจมตีมัสยิดที่ไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ สิ่งนี้ยืนยันถึงสิ่งที่เรากล่าวยืนยันอยู่เสมอว่า การก่อการร้ายนั้นไม่มีศาสนา”
อ้างอิง
|