ภาพประกอบ: Shhhh
อากาศร้อนระอุกำลังจะผ่านไป ปีการศึกษาใหม่กำลังจะเริ่มต้น สมัยเด็กๆ เปิดเทอมใหม่ทีไร เราจะรู้สึกห่อเหี่ยวที่ต้องกลับไปนั่งคร่ำเคร่งเรียนเป็นเวลา 7-8 ชั่วโมงต่อวัน วิชาแล้ววิชาเล่า เห็นจะมีแต่การได้เล่นกับเพื่อนที่จะพอช่วยเยียวยาให้หัวใจพองโตขึ้นมาบ้าง แต่เราไปโรงเรียนเพื่อไปเรียนไม่ใช่เหรอ? ทำไมไม่เห็นรู้สึกอยากเรียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยล่ะ อาจเป็นเพราะวิชาที่เรียนอยู่โรงเรียนไม่ได้ตอบสนองหรือสอดคล้องกับความสนใจใดๆ ของเราเลย เรานึกไม่ออกสักทีว่าเรียนเรื่องนี้แล้วจะเอาไปใช้ทำอะไร เราจะรู้จักบูร์กีนาฟาร์โซและสภาพอากาศแบบทุนดราไปทำไม เราท่องและเขียนศัพท์ตามคำบอกทำไม อดัม สมิธ เกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา
วันนี้จึงขอนำเสนอวิชาด้านการจัดการที่เชื่อมโยงห้องเรียนเข้ากับชีวิตจริง ที่จะทำให้วันแรกของการเรียนน่าตื่นเต้นกว่าที่เคยเป็นมา
คำเตือน: ข้อมูลของแต่ละวิชาเป็นแนวคิดคร่าวๆ สามารถนำไปปรับใช้ตามระดับอายุ ประสบการณ์ รวมถึงบริบทความต้องการของนักเรียน
เริ่ม!
1. วิชาการจัดการเงิน เงิน และเงิน
เงินเป็นเรื่องสำคัญ การจัดการเงินให้เป็นนั้นสำคัญยิ่งกว่า และที่สำคัญที่สุดคือการทำให้นักเรียนมองเห็นและเข้าใจความจำเป็น ว่าทำไมนักเรียนต้องมีความรู้และทักษะในเรื่องนี้
เนื้อหาน่าสอน:
- การจัดการเงินในกระเป๋าตัวเองให้สมดุลกับรายจ่ายภายในครัวเรือน
- ภาษีเงินได้
- ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการเงินและการลงทุน เช่น เงินออม สินเชื่อ สัญญาประกันชีวิตและประกันภัยประเภทต่างๆ ตลาดหลักทรัพย์ หุ้น ฯลฯ
- การเป็นหนี้ การจัดการหนี้ การศึกษาเงื่อนไข ความเสี่ยง และกระบวนการตัดสินใจยามต้องเป็นหนี้ เช่น ดอกเบี้ยสินเชื่อ หนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ
- เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เช่น ธนาคารออนไลน์ การใช้จ่ายออนไลน์
- การหาแหล่งทุนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- รัฐกับการวางแผนสวัสดิการด้านการเงินให้กับประชาชน
วิชาและทักษะที่บูรณาการได้:
- คณิตศาสตร์
- เศรษฐศาสตร์
- สังคมศาสตร์
- การจัดการความเสี่ยงและการวางแผน
- ความเห็นอกเห็นใจผู้ปกครอง หากนักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก เขาจะเข้าใจสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่พ่อแม่ตัวเองเผชิญอยู่มากขึ้น ไม่มีความจำเป็นต้องแยกเด็กๆ ออกจากเรื่องเงินโดยสิ้นเชิง องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OCED) แนะนำให้เริ่มสอนเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ยังเด็ก
แนะนำเพิ่มเติม:
- ใช้การสำรวจสิ่งที่มีอยู่จริงรอบตัวนักเรียนเพื่อเชื่อมโยงเนื้อหากับชีวิตจริง
- สร้างโครงงานให้นักเรียนได้ลองวางแผนการเงินของตัวเองดู โดยสามารถเพิ่มความซับซ้อนของเป้าหมายตามระดับอายุได้
- หากต้องการทำในเชิงเปรียบเทียบ สามารถเปรียบเทียบนโยบายและผลิตภัณฑ์ด้านการเงินกับประเทศอื่นๆ โดยเชื่อมโยงกับบริบททางเศรษฐศาสตร์ของประเทศนั้นๆ ได้อีกด้วย
ชี้เป้าแหล่งความรู้:
- การเรียนการสอนเรื่องการเงินจาก OECD อ่านได้ ที่นี่ เลยค่ะ
- ธนาคาร Barclays ของอังกฤษก็มีเครื่องมือสอนเรื่องการเงินให้กับเด็กเล็กจนถึงวัยรุ่นเลยค่ะ ตัวอย่างนี้ สำหรับเด็กเล็กเริ่มได้
2. วิชาการจัดการข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับสารสนเทศ (Information Literacy)
วิชานี้ไม่ได้เป็นวิชาใหม่ ในระดับอุดมศึกษาก็มีเรียนกันเป็นปกติ แต่เนื่องจากโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาล ความรู้เป็นเรื่องที่นักเรียนหาได้จากการใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ทักษะการจัดการความรู้และข้อมูลอันมากมายหลากหลาย และความสามารถในการนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะจำเป็นเสียยิ่งกว่าจำเป็นในยุคปัจจุบัน และต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่วัยเด็กเลย
เนื้อหาน่าสอน:
- ประเภทของข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น เว็บไซต์ข่าว, Wikipedia, Google Scholar
- การค้นหาข้อมูล การประเมินความน่าเชื่อถือ และการเลือกใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม
- การสืบค้นข้อมูลจากโปรแกรมค้นหา (search engine) และการศึกษากระบวนการทำงานของโปรแกรมค้นหา
- การใช้ฐานข้อมูลออนไลน์
- การเข้าถึงแหล่งความรู้ที่เปิดให้เข้าถึงโดยเสรี (open access) เพื่อนำไปต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
- การใช้ข้อมูลอย่างมีจริยธรรม เช่น การจัดทำการอ้างอิงเพื่อใช้ในงานเขียนต่างๆ
- การคัดลอกผลงาน (plagiarism) ลักษณะการคัดลอก ปัญหาและผลเสียที่เกิดจากการคัดลอกผลงาน
- ขั้นตอนวิธี (algorithm) ต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตและกระบวนการจัดการข้อมูลโดยคอมพิวเตอร์
วิชาและทักษะที่บูรณาการได้:
วิชานี้ย่อมได้ทักษะการคิดวิเคราะห์ ประเมิน แยกแยะไปเต็มๆ พ่วงท้ายมาด้วยทักษะการจัดการและการนำเสนอข้อมูลค่ะ
แนะนำเพิ่มเติม:
- หากไม่ได้แยกออกมาสอนเป็นรายวิชาโดยชัดเจน สามารถนำเนื้อหาเหล่านี้มาเป็นส่วนประกอบของทุกๆ รายวิชาได้ ห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดโรงเรียนหรือห้องสมุดเมืองก็สามารถเข้ามาช่วยเป็นแหล่งความรู้และจัดการเรียนการสอนได้ด้วย
- ลองให้นักเรียนทำโครงงานตามหัวข้อที่สนใจ โดยแนะนำให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลหลากหลายรูปแบบ จากแหล่งข้อมูลต่างๆ และร้อยเรียงรวมกันเป็นภาพใหญ่ เพื่อให้นักเรียนสามารถมองเห็นถึงความแตกต่างของข้อมูลแบบต่างๆ และฝึกประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่เลือกมา นอกจากนี้ยังสามารถนำมาสอนวิธีการเลือกใช้ข้อมูลให้เหมาะกับประเภทสื่อและการนำเสนอได้อีกด้วย ถือเป็นของแถมสนุกๆ สำหรับวิชาแบบนี้
ชี้เป้าแหล่งความรู้:
- การเรียนการสอน เรื่องนี้ ในประเทศอังกฤษ
- ดูตัวอย่างการอบรมของห้องสมุดของ Dundalk Institute of Technology ในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ได้ ที่นี่ ค่ะ
3. วิชาการจัดการชีวิตตัวเอง หรือขอเรียกว่าวิชา “พี่อ้อยพี่ฉอด”
จะดีแค่ไหนกันถ้าเด็กๆ จะสามารถสร้างพี่อ้อยพี่ฉอดในรูปแบบของตัวเองได้ ทักษะ “พี่อ้อยพี่ฉอด” นี้ไม่ได้เกี่ยวโยงกับเฉพาะเรื่องความรัก แต่ยังรวมถึงความเข้าใจอารมณ์ตนเอง การรู้จักตนเอง การเสริมสร้างความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตนเองอีกด้วย ในประเทศยูกันดา ทักษะชีวิตเป็นวิชาที่พัฒนากันอย่างจริงจังระหว่างกระทรวงการศึกษาและกีฬาแห่งยูกันดาร่วมกับองค์กรสหประชาชาติอย่าง UNESCO โดยฝึกอบรมครูให้สามารถส่งเสริมทักษะนี้แก่เด็กๆ ในประเทศได้
เนื้อหาน่าสอน:
- ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์
- การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น ชาติพันธุ์ต่างๆ ความเท่าเทียมกันทางเพศ
- การสร้างความเข้าใจเพื่อนๆ ในชั้นเรียนที่มีความแตกต่างกันในเชิงวัฒนธรรม หรืออาจมีความต้องการพิเศษในการเรียนรู้
- การสำรวจอารมณ์ตนเองเพื่อสร้างทักษะในการจัดการอารมณ์
- การสร้างความเข้าใจเรื่องพื้นฐาน เรื่องส่วนตัว สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอันจะมีผลต่อพฤติกรรมอันแตกต่างกันออกไปของมนุษย์
- การสร้างความตระหนักรู้ในการเคารพตนเองและผู้อื่น
- การจัดการความเครียด
วิชาและทักษะที่บูรณาการได้:
บูรณาการได้กับทุกสิ่ง ขอให้ทำอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอจนเป็นวิถีปฏิบัติปกติก็พอ
แนะนำเพิ่มเติม:
อันที่จริงทักษะและการตระหนักรู้เหล่านี้ไม่สามารถทำที่โรงเรียนได้อย่างเดียว หากให้พูดไปตามเนื้อผ้าแล้วนี่เป็นทักษะที่ต้องเริ่มต้นจากครอบครัว โดยพ่อแม่ต้องเริ่มปฏิบัติกับลูกก่อนเป็นอันดับแรก ทักษะเหล่านี้ไม่สามารถสอนโดยการบอกกล่าวได้ ต้องปฏิบัติและมีประสบการณ์ร่วมจนพัฒนากลายเป็นทักษะในที่สุด (ซึ่งในวัฒนธรรมไทยอาจยากสักหน่อย เพราะเรามักนิยมปกปิดความรู้สึกของตนเองด้วยความเป็นวัฒนธรรมรวมหมู่ หรือ collectivism เรามองเห็นตัวตนสำคัญน้อยกว่าสังคม)
ชี้เป้าแหล่งความรู้:
- ไปดูว่ายูกันดาเขาทำ อะไรบ้าง ในห้องเรียนระดับประถมศึกษาค่ะ