คืนสู่เหย้าชาวโรงเรียน

ภาพประกอบ: Shhhh

 

สำหรับอารยธรรมแถบยุโรป ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ถือเป็นยุคแห่งการต่อกรสัประยุทธ์ทางความคิดจากหลากหลายฝ่าย ผู้คนที่ยังยึดการเรียนแบบฉบับศาสนาและภาษาละตินตามโรงเรียนยุคก่อนเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงคลี่คลาย ว่าภาษาละตินมิได้เป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีกต่อไป จะเอามาใช้ทำมาค้าขายก็มิได้ เป็นเพียงภาษาในวงการศาสนจักรเท่านั้น นอกจากนั้น การปะทะกันของแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์และศาสนาก็ยังดำเนินต่อมาอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้ ยุคนี้จึงเป็นยุคแห่งการทบทวน ตั้งคำถามถึงสิ่งที่ผู้คนรุ่นก่อนได้กระทำสืบกันมาอย่างต่อเนื่องโดยกว้างขวาง

ก่อนอื่น ขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักนักคิดริเริ่มการปฏิรูปการศึกษาคนแรก นั่นคือ จอห์น เอมอส โคเมนิอุส (John Amos Comenius – ค.ศ. 1592-1670) เขาเป็นผู้ที่เน้นย้ำว่า เด็กๆ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวจิ๋ว บรรดาผู้ใหญ่ต้องมองและปฏิบัติกับพวกเขาตามธรรมชาติของวัย สำหรับโคเมนิอุส โรงเรียนเป็นเสมือน ‘โรงฆ่าความคิด’ และ ‘สถานที่ยัดเยียดคำพูดเข้าสู่หัวเด็ก’ เขาไม่เห็นด้วยกับกระบวนการเรียนรู้ที่เคยเป็นมา ท้ายที่สุดจึงออกแบบหนังสือเรียนประกอบภาพสำหรับเด็กวัยประถมศึกษาขึ้นมา (ซึ่งก็ถูกผู้คนเย้ยหยันอยู่นาน แต่หารู้ไม่ว่า ที่สุดแล้วโลกตะวันตกใช้หนังสือเล่มนี้ในโรงเรียนเป็นเวลายาวนานถึงเกือบ 200 ปีเชียวนะเอ้า)

ภาพจาก: The Orbis Pictus of John Amos Comenius

แนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบโคเมนิอุส คือ เด็กๆ ควรได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกายจากมารดาหรือครอบครัวจนกระทั่งอายุ 6 ปี จากนั้น ในช่วงอายุ 7-12 ปี เด็กๆ ควรไปโรงเรียน ‘ทั่วไป’ ซึ่งแบ่งออกเป็นหกระดับชั้น โรงเรียนที่ว่านี้มีหน้าที่พัฒนาจินตนาการและทักษะการจำผ่านวิชาต่างๆ อย่างเช่น ศาสนา จริยศาสตร์ คำศัพท์ การอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์พื้นฐาน ดนตรี เศรษฐศาสตร์ในประเทศ ความเป็นพลเมือง ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และงานฝีมือ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญให้เด็กๆ ได้นำไปใช้ร่ำเรียนต่อในโรงเรียนฝึกอาชีพ เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น (อายุ 13-18 ปี) เด็กๆ จะเริ่มเข้าเรียนต่อในโรงเรียนของรัฐตามหัวเมืองต่างๆ โดยเน้นการเรียนภาษาและวิทยาศาสตร์ที่ลึกซึ้งมากขึ้น และสิ้นสุดกระบวนการเรียนรู้ที่การเรียนระดับมหาวิทยาลัย

เริ่มคุ้นๆ แล้วใช่ไหมคะ?

นักคิดคนที่สอง น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักปรัชญาคนสำคัญของอังกฤษ คือ จอห์น ล็อค (John Locke – ค.ศ. 1632-1704) เขาสนับสนุนแนวคิดที่ว่า เด็กคือผ้าขาว (tablula rasa/blank tablet) คือ แนวคิดว่าความรู้ไม่ได้เป็นสิ่งติดตัวมาตั้งแต่เกิด พระเจ้าไม่ได้มอบให้มาด้วยในเวลานั้น แต่สามารถพัฒนาได้จากทักษะการคิดต่างๆ นานา และเด็กจะสร้างเสริมทักษะการคิดเหล่านี้ได้จากสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ เมื่อได้สัมผัสก็จะเกิดการแยกแยะ เปรียบเทียบ จัดระบบหมวดหมู่ จนกลายเป็น ‘ความรู้’ ในที่สุด ดังนั้น โรงเรียนจึงต้องมีหน้าที่พัฒนาทักษะทางความคิดเหล่านี้ ซึ่งในยุคนั้น คณิตศาสตร์และภาษาละตินถือเป็นวิชาที่ช่วยพัฒนาทักษะการใช้เหตุผลและความจำ

เมื่อการเรียนรู้ของมนุษย์นำพาโลกภายในจิตใจมาสอดประสานรับกับโลกภายนอก จึงก่อกำเนิดขอบเขตขัณฑสีมาแห่งการเรียนรู้ในยุคนี้ นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างการใช้ภาพ สิ่งจำลอง ทัศนศึกษาอันช่วยให้เด็กๆ สามารถค้นพบความรู้ได้ด้วยตัวเอง จึงเริ่มเกิดขึ้น โรงเรียนในยุคศตวรรษที่ 19 จึงเน้นให้เด็กลงมือปฏิบัติจริง แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านการเรียนหนังสืออยู่เช่นกัน

นักคิดคนที่สาม คือ ฌอง ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau – ค.ศ. 1712-1718) ผู้ซึ่งเชื่อว่า เด็กๆ นั้นแรกเริ่มเดิมทีตั้งแต่เริ่มเกิดมานั้นเป็นมนุษย์ที่ดีงามบริสุทธิ์ แต่กลับถูกสถาบันต่างๆ ในสังคมรวมถึงโรงเรียนด้วย หล่อหลอมให้กลับกลายชั่วร้าย ด้วยการบิดเบือนความคิดต่างๆ นานา รุสโซตั้งข้อสงสัยว่า เราควรมีระบบโรงเรียนหรือไม่ เพราะเขาเชื่อว่า การศึกษาควรเป็นเรื่องการพัฒนาผู้เรียนตามธรรมชาติของบุคคลนั้นๆ

รุสโซยังเชื่ออีกว่าสมองของเด็กๆ นั้นไม่หยุดนิ่ง การเรียนรู้นั้นเด็กต้องได้เป็นเด็ก เด็กอายุ 2-12 ปีนั้นต้องได้รับการพัฒนาทางร่างกายและประสาทสัมผัสต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ความรู้ และเมื่อถึงเวลาอันสมควร (อายุ 12-15) ค่อยเริ่มเรียนรู้สาระวิชาจำพวกวิทยาศาสตร์และภูมิศาสตร์ให้ชัดเจนต่อไป รุสโซเชื่อว่า เด็กควรเริ่มการเรียนหนังสือเมื่ออายุ 15 ปี และครูก็ไม่ต้องเที่ยวทำอะไรมาก ให้ยืนเฝ้าดูอยู่ข้างๆ เด็กๆ เป็นพอ ครูควรเป็นผู้จัดให้การเรียนรู้ของเด็กๆ เป็นไปอย่างเสรี และคอยสร้างสมดุลให้เด็กได้เติบโตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมตามวัยของตนเอง นี่เป็นพื้นฐานแนวคิดการสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ให้เด็กเรียนรู้ตามธรรมชาติของตนเอง

น่าเศร้าที่ไม่นานหลังจากรุสโซเสียชีวิตลง ดินแดนปรัสเซีย (เยอรมนีตะวันออก) ถือเป็นรัฐสมัยใหม่แห่งแรกที่สร้างระบบโรงเรียนแบบรวมศูนย์ ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่รุสโซเคยพูดไว้ในทุกๆ มิติ โดยโรงเรียนระบบปรัสเซียนั้นมีลักษณะคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

  • ฟรี อย่างน้อยต้องไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับคนจน
  • ครูต้องได้รับการฝึกฝนมาเฉพาะทาง
  • มีการจ่ายเงินเดือนครู และยอมรับว่าครูคืออาชีพหนึ่งเช่นกัน
  • จัดปีการศึกษาพิเศษเพิ่มเติมเพื่อให้ลูกๆ ของชาวนาปรับตัวเข้ากับระบบได้มากขึ้น
  • มีการจัดสรรเงินสนับสนุนเพื่อสร้างโรงเรียน
  • เกิดระบบควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนทั้งในระดับห้องเรียนและระดับประเทศ
  • หลักสูตรที่ใช้สอนเน้นย้ำความเป็นชาติ รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • สอนเรื่องชีวิตทางโลก แต่ยังมีศาสนาแทรกอยู่ในหลักสูตรด้วย

โรงเรียนระบบปรัสเซียถือเป็นต้นแบบระบบการจัดการศึกษาโดยรัฐ ซึ่งแพร่หลายไปทั่วภาคพื้นทวีปยุโรป ไปสู่รัสเซีย และในที่สุดก็เดินทางเข้าสู่สหรัฐอเมริกาได้พอดิบพอดีกับช่วงที่บรรดารัฐชาติสมัยใหม่กำลังเริ่มก่อร่างสร้างตัว เมื่อการศึกษาถูกสถาปนาเป็นสถาบันหนึ่งของสังคม และยึดโยงกับแนวคิดการสร้างชาติไว้อย่างแน่นหนา การศึกษาจึงพลิกโฉมกลายเป็นเรื่องของมวลชน เข้าสู่รูปแบบกิจการที่ปลูกฝังแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่าที่จะเป็นการพัฒนาคุณภาพมนุษย์เป็นรายบุคคลตามที่นักคิดในยุคศตวรรษที่ 17-18 ได้เคยเสนอไว้

เมื่อโรงเรียนกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในสังคมตามที่รัฐต้องการแล้ว ผู้คนเริ่มมองคล้อยไปว่าการเรียนคือหน้าที่และภารกิจที่เด็กต้องรับผิดชอบ (ซึ่งก็เกิดขึ้นอย่างคู่ขนานกับยุคที่เด็กๆ ต้องช่วยงานพ่อแม่อยู่ในไร่หรือโรงงาน เพียงเปลี่ยนหน้าที่ของเด็กไปเท่านั้น) กระบวนการเรียนรู้ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับการทำซ้ำและการท่องจำ การลงโทษเมื่อเด็กๆ ทำผิดตามที่กำหนด (มีการบันทึกไว้ว่าครูใหญ่คนหนึ่งในเยอรมนีตีนักเรียนด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดอายุการทำงานกว่า 51 ปี เป็นจำนวนทั้งสิ้น 911,527 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ครูใหญ่คนนี้ภาคภูมิใจ) ส่วนการเล่นยิ่งไม่ต้องนึกฝันถึง สิ่งนี้เป็นขั้วตรงข้ามกับการเรียน จึงไม่ได้รับเชิญให้ปรากฏในสารบบการเรียนยุคนี้เลย

การเรียนหนังสือแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน กล่าวคือ การแบ่งวิชาเรียนอย่างชัดเจน จัดกลุ่มเด็กตามอายุ ก้มหน้าก้มตาเล่าเรียน ผ่านพ้นไปทีละปีด้วยการสอบวัดระดับความรู้ เหมือนการตรวจคุณภาพสินค้าตามโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งการตรวจคุณภาพลักษณะนี้มีรากฐานจากแนวคิดของนักคิดในยุโรป แพร่เข้าสู่สหรัฐอเมริกาโดย โฮเรซ มานน์ (Horace Mann) ผู้ซึ่งเคยไปเยือนปรัสเซียใน ค.ศ. 1943 และเล็งเห็นประโยชน์แห่งการสอนให้คนอ่านออกเขียนได้คราวละมากๆ จึงนำระบบนี้มาบังคับใช้ที่รัฐแมสซาชูเซตส์เป็นแห่งแรก อุตสาหกรรมการเรียนรูปแบบนี้ยังคงสถิตเสถียรอยู่ในระบบการศึกษาหลากหลายประเทศทั่วโลก (หากสนใจ สามารถติดตามอ่านเรื่องราวสุดมันเกี่ยวกับการสอบของ จีน และ เกาหลี ได้ตามลิงค์)

ทั้งนี้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 การศึกษาในโรงเรียนของรัฐเริ่มพลิกโฉมหน้าอีกครั้ง กลายเป็นการศึกษาที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีในปัจจุบัน การทำโทษด้วยวิธีที่ไม่รุนแรง (ในบางที่ อาจยังยึดถือวิธีการทำโทษแบบเก่าอยู่บ้าง) เนื้อหาที่เรียนนั้นเกี่ยวข้องกับทางโลกมากกว่าเรื่องทางธรรม ประกอบกับจำนวนเวลาเรียนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่าค่านิยมเกี่ยวกับการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ กลับไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปมากนัก การเรียนรู้ถือเป็นงานหนักที่เด็กๆ ต้องรับผิดชอบ เป็นกิจกรรมภาคบังคับโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังคงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่จัดแจงให้เด็กๆ โดยฟังเสียงจากพวกเขาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งที่เรายังคงได้ยินอยู่เสมอในชีวิตการเรียน คือ ‘เรียนก่อนแล้วค่อยเล่น’ มุมมองเช่นนี้ยังถือเป็นเรื่องปกติสามัญ และเชื่อว่าหลายคนก็ยังได้ยินหรือได้พูดออกไปอยู่

ไม่ผิดไปจากเพลง ‘เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย’ ของ วงพาราด็อกซ์ เท่าใดเลยเด็กน้อยเอ๋ย

แต่บรรดาเด็กๆ และอดีตเด็กๆ อย่าเพิ่งหมดหวังกันนะคะ

การอุบัติขึ้นของอินเทอร์เน็ตและโลกไร้พรมแดนที่เชื่อมโยงกันด้วยคุณภาพความเร็วแสง ทำให้บรรยากาศการเรียนรู้เปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง มีนักคิดกระแสใหม่มากมายเริ่มมองเห็นปัญหาของการเรียนรู้แบบเดิม และพยายามเสนอรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา อาทิ ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้นทักษะการคิด ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี โดยผู้เรียนเป็นผู้ผลักดันการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ส่วนครูจะถอยไปทำหน้าที่ผู้สนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งคล้ายคลึงกับที่นักคิดในยุโรปยุคก่อนได้เสนอเอาไว้

แม้แต่ห้องเรียนเองก็เปลี่ยนแปลงไป เครื่องไม้เครื่องมือในปัจจุบันส่งเสริมให้สามารถเรียนผ่านเทคโนโลยีต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจติดตาม คือ MOOC หรือ Massive Open Online Courses ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจได้ตามต้องการ ที่ใดก็ได้ เมื่อใดก็ได้ อย่างไรก็ได้ การเดินทางมาถึงของ MOOC ทำให้หวนนึกถึงการเรียนจากภาพบนผนังถ้ำของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ การเล่าเรียนตามที่สนใจ ใครใคร่ทำอะไรก็ทำไป ต่างกันตรงที่ยุคนี้เรามีอินเทอร์เน็ต และต้องพึ่งพาทักษะการใช้เทคโนโลยีและวิจารณญาณเพื่อเข้าถึงข้อมูลอันมากมายมหาศาลไม่จำกัด ส่วนคนยุคนั้นถูกจำกัดสิ่งที่จะเรียนรู้ไว้ที่ผนังถ้ำและกลุ่มของตนเท่านั้น

จากนี้ไป วัยรุ่นก็จะยังคงเหนื่อย แต่คงพอเข้าใจว่าเหนื่อยไปทำไม และเรายังคงต้องถกเถียงเรื่องวิธีการเรียนรู้นี้ไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อใดที่การถกเถียงจบลง การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ก็จะสิ้นสุดไปเช่นกัน


อ้างอิงข้อมูลจาก:
psychologytoday.com
history-world.org
theatlantic.com

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า