8 วิชาในโรงเรียนโทโมเอที่ระบบการศึกษาไทยควรไปดูงานผ่านการอ่าน ‘โต๊ะโตะจัง’

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ชีวประวัติที่เล่าเรื่องแบบวรรณกรรม เขียนโดย คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ แปลเป็นภาษาไทยโดย ผุสดี นาวาวิจิตร ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1981 จนถึงปัจจุบันหนังสือเล่มนี้จัดจำหน่ายแล้วกว่า 10 ล้านเล่ม แปลและพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ ถึง 35 ภาษา

คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ

หนังสือ โต๊ะโตะจัง ครองใจผู้อ่านทั่วโลกด้วยการถ่ายทอดความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาของเด็ก และรูปแบบการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของ ‘คุณครูโคบายาชิ’ หนังสือเล่มนี้ได้จุดประกายความฝันของผู้อ่านทั่วโลกให้อยากเข้าเรียนที่ ‘โรงเรียนโทโมเอ’ กับคุณครูอย่างครูโคบายาชิ เหตุผลอะไรที่ทำให้โรงเรียนโทโมเอ และคุณครูโคบายาชิ พิเศษและแตกต่างจากคนอื่น

นี่คือ 8 เรื่องราวสุดแปลกของโรงเรียนโทโมเอที่ทำให้ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากเข้าเรียนที่นี่

1. ห้องเรียนรถไฟ

หากพูดถึงห้องเรียนหลายคนคงนึกถึงห้องเรียนสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในตึกหรืออาคารเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับคุณครูโคบายาชิไม่ได้คิดเช่นนั้น เขาดัดแปลงห้องเรียนมาจากตู้รถไฟที่ไม่ได้ใช้แล้วด้วยความปรารถนาที่อยากจะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ไม่ถูกตีกรอบ เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ และที่โรงเรียนโทโมเอแห่งนี้นักเรียนสามารถนั่งเรียนที่ไหนก็ได้ ไม่มีโต๊ะประจำและเปลี่ยนที่นั่งได้ทุกวันตามใจชอบ เพราะคุณครูโคบายาชิต้องการที่จะให้เด็กได้ทำความรู้จักกับเพื่อนๆ ครบทุกคนและให้อิสระนักเรียนในการเลือกที่นั่ง

2. เลือกเรียนวิชาที่ชอบก่อน

นักเรียนที่โรงเรียนโทโมเอสามารถเลือกเรียนวิชาไหนก่อนก็ได้ตามใจชอบ หากนักเรียนคนไหนชอบเขียนเรียงความก็นั่งเขียนเรียงความ หรือหากนักเรียนคนไหนชอบวิทยาศาสตร์ก็เอาตะเกียงขึ้นมาจุดทดลองได้ การเรียนที่นี่จะเป็นการเรียนแบบฝึกฝนเอง หากไม่เข้าใจตรงไหนก็สามารถเดินไปถามครูหรือให้ครูมาอธิบายที่โต๊ะได้จนกว่าจะเข้าใจ การเลือกเรียนวิชาที่ชอบก่อนหลังทำให้คุณครูรู้ว่าเด็กคนไหนสนใจอะไรเป็นพิเศษ เพราะโรงเรียนโทโมเอมุ่งเน้นการพัฒนาเอกลักษณ์เฉพาะของนักเรียนทุกคน

3. ชั่วโมงเดินเล่น

illustration: Chihiro Iwasaki

นอกจากจะสามารถเลือกเรียนวิชาที่ชอบก่อนได้แล้ว โรงเรียนโทโมเอยังมีชั่วโมงเดินเล่นที่พาผู้เรียนเดินทางไปเรียนรู้นอกสถานที่ อย่างเช่นการเดินไปที่วัดคุฮองบุตสึของโต๊ะโตะจังและเพื่อน ซึ่งระหว่างทางนั้นเด็กทุกคนได้สัมผัสกับธรรมชาติ ผ่านแปลงผัก แปลงดอกผักกาดเหลืองริมข้างทาง อีกทั้งได้เรียนรู้เรื่องเกสรตัวเมีย เกสรตัวผู้ ชั่วโมงเดินเล่นนี้มองผิวเผินอาจเหมือนการไปเที่ยวเล่น แต่แท้ที่จริงแล้วเด็กๆ ได้เรียนรู้ ประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไปในตัว

4. การเรียนประกอบจังหวะ

นอกจากการเรียนการสอนของโรงเรียนโทโมเอจะแตกต่างจากที่อื่นแล้ว โรงเรียนนี้ยังมีชั่วโมงดนตรีมากกว่าที่อื่นอีกด้วย มีวิชาดนตรีหลากหลายชนิด แต่ที่นักเรียนโทโมเอต้องได้เรียนทุกวันคือการเรียน ‘ประกอบจังหวะ’ ที่ครูโคบายาชินำการเรียนแบบพิเศษของ ดัลโครซ มาปรับใช้ เพื่อให้เด็กๆ ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ กระฉับกระเฉง ว่องไว ทำให้ร่างกายกับจิตใจเข้าใจจังหวะต่างๆ ซึ่งเป็นการฝึกสมองกับร่างกายให้ทำงานเข้ากันได้ดีและเกิดความคิดสร้างสรรค์ คุณครูโคบายาชิย้ำอยู่เสมอว่า

“การที่ให้เด็กได้เรียนตัวหนังสืออย่างเดียวทำให้ประสาทการรับรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของเด็กเสื่อมไปไม่อาจรับเสียงจากสวรรค์ได้’ ด้วยเหตุนี้นักเรียนโทโมเอทุกคนจึงได้สนุกสนาน กระโดดโลดเต้นไปกับจังหวะเพลงของคุณครู

5. ผลัดกันเล่าเรื่อง

ทุกเที่ยงในเวลากินข้าว คุณครูโคบายาชิเสนอให้เด็กๆ ทุกคนผลัดกันออกมาเล่าเรื่อง เพราะต้องการให้เด็กทุกคนกล้าพูด กล้าแสดงออก และรู้จักวิธีการแสดงความคิดเห็นตนเองต่อหน้าผู้อื่นโดยไม่ต้องเขินอาย ซึ่งต่างจากโรงเรียนที่อื่นที่มักจะให้นักเรียนนั่งกินข้าวเงียบๆ เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่คุณครูโคบายาชิกล่าวว่า “เวลากินข้าว ควรกินอย่างสนุกสนานเพราะฉะนั้นจึงควรกินช้าๆ ไม่ต้องรีบร้อน พูดคุยกันไปด้วย” เด็กๆ บางคนเขินอาย หรือไม่รู้จะพูดอะไร คุณครูโคบายาชิก็แนะนำว่าลองคิดว่าตื่นเช้ามาวันนี้ทำอะไรบ้าง หรือแม้แต่แค่พูดว่า “ผมไม่รู้จะพูดอะไร” ก็ถือว่าได้พูดแล้ว

6. อาหารจากทะเล อาหารจากภูเขา

อาหารกลางวันของเด็กนักเรียนโรงเรียนโทโมเอ จะมีแค่อาหารทะเลกับอาหารภูเขาเท่านั้น ซึ่งคุณครูโคบายาชิขอให้ผู้ปกครองเป็นคนจัดเตรียมไว้ให้ หลายคนคงสงสัยอะไรคืออาหารทะเล อะไรคืออาหารภูเขา ความจริงแล้วอาหารทะเลในความหมายของคุณครูโคบายาชิคือปลาและของแห้งต่างๆ เช่น กุ้ง หอย ปลาตัวเล็กๆ ส่วนอาหารภูเขาก็คืออาหารประเภทผักและเนื้อสัตว์ คุณครูโคบายาชิรู้จักใช้คำง่ายๆ แต่ให้ความหมายได้ดี ดังนั้นจึงไม่มีเด็กคนไหนบอกว่าไม่ชอบ ลูกชิ้นหรือผักโขม และไม่เปรียบเทียบกันว่าอาหารของใครดีกว่ากันเพราะพวกเขารู้จักเพียงอาหารทะเลและอาหารภูเขาเท่านั้น แค่มีครบทั้ง 2 อย่างก็เพียงพอแล้ว

7. ต้นไม้ประจำตัว

เด็กนักเรียนที่โรงเรียนโทโมเอ จะกำหนดต้นไม้ของตนไว้ปีนเล่นไม่เว้นแม้แต่โต๊ะโตะจัง ต้นไม้ทุกต้นในโรงเรียนจะถูกจองไว้หมดแล้วหากใครอยากปีนเล่นเต้นไม้ของคนอื่นจะต้องขออนุญาตเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกที่คุณครูในโรงเรียนโทโมเอไม่ห้ามนักเรียนปีนป่ายต้นไม้ กลับกันพวกเขากลับปล่อยให้นักเรียนได้มีอิสระในการเล่น ปีนป่ายตามชอบ

8. คุณครูโคบายาชิ

หนึ่งในสาเหตุที่ผู้อ่าน โต๊ะโตะจัง ตกหลุมรักเรื่องนี้ก็คือนิสัยสุดแปลกของคุณครูโคบายาชิ นักวิชาการศึกษาผู้ก่อตั้งโรงเรียนโทโมเอ ที่รักและเข้าใจในธรรมชาติของเด็กอย่างลึกซึ้ง คุณครูเข้าอกเข้าใจนักเรียนทุกคนราวกับเป็นเพื่อน คุณครูโคบายาชิเป็นตัวอย่างของคุณครูที่มองเด็กจากข้างใน รับฟังเด็กอย่างตั้งใจ เฉกเช่นวันแรกที่โต๊โตะจังไปสมัครเรียน คุณครูโคบายาชิให้เธอเล่าเรื่องอะไรก็ได้ให้ฟัง

ด้วยความเป็นเด็กช่างพูดเธอจึงเล่าทุกอย่างที่รู้ ใช้เวลาไปกว่า 4 ชั่วโมง คุณครูโคบายาชิก็รับฟังเธออย่างตั้งใจตั้งแต่แรกจนจบโดยไม่แสดงท่าทีเหนื่อยหน่าย สิ่งนี้ทำให้โต๊ะโตะจังรู้สึกว่าคุณครูไม่เหมือนผู้ใหญ่คนอื่นที่มักจะเบื่อหนายในสิ่งที่เธอพูด อีกทั้งคุณครูโคบายาชิไม่ตีกรอบการเรียนรู้ของเด็ก ปล่อยเด็กเล่นสนุกสนานตามใจชอบ

illustration: Chihiro Iwasaki

คุณครูบอกให้เด็กนักเรียนใส่เสื้อตัวเก่ามาเรียนเพื่อที่จะได้เล่นซนกันอย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวคุณแม่จะต่อว่าเรื่องทำเสื้อสกปรก นักเรียนโรงเรียนโทโมเอแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างไม่มีใครเหมือนกันเลย บางคนมีความบกพร่องทางร่างกาย แต่คุณครูโคบายาชิคิดวิธีการเรียนการสอนที่พวกเขาสามารถเรียนร่วมกันได้ สอนให้นักเรียนเข้าใจความแตกต่างซึ่งกันและกัน ดังที่คุณครูเคยกล่าวกับนักเรียนทุกคนว่า “พวกเธอทุกคนเหมือนกันหมด จะทำอะไรก็ต้องทำด้วยกันอย่าแบ่งแยก”

แม้ว่าโรงเรียนโทโมเอจะถูกเผาในสงครามโลกครั้งที่ 2 และคุณครูโคบายาชิจะมีชีวิตอยู่ในหนังสือเล่มนี้เท่านั้น แต่หลักการ ความคิด และอุดมการณ์ของคุณครู ทำให้ผู้อ่านหนังสือ โต๊ะโตะจัง หลายคนมีความฝันที่อยากจะเรียนที่โรงเรียนโทโมเอ โรงเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ค้นหาและพัฒนาทักษะเฉพาะของผู้เรียนอย่างแท้จริง อย่างที่คุณครูได้กล่าวว่า

“เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับพื้นฐานนิสัยที่ดี แต่ถูกทำลายเพราะสิ่งแวดล้อมหรือได้อิทธิพลไม่ดีของผู้ใหญ่เสียก่อนที่จะโต จึงต้องช่วยกันหา ‘สิ่งดี’ นั้น และสนับสนุนให้เป็นไปในทางที่ถูก เพื่อจะสร้างคนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

Author

ณิชกานต์ ภักดี
สาวอำเภอวารินผู้พลัดถิ่นมาอยู่ที่บ้าน WAY สนใจประเด็นร้อนทางสังคม และชื่นชอบการมองสังคมผ่านการอ่านงานวรรณกรรมและซีรีส์ Netflix

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า