ส่องความผิดพลาดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

ตามกำหนดการของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศให้จัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นับจากวันนี้ เหลือเวลาอีกเพียงไม่นาน ผู้มีสิทธิตามกฎหมายก็จะได้เดินเข้าคูหาจับปากกาเลือกพรรคในใจแล้ว

ระหว่างวันที่ 4 – 16 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา กกต. กำหนดให้มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในปี 2562 ตัวเลขระบุจำนวน ‘ผู้ลงทะเบียน’ มีมากถึงประมาณ 110,000 คน หากย้อนดูสถิติในการเลือกตั้งปี 2554 มี ‘ผู้มาใช้สิทธิ’ เลือกตั้งนอกอาณาจักรจำนวน 76,615 คน หรือร้อยละ 52.43 ของยอดผู้ลงทะเบียน ในปี 2548 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ร้อยละ 40.22 ของผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ ส่วนการเลือกตั้งปี 2550 มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ร้อยละ 73.36 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจกว่านั้นคือ จำนวนตัวเลขกว่า 110,000 คน ดังกล่าว กำลังกลายเป็นความกังวลว่า กกต.ชุดนี้ จะสามารถอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในต่างแดนได้อย่างเรียบร้อย และไร้ข้อผิดพลาดได้หรือไม่ ? 

คูหาลังกระดาษในมาเลเซีย

https://twitter.com/WatineeCu

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2562 ปัญหาเกิดขึ้นทันที เมื่อมีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @WatineeCu ได้ทวีตภาพถ่ายคูหาลังกระดาษ ณ สถานเอกอัครราชทูต กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผ่านช่องทางทวิตเตอร์ส่วนตัว

ภาพดังกล่าวชวนตั้งคำถามถึงความเป็นมืออาชีพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้ยังเป็นไปอย่างติดขัด เนื่องจากไม่สามารถรองรับประชาชนกว่า 3,000 ชีวิตที่เดินทางมาลงคะแนนได้ บางคนต้องรอนานจนเป็นลม ไม่ก็ถอดใจกลับบ้านไปก่อน เพราะมีคูหาลงคะแนนเพียง 3 คูหา และมีเวลาเลือกเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น

สถานทูตไทยในมาเลเซียจึงแก้ไขสถานการณ์ เพิ่มคูหาเป็น 4 คูหา โดยนำลังกระดาษสีน้ำตาลมาทำเป็นช่องคูหา จากนั้นจึงออกประกาศขออภัยในความไม่สะดวก และขยายเวลาใช้สิทธิให้ประชาชนที่เดินทางมาได้ใช้สิทธิจนครบ รวมทั้งเปิดให้ลงคะแนนเพิ่มอีกหนึ่งวันในวันที่ 10 มีนาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 8.00 น. เป็นต้นไป

 

บัตรเลือกตั้ง 500 ใบ ที่หายไป

ในวันที่ 9 มีนาคม 2562 ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @theKOPFER ได้ทวีต ถึงปัญหาการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไว้ว่า มีบัตรเลือกตั้งจำนวน 500 หายไป ซึ่งอาจหมายความว่าคะแนนเสียงของคนไทยในหนานจิง 500 จะไม่ถูกนับ เมื่อเจ้าของทวีตสอบถามไปยังสถานกงสุลใหญ่ในเซี่ยงไฮ้ กลับได้คำตอบว่า อาจเป็นเพราะไม่กรอกเบอร์โทรศัพท์ แต่ตนยืนยันว่ากรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว สถานกงสุลได้อธิบายต่อว่า อาจเกิดจากความผิดพลาดของบริษัทขนส่งของจีน เพราะข้อมูลการจัดส่งทั้งหมดได้มาจากกระทรวงมหาดไทย 

ด้านกระทรวงการต่างประเทศออกมาชี้แจงว่า ไม่มีบัตรเลือกตั้งสูญหายแต่อย่างใด​ และได้ส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรสณีย์ให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว 581 คน แต่มี 5 คนที่ติดต่อไม่ได้เพราะที่อยู่ไม่ชัดเจน ด้านสถานกงสุลใหญ่เซี่ยงไฮ้เร่งดำเนินการแก้ไข โดยผ่านประธานนักศึกษา 4 สมาคม ช่วยรวมรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรวมถึงรายชื่อของผู้ที่บัตรตกหล่น โดยสถานกงสุลใหญ่ เซี่ยงไฮ้ ให้ข้มูลว่ามีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,712 คน แบ่งเป็นผู้เลือกตั้งทางไปรสณีย์ 586 คน และลงคะแนนแบบคูหา 1,126 คน

เชียร์พรรคนี้ แต่กาพรรคนู้น

ปัญหาเริ่มเข้มข้นขึ้นอีก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขตบางกะปิ ได้โพสต์สเตตัสทวงถามถึงการทำงานของ กกต. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีข้อมูลในเอกสารของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ที่มีความบกพร่อง บิดเบือน และไม่ชัดเจน เนื่องจากรายชื่อของผู้สมัครของบางคนกับพรรค ถูกแยกอยู่คนละหน้า อาจส่งผลให้เกิดความสับสนต่อผู้ที่มาใช้สิทธิได้

เอกสารเลือกตั้งถูกตีกลับในอเมริกา

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @castby9arm ได้ทวีตข้อความพร้อมแนบภาพถ่ายซองเอกสารบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าถูกตีกลับ จากนั้นเจ้าของทวิตเตอร์ดังกล่าวได้ทำการอัพโหลดวิดีโอบอกเล่าถึงกรณีการตีกลับเอกสารบัตรเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ว่า เขาได้ส่งเอกสารบัตรเลือกตั้งกลับไปที่สถานกงสุลนิวยอร์กตั้งแต่วันที่ วันที่ 11 มีนาคม 2562 แต่เอกสารถูกไปรษณีย์ของอเมริกา (USPS) ตีกลับมาในเวลากระชันชิดโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอาจเป็นเพราะซองไปรษณีย์ของอเมริกากำหนดให้ส่งเป็นแนวนอนเท่านั้น แต่เอกสารเลือกตั้งจาก กกต. เป็นแนวตั้ง จึงต้องจัดส่งใหม่ด้วยตัวเองอีกครั้ง แต่ยังกังวลว่าจะส่งคืนไม่ทันวันสุดท้ายที่ปิดรับคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ทำให้ต้องใช้บริการส่งด่วนและต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 26.40 ดอลลาร์ หรือประมาณ 837 บาท

ด้านสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ออกมาชี้แจงและเสนอวิธีแก้ไข โดยแนะนำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่งซองเอกสารให้สถานกงสุลใหญ่โดยตรง (by hand) หรือเปลี่ยนใส่ซองใหม่และจัดส่งอีกรอบ

นอกจากนี้ยังผู้ใช้สื่อออนไลน์อีกจำนวนมาก ที่ต่างออกมาระบายความติดขัดและความรู้สึกไม่สะดวกสบายในใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรผ่านช่องทางส่วนตัว ซึ่งสารพันปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ กกต. ถูกวิจารณ์ถึงการทำงานอย่างรุนแรง และหนีไม่พ้นการถูกจับตามองว่า การลงคะแนนล่วงหน้าในหรือนอกเขตเลือกตั้งในวันที่ 17 มีนาคม 2562 ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนมากถึง 2.3 ล้านคน รวมถึงการเลือกวันจริง 24 มีนาคม 2562 จะมีข้อผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นบ้าง

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ กกต.ชุดนี้ ต้องทำให้ดีที่สุด

10 อันดับประเทศที่มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนมากที่สุด

  1. ออสเตรเลีย 16,183 คน
  2. สหรัฐอเมริกา  15,010 คน
  3. จีน 10,996 คน
  4. สหราชอาณาจักร 7,926 คน
  5. ญีปุ่น 7,758 คน
  6. เยอรมนี 5,748 คน
  7. มาเลเซีย 5,183 คน
  8. สิงคโปร์ 4,918 คน
  9. เกาหลีใต้ 2,960 คน 
  10. ฝรั่งเศส 2,614 คน

 

ข้อมูลจาก BBC THAI

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า