แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดนิทรรศการสิทธิมนุษยชน ‘Four Senses of Rights’ ผลงานนักศึกษาที่ถ่ายทอดเรื่องราวผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้ง 4 เรื่องราวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขียน เปลี่ยน โลก หรือ Write For Rights จัดทำโดย ‘บรี’ แสงเทียน เผ่าเผือก และ ‘ฟ้า’ อังคณา อัญชนะ
“นิทรรศการนี้เริ่มมาจากการที่เราอยากนำเสนอเรื่องราวของคนที่ถูกละเมิดสิทธิผ่านการมีส่วนร่วม โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 4 เราเชื่อว่าถ้าได้ทำอะไรด้วยตัวเอง มันจะจดจำได้ง่ายกว่า”
บรีเล่าที่มาของนิทรรศการ Four Senses of Rights ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคาร Palette Artspace ย่านทองหล่อ โดยการนำเรื่องราวของผู้คนจากโครงการเขียน เปลี่ยน โลก หรือ Write For Rights ประจำปี 2566 ทั้ง 4 คน มานำเสนอผ่านผัสสะการดู การฟัง การสัมผัส และการดมกลิ่น ในฐานะที่บรีเรียนปริญญาตรี สาขาการเมืองการปกครอง และปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เธอกล่าวว่านี่คือโอกาสแรกในชีวิตของเธอในการจัดนิทรรศการเช่นนี้
ในขณะที่ฟ้า นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็เป็นอีกหนึ่งนักศึกษาฝึกงานของแอมเนสตี้ ที่ได้เข้ามาฝึกงานฝ่ายแคมเปญ ฟ้าเล่าว่าเลือกที่จะจัดนิทรรศการในย่านทองหล่อ เพราะอยากให้ชนชั้นกลางในเขตเมืองได้สัมผัสความรู้สึกของการถูกกดขี่ และการที่คนรักถูกบังคับให้สูญหาย ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับเรื่องราวของอันนา มาเรีย ซานโตส ครูซ (Ana Maria Santos Cruz) แม่ผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับลูกชายของเธอที่ประเทศบราซิล
“แคมเปญที่เราทำอาจจะไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวันนี้หรือปีนี้ แต่ถ้าเราสามารถรวบรวมพลังของผู้คนได้นานพอ มันก็สามารถเปลี่ยนได้” ฟ้ากล่าว
ฟ้าได้เสริมจากไอเดียของบรีว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะสื่อสารเรื่องราวผู้คนที่ถูกละเมิดสิทธิ ผ่านการพูดหรือการอ่าน แต่หลายครั้งคนทั่วไปก็ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ การให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมกับเรื่องราวจึงเป็นวิธีที่ดีกว่า
บรีเล่าว่ามีคนที่มาฟังเรื่องราวของทูลานี มาเซโกะ (Thulani Maseko) ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในประเทศเอสวาตินี เขาบอกกับเธอว่าเรื่องราวดังกล่าวทำงานกับความรู้สึกของเขาเป็นอย่างมาก
“คนที่มานิทรรศการอย่างน้อยที่สุดจะได้เรียนรู้ว่ามีคนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ทั่วโลก ผ่านเรื่องราวของพวกเขาที่เรานำมาจัดแสดง” บรีกล่าว
แน่นอนว่านิทรรศการดังกล่าว คือความสำเร็จก้าวหนึ่งของทั้งสองคนในฐานะนักศึกษาฝึกงาน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ทั้งสองคนต่างผ่านการเรียนรู้ และบทเรียนระหว่างทางของการก้าวขึ้นมาเป็นผู้ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน
บรรยากาศนิทรรศการจัดขึ้นที่อาคาร Palette Artspace ย่านทองหล่อ รูปภาพของคนทั้ง 4 คน ถูกติดอยู่ที่ริมผนังทางเข้าฝั่งทางด้านซ้ายมือ ถัดไปเพียงไม่กี่ก้าวก็เจอเข้ากับแว่น VR ที่ฉายภาพน้ำทะเลที่ค่อยๆ กัดเซาะแผ่นดินของลุงพอลและลุงพาไบ ผู้นำชุมชน Guda Maluyligal Nation ทางตอนเหนือสุดของออสเตรเลีย พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อชุมชนดั้งเดิมของพวกเขา
ถัดไปจากนั้นจอ LCD เปิดคลิปวิดีโอหนึ่งที่มีเพียงแต่สีดำ พร้อมซับไตเติลเสียงของใครคนหนึ่ง เมื่อลองสวมหูฟังฟังเสียงก็พบว่ามันกลายเป็นเสียงสะอื้น ที่พาผู้ฟังจมดิ่งไปกับเรื่องราวของทูลานี มาเซโกะ ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในประเทศเอสวาตินี ซึ่งปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทูลานีเคยออกมาวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมในประเทศของเขา ก่อนถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 ต่อหน้าภรรยาของเขาที่ออกมาส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับทูลานี
ถัดไปฝั่งตรงข้ามของห้อง มีรูปของแม่ลูกคู่หนึ่งที่ถูกแขวนอยู่ระหว่างกลางของเสื้อสีดำสองตัว ด้านหน้ามีตาชั่งสองแขน ด้านหนึ่งแทนด้วยสัญลักษณ์ของอำนาจที่มีน้ำหนักมากกว่าเสียงของประชาชน ไม่ต่างอะไรจากเรื่องราวของอันนา มาเรีย ซานโตส ครูซ แม่ผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับลูกชายของเธอที่มีชื่อว่า เปรโตร เฮนดริค นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชาวบราซิล ที่ได้จัดกิจกรรมเดินเพื่อสันติภาพ เขาถูกสังหารโดยชายสวมฮูด 3 คน โดยมีการตั้งข้อหาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สังหารเขา แต่ทั้งหมดก็ยังลอยนวล อันนาผู้เป็นแม่จึงออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกของเธอ แต่เธอกลับถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ปิดท้ายคือเรื่องราวของ อัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการชาวไทยที่ถูกจำคุกยาวนานถึง 87 ปี ขวดน้ำหอมสีดอกอัญชัญตั้งอยู่ที่ด้านหน้ารูปของเธอ แม้ดอกอัญชัญจะไร้กลิ่นหอม แต่ดอกอัญชัญก็มีกลิ่นและตัวตนเป็นของตัวเอง