โครงการ Grab Boat ‘ต่อ’ Grab Win เชื่อมการเดินทางในเมืองอย่างไรไม่ให้ ‘ติด’

ภาพประกอบ: บัว คำดี

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (และกลุ่ม Mayday) ร่วมกับบริษัท Grab และ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จัดเสวนาเรื่อง ‘การเชื่อมต่อเรือกับระบบราง และการทดลอง ‘Grab Boat’

ดร.ชัชชาติกล่าวว่า

“ลองดูว่าถ้าผมจะเดินทางจากแยกลำสาลี บางกะปิ ไปถึง Q-House ลุมพินี ผมมีทางเลือกอะไรบ้าง กูเกิลบอกว่า ถ้าใช้รถมีสองเส้นทาง 26 นาที – 1 ชั่วโมง อีกทางหนึ่ง 30 นาที –  1 ชั่วโมง รถมัน vary มาก แต่อีกช่องทางน่าสนใจคือ กูเกิลบอกให้ใช้เรือ (คลองแสนแสบ) ไปลงที่อโศก ต่อรถใต้ดิน ไปถึงตึก Q-House เลย บอกเวลาเลย 1 ชั่วโมง 3 นาที แต่ถ้ารถจะมี range เวลา เพราะรถติดแน่นอน ลงเรือ ต่อรถใต้ดิน บอกเวลาชัดเจนเลย”

และเมื่อมองในภาพรวม ท่าเรือในกรุงเทพฯมี feeder คือมอเตอร์ไซค์ จึงไม่ใช่เรื่องยากหากแผนการเชื่อมต่อ เรือ รถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์จะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

Grab
ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เมื่อสองปีที่แล้ว มิชารี มัคบิล (Mishari Muqbil) นักคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย DataKind ได้แนะให้ผมไปคุยกับบริษัท Grab เรื่องการแชร์ big data กับโครงการวิจัย ‘การขนส่งที่มีชุมชนเป็นเจ้าของ’ ของมหาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนโดย Rockefeller Foundation

Grab

จำรัส กลิ่นอุบล ซึ่งขับเรืออยู่แล้วในชุมชนลาดพร้าว 45 นำเสนอว่าเราน่าจะทำ ‘Grab Boat’ ! ที่สามารถเชื่อมกับวิน Grab Bike ได้ด้วย โดยเรียกใช้เรือชุมชนผ่านแอพพลิเคชั่น และมีรายได้เข้าชุมชนจากการขนส่งมวลชน ข้อดีอีกประการหนึ่งของเรือก็คือ เป็นการขนส่งที่ ‘ไม่ติด’ เช่นเดียวกับระบบราง BTS

Grab
โครงข่ายคลองในกรุงเทพฯ สามารถเชื่อมต่อ Grab Boat กับ Grab Bike ได้โดยไม่ติด และชุมชนริมคลองสามารถริเริ่มเส้นทางได้เองในลักษณะ crowd-sourced transit

ทางบริษัท Grab ได้เชิญผู้บริหารส่วนกลาง – บินตรงจากสิงคโปร์ – มาคุยเรื่องนี้กับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พวกเขาเห็นด้วยในหลักการและพร้อมทดลองทันที

โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีคลองจำนวนมากซึ่งเชื่อมต่อกับวินมอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว สามารถไปได้ทั่วเมืองโดยไม่ติดในการจราจร

ในเดือนเมษายน 2560 เราจึงเตรียมพร้อมทำ pilot ‘Grab Boat’ ในคลองลาดพร้าวเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ทาง Grab ได้ให้งบชุมชนในการปรับปรุงเรือเพื่อการทดลองครั้งนี้ แต่ฝั่งของภาครัฐยังไม่พร้อมให้ทำการทดลอง ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย…การเดินเรือ Grab Boat ร่วมกับมหาลัยธรรมศาสตร์ในประเทศไทยจึงต้องถูกยกเลิกลงไปกะทันหัน

กำเนิด Grab Boat ในอินโดนีเซีย

แต่อีกสองปีผ่านมา ผมเพิ่งได้ยินข่าวว่ามี Grab Boat ในอินโดนีเซียแล้ว

Grab
Grab Boat ในอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ Grab Boat ยังได้ริเริ่มแล้วในกัมพูชา และสามารถเชื่อมต่อกับ Grab Bike ได้อีกด้วย!

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก แม้ว่ามันจะไม่ได้เกิดในประเทศไทยก็ตาม

สิ่งที่น่าทำต่อไปก็คือการทำ app ให้สามารถ ‘จอง’ (เหมาได้เป็นเที่ยว) เรือ-ต่อ-มอเตอร์ไซค์ ในราคาเดียวเลย…จะเรียกว่า ‘Grab Trip’ ก็ได้

ในปัจจุบันระบบขนส่งมวลชน (ที่ไม่ติด) และคนใช้มากที่สุดในกรุงเทพฯ คือ ‘ระบบวินมอเตอร์ไซค์’ นะครับ คือมีคนใช้ถึง 6 ล้านคนต่อวัน และระบบนี้ไม่ ‘ติด’ อยู่บนถนนเหมือนรถยนต์ เพราะใช้ ‘เลน’ ระหว่างรถ: วิ่งในรูปแบบเดียวกับ BRT และวิ่งซิกแซก ด้วยความสุ่มเสี่ยง…แต่ไม่ติดครับ

เราจะมีโครงข่ายการขนส่งที่ไม่ติดทั่วเมืองได้ในราคาที่ถูกกว่ารถไฟฟ้า หากสามารถเชื่อมต่อระบบเรือในคลองที่ชุมชนริเริ่มเอง (crowd-sourced) กับระบบวินมอเตอร์ไซค์ ทั้งสองระบบสามารถปรับและเคลื่อนย้าย ‘สถานี’ เรือและซุ้มวินมอเตอร์ไซค์เข้าหากันได้ง่าย ต่างจากสถานีรถไฟฟ้าซึ่งย้ายให้ใกล้การเชื่อมต่อมากขึ้นไม่ได้

ตั๋วเชื่อม (Transfer Ticket)

เมืองต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา เขาจะใช้เป็นตั๋วกระดาษมาตลอด 20 ปี ซื้อในราคาเดียว แต่นำไปต่อระหว่างรถเมล์สายต่างๆ ได้ภายในสองชั่วโมง (แต่เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นระบบบัตรดิจิตอลเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา) โดยคนขับรถเมล์จะฉีกตั๋ว transfer เฉียงๆ เพื่อให้ได้เวลาสองชั่วโมงพอดี

Grab
ระบบตั๋วเชื่อมในสหรัฐ

ตั๋วแบบนี้เมื่อสองปีที่แล้วยังมีใช้อยู่ในย่านซานฟรานซิสโกและซิลิคอนวัลลีย์ (Silicon Valley) ของเขาไม่ต้องใช้บัตรแมงมุม เพราะระบบคอมฯ มักจะเชื่อมต่อกันยาก แต่ใช้แบบ low tech เป็นกระดาษ… ฉีกให้แล้วเอาไปชูให้รถเมล์คันต่อไป โดยไม่ต้องเสียเงิน

‘ระบบตั๋วเชื่อม’ ในลักษณะนี้ ควรจะนำมาเชื่อม Grab Boat และ Grab Bike เป็นทริปเดียวเลย โดยกำหนดเวลาในการ ‘เชื่อม’ จากพาหนะหนึ่งไปอีกพาหนะหนึ่งไม่ให้เกินสองชั่วโมง

ข้อดีของระบบ hybrid นี้คือสามารถสร้างรายได้ชุมชนและเศรษฐกิจริมคลองได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าต่างๆ หรือการขนส่งสินค้า e-commerce ทางคลองกับมอเตอร์ไซค์ในช่วงไม่เร่งด่วนตอนกลางวัน

แต่ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มจากการให้ชุมชนเป็นคนริเริ่มในลักษณะ crowd-sourced โดยให้ข้อมูลว่าคลอง (หรือแม่น้ำ) จุดไหนมีศักยภาพเช่นไร มีวินมอเตอร์ไซค์หรือเปล่า ควรทำการปรับปรุงอย่างไรบ้างเพื่อเชื่อมการเดินเรือ

นักปรัชญาฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า

ถ้าท่านอยากจะได้เรือ อย่ามัวปลุกระดมผู้คนให้เข้าป่าเพื่อหาไม้ เลื่อยไม้ และตอกไม้กระดานเข้าด้วยกัน …แต่ท่านควรสร้างความอยากในการผจญภัย

Author

ยรรยง บุญ-หลง
ยรรยงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ริเริ่มแนวคิดการใช้โครงข่ายคลองในกรุงเทพฯ มาเชื่อมต่อกับ 'จุดตัด' ของสถานีรถไฟฟ้า BTS-MRT (สนับสนุนโดย Rockefeller Foundation) เพื่อขยายโครงข่ายการสัญจรที่ไม่ติดในเมืองและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมคิด Town & Transit Toolbox ทำหนังสือร่วมกับกลุ่ม Afterword ชื่อ 'Bangkok: Handmade Transit' จบการศึกษาจาก University of California, Berkeley เป็นสมาชิกสมาคมสถาปนิกอเมริกัน ปัจจุบันทำงานเป็นสถาปนิกออกแบบโรงเรียนสาธารณะในย่าน Silicon Valley

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า