คนละโลกเดียวกัน: บันทึกการต่อแถวรับข้าวกับคนไร้บ้านในวันที่ COVID-19 ระบาด

1

ชายหนุ่มนั่งพิงกระเป๋าสัมภาระ จดข้อความบางประโยคลงในสมุดบันทึก ถัดจากเขาไปไม่กี่เมตร คู่รักกำลังถ่ายพรีเวดดิ้งอยู่ข้างๆ ช่างภาพสวมหน้ากากอนามัย ยกเว้นคู่บ่าวสาว ชายคนนั้นนั่งเอนหลังพิงกระเป๋าเดินทาง เขาอาจเขียนข้อความลงสมุดว่า ‘ความรักนั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นของชีวิต เหมือนน้ำตาล’ หรืออาจเป็นข้อความตรงข้าม หรืออาจเป็นข้อความสักอย่างที่เขาอยากจดจำมันไว้ อีกคนนั่งห้อยขาอยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง กระเป๋าเป้สีแดงแบบติดล้อวางอยู่ข้างกาย และนั่นก็อีกคน ยืนสูบยาเส้นอยู่ไม่ไกลนัก กระเป๋าของเขามีล้อเช่นกัน

มีความเหมือนบางประการระหว่างคนเดินทางกับคนไร้บ้านจำนวนมากที่อาศัยสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นที่พักพิง พวกเขาล้วนแต่มีสัมภาระข้างกาย แต่เวลาคือองค์ประกอบแยกแยะความแตกต่างประการสำคัญ เมื่อถึงเวลาคนเดินทางทุกคนจะเดินขึ้นขบวนรถไฟ แต่คนไร้บ้านยังคงนั่ง นอน ยืน อยู่ที่นี่ต่อไป รอบๆ ตัวอาคารหัวลำโพง

ไม่ว่ารถไฟขบวนแล้วขบวนเล่าจะเคลื่อนที่ออกไป พวกเขายังอยู่ พร้อมสัมภาระที่ดูเหมือนจะบรรจุชีวิตทั้งชีวิตของพวกเขาเอาไว้

2

หัวลำโพงในวันที่ 22 มีนาคม หนาแน่นด้วยผู้คน กรุงเทพมหานครป่วยหนักหลังการระบาดแบบ super spreading จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้าง มีการสั่งปิดห้างสรรพสินค้า และพื้นที่หลายแห่ง ชีวิตการทำงานในพื้นที่เหล่านั้นก็ต้องหยุดด้วย

ข้อมูลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า สถิติข้อมูลประมาณการผู้โดยสารจากระบบขายตั๋วทางออนไลน์ วันที่ 17 มีนาคม 2563 จำนวนผู้โดยสาร 55,948 คน, วันที่ 18 มีนาคม 2563 จำนวนผู้โดยสาร 53,043 คน, วันที่ 19 มีนาคม 2563 จำนวนผู้โดยสาร 49,788 คน, วันที่ 20 มีนาคม 2563 จำนวนผู้โดยสาร 51,011 คน และวันที่ 21 มีนาคม 2563 จำนวนผู้โดยสาร 29,873 คน

ผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงที่ไวรัสจะแพร่กระจายไปในต่างจังหวัด

3

หน้าอาคารสถานีหัวลำโพง มีจุดวัดไข้ เจลล้างมือ คัดกรองผู้โดยสารเข้าสู่ตัวอาคาร

“จิ้มมาหลายทีแล้ว ไม่มีไข้” กุ้ง sex worker หญิงข้ามเพศวัย 50 หมายถึงเทอร์โมติเตอร์ที่เจ้าหน้าที่ตั้งจุดคัดกรองทางเข้าอาคาร หมายเล็งที่หน้าผาก หากอุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส จึงปล่อยผ่านไป

กุ้งประแป้งขาวทั่วใบหน้า ริมฝีปากแดง ได้กลิ่นอ่อนๆ ของสุราจากลมหายใจ ตอนนั้นเป็นเวลา 17.00 น.

“ไม่ติดหรอก ฉันกินกะเพราทุกวัน” อีกคนบอก หลังถูกถามถึงไวรัส COVID-19

หนุ่มสาวคู่หนึ่งใช้ตรอกประตูด้านที่ปิดใช้บริการเป็นประหนึ่งที่รโหฐาน ชายหนุ่มกำลังหอมซอกคอแฟนสาว หอมแก้ม จูบปาก ข้ามไปอีกฝั่ง ชายฉกรรจ์ 3 คน นั่งล้อมวงสนทนากันเป็นภาษาอีสาน ตรงกลางมีขวดพลาสติกบรรจุน้ำสีใส คนแรกยกกรอกปาก เวียนวนเป็นวงกลมจนครบทุกปาก หลายคนไม่สวมหน้ากากอนามัย คนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเหรอ ไม่แน่ใจ

ห่างจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปไม่กี่เมตร ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร ผู้คนสวมหน้ากาก เว้นระยะตนจากผู้อื่น มีเจลล้างมือตั้งอยู่ทางเข้าสถานีรถไฟใต้ดิน ร้านสะดวกซื้อ ผู้คนทำงานที่บ้าน ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ บางสถานประกอบการต้องหยุดกิจการชั่วคราว ลูกจ้างว่างงาน แต่สำหรับคนไร้บ้าน พวกเขาอยู่นอกเหนือมาตรการเหล่านี้ มีใครสนใจพวกเขาบ้าง มาตรการจากหน่วยงานรัฐยังไม่มีอะไรเกี่ยวข้องหรือดูแลคนเหล่านี้

ใครจะสน – เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย สิ่งที่พวกเขาให้ความสนใจก็คืออาหารในแต่ละมื้อ

“ตั้งแต่มีโรค คนไม่ค่อยมาแจกข้าว” กุ้งว่า “เป็นห่วงคนแก่”

4

“ก่อนที่จะมีโควิด จะมีคนมาแจกอาหารที่นี่ทุกคืน คืนหนึ่งมีไม่ต่ำกว่า 10 เจ้า แต่เท่าที่สอบถามพี่น้องคนไร้บ้าน ช่วงนี้ไม่ค่อยมีคนมา เมื่อวานก็ไม่มีคนมาแจก วันนี้ก็อาจจะเสี่ยงที่ไม่ได้กินข้าว”

กรรณิการ์ ปู่จินะ เคยใช้ชีวิตที่สนามหลวง ปัจจุบันอาศัยอยู่ในบ้านของเครือข่ายคนไร้บ้าน ปทุมธานี เธอเดินทางมาหัวลำโพงเพื่อสอบถามความเป็นอยู่คนไร้บ้านในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 แน่นอนเธอกลัวการระบาดของไวรัส มีโรคประจำตัวเป็นไทรอยด์ จึงเตรียมป้องกันตัวมาอย่างดี

“สภาพชีวิตของคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เสี่ยงที่จะป่วยอยู่แล้ว เพราะสภาพมลภาวะ อากาศ ความสกปรก ถึงไม่เป็นโควิดก็อาจเป็นอย่างอื่น ทางเดินหายใจ วัณโรค พอมีโควิด เขาเสี่ยงมากที่สุด เพราะเข้าไม่ถึงหน้ากาก เจลล้างมือ มันแพง และหายากใช่ไหม เขาเสี่ยงที่สุด เพราะนอนในพื้นที่สาธารณะ เวลาจะอาบน้ำก็ต้องเข้าไปในอาคารหัวลำโพง เสียเงินครั้งละ 10 บาท เจ้าหน้าที่ก็ไม่ค่อยให้คนไร้บ้านเข้าไปในอาคาร เขาคงไม่ซื้อน้ำขวดมาล้างมือหรอก ฉันว่าเขาไม่ล้างอยู่แล้ว จะให้เขาล้างมือฟอกสบู่ก่อนกินข้าว ไม่มีทาง”

ตกเย็น บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม คนไร้บ้านเริ่มมารวมตัวกัน ชายชราเปิดกระเป๋าเป้สีดำ ล้วงปลากระป๋องออกมา 2 กระป๋อง ยื่นให้หญิงชราอีกคน เธอยื่นเหรียญสิบเป็นการตอบแทน คนไร้บ้านจับกลุ่มพูดคุยกันเป็นกลุ่มๆ ครอบครัวหนึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูกเล็ก หญิงผู้เป็นแม่ถือถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ส้อมพลาสติกสีขาว 3 คัน เสียบอยู่ในถ้วย สามพ่อแม่ลูกกินบะหมี่ถ้วยเดียวกัน

ประมาณ 2 ทุ่มจะมีคนมาแจกอาหาร พวกเขาจะต้องลุ้นว่า อาหารจะมาแจกเพียงพอต่อจำนวนคนที่มารอหรือไม่ ในสถานการณ์การระบาด แม้แต่คนที่มีใจอารี ก็ต้องป้องกันตัวเอง

“คนที่มาแจกก็เลือกที่จะไม่มา เขาก็คงกลัว ว่าพี่น้องเป็นพาหะ” กรรณิการ์ว่า

หัวลำโพงกีดกันคนไร้บ้าน จะด้วยเหตุผลการจัดระเบียบพื้นที่หรือเหตุใดก็ตามแต่ ทำให้คนไร้บ้านกระจัดกระจายไปหาที่นอนตามที่ต่างๆ แต่ทุกเย็นพวกเขาจะมารวมตัวกันที่นี่

“กลิ่นเบามากแล้วนะ เมื่อก่อนกลิ่นแรงกว่านี้ เพราะเขาจัดการพื้นที่ไม่ให้พี่น้องนอนที่นี่แล้ว เห็นเขาบอกว่า พี่น้องไม่ได้นอนแถวนี้แล้ว ก็ต่างคนกระจัดกระจายออกไปนอน แต่จุดนี้เป็นจุดที่เขามารอรับอาหาร”

5

“ออกตีห้า กลับไม่เกินบ่าย ลงชื่อก่อนได้”

ชายฉกรรจ์เดินถือแผ่นกระดาษล่ารายชื่อคนไร้บ้านที่กำลังรออาหารริมคลอง สำหรับคนที่ต้องการจ๊อบ ก็จะลงชื่อเพื่อไป ‘รับพระ’ แถวอยุธยา เป็นจ๊อบของคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ รับจ้างต่อคิวเช่าพระให้นายทุน บุญเลิศ วิเศษปรีชา ผู้เขียนหนังสือ สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา  และ โลกของคนไร้บ้าน ชวน WAY มาสังเกตการณ์ชีวิตของคนไร้บ้านในสถานการณ์ระบาด ก็ลงชื่อกับเขาด้วย

“สมัยก่อน ฉันแจกใบปลิว ได้ครั้งละ 200 มองซ้ายมองขวาแอบขยำใบปลิวทิ้งด้วยนะ” กรรณิการ์ว่า

“ผมถือป้ายหน้าคอนโด ได้วันละ 400” ชายร่างท้วมเล่าถึงงานของเขาให้ฟัง เขาเป็นไม่กี่คนที่สวมหน้ากากอนามัย

พวกเขาได้รับแจกหน้ากากอนามัยจากบุคคลที่มาแจกอาหาร แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตที่สมบุกสมบันและโลดโผนกว่าประชากรทุกกลุ่มในสังคม

“อย่าเอามาแจกเยอะ” ชายข้ามเพศชาวบุรีรัมย์บอก “มีเยอะ พวกนี้ก็เอาไปขาย”

เขาเล่าว่า ไม่กี่วันก่อน มีนายทุนมาจ้างคนไร้บ้านไปต่อคิวซื้อหน้ากากอนามัย ได้ครั้งละ 50 บาท หน้ากากอนามัยกล่องละ 9 บาท เราไม่รู้เลยว่า มันจะถูกนำไปขายเป็นราคาเท่าไหร่

6

“เราไม่กลัว เรากลัวแค่ว่าแต่ละวันจะได้กินข้าวกินน้ำที่ไหน ที่นอนก็นอนแบบที่นอนได้ เราไม่ห่วงอะไร ในแต่ละวันต่างคนก็สู้ชีวิตของแต่ละคนกันไป หาเงิน มีจ๊อบบ้าง หน้ากากเขาไม่ใส่แน่นอน ก็ไม่มีใครเป็นหวัดนะ” เดช อธิบายให้เราฟัง เขามาจากเชียงใหม่ ตามข้อมูลที่เขาบอก เขาเพิ่งมาเมื่อวานนี้เอง

“ใกล้ตัวเหรอ ไม่น่านะ เพราะมันอยู่ที่ความแออัดมากกว่า ถ้ามีคนหนึ่งเป็น โอกาสแพร่เชื้อมากกว่า อันนี้เชื่ออยู่ แต่เราอยู่แบบนี้ อากาศเปิดแบบนี้ มันไม่น่าเป็นได้”

อีกเหตุผลหนึ่ง เดชบอกว่า เขาไม่ได้ไปต่างประเทศเหมือนดาราที่ติดเชื้อ ไวรัส COVID-19 จึงไกลตัวพวกเขา

“โรคนี้มันห่างพวกเราเยอะ เราไม่ได้สนใจ หน้ากากผมมี อยู่ในกระเป๋า ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใส่ จะใส่ก็ตอนลงใต้ดิน ผมต้องใส่ เพราะคนหมู่มาก มันแออัด แล้วมันเป็นแอร์”

“ได้ข้าวมา ล้างมือก่อนไหม” บุญเลิศ วิเศษปรีชา ถาม

“ก็ล้างแล้วไงล่ะ แต่ละคนไม่ได้ห่วงตรงนั้น มันเป็นธรรมดาของเขาอยู่แล้ว ได้ข้าวแล้วก็กิน ไม่เกี่ยวนี่ว่าจะต้องล้าง ไม่ได้เน้นว่าต้องสะอาดหรือไม่ แค่ขออิ่มท้องเท่านั้นเอง โรคไม่เกี่ยวหรอก อย่างจีนมา ไต้หวันมา แต่เชื้อโรคไม่มาถึงเราอยู่แล้ว เรามันวงนอกไง”

“ช่วงนี้คนมาแจกข้าวน้อยลงไหม”

“น้อยลงมาก คนไม่อยากจะมา เพราะกลัวว่าพวกเราอาจติดโรค แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่หรอก เขากลัวมากเกินไป มันเป็นกระแสสังคมน่ะนะ มันไม่เกี่ยวหรอก มันอยู่นอกขอบเขตเรา เราไม่ได้ไปอยู่ในวงของเขา”

“แล้วลงชื่อจะไปรับพระกับเขา นี่ไม่กลัวติดเหรอ”

“ไม่มี ผมว่าไม่เกี่ยว”

“คุณติดตามข่าวโควิดจากไหน”

“นั่นไง” เขาชี้ไปทางอาคารหัวลำโพง “ดูทุกวัน ไม่เกี่ยวกับเราอยู่แล้ว”

ท่อนแขนที่ชี้ไปที่อาคารหัวลำโพงของเดช เผยให้เห็นรอยสักเป็น typography เขียนไว้ว่า ‘ปลายฟ้า’

“ปลายฟ้า ชื่อใคร”

“เมีย อยู่กับลูกๆ ที่เชียงใหม่ ผมทำธุระเรื่องเอกสารเสร็จ ก็จะกลับแล้วล่ะ”

ฟ้ามืดแล้ว ใครบางคนตะโกน “ข้าวมาแล้ว”

จากนั้น – และแล้วความโกลาหลก็ปรากฏ

7

รถเข็นขนมปังเทวดาจอดต่อท้ายรถกระบะของกลุ่มแบ่งฝันปันรัก พวกเขาเตรียมอาหารสำหรับแจกวันนี้ เมื่อชีวิตกว่า 200 คน วิ่งกรูเข้ามา พวกเขาต้องปราม “แจกสองทุ่มนะครับ ต่อแถวให้เป็นระเบียบก่อน”

กลุ่มคนรออาหารจึงนั่งบนบาทวิถีเป็นแถวเป็นแนวรอไว้ แต่ไม่กี่นาที เสียงโห่ร้องก็ดังขึ้นอีก

“อะไรวะ” ใครบางคนไม่ทันสถานการณ์

“มีข้าวมาอีกเจ้า” เพื่อนของเขาอัพเดตให้ฟัง

เท้าหลายร้อยคู่ อึกทึกบาทวิถี มุ่งย้อนกลับไปทิศที่เพิ่งวิ่งมา รถตุ๊กตุ๊กคันหนึ่งเพิ่งมาจอดเทียบบาทวิถีได้ไม่กี่วินาที แต่ก็ถูกปิดล้อมไว้แล้ว หลายมือไม้ฉุดกระชากข้าวกล่องที่บรรจุมาในรถ หญิงสาวใจอารีผู้มาแจกข้าวกล่องกระโดดลงมาจากรถ หญิงสาวอีกคนที่มาด้วยกัน ยังคงนั่งตัวเกร็งไม่สามารถขยับไปไหน

ไม่ถึง 2 นาที ข้าวกล่องที่นำมาแจกจ่ายกระจายไปอย่างชุลมุนแล้ว เศษข้าวที่ปริล้นหล่นออกมาจากกล่องข้าวเกลื่อนพื้นรถตุ๊กตุ๊ก หญิงคนนั้นยังคงนั่งนิ่ง ไม่ขยับ

“ทำไมพวกมึงนิสัยแบบนี้วะ” ใครบางคนต่อว่าเพื่อน “เดี๋ยวเขาก็ไม่มาอีกหรอก กูล่ะยอมพวกมึงจริงๆ”

8

“เราแจกอาหาร สบู่ แชมพู กย.15 เราคิดกันว่าจะมาตั้งแต่ตอนที่ COVID-19 ยังไม่หนัก ชวนพี่สมชายขนมปังเทวดามาด้วยกัน พอการระบาดเริ่มหนัก เราก็หาหน้ากากมาด้วย ตอนแรกกะว่าจะได้ 300 ชิ้น แต่หาได้แค่ 120 ชิ้น เป็นหน้ากากผ้า”

พงษ์ศักดิ์ ปึงศิริไพบูลย์ และเพื่อนในนามกลุ่ม แบ่งฝันปันรัก อธิบาย เขามาพร้อมกับสมชาย ขนมปังเทวดา ผู้มีชื่อเสียงในโลกโซเชียล จากประสบการณ์ที่เคยแจกอาหารให้คนไร้บ้าน เขาบอกว่า ข่าวสารการระบาดอาจเดินทางไปไม่ถึงกลุ่มคนไร้บ้าน พวกเขาจึงไม่กลัว “หลักๆ เขาเอาความอยู่รอดก่อน อยากได้อาหารประทังชีวิตมากกว่า”

เจลล้างมือและหน้ากากอนามัย วางไว้อยู่หน้ารถเข็นของสมชาย ขนมปังเทวดา สมชายแจกหน้ากากให้ผู้คนมาตั้งแต่ PM2.5 จนถึงวันที่การระบาดของไวรัส COVID-19 สร้างความตระหนกให้สังคมไทย หน้ากากขาดตลาดมาหลายเดือนแล้ว เขาหาซื้อหน้ากากผ้ามาแจกคนไร้บ้านพร้อมกับขนมปังไส้สังขยาและน้ำพริกเผา

“เราต้องทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้” สมชาย คนขายขนมปัง บอกเหตุผลของการมาที่นี่

“ในเมื่อเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีตัวตนในสังคมนี้อยู่แล้ว” คือความคิดเห็นของ กรรณิการ์ ที่กลั่นมาจากประสบการณ์จริงที่เคยใช้ชีวิตในที่สาธารณะ “ภาครัฐไม่ได้นึกถึงเขาอยู่แล้ว เขาอยู่แบบนี้จะอันตรายไหม เป็นกลุ่มเสี่ยงไหม เขาไม่สนใจอยู่แล้ว พวกเขาเลือกที่จะช่วยเหลือตัวเอง ดูแลตัวเอง ช่วยเหลือกันเองภายในกลุ่มของเขา” แน่นอนที่เธอพูดมาล้วนแล้วแต่อยู่ในความเสี่ยงที่ไวรัสจะระบาด

จะตายก็ตาย ไม่กลัวหรอกถ้าจะต้องติดไวรัส – คือมวลความรู้สึกของกลุ่มคนไร้บ้านที่สัมผัสได้

“เรื่อง COVID-19 ที่เรากำลังกังวลกัน มันเหมือนเกิดขึ้นในอีกโลกหนึ่ง ที่ไม่ใช่โลกที่เขาอยู่” คือความคิดเห็นจากการเดินสำรวจและพูดคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านในภาวะการระบาดของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา

“คนไร้บ้านที่ผมเคยเจอมา เขาจะรู้สึกว่าชีวิตของเขามันโลดโผน อยู่ข้างถนน เจอความเสี่ยงในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว โควิดอาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้เขาขึ้นมาอีกนิดนึง เขาจึงไม่รู้สึกว่ามันมีความสำคัญมากกว่าความเสี่ยงเดิมๆ ที่เขาดำรงชีวิตอยู่ทุกวัน” บุญเลิศอธิบาย “ผมคิดว่าเขาเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงนะ ในต่างประเทศเริ่มมีการระวังแล้ว เพราะโอกาสที่การระบาดจะแพร่ไปสู่พวกเขาจำนวนมากมันมี และยิ่งจะแพร่ง่ายมาก ในแคนาดาผมเห็นข่าวว่า อาจจะมีการจัดเตรียมที่พัก มีการจัดโรงแรมเลยทีเดียว บ้านเรายังไม่มีการคิดเรื่องนี้

“ในต่างประเทศมี 2 กรณี กลุ่มคนไร้บ้านที่รัฐจะมีเชลเตอร์ให้อยู่ ข้อกังวลคือถ้ามีคนติด คนในเชลเตอร์ก็มีโอกาสแพร่อย่างรวดเร็ว ข้อนี้เขาก็กังวล และอีกส่วนคือคนที่นอนในที่สาธารณะ ในประเทศที่มีมาตรการล็อคดาวน์ทั้งหลาย อาจรวมถึงการปิดโบสถ์ซึ่งเป็นแหล่งแจกอาหารให้คนไร้บ้าน ก็ทำให้คนจำนวนหนึ่งยิ่งต้องออกมาอยู่ข้างถนน ก็เสี่ยงมากขึ้น ส่วนบ้านเรา คนไร้บ้านไม่ได้รับบริการอะไรอยู่แล้ว”

เหมือนที่เดชย้ำบอกหลายครั้ง พวกเขาอยู่วงนอกของโรคระบาด ความคิดและพฤติกรรมในการป้องกันตนจึงเหมือนอยู่กันคนละโลกกับผู้คนในสังคม จริงๆ แล้ว ความเข้าใจของเดชนั้นผิด พวกเขาอยู่วงนอกความสนใจจากภาครัฐ และสังคมมากกว่า มันทำให้พวกเราอยู่กันคนละโลกเดียวกัน

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า