ขณะที่หลายคนกำลังถกเถียงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีทิศทางอย่างไร แลนด์สไลด์หรือใครอยู่ต่อ ควร ‘โหวตด้วยยุทธศาสตร์’ หรือ ‘โหวตด้วยอุดมการณ์’ ขณะเดียวกัน ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเลือกอะไรได้เลย ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การวาดฝันถึงประเทศที่ดี ดูเหมือนจะเป็นความฝันที่เรียบง่ายที่สุด ซึ่งความฝันสำหรับ ‘คนไร้บ้าน’ นั้นต่างออกไป
วันนี้เราเดินทางมาที่ใต้สะพานพระราม 8 เพื่อพูดคุยกับ ทรง – สมทรง คำโสม ชายไร้บ้านจากโครงการ ‘จ้างวานข้า’ โดยมูลนิธิกระจกเงา เกี่ยวกับทรรศนะทางการเมือง และการเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังจะมาถึง ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เขาคิดเห็นอย่างไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้
“ผมไม่เคยจินตนาการถึงตรงนี้มาก่อน เพราะผมคิดว่าตัวเองไม่มีสิทธิที่จะคิดครับ ผมคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวมาโดยตลอด” ทรงตอบด้วยท่าทีลังเล และน้ำเสียงที่ฟังดูตะกุกตะกัก เหมือนกลัวว่าคำตอบของตนเองนั้นจะผิด ก่อนเสริมว่า ตั้งแต่เติบโตมาตนเองคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวมาโดยตลอด ยิ่งพออยู่ในสถานะคนไร้บ้าน ความคิดและความฝันก็แทบริบหรี่
เดิมทีทรงเกิดและเติบโตที่จังหวัดนครพนม กระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ สาเหตุที่ต้องพลัดถิ่นมาทำมาหากินไกลบ้าน ก็เพราะบ้านเกิดของตนไม่สามารถหล่อเลี้ยงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ หนทางเดียวคือเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ แม้จะต้องไกลห่างจากครอบครัวก็ตาม
“เมื่อก่อนผมกลับบ้านบ่อย กลับทุกช่วงเทศกาล ถ้ามีการเลือกตั้งผมก็จะกลับไปเลือกที่เขตบ้านผม แต่ตอนนี้ผมไม่มีตังค์กลับบ้าน ผมเลยไม่มีโอกาสได้กลับไปเลือกตั้ง เลยไม่รู้ว่าจะเลือกคนแบบไหนมาพัฒนาบ้านผม เพราะผมไม่มีปัญญาแม้แต่จะกลับบ้าน” ทรงตอบด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่ง และพูดต่อว่า ตนเองไม่ได้กลับไปเลือกตั้งนานแล้ว ไม่รู้ว่ารายชื่อยังมีอยู่ไหม และไม่ทราบมาก่อนว่าสามารถเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตได้
ทรงยอมรับว่า ความรู้ของตัวเองและการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้นมีน้อยมาก หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเลือกตั้งมีการประชาสัมพันธ์ แนะนำ และช่วยเหลือ ตนเองก็มีความประสงค์อยากเลือกตั้งเหมือนกับคนอื่นๆ
พรรคไหนที่ใช่ นโยบายไหนที่ชอบ
เราถามกับทรงต่อว่า ถ้ามีโอกาสได้เลือกตั้ง อยากเลือกพรรคการเมืองแบบไหน นโยบายแบบใดที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับตนเองหรือคนไร้บ้านที่กำลังเผชิญอยู่ ทรงตอบกลับว่า สิ่งที่อยากได้ที่สุดในตอนนี้คือ ‘งาน’
คนไร้บ้านจำนวนมากอยากมีงานทำ แต่ด้วยเงื่อนไขทางสังคมและโอกาสที่เปิดรับไม่เท่ากัน ทำให้พวกเขาไม่สามารถก้าวเข้าสู่เส้นทางการทำงาน เพื่อเลี้ยงชีพตนเองได้ และเมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงิน ก็ไม่มีบ้าน พวกเขาจึงกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ไร้งาน ไร้เงิน
“พอตกงาน ผมก็ไปลงทะเบียนว่างงานไว้ จนกระทั่งเงินก้อนสุดท้ายโอนเข้ามา ก็ยังไม่ได้งานทำ ผมเลยคิดว่าระหว่างนี้ ถ้ามีโครงการสนับสนุนอาชีพให้กับคนไม่มีงานทำ หรือหาช่องทางการทำงานให้ ก็จะช่วยได้มากขึ้น” ทรงกล่าวถึงกรณีที่หลายคนประสบปัญหาการว่างงาน และอยากมีงานทำ
นอกจากนี้ทรงยังบอกว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ สวัสดิการด้านสุขภาพและสิทธิเข้าถึงการรักษาถ้วนหน้า เพราะความเจ็บป่วยไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือสาหัส ถือเป็นเรื่องโชคร้ายลำดับต้นๆ ของคนไร้บ้านเสมอ นอกเหนือจากนี้ก็เป็นเรื่องของแพง ค่าแรงถูก ซึ่งทรงมองว่า ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ไม่ใช่แค่คนไร้บ้าน แต่คนทุกคนจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
กกต. กับกระบวนการเลือกตั้งที่ไม่อาจไว้ใจ
“ผมได้ยินข่าวอยู่บ้าง เรื่องวิธีการทำงานที่ไม่โปร่งใส สำหรับผมเสียงแค่หนึ่งเสียงก็เปลี่ยนประเทศได้ เสียงแค่หนึ่งเสียงก็ชี้ว่าใครจะเป็นนายกฯ ได้ หากหายไปเพียงหนึ่งเสียง จะด้วยการโกงหรือผิดพลาด ผมว่ามันไม่ควรเกิดขึ้น” ทรงตอบคำถามที่ว่า เคยได้ยินหรือไม่ เรื่องที่ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่โปร่งใส และพากันจับตาการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน
สำหรับทรงมองว่า หากการทำงานขององค์กรที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งโดยตรงไม่น่าไว้ใจและไม่มีความเป็นมืออาชีพ สิ่งนี้จะเป็นปัญหาอย่างแน่นอน เพราะการที่พวกเขาทำหน้าที่ที่สำคัญอย่างการรักษาสิทธิและเสียงของคนในประเทศนั้น ไม่ควรทำงานอย่างสะเพร่า และทรงคาดหวังว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะผ่านไปได้ด้วยดี ไม่มีเหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้น เพราะในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เขาก็อยากเห็นประเทศไทยพัฒนาไปในทางที่ดี แบบที่ควรจะเป็น
การพูดคุยกับทรงถือเป็นหนึ่งในบทสนทนาที่มีความหมาย เราได้รู้ว่า ‘คนไร้บ้าน’ มิได้ไร้ทรรศนะ ไร้ความฝัน ไร้ความคิดเห็นทางการเมือง พวกเขาก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่สามารถคิดและสะท้อนปัญหาของสังคมได้ เพราะมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะคิดและฝันตามแบบที่ตนเองต้องการ