การกักตัวในช่วงของ COVID-19 ทำให้คนใช้เวลากับ Netflix มากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ ภาพยนตร์หลายเรื่องที่ฉายในโรงไปแล้วถูกนำกลับมาฉายอีกครั้งจนเกิดเป็นกระแสที่คนพูดถึง ฮาวทูทิ้ง ทิ้งยังไงยังไงไม่ให้เหลือเธอ ก็เป็นอีกเรื่องที่เรียกกระแสกลับมาได้ไม่น้อย และคำถามที่หมู่ผู้ชมมักจะถามกันคือคุณอยู่ฝั่งไหน? ‘เก็บ’ หรือ ‘ทิ้ง’… จนกระทั่งถึงการตั้งคำถามว่าเราจะจัดการกับความทรงจำของเราอย่างไร แต่บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะมาตอบคำถามเหล่านั้น แต่จะชวนผู้อ่านคุยถึงประเด็นที่ซ่อนอยู่จนการ ‘เก็บ’ หรือ ‘ทิ้ง’ อาจเป็นเรื่องเล็กๆ ไปเลยก็ได้ รวมถึงการตั้งคำถามต่อแนวคิดความเชื่อต่างๆ ที่เป็นกระแสหลักของสังคมนี้
จากความสัมพันธ์ระหว่างภายนอกและภายใน สู่เผด็จการของอธิปไตยแห่งความทรงจำ
เรื่องราวเปิดฉากด้วยโจทย์ใหญ่คือการที่ ‘จีน’ ตัวละครเอกของเรื่องต้องการรีโนเวทบ้านจากร้านซ่อมเครื่องดนตรีให้เป็นสตูดิโอออฟฟิศสไตล์มินิมัลลิสต์ แต่พอเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ ผู้ชมก็พอจะรู้ว่าเหตุผลหลักของจีน คือต้องการลบความทรงจำกับผู้คนในอดีตที่เธอเชื่อว่าไม่มีผลต่อชีวิตของเธออีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน คนรักเก่า และพ่อของเธอ ความเป็นมินิมัลลิสต์จึงถูกใช้เป็นข้ออ้างและความชอบธรรมในการชะล้างประวัติศาสตร์ของเธอ
ความคิดแบบมินิมัลลิสต์เชื่อว่าสภาวะกายภาพภายนอกกับความรู้สึกข้างในหัวใจคือกระจกที่สะท้อนกันและกัน การจัดการกับพื้นที่ภายนอกจึงมีผลโดยตรงต่อสภาวะจิตใจ หนังเปิดเรื่องด้วยฉากแรกที่จีนนั่งอยู่ในบ้านที่ถูกปรับเปลี่ยนไปสมดั่งใจเธอเรียบร้อยแล้ว สีขาวสะท้อนความสะอาด สว่าง สงบ บวกกับเวลาช่วงปีใหม่ที่เป็นสัญญะของการเริ่มต้นสิ่งดีดี แต่มันเป็นแบบนั้นจริงหรือ?
ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นความขัดแย้งระหว่างแม่กับจีน จีนอ้างว่าอยากช่วยให้แม่ก้าวข้ามผ่านอดีตอันขื่นขมที่พ่อทิ้งพวกเขาไปแบบไม่มีเยื่อใย เปียโนอันบรรจุความทรงจำพิเศษต่อของพ่อ จึงกลายเป็นปมความขัดแย้งใหญ่ในสงครามครั้งนี้ แม่กับจีนรบกันเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการลืม แต่ด้วยวิธีการที่ต่างกัน แม่เลือกที่จะเก็บและปล่อยให้ความเคยชินค่อยๆ กลืนความเจ็บปวดจนเลือนลางหายไป ในขณะที่จีนใช้วิธีการกำจัด
“ฉันเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้” คือคำขู่ของแม่ แต่ “นี่มันเป็นยุคของพวกเราแล้วนะเว้ย” คือคำประกาศศึกของจีน ซึ่งในท้ายที่สุดเปียโนก็หายไปและบ้านก็กลายเป็นพื้นที่สีขาวสมใจของจีน
แต่สิ่งที่ย้อนแย้งคือแบบของบ้านใหม่สีขาวนั้น แท้ที่จริงแล้วมี reference จากนิตยสาร ซึ่งเป็นของเอ็ม (คนรักเก่า) สตูดิโอมินิมัลสีขาวนั้นจึงไม่ได้สะท้อนจิตใจอันว่างเปล่าของจีน แต่กลับเป็นการทำให้ความทรงจำกลายเป็นเรื่องจริงต่างหาก การรบจึงไม่ใช่การรบเพื่อลืมอีกต่อไป แต่เป็นการช่วงชิงอำนาจที่จะกำหนดเลือกว่าจะเก็บความทรงจำใดไว้ในปริมณฑลแห่งนี้
ยิ่งไปกว่านั้น เรายังไม่อาจบอกได้ว่าจีนจัดการกับอดีตต่างจากแม่ของเธอ เพราะจริงๆ แล้วมันคือวิธีการเดียวกัน กล่าวคือแม่คิดจะเก็บเปียโนและร้องเพลงกุหลาบแดงซ้ำไปซ้ำมาฉันใด จีนก็สร้างบ้านให้เหมือนกับภาพในหนังสือของคนรักเก่าฉันนั้น…
“นี่มันเป็นยุคของพวกเราแล้วนะเว้ย” จึงไม่ได้เป็นการสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ แต่เป็นการปลุกระดมของเผด็จการในคราบคนรุ่นใหม่ เพื่อยึดอำนาจจากผู้นำคนเก่าเท่านั้น สีขาวไม่ใช่นัยยะของความสงบ แต่เป็นการกลบเกลื่อนอารยธรรมของความทรงจำเดิม ไม่ใช่การลบเลือน แต่หากเป็นการจดจำที่ชัดเจนกว่าเดิม
ความคิดที่ว่าการจัดการกับสถานที่มีผลต่อสภาพจิตใจจึงเป็นเพียงเรื่องประโลมโลก และเรื่องจริงคือพื้นที่แห่งความทรงจำนั้นถูกกำหนดโดยใครต่างหาก
เผชิญหน้าเพื่อหลบหนี และคำถามถึงคนดี
จากความสัมพันธ์ของสถานที่ภายนอกกับสภาวะในหัวใจ หนังค่อยๆ ขยับมาพูดถึงสิ่งของที่เชื่อมโยงจีนไปสู่สัมพันธภาพกับคนในอดีต
ทีแรกจีนเลือกที่จะหลบหนีโดยการทิ้งของเหล่านั้น เธอมีตัวช่วยเป็นถุงขยะสีดำที่เธอเปรียบว่ามันคือ ‘หลุมดำ’ แต่การทะเลาะกับพิงค์เพื่อนสนิทของเธอกลับทำให้เธอเรียนรู้ (ซึ่งจริงๆ ควรจะเรียกว่า เผลอเข้าใจไปเอง) ว่าการลืมอดีตไม่ใช่การหลบหนี แต่เราต้องกล้าเผชิญหน้า
จีนค่อยๆ ทยอยคืนของต่างๆ ให้กับเพื่อน ความพึงพอใจของเพื่อนและการกล่าวชื่นชมว่าเป็นคนดีแบบดาษดื่นกลับสร้างความสบายใจให้จีน คำว่า ‘คนดี’ ถูกเน้น ไม่ว่าจะเป็นป้ายที่โบสถ์ที่เขียนอย่างตั้งใจให้เห็นว่า “คนดีย่อมได้รับการให้อภัย” หรือการกล่าวกับเจ (พี่ชาย) ว่า “วันนี้ไปทำความดีมา”
เรื่องดูเหมือนว่าจะราบรื่นไปด้วยดี แต่เอ็ม (คนรักเก่า) สาธิตให้เห็นเหรียญอีกด้านของ “ความดี” และ “การขอโทษ” ว่าแท้ที่จริงมันเป็นการสร้างความชอบธรรมและเอาตัวรอดของคนเห็นแก่ตัว เอ็มสรุปว่าการไม่ขอโทษแต่ยอมรับความเจ็บปวดไปด้วยกันต่างหากที่เป็นการแสดงความมีหัวจิตหัวใจต่อความสัมพันธ์มากกว่า
คำถามจึงย้อนกลับไปถึงผู้ชมผ่านตัวละครจีน ว่าแล้วจะทำอย่างไรหากเหรียญอีกด้านของความดีคือความชั่วร้าย และการขอโทษอาจไม่ได้นำไปสู่การให้อภัย แต่กลับกลายเป็นความเห็นแก่ตัวของคนที่แสร้งว่าอยากทำดี ความเห็นแก่ตัวรูปแบบนี้เองที่ถูกขยี้ตลอดทั้งเรื่อง และยิ่งไปกว่านั้นความเห็นแก่ตัวนี้ยังย้อนกลับมาตั้งคำถามต่อคุณค่าของศาสนาอีกด้วย
นัยยะของศาสนาและคำถามถึงปรัชญาว่าด้วยความเห็นแก่ตัว
ภาพถ่ายมีความสำคัญกับจีนมากเพราะเป็นสิ่งดึงสู่ความทรงจำในอดีต ที่น่าสนใจคือในวัยเด็ก จีนถ่ายภาพที่มีคนเต็มอยู่เต็มเฟรม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ คนรัก ครอบครัว แต่ต่อมาภาพถ่ายของเธอเหลือแค่สิ่งของ เก้าอี้ ต้นไม้ จนแทบจะว่างเปล่าสไตล์มินิมัลลิสต์ สิ่งนี้สะท้อนในเห็นถึงสายตาของจีน จากการมองเห็นผู้คน จนถึงการพยายามเลือกที่จะไม่มองใคร มันสะท้อนถึงการตัดขาด ละทิ้ง ซึ่งมีนัยยะในเชิงศาสนาพุทธ รวมถึงการวางเฟรมของกล้องของผู้กำกับ การเอากล้องกดหัวลงตลอดและดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ชวนให้นึกถึงการเดินจงกรม เราต้องก้มหน้าและเดินไปเรื่อยๆ เท้าที่สัมผัสกับพื้นเรียกสติของปัจจุบันขณะให้อยู่กับตัวเราเอง
เสื้อสีขาวกระโปรง(หรือกางเกง)สีดำของจีนตลอดทั้งเรื่องก็น่าสนใจไม่แพ้กัน มันเป็นสไตล์มูจิที่ชวนให้นึกถึงความมินิมัลลิสต์ แต่ในเชิงของศาสนา สีขาวดำก็ชวนให้นึกถึงหยินหยาง ความสมดุลอันเป็นหัวใจพื้นฐานของชีวิตและสรรพสิ่ง หรือจากที่จีนเคยใส่เสื้อผ้ามีสีสัน เธอเปลี่ยนมาใส่เสื้อขาวล้วนอันชวนให้นึกถึงชุดของนักบวช
ทรงผมของจีนก็เช่นกัน ในวัยที่จีนยังมีความร่าเริง ทรงผมของเธอเป็นผมยาวตรงของเด็กสาว แต่การตัดผมในวัยที่ตัวเองต้องการจะตัดขาดจากคนอื่น ชวนให้คิดถึงการปลงผมของนักบวชอีกเช่นกันอันเป็นสัญญะของการละทิ้ง
หากจีนคือสัญญะของนักบวชที่สละตัวเองจากโลกภายนอกเพื่อแสวงหาความเงียบสงบและสันติภาพภายในตน ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือการตั้งคำถามต่อความเชื่อและคำสอนของศาสนาอย่างถึงที่สุด เพราะสันติปลอมๆ ที่เกิดขึ้นของจีนล้วนแล้วแต่เกิดจากความฉิบหายของคนอื่น
คำถามที่ลึกไปกว่าการ ‘เก็บ’ หรือ ‘ทิ้ง’ คือ ระหว่าง “รับผิดชอบต่อความรู้สึก และจมลงไปด้วยกัน” หรือ “เห็นแก่ตัวและเพิกเฉยต่อกันอย่างเลือดเย็น” คุณเลือกแบบไหน?
หรือถามต่อไปอีก ว่ามีทางไหนมั้ยที่ทลายทวิภาวะนี้ไปได้