เมืองอุตสาหกรรม: ไม่มีเส้นโลหิตที่ชื่อประชาชน

จากน้ำเสียงและเนื้อสารของ ผศ.ดร.ปนายุ ไชยรัตนานนท์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พอจะจับทิศทางได้ว่า กรอบการศึกษาในโครงการวิจัย ‘ปริทัศน์สถานภาพความรู้ เรื่องความเหลื่อมล้าในเมืองอุตสาหกรรม’ ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการค้นหาต้นสายปลายเหตุและอาการของโรค เพื่อการวินิจฉัยปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่เป้าหมายของนักวิจัยต้องการไปให้ไกลกว่านั้น

มีเหตุผลหลักๆ อย่างน้อย 2 ประการที่ควรค่าแก่การรับฟังและทำความเข้าใจในทัศนะของนักวิจัยจากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

หนึ่ง – เราจะได้เห็นเส้นทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมในบ้านเราที่ผุดขึ้นมาอย่างน่าตะลึง แน่นอนว่า เมื่อโครงสร้างพื้นฐานแน่น ย่อมนำไปสู่การพัฒนาและก้าวหน้าในอนาคต

“ถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญกับชาวบ้านจริง รัฐมองเห็นศักยภาพจริง แล้วทำร่วมกับชาวบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเอาวิธีของนครพนมไปใช้กับที่หนองคาย หรือหนองคายไม่ต้องไปเหมือนชลบุรี ด้วยความหลากหลายที่แต่ละจังหวัดมีอยู่ ผมคิดว่านี่คือสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คนในท้องถิ่นสัมผัสถึงการพัฒนาได้จริง”

สอง – เราจะได้รู้ว่า ทำไมภาคอุตสาหกรรมที่ถือเป็นภาคส่วนอันมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วมาได้จนถึงเพียงนี้

“พอเกิดเมืองอุตสาหกรรมขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เราค้นพบคือ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้มีการรับรู้หรือได้รับการรับรองอะไรจากรัฐเลย เพราะระบบบริการสาธารณะต่างๆ เป็นสิ่งที่รัฐจัดส่งลงไปเพียงเพื่อตอบสนองให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ได้ ความเหลื่อมล้ำจึงเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ ทั้งนโยบายการสนับสนุน งบประมาณ หรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ล้วนเอื้อต่อการเกิดของโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า”

เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อย เราเกริ่นให้รู้สักหน่อยก็ได้ว่า มิติของความเหลื่อมล้ำในเมืองอุตสาหกรรมนั้นมีอยู่แทบด้าน ส่วนจะมีเรื่องใดบ้างนั้น โปรดติดตามอย่างช้าๆ ไปพร้อมๆ กัน


เราพอจะทราบแล้วว่า ความเหลื่อมล้ำไม่สามารถวัดจากรายได้หรือใช้เส้นความยากจนเป็นมาตรฐานชี้วัดได้เพียงอย่างเดียว อยากทราบว่าใน ‘เมืองอุตสาหกรรม’ ยังปรากฏความจนในรูปแบบใดอีกบ้าง

คนจนในเมืองอุตสาหกรรมมีลักษณะเฉพาะที่เห็นได้ชัดๆ เช่น การได้รับสิทธิไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานต่างชาติที่เข้ามา สวัสดิการที่ได้รับไม่เท่ากัน เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานกลุ่มต่างๆ หากถามว่ามีเส้นอะไรวัด จากการทบทวนเอกสารเราเห็นปรากฏการณ์ของความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิเกิดขึ้นกับกลุ่มคนเหล่านี้

ยกตัวอย่างประมงพื้นบ้านชายฝั่งที่อยู่ใกล้กับโรงงาน จากเดิมที่เคยจับปลาได้ แต่วันนี้จับไม่ได้แล้ว อาชีพหาย รายได้ไม่ดีเท่าเดิม เกิดปัญหาในการเลี้ยงชีพ จะเห็นได้ว่าความเหลื่อมล้ำในเมืองอุตสาหกรรมเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้คนเสียโอกาส เสียสิทธิ เสียอำนาจการต่อรอง ซึ่งไม่สามารถใช้เส้นความยากจนเป็นตัวชี้วัดได้

ถ้าย้อนกลับไปมองช่วงเวลาในการก่อเกิดของเมืองอุตสาหกรรม เราเห็นอะไรบ้าง

จริงๆ เมืองอุตสาหกรรมในประเทศไทยถือว่าเกิดขึ้นมานานมาก ถ้าตามประวัติที่กระทรวงอุตสาหกรรมบันทึกไว้ มีตั้งแต่สมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์ เพียงแต่ว่าในส่วนที่เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยุคใหม่ เริ่มมีความชัดตอนช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เริ่มมีหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ สมัยแรกๆ ใช้ชื่อกองอุตสาหกรรม อยู่ภายใต้กระทรวงเศรษฐการ ปี 2479 ต่อมาจึงมีการจัดตั้งเป็นกระทรวงการอุตสาหกรรม ในปี 2488 จนกระทั่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2495

กรอบการวิจัยของเราจึงย้อนไปดูแผนเศรษฐกิจของประเทศที่ฉบับแรกเรียกว่า แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (2504-2509) เพิ่งจะมาเพิ่มคำว่า ‘และสังคม’ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 (2510-2514) จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 อุตสาหกรรมถูกวางไว้ว่าต้องเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมสมัยใหม่เริ่มเข้ามาตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-2 ประเทศไทยเน้นอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เพราะขณะนั้นไทยเรายังพึ่งพาการนำเข้าสินค้าต่างๆ จากอเมริกาอยู่มาก จนกระทั่งมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 (2515-2519) เริ่มเห็นชัดแล้วว่าอุตสาหกรรมถูกใช้เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก มีการตั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม หมายความว่า รัฐเริ่มพยายามดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรม

หลังจัดตั้ง กนอ. ขึ้นมาในปี 2515 ก็เริ่มเกิดโรงงานต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทยคือ นิคมฯ บางชัน ก่อนจะขยายไปยังพื้นที่ขอบปริมณฑล เช่น นิคมฯ ลาดกระบัง พระประแดง บางปู สมุทรปราการ

ในช่วงเวลาต่อเนื่องกันนั้น เราได้ค้นพบปิโตรเลียม แหล่งก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทย ทำให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยในปี 2520 เกิดองค์กรที่ชื่อ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จากการควบรวมกิจการด้านพลังงานของรัฐ 2 หน่วยงาน ก่อนที่จะแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท. ในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า ยุคนั้นรัฐใช้นโยบายด้านอุตสาหกรรมเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ จากเดิมคือการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ต่อมาเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก มีการระดมทุนจากภาคเอกชน เชื้อเชิญชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุน และเมื่อค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จึงเกิดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ชลบุรี

เป็นยุคที่เรียกว่า โชติช่วงชัชวาล?

ใช่ครับ และในช่วงที่เกิดอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ชลบุรี รัฐก็มีความพยายามเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ระยองไปพร้อมๆ กัน เพียงแต่มาบตาพุดเพิ่งจะเฟื่องฟูจริงๆ ประมาณหลังปี 2530

ภาพทั้งหมดนี้คือ เส้นทางการก่อเกิดของอุตสาหกรรมในประเทศไทย และหลังจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 (2529-2529) เป็นต้นมา จะเห็นว่ามีนิคมอุตสาหกรรมกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเลยก็ว่าได้ อย่างภาคเหนือก็มีนิคมฯ ลำพูน ภาคใต้ก็มีที่สงขลา มากมายเต็มไปหมด จนทุกวันนี้เรามีนิคมฯ เกิดขึ้นราวๆ 50 แห่ง ช่วงแรกรัฐเป็นผู้เริ่มดำเนินการก่อน จากนั้นก็เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน กระทั่งเริ่มปล่อยให้เอกชนดำเนินการเอง หรือถ้าเอกชนมีที่ทางของตัวเองก็มาขออนุญาตจาก กนอ. ให้ดำเนินการตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมได้

ข้อสังเกตสำคัญที่เราเห็นในงานวิจัยคือ โดยมากแล้วถ้าเป็นเมกะโปรเจ็กท์หรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ระดับประเทศ มักเกิดจากนโยบายบนลงล่าง (top-down policy) อย่างอีสเทิร์นซีบอร์ด เซาเทิร์นซีบอร์ด มาบตาพุด ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐจิ้มลงไปในพื้นที่ ในงานวิจัยไม่พบว่าประชาชนในพื้นที่นั้นมีส่วนร่วมหรือคิดเห็นอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นนโยบายจากบนลงล่างทั้งหมด

เป็นเพราะสมัยนั้นเรายังไม่รู้จักคำว่า การมีส่วนร่วมหรือประชาพิจารณ์ หรือเปล่า

ไม่มีครับ ฉะนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของเมืองอุตสาหกรรมก็คือ เป็นนโยบายที่สั่งการลงมาจากข้างบนเพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม หลังจากนั้นทั้งแรงงานและภาคบริการต่างๆ ก็ย้ายตามเข้าไป เกิดการตั้งถิ่นฐาน เกิดการกระจุกตัวของชุมชนใหม่ กลายเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นโดยรอบ ขณะเดียวกันก็มีชุมชนเดิมตั้งอยู่ข้างๆ

พอเกิดเมืองอุตสาหกรรมขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เราค้นพบคือ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้มีการรับรู้ หรือได้รับการรับรองอะไรจากรัฐเลย เพราะระบบบริการสาธารณะต่างๆ เป็นสิ่งที่รัฐจัดส่งลงไปเพียงเพื่อตอบสนองให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ได้ ความเหลื่อมล้ำจึงเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ ทั้งนโยบายการสนับสนุน งบประมาณ หรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ล้วนเอื้อต่อการเกิดของโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า

ขยายความได้ไหมว่า ความเหลื่อมล้ำในเมืองอุตสาหกรรมปรากฏในมิติใดบ้าง

จากกรอบวิจัยที่ทำ เราพบว่ามีความเหลื่อมล้ำในเมืองอุตสาหกรรมอยู่ประมาณ 5 ด้านหลักๆ เรื่องแรกคือ ความเหลื่อมล้ำในเชิงเศรษฐกิจ นักลงทุนที่มาลงทุนภาคอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เมื่อลงไปยังพื้นที่ก็ต้องใช้ทรัพยากรในพื้นที่ สิ่งแรกที่โรงงานอุตสาหกรรมใช้คือทรัพยากรทั้งหมดที่อยู่โดยรอบ ปัญหาที่เห็นชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ น้ำ

อย่างที่ระยองซึ่งเป็นพื้นที่น้ำน้อย จากเดิมเกษตรกรพอจะมีน้ำสำหรับทำการเกษตรอยู่บ้าง แต่เมื่อโรงงานเข้ามาตั้ง โอกาสในการกระจายทรัพยากรน้ำก็จะเอื้อให้กับฝั่งโรงงานมากกว่า ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต นโยบายด้านอุตสาหกรรมจึงเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ และในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจก็ทำให้กลไกราคาที่ดินรอบๆ โรงงานอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อคนที่อาศัยอยู่รอบโรงงานเห็นการขยายตัวก็เริ่มอยากขายที่ดิน

การขายที่ดินของชาวบ้านยังพ่วงอยู่กับประเด็นอื่นด้วย เพราะเมื่อเกิดโรงงานอุตสาหกรรมแล้วก็ย่อมเกิดมลพิษตามมา เกิดความไม่สะดวกสบายที่จะอาศัยอยู่รอบๆ บริเวณนั้น อีกทั้งกลไกราคาที่ดินยังทำให้คนในชุมชนเดิมที่อยู่โดยรอบอยากขายที่ให้นายทุน ทำให้ที่ดินถูกเปลี่ยนมือ เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน

ประเด็นที่ 2 คือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เมืองอุตสาหกรรมได้เข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่ สิ่งแรกที่เห็นชัด วิถีชีวิตเกษตรเริ่มเปลี่ยน คนที่เคยเป็นเกษตรกรไม่สามารถทำเกษตรได้เหมือนในอดีต จำต้องเปลี่ยนไปทำงานโรงงาน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจากภาคเกษตรไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ลักษณะของชุมชนแบบดั้งเดิมก็เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นชุมชนบ้านเช่า เนื่องจากการย้ายเข้ามาของแรงงานต่างถิ่นจำนวนมาก

จากการวิจัยพบว่า เมื่อวิถีชุมชนเปลี่ยนไป ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาในเชิงอาชญากรรมตามมา ทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนเก่ากับคนใหม่ที่เข้าไปอาศัยอยู่ที่เดียวกัน มีการเกิดขึ้นของสถานบริการต่างๆ เพื่อรองรับแรงงานใหม่ กลายเป็นปัญหาเชิงสังคมที่พ่วงต่อไปยังปัญหายาเสพติด

ในระยะหลังเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาคือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เหลื่อมล้ำลงมาอีก กลุ่มคนที่เป็นแรงงานข้ามชาติซึ่งได้ค่าแรงต่ำกว่า ต้องไปอาศัยอยู่รวมกันในชุมชนที่เสื่อมโทรมกว่า อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่กว่า ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าในกลุ่มของแรงงานเองก็ยังมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม เป็นความทับซ้อนของปัญหาเชิงสังคมในพื้นที่

ความเหลื่อมล้ำในประเด็นต่อมามีอะไรอีกบ้าง

ประเด็นที่ 3 เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ เมื่อแผนพัฒนาฯ มุ่งเน้นที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง นโยบายสนับสนุนต่างๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อเอื้อกับโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีการตัดถนนเส้นใหม่เข้าสู่นิคมฯ การจัดหาแหล่งน้ำใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม แทนที่การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะเอื้อประโยชน์ให้แก่คนดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ด้วย

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเพราะรัฐไม่สามารถจัดบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึงแก่คนทุกกลุ่ม ที่เห็นชัดคือ ปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆ ที่ไม่ครอบคลุม เนื่องจากมีแรงงานต่างถิ่นจำนวนมากย้ายเข้าไปในพื้นที่ กลายเป็นประชากรแฝงที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ ท้องถิ่นจึงไม่สามารถรองรับได้

อบต. หรือเทศบาลที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรม หลายแห่งไม่สามารถจัดการปัญหาที่เกิดจากเมืองอุตสาหกรรมได้ ทั้งประชากรแออัด รถติด และปัญหาขยะที่ตามมา ฉะนั้น ท้องถิ่นจึงมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานได้เพียงพอ รวมถึงการให้บริการต่างๆ ของรัฐ เช่น การสาธารณสุข การศึกษา ซึ่งไม่สอดคล้องกับปริมาณประชากร ปัญหาทุกอย่างพ่วงกันไปหมด เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในการให้บริการสาธารณะของเมืองอุตสาหกรรม

ประเด็นที่ 4 ความเหลื่อมล้ำทางสิ่งแวดล้อม ถ้ามองเฉพาะเรื่องทรัพยากรธรรมชาติก่อน ไม่ว่าเรื่องน้ำ ดิน อากาศ การใช้ประโยชน์ ชัดเจนเลยว่ามีความเหลื่อมล้ำ ทำไมโรงงานอุตสาหกรรมจึงเข้าไปตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าได้ แต่ทำไมประชาชนเข้าป่าไม่ได้ ทำไมทรัพยากรบางอย่างเอื้อประโยชน์ให้นายทุนใช้ได้ แต่ทำไมคนในพื้นที่ซึ่งเคยอยู่มาก่อนกลับถูกห้าม

มลพิษเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในเมืองอุตสาหกรรม มลพิษเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เราจะเห็นปัญหามลพิษทั้งทางน้ำ ทางอากาศ เพราะไม่มีระบบจัดการที่ดี แม้จะมีหน่วยงานรัฐที่กำกับควบคุมเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่อย่างที่เรารู้กัน พอเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจ แน่นอน โรงงานเขาก็เปิดเครื่องดำเนินการ เปิดเครื่องบำบัดน้ำเสียถูกต้องทุกอย่าง แต่พอไม่มีการตรวจก็เกิดการลักลอบ

ทุกวันนี้ลองดูข่าว กากของเสียไปที่ไหนครับ ไปฉะเชิงเทรา ฉะเชิงเทรานี่หนักที่สุดในการรองรับกากของเสีย ขยะเสียจากอุตสาหกรรม ทั้งๆ ไม่ได้เป็นเมืองอุตสาหกรรม แต่กลับเป็นที่รับขยะจากมาบตาพุดและที่อื่นๆ เกิดเป็นปัญหามลพิษนอกตัวเมืองอุตสาหกรรม ทุกวันนี้มลพิษรอบๆ ตัวเมืองอุตสาหกรรมเองก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เนื่องจากกฎหมายยังไม่มีระบบการจัดการ

พอจะมีมาตรการใดบ้างในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม

จากที่ได้ศึกษาทบทวนข้อมูล เราพบว่ามาตรการเรื่องภาษีสิ่งแวดล้อมก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ ใครทำของเสียขึ้นมาเท่าไรก็ควรจ่ายไปตามสัดส่วน อยู่ที่ว่านายทุนพร้อมจ่ายไหม ถ้าภาษีแพงไป เขาก็ลักลอบเหมือนเดิม ภาษีสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการหนึ่งในการพยายามแก้ไขปัญหามลพิษ แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสิ่งแวดล้อมยังเป็นปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก

ประเด็นสุดท้ายของความเหลื่อมล้ำในเมืองอุตสาหกรรมคืออะไร

เรื่องที่ 5 คือกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย เราพบว่ามีหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรม อย่างเช่นโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลำปาง นิคมฯ ลำพูนที่ทำให้เกิดโรคมินามาตะ หรือการปนเปื้อนสารตะกั่วจากเหมืองแร่ในลำห้วยคลิตี้ล่าง กาญจนบุรี ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ระบบกฎหมายไทยได้ให้ความเป็นธรรมจริงหรือไม่ โดยเฉพาะความยากลำบากของชาวบ้านในการเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมาย ยิ่งเป็นกลุ่มคนระดับล่าง คนยากจน กระบวนการยุติธรรมยิ่งไม่เอื้อให้คนเหล่านี้เข้าถึงได้สะดวก

งานวิจัยพบว่า มีอำนาจอะไรบางอย่างที่ทำให้กระบวนการพิจารณากฎหมายเร็วขึ้นหรือช้าลงได้ ระบบยุติธรรมซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าจะช่วยคนได้ แต่กลับเป็นตัวปัญหาเสียเอง ต้องใช้เวลามาก ขั้นตอนเยอะ จึงทำให้กลุ่มคนระดับล่างเข้าถึงความเป็นธรรมได้ยาก อย่างเหมืองแม่เมาะที่สร้างปัญหามาหลายสิบปี ทุกวันนี้ชาวบ้านยังฟ้องร้องกันอยู่

ที่ผ่านมาการตัดสินปัญหามลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมยังไม่มีระบบการจัดการที่รวดเร็วทันการณ์ และยังไม่มีกระบวนการการพิสูจน์ปัญหาหรือผลกระทบที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน เช่น หากมีคนบอกว่าได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ศาลก็ต้องพิจารณาว่าจริงไหม เกิดจากสารตัวนั้นจริงไหม และบางครั้งต้องใช้เวลายาวนานในการพิสูจน์ว่าเกิดผลกระทบอย่างไร กลายเป็นยืดเวลาเพื่อดูอาการของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในภาพรวมจึงดูเหมือนว่ามีกระบวนการยุติธรรมเข้ามาช่วย แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้ช่วยอะไรมาก

ทุกวันนี้เรามีกฎหมายบังคับว่าต้องทำ EIA แต่ทำไมยังไม่สามารถให้ความเป็นธรรมได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านพูดถึงกันมาก คือ EIA (Environmental Impact Assessment หรือ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ซึ่งแทนที่จะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่น่าจะช่วยคุ้มครองชาวบ้าน แต่กลับเป็นเครื่องมือที่ไปรับรองสิทธิให้อุตสาหกรรม กลายเป็นตรายางให้ความชอบธรรม กระบวนการนี้มีคำถามมาตลอด ถ้า EIA เป็นตราประทับให้กับอุตสาหกรรม ชุมชนก็จะไม่มีส่วนร่วมเลย

ยิ่งทุกวันนี้เกิด EEC (Eastern Economic Corridor หรือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนถึงนโยบายที่สั่งการจากบนลงล่าง สั่งการจากส่วนกลางลงไปยังพื้นที่ และมีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีกเมื่อไรก็ได้ ตอนนี้ชาวบ้านพูดทำนองว่า มีคำสั่งหรืออำนาจอะไรบางอย่างบอกให้อยู่นิ่งๆ อย่าไปยุ่งกับเขา คล้ายๆ ปรากฏการณ์เมืองอุตสาหกรรมเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ที่เป็นการกำหนดจากบนลงล่างโดยรัฐ และแทบจะตัดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่

ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการเกิดขึ้นของเมืองอุตสาหกรรมในทุกวันนี้คือ การใช้กฎหมายผังเมือง เราจะเห็นว่านายทุนมีบทบาทสำคัญ ตรงไหนที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม กระบวนการวางและจัดทำผังเมืองแทบมักไม่ค่อยราบรื่น ถ้านายทุนมีที่สักแปลงหนึ่ง ร้อยไร่ พันไร่ เขาไม่มาเข้ากระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนหรอก เขาไปใช้การต่อรองในช่องทางอื่นแทนจะง่ายกว่า

หมายความว่า ทั้ง EIA และกฎหมายผังเมือง แม้จะเป็นเครื่องมือที่ดี แต่ถูกใช้ผิดที่ผิดทาง?

ใช่ครับ หลายๆ พื้นที่ก็เจอปัญหาแบบนี้ ถ้าเป็นเมกะโปรเจ็กท์หรือโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยมากมักเกี่ยวพันกับโครงสร้างอำนาจรัฐ สมัยก่อนทุกคนก็ยังไม่ได้คิดว่าอุตสาหกรรมจะสร้างปัญหามาก เพราะเป็นยุคโชติช่วงชัชวาล เป็นจุดเปลี่ยนจากสังคมเกษตรสู่สังคมอุตสาหกรรม ทุกคนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นด้วยอุตสาหกรรม

แต่ทุกวันนี้ผ่านมา 30 กว่าปี เราเริ่มรู้แล้วว่าอุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ ถ้าย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2520-2530 ในภาพรวมที่ได้มีการศึกษาข้อมูลก็ไม่มีใครออกมาต่อต้านการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมมากนัก แต่ปัญหาอุตสาหกรรมเริ่มปรากฏชัดตั้งแต่หลังปี 2530 เป็นต้นมา ทั้งปัญหามลพิษ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ และความเหลื่อมล้ำ

อีกประเด็นหนึ่งที่กำลังเป็นปัญหาของเมืองอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบันคือ climate change พอเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งขึ้น และเมื่อเกิดภัยพิบัติในเมืองอุตสาหกรรมหรือในพื้นที่ใดก็ตามที่มีอุตสาหกรรมหลักของประเทศอยู่ พื้นที่ตรงนั้นก็มักได้รับการปกป้องก่อน ซึ่งเรื่องนี้เราพอเข้าใจได้ เพราะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รัฐต้องปกป้องให้นิคมอุตสาหกรรมปลอดภัย แต่กลับผลักภาระความรับผิดชอบไปที่ชุมชนรอบข้าง

มีตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ไหม

อย่างเช่นเหตุการณ์น้ำท่วม โดยมากแล้วเมื่อเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมจะต้องป้องกันพื้นที่ตนเองไว้ก่อน แต่สิ่งที่เราพบจากการทำวิจัยคือ สมมุติบ้านคุณอยู่ข้างนิคมฯ คุณไม่เคยรู้เลยว่ามีอะไรอยู่ข้างในบ้าง ในนิคมอุตสาหกรรมประกอบไปด้วยสารเคมีอะไรบ้างก็ไม่รู้ แล้ววันหนึ่งเมื่อเกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม โคลนถล่ม หรืออะไรก็ตาม ถ้าถังเก็บกักสารเคมีไหลรั่วลงมาตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือระเหยออกมา เราแทบไม่รู้เลยว่าคืออะไร

ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการสื่อสารระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมกับพื้นที่ข้างเคียง ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่ามีอะไรอยู่ข้างๆ ชุมชนเขา ถ้าเกิดเหตุอันตรายแล้วควรย้ายหรือหนีอย่างไร เป็นปัญหาเรื่องการรับรู้หรือการสื่อสารระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคประชาสังคมที่อยู่โดยรอบ บางทีท้องถิ่นหรือเทศบาลก็ไม่รู้ คนที่รู้คือ กนอ. เพราะเป็นผู้ดูแลพื้นที่

สรุปบทเรียนที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง

บนเส้นทางการพัฒนา เราจะพบว่ารัฐมักใช้โมเดลคล้ายๆ กันลงไปในพื้นที่ ซึ่งความจริงแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด มีศักยภาพโดดเด่นแตกต่างกันไป แต่นโยบายการพัฒนาถูกโยนลงมาจากส่วนกลาง โดยใช้กระบวนการหรือระเบียบวิธีคิดแบบเดียวกันกับทุกพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ถูกตัดออกไปจากการมีส่วนร่วม

ถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญกับชาวบ้านจริง รัฐมองเห็นศักยภาพจริง แล้วทำร่วมกับชาวบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเอาวิธีของนครพนมไปใช้กับที่หนองคาย หรือหนองคายไม่ต้องไปเหมือนชลบุรี ด้วยความหลากหลายที่แต่ละจังหวัดมีอยู่ ผมคิดว่านี่คือสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คนในท้องถิ่นสัมผัสถึงการพัฒนาได้จริง ไม่ใช่ว่ารัฐคิดจะทำตรงนี้ แล้วก็ฟันเปรี้ยงลงไป โดยขาดการประสานงานหรือการมีส่วนร่วมที่สัมพันธ์กับจริตและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้น

ผมมองว่าถ้าศักยภาพของท้องถิ่นถูกขยายขึ้นมาเป็นจุดเด่นได้จริง เราอาจไม่จำเป็นต้องเดินตามต่างประเทศที่ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ แต่ถ้าเราเอาความเข้มแข็งของท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย มันก็ทำให้เกิดรายได้ และเกิดการพัฒนาท้องถิ่นได้เหมือนกัน

 

สนับสนุนโดย

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

Author

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า