คำโปรยที่ปรากฏอยู่ในหน้าเว็บไซต์ร้านหนังสือออนไลน์แห่งหนึ่งระบุเนื้อหาสั้นๆ ของหนังสือ ครอบครัวจินตกรรม ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ไว้ว่า
“โครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในครอบครัวได้เปิดโอกาสให้รัฐใช้เด็กเป็นตัวประกันเพื่อจัดการกับพ่อแม่ การควบคุม subject ของรัฐด้วยการทำให้ครอบครัว กลายเป็นส่วนหนึ่งของการปกครอง เป็นวิถีปฏิบัติของรัฐสมัยใหม่มาหลายศตวรรษ”
หากไม่มองนัยสำคัญของชื่อ ‘ธเนศ’ และ ‘จินตกรรม’ ซึ่งให้กระหวัดนึกถึง ชุมชนจินตกรรม (Imagined Communities) งานชิ้นสำคัญของ เบเนดิค เบน แอนเดอร์สัน ด้วยประโยคจากคำโปรยนั้นก็ฉุดดึงให้เกิดความน่าสนใจทั้งต่อผู้ที่นิยมชมชอบในเรื่องราวประวัติศาสตร์ และผู้ที่ปรารถนาใคร่หาคำตอบเบื้องหลังของคำว่าอำนาจรัฐนั้นมีบทบาทและการกระทำผ่านสิ่งใดบ้าง สำนักพิมพ์ Illuminations Editions จึงจัดงานเสวนา ‘ครอบครัวจินตกรรม: บทวิพากษ์ว่าด้วยชุมชน อำนาจการปกครองและรัฐ’ ณ ห้อง L707 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเชิญ ยุกติ มุกดาวิจิตร โครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ธนัย เจริญกุล นักศึกษาสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมพูดคุยโดยมีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจ รับรู้ผ่านบทวิพากษ์ของอำนาจรัฐสมัยใหม่
ธนัยกล่าวเบื้องต้นไว้ว่า ตนศึกษาจากเอกสารชั้นต้น และโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์ จนพบว่ามีเอกสารเกี่ยวกับนามสกุลจำนวนมาก ซึ่งในช่วงรัชกาลที่ 6-7 จนกระทั่งถึงช่วงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่เพราะมีความเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งนักประวัติศาสตร์โดยตรงจะมองข้าม และไม่ทำการสืบค้นมากนัก
“บทความของอาจารย์ธเนศผมอ่านมาตั้งแต่สมัยออกใหม่ๆ ซึ่งยาวมาก เพราะอาจารย์พยายามอธิบายทุกอย่างในเปเปอร์ชิ้นเดียว แกย้อนเรื่องนามสกุลเพื่อตัดสายสัมพันธ์แบบกรมกอง ซึ่งมันเป็นความสำคัญเชิงอุปถัมภ์ ตัดให้เหลือความสัมพันธ์เชิงสายเลือดให้แคบแต่ลึก ช่วงนั้นผมเรียนศาสตร์แบบ Postcolonial แบบ Feminist ได้ไอเดียเรื่องนามสกุลมา ซึ่งนามสกุลมันเป็นการจัดการของรัฐสมัยใหม่ แต่ก่อนเวลาเราเรียกชื่อคนจะไม่เป็นนามสกุล แต่มันบอกแค่ว่าใครเป็นลูกใคร บางนามสกุลพัฒนามาเป็นนามสกุลถาวรเรียกว่า surname ได้ มันเกิดพร้อมๆ กับการใส่ใจเรื่องอัตลักษณ์บุคคล เรื่องส่วนตัว เรื่องการปกครอง
“คิดดูว่าอัตลักษณ์ของคนที่มันหลากหลายเราจะเรียกอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นผู้ปกครองจากต่างแดนคนละภาษา เวลาเราพูดถึงคนต่างทวีปเข้ามาปกครองดินแดน จะจับคนร้าย คนร้ายหนีไปไหน คุณเดินเองไม่ได้นะ ต้องใช้ไกด์หรือล่ามท้องถิ่นเป็นคนนำ ผังเมืองคือสิ่งสำคัญ พอมันจัดระบบระเบียบ มันทำให้คนต่างแดนเข้าใจดินแดนที่แตกต่างจากตัวเองทั้งทางกายภาพและทางวัฒนธรรมให้มากที่สุด อำนาจรัฐมันถูกสกัดกั้นด้วยอำนาจเฉพาะพื้นที่ อำนาจเฉพาะวัฒนธรรมบางอย่าง ชื่อบุคคลก็เช่นกัน”
อำนาจรัฐกระทำผ่าน ‘ชื่อ’
ที่น่าสนุกในมุมของธนัย คือในสมัยหนึ่ง ชื่อของคนจะค่อนข้างยาว ยังไม่นับรวมเรื่องบัตรประจำตัวประชาชน และในสมัยนั้นยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ ใช้เขียนมือหรือไม่ก็พิมพ์ ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ วิธีเขียนชื่อแบบนี้ยาวมาจนถึงปี 2460 จึงเริ่มมี พ.ร.บ.ขนานนามสกุล เข้ามาใช้ แต่ระบบนี้ยังมีปัญหาในเรื่องศักดินา เรื่องของบรรดาศักดิ์ อีกทั้งชื่อบางคนก็คล้ายๆ กัน จึงก่อให้เกิดความปั่นป่วนสับสน วิธีแก้คือการตั้งนามสกุล
ประเทศเจ้าอาณานิคมประเทศหนึ่งซึ่งสนใจประเด็นนี้คือสเปน ตัวอย่างเช่น นามสกุลของคนปารากวัย ซึ่งเป็นชาติอาณานิคม ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นภาษาสเปนทีละน้อย ส่วนกรณีฟิลิปปินส์ผู้ว่าการและข้าหลวงที่ปกครองฟิลิปปินส์ประกาศ Alphabet Catalog of Surname ให้ทำมาเป็นบัญชีประมาณ 60,000 ชื่อ เป็นภาษาสเปน ชื่อดอกไม้ ชื่อภูมิศาสตร์
“คือคิดชื่อนามสกุลไว้ล่วงหน้า คิดไว้ก่อนเลย ประกาศเมื่อปี 2392 เนื่องจากฟิลิปปินส์เป็นคาทอลิก คนก็เริ่มใช้ชื่อคริสเตียน พอใช้แล้วมันจำกัด คลังชื่อมีอยู่ไม่กี่คนก็จะเริ่มซ้ำ แล้วตัวเองเป็นคนต่างถิ่นเข้ามาจัดการ ข้าหลวงต่างประเทศเข้ามาจะจัดการอย่างไรให้เก็บภาษี ตามตัวได้ มันไม่มีระบบที่เข้าไปหาโดยตรง เขาจึงระบุไว้ในประกาศนามสกุลว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ในงานทะเบียนราษฎร์ เป็นงานเร่งด่วน จำเป็นอย่างยิ่งในการใช้สถิติเพื่อจัดการประเทศเพื่อจัดเก็บภาษี เกณฑ์ทหาร สร้างเอกสารเบิกจ่ายเงิน
“นามสกุลจะช่วยให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงเกี่ยวกับการโยกย้ายของประชาชน แล้วแจกไปยังหัวเมืองต่างๆ ลักษณะพิเศษก็คือจะเรียงตามลำดับตัวอักษร เมืองที่เป็นเมืองหลวงก็จะขึ้นต้นด้วยตัว A เมืองรองก็จะถัดไป นามสกุลจึงระบุถิ่นฐานไปในตัว หากมีการข้ามเขตก็จะสามารถรู้ได้ทันทีว่ามาจากเมืองไหน เพราะนามสกุลมันบอก และคอยกำกับคน”
การจัดการคนท้องถิ่นให้มีความเป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมของผู้ปกครองนั้นจำเป็นมาก มีความท้าทาย สร้างความเป็นเอกภาพ เพราฉะนั้นการให้ชื่อจึงกลายเป็นภาษาที่หมายถึงการแปลองค์ความรู้บางอย่างที่ลึกลับให้เข้าใจง่าย ออกเสียงง่าย รวมถึงง่ายต่อการเรียกขาน มันจึงเป็นการจัดระเบียบให้เป็นแบบแผนเป็นเนื้อเดียวกัน
“ในไทย เรามักจะคิดว่านามสกุลเริ่มต้นจาก พ.ร.บ.ขนานนามสกุล ปี 2456 มาตรา 11 ครอบครัวใดมีชื่อสกุลใช้อยู่แล้วให้ใช้นามสกุลนั้นจดลงทะเบียน และในพระราชบทประมวลนามสกุลรัชกาลที่ 6 ที่พูดถึงเปลี่ยนนามสกุลเป็นแซ่ นามสกุลนี้ใช้บ้านของบุคคลชั้นสูง สำหรับคอนเซ็ปต์นี้สร้างขึ้นเพื่อแก้ข้อครหาว่ารัชกาลที่ 6 เดินตามแซ่ของคนจีน แต่เป็นการอธิบายว่านามสกุลคือคนที่เจริญแล้ว มีอารยะ ไม่ได้อยู่ในภาวะสู้รบนั่นเอง”
จากมุมของนักประวัติศาสตร์ที่ผ่านการเรียนรัฐศาสตร์ ตามไทกล่าวว่า ส่วนที่อ่านยากที่สุดของ ครอบครัวจินตกรรม เล่มนี้คือบทวิจารณ์ เพราะเป็นหนังสือที่มีการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ อย่างไรก็ตาม บทความที่ตามไทได้อ่านทั้งสามชิ้นนั้นน่าสนใจในแง่ของประเด็น คือบทความของธเนศที่เป็นแกนหลักของตัวหนังสือ บทความของ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ซึ่งเป็นลักษณะของงานประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่น่าสนใจ และบทความของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ซึ่งอาจไม่ได้เข้ามาถกเถียงประเด็นนี้โดยตรง แต่ก็เป็นส่วนช่วยให้เข้าใจวิธีคิดของธเนศชัดเจนขึ้น
Imagine Community
ตามไทกล่าวต่อว่า “ถามว่าบทความทั้งหมดนี้พูดถึงเรื่องอะไร คำว่า ‘จินตกรรม’ นั้นเชื่อมโยงถึง Imagined Communities ซึ่งเป็นโมเดลที่น่าสนใจในการพูดถึงชาตินิยม ส่วนที่น่าสนใจจริงๆ คือส่วนที่เป็นแกนกลาง จริงๆ คือครอบครัว ถามว่าบทความทั้งหมดพูดถึงเรื่องอะไร ประเด็นที่สำคัญคืออาจารย์ธเนศพยายามชี้ให้เห็นถึงความปรารถนาของรัฐชาติที่จะเข้าไปควบคุมคนผ่านสถาบันครอบครัว โดยที่การควบคุมนี้กระทำผ่านอุปลักษณ์ของครอบครัว คือมองผ่านความสัมพันธ์ของครอบครัวกับรัฐในฐานะที่เป็นครอบครัวเหมือนกัน
“อีกวิธีหนึ่งคือกลวิธีการปกครองที่รัฐอาศัยหน่วยของครอบครัวเป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจเข้าไปกำกับชีวิตของประชาชนส่วนนี้รวมไปถึงนามสกุลด้วย ซึ่งงานของอาจารย์ธเนศจะคล้ายงานของ มิเชล ฟูโกต์ ที่อำนาจนั้นแพร่แทรกซึมไปทุกทิศทุกทาง ดังนั้นสิ่งที่อาจารย์ทำคือการศึกษาวงศาวิทยาการใช้อำนาจของรัฐผ่านครอบครัว”
ขณะที่งานของภาคิน ตามไทมองว่าเป็นงานประวัติศาสตร์ที่งอกเงยขึ้นจากวิทยานิพนธ์ของภาควิชาประวัติศาสตร์ ตัวผู้เขียนจึงถูกบังคับให้ใช้วิธีทางประวัติศาสตร์ไปโดยปริยาย คือดูวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเด็กและเยาวชนถูกนำมาใช้ classified อายุคนว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งสิ่งที่ภาคินพยายามชี้ให้เห็นว่าการแยกเด็กกับผู้ใหญ่แต่ละยุคนั้นไม่เหมือนกัน แล้วมักเกิดขึ้นโดยความรู้ที่มันเข้ามากำกับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐต้องการที่จะเปลี่ยนมาเป็นรัฐสมัยใหม่ หมวดหมู่ที่จะใช้จัดระเบียบคนเปลี่ยนไป เพราะตรรกะของรัฐเปลี่ยน เพราะรัฐโบราณต้องการรู้เพียงว่าใครสังกัดใคร
“ถามว่ามันจำเป็นต้องมีนามสกุลไหม ไม่จำเป็น เพราะมันคุมกันเป็นหน่วยย่อย แต่พอถึงเวลาที่รัฐกำลังจะเปลี่ยนเป็นรัฐสมัยใหม่ ข้อมูลเหล่านี้ไม่พอ รัฐจึงต้องการรูปแบบความรู้แบบใหม่เข้ามา categorize ในมุมของตามไทมองว่านี่คือสิ่งที่ภาคินพูดถึงการจัดช่วงวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญหากคุณต้องการที่จะเข้าใจตรรกะของรัฐ
“สุดท้าย งานของอาจารย์เก่งกิจ ซึ่งอาจจะไมได้พูดถึงงานของอาจารย์ธเนศโดยตรง แต่คอนเซ็ปต์ที่พูดเรื่อง รัฐ กูเกลียดมึง มันทำให้เราเข้าใจเวลาเราอ่านงานของอาจารย์ธเนศ มันทำให้เราดูว่ารัฐเป็นตัวร้ายที่พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะเข้ามาแทรกแซง กำกับ เป็นอำนาจที่มองไม่เห็นจนเรารู้สึกว่ารัฐมันคืออะไร ซึ่งถ้าคุณจะเข้าวิธีการมองรัฐในความหมายของอาจารย์ธเนศ วิธีหนึ่งซึ่งอาจารย์เก่งกิจอธิบายว่า มันหมายถึงสถาบันอะไรก็ตามที่ถอยห่างจากสังคม ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะเข้าไปกำกับควบคุมสังคม พูดง่ายๆ คือรัฐเป็นตรรกะชุดนึง รัฐไม่ใช่ตัวสถาบัน รัฐไม่ใช่แม้แต่ชนชั้นปกครอง แต่รัฐเป็นตรรกะแบบหนึ่งที่แทรกซึมเข้าไปแล้วกำกับทุกอย่าง ผมก็คิดว่านี่คือลักษณะหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจงานของอาจารย์ธเนศได้ดี ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมอาจารย์ธเนศถึงมองรัฐในลักษณะนี้”
‘รัฐ’ ในมุมนักมานุษยวิทยา
เมื่อรัฐเป็นเพียงตรรกะแบบหนึ่งแล้ว ในมุมของผู้ศึกษาด้านมานุษยวิทยา ยุกติ มุกดาวิจิตร มองว่าโดยทั่วไปแล้วนักมานุษยวิทยาจะสนใจเรื่องรัฐน้อยที่สุด กระนั้นในด้านการศึกษาแล้ว นักมานุษยวิทยาก็มีสิ่งที่เรียกว่ามานุษยวิทยาว่าด้วยการศึกษาเรื่องรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่
“ในสังคมที่ไม่มีรัฐจะใช้ระบบเครือญาติ ไม่มีคำว่าครอบครัวด้วยซ้ำ เพราะว่าครอบครัวมันเล็กไป งานของ โคลด เลวี สเตราส์ (Claude Levi-Strauss) นักมานุษยวิทยาที่เอางานนี้มาคิดในเชิงโครงสร้าง เพื่อเอามาดูว่าคนถูก classified อย่างไร ซึ่งในไทยประหลาดมากที่ไม่มีการ classified คนก่อนการมีนามสกุลอย่างชัดเจน ไม่ทราบว่าอยู่กันได้อย่างไร
“อย่างไรก็ตาม นามสกุลนั้นมีส่วนในการ classified ทั้งชนชั้นและในเชิงพิธีกรรมทางศาสนาด้วย เช่น คุณจะไหว้ผีบรรพบุรุษของคุณ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณสกุลอะไร รวมทั้งใช้ในเชิงชาติพันธุ์ด้วย ถ้าคุณสกุลนี้ แปลว่าคุณอาจจะมีเชื้อของชาติพันธุ์ ในบางถิ่น คนที่อยู่พื้นราบแล้วขึ้นไปอยู่บนที่สูงแล้วเปลี่ยนเป็นชาติพันธุ์ไต ก็จะใช้นามสกุลอีกแบบ ดังนั้นสกุลจึงเป็นสิ่งที่ใช้ classified คนในบางสังคม ซึ่งมันมีอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่อาจจะมีวิธีคิดคนละแบบ
“รัฐปัจจุบันเขาจะไม่แคร์นามสกุลด้วยซ้ำ แต่ว่าคุณมีตัวเลขตั้ง 13 หลัก มันดีกว่านามสกุลตั้งเยอะ นับง่าย ค้นง่าย”
การศึกษาเรื่องครอบครัวในแบบที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง โดยเฉพาะบทความของธเนศ ยุกติมองว่ามีมาก่อนแล้ว โดยมีหนังสือเล่มหนึ่งพูดถึงเรื่องของการที่รัฐสมัยใหม่เปลี่ยนระบบเครือญาติ
“ซึ่งจะบอกว่าเป็นรัฐสมัยใหม่ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว เพียงแต่มันเป็นการปรับรูปแบบซึ่งนักมานุษยวิทยามองว่าเป็นการทำให้อำนาจของผู้หญิงลดลงผ่านระบบนามสกุลซึ่งทำให้เกิดระบบชายเป็นใหญ่มากขึ้นเท่านั้น หากให้มองในมุมของการวิพากษ์ซ้อนวิพากษ์ หนังสือเล่มนี้อาจยังไปไม่สุดในมุมของนักมานุษยวิทยา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความน่าสนใจของ ครอบครัวจินตกรรม นั้นวางอยู่บนฐานของอำนาจรัฐที่เข้ามาจัดการ วางระบบ ระเบียบ ให้กับชีวิตของประชาชนผ่านสิ่งง่ายๆ ที่ปรากฏทิ่มตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เราอาจไม่เคยแม้แต่จะคิดตั้งคำถาม ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้ชี้ชวนกระตุกชายเสื้อให้หวนกลับมามองเพื่อพิจารณาบริบทปัจจุบัน ทั้งในส่วนของชุมชน อำนาจรัฐ และการปกครอง”