เผาตัวเอง

vichak_1

เรื่อง: วิจักขณ์ พานิช

 

 

This time the bullet cold rocked ya

A yellow ribbon instead of a swastika

Nothin’ proper about ya propaganda

Fools follow the rules when the set commands ya

 

They said, it was blue when the blood was red

That is how you got a bullet, blasted through your head

Blasted through your head, blasted through your head

I give a shout out to the living dead

 

Bullet in Your Head

Rage Against the Machine (1992)

 

ภาพไฟลุกท่วมร่างพระภิกษุรูปหนึ่งในท่าขัดสมาธิกลางสี่แยกในกรุงโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ติดตาชวนขนลุก ปลุกการตื่นรู้ของผู้คนจำนวนมาก ในสหรัฐอเมริกา แซ็ค เดอ ลา โรชา (Zack de la Rocha) นักร้องนำของวงดนตรีร็อคชื่อดัง Rage Against the Machine ได้รับแรงบันดาลใจ จนถึงกับนำภาพดังกล่าวมาทำเป็นปกอัลบั้มของพวกเขาที่ชื่อ Rage Against the Machine ออกวางจำหน่ายในปี 1992

การเผาตัวเอง (self-immolation) เป็นที่รู้จักต่อชาวโลกครั้งแรกในช่วงสงครามเวียดนาม อิทธิพลคอมมิวนิสต์จากทางเหนือคืบคลานเข้ามา แบ่งเวียดนามออกเป็นเหนือใต้ ประชาชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและพระในเวียดนามถูกลิดรอนเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างรุนแรง จำนวนไม่น้อยกลายเป็นเหยื่อสงครามและความเกลียดชังกันเองของคนในชาติ แต่ละวันจะมีชาวพุทธทั้งพระและฆราวาสถูกจับกุมตัวไป เพียงเพราะพวกเขาเชื่อในเสรีภาพทางความคิด และความแตกต่างทางความเชื่อและศาสนา ซิสเตอร์จ่างคง ภิกษุณีชาวเวียดนาม สหายธรรมใกล้ชิดของ พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวไว้ว่า

“ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองอันบีบคั้น ในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ​.​1963 ติค กวาง ดุค พระภิกษุชาวเวียดนาม ตัดสินใจเผาตัวเองกลางสี่แยกแห่งหนึ่ง ฉันไม่รู้มาก่อนเลยว่าเขาจะทำเช่นนั้น บังเอิญตอนนั้นฉันกำลังขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านไปที่แยกนั้นพอดี สิ่งที่เห็นตรงหน้าคือ ติค กวาง ดุค นั่งอยู่ท่ามกลางเปลวไฟอย่างกล้าหาญและนิ่งสงบ เขานิ่งมาก อาจเรียกได้ว่าจิตรวมเป็นสมาธิจนกลายเป็นหนึ่งเดียวกับไฟที่ลุกท่วมนั้น ขณะที่ผู้คนที่ยืนมองอยู่โดยรอบ ต่างร้องไห้และทรุดตัวลงกราบ…ชั่วขณะนั้นเอง ปณิธานอันยิ่งใหญ่ก็ผุดขึ้นในใจฉัน

ชีวิตนี้ฉันขออุทิศตนเพื่อเคารพสิทธิมนุษยชน ในหนทางที่งดงามและสันติ อย่างที่ ติค กวาง ดุค ได้แสดงให้เห็นตรงหน้า

 

vichak_2 

ติค กวาง ดุค ไม่ได้ตายไปพร้อมกับร่างกายที่เผาไหม้เป็นเถ้าถ่าน แต่การสละตนอันยิ่งใหญ่ของเขายังคงอยู่ในหัวใจมนุษย์ทุกคนที่ได้รับรู้เรื่องราวและเห็นภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ความรักและการอุทิศตนต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ ติค กวาง ดุค เกิดใหม่อีกครั้ง…และอีกครั้ง ในหัวใจของชาวเวียดนามหลายพันคน และผู้คนทั่วทั้งโลก

อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจเหตุผลของการกระทำนั้น การเผาตัวเองดูเหมือนเป็นการกระทำที่รุนแรง ไม่ต่างจากการฆ่าตัวตาย แต่หากลองเอาใจเราไปใส่ใจบุคคลที่กระทำการเผาตัวเองด้วยความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์และการเสียสละตนอันยิ่งใหญ่ ด้วยหัวใจที่ปรารถนาจะเห็นคนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและได้รับการเคารพเสมอกัน เราอาจมีมุมมองที่เปลี่ยนไป

“เพื่อที่จะสื่อสารไปยังหัวใจมนุษย์ที่แข็งกระด้างที่สุด เราจำเป็นต้องมอบของขวัญที่เปี่ยมคุณค่า ซึ่งอาจหมายถึงชีวิตของเราเอง” ภิกษุณีจ่างคงกล่าว

 

ล่วงเลยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ปรากฏการณ์การเผาตัวเองของชาวพุทธเป็นที่กล่าวขวัญถึงอีกครั้ง และครั้งนี้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในดินแดนทิเบต ตั้งแต่ปี 2009 จนถึงวันนี้ มีชาวทิเบตทั้งพระและฆราวาสเผาตัวเองตายไปแล้วรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 120 รายแล้ว การเคลื่อนไหวเรียกร้องการปกครองตนเองของทิเบตดำเนินมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน ตั้งแต่ถูกยึดครองโดยกองทัพจีนคอมมิวนิสต์เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน องค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตยืนยันแนวทางการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงมาโดยตลอด การต่อสู้ด้วยหัวใจและความกรุณา เชื่อมั่นว่าความรุนแรงมิอาจเอาชนะได้ด้วยความรุนแรง เป็นการต่อสู้ทางจิตวิญญาณที่สอดคล้องไปกับการต่อสู้ทางการเมืองอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะไปด้วยกันได้ ทั้งโดยเป้าหมายและวิธีการแสดงออกถึงความรัก สติปัญญา และความกล้าที่จะยืนหยัดเคียงข้างมนุษยธรรม นัยยะหนึ่ง มันคือการประกาศศาสนธรรมอันยิ่งใหญ่ของหัวใจมนุษย์ที่สามารถให้อภัยและรักได้แม้ศัตรู

ทุกครั้งที่ทะไลลามะถูกถามความเห็นต่อกรณีการเผาตัวเองของชาวทิเบต แม้จะไม่สนับสนุนการประท้วงด้วยวิธีการนี้ แต่ท่านก็เคารพความกล้าหาญของพวกเขาเหล่านั้นอย่างสุดหัวใจ

“สิ่งที่ชาวโลกพึงตระหนักคือ ‘การฆ่าล้างทางวัฒนธรรม’ เป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ชาวทิเบตเหล่านั้นเลือกการเผาตัวเองเป็นหนทางการแสดงออกครั้งสุดท้าย”

เกือบ 60 ปีของการต่อสู้แบบสันติวิธีที่ดูจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้กับทิเบตอย่างเป็นรูปธรรม ณ จุดแห่งความเจ็บปวดอย่างถึงที่สุด สิ้นหวังอย่างถึงที่สุด ณ จุดแห่งความพ่ายแพ้ ศิโรราบต่อโชคชะตาอย่างถึงที่สุด พวกเขาเลือกที่จะต่อสู้โดยไม่ยอมปิดหัวใจที่รู้สึกรู้สาของตนเอง ตรงกันข้าม พวกเขากลับปลุกเร้าโพธิจิตในตนให้สว่างไสวโชติช่วงเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่า แม้การกดขี่บีฑาหรือกระทั่งความตายก็ไม่อาจลดทอนหัวใจและจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์อันเสรีของพวกเขาได้

 

เสรีภาพอาจดูเป็นคำที่ไม่มีความสำคัญอะไรกับพุทธศาสนิกในประเทศที่ถูกกล่อมเกลาให้มองเสรีภาพเป็นความบ้าบอป่าเถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งที่ปิดกั้นเสรีภาพมาจากกรอบความดีและศีลธรรมทางศาสนาเสียเอง สำหรับคนไทย เสรีภาพในการนับถือศาสนามักถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร ตราบใดที่ประเทศยังมีศาสนาประจำชาติเป็นศาสนาพุทธก็พอ ยิ่งเสรีภาพทางความคิดด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องต้องปล่อยวางบนเส้นทางแห่งการหลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นทางการเมือง

ศาสนาพุทธในสังคมไทยจึงกลายเป็นศาสนาของระบอบเผด็จการที่ไม่เคยเข้าใจความทุกข์ยากของผู้ถูกกดขี่ ไม่เคยอยู่ร่วมในขบวนการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อย ไม่เคยอยู่ข้างมนุษยธรรมที่ถูกลิดรอน และที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ ศาสนธรรมไม่เคยกระทั่งอยู่ข้างสามัญชนคนเล็กคนน้อยเลยด้วยซ้ำ จึงไม่น่าแปลกใจหากชาวพุทธไทยจะเข้าใจความทุกข์แสนสาหัสของชาวทิเบตและรู้สึกร่วมกับพวกเขาน้อยเต็มที

เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่จนถึงทุกวันนี้ทะไลลามะก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้า ‘ประเทศพุทธศาสนา’ อย่างประเทศไทย ความอ้ำๆ อึ้งๆ ที่จะยื่นมือช่วยเหลือ ความสงสารที่ไม่นานก็กลายเป็นความนิ่งเฉยและเงียบงัน การกลืนกินชาติทิเบตโดยจีนแผ่นดินใหญ่ถาโถมเข้าไปราวกับสึนามิ ความพยายามในการขัดขืนทุกวิถีทางสูญเปล่า พวกเขากำลังต่อสู้กับความเป็นจริงอันแสนเจ็บปวด ความทุกข์ที่ไม่มีทางปฏิเสธ ต่อต้าน หรือขัดขืน พวกเขากำลังจนมุมกับความป่าเถื่อนและไม่เป็นธรรม

ณ จุดที่สูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ชาติของฉัน บ้านเมืองของฉัน ถิ่นกำเนิดของฉัน ครอบครัวของฉัน ศาสนาของฉัน หรือวัฒนธรรมของฉัน พวกเขาหมิ่นเหม่จะสูญเสียสิ่งสุดท้าย นั่นก็คือ การสูญเสียศรัทธาในความเป็นมนุษย์ ภาพครูบาอาจารย์ถูกยิงตายต่อหน้าต่อตา กัลยาณมิตรทางจิตวิญญาณถูกทำร้ายหรือข่มขืน พุทธศาสนาถูกห้ามนับถือศรัทธา วัดวาอารามถูกเผาทำลายไม่เหลือซาก ความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่าและการต่อสู้ที่ไร้ผล พาพวกเขาจมดิ่งไปสู่ความหวาดกลัว พวกเขาสิ้นหวังกับชีวิต สิ้นหวังกับโลกใบนี้ สิ้นหวังกับความช่วยเหลือจากนานาชาติ และสุดท้ายพวกเขากำลังจะสิ้นหวังกับตัวเอง มันคือความทุกข์แสนสาหัสที่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคลและความทุกข์ร่วมของสังคมในขณะเดียวกัน ความไม่เป็นธรรมปลุกเร้าพลังแห่งพุทธธรรมในการเผชิญกับสถานการณ์บีบคั้นตรงหน้า และในวินาทีนั้นเองที่หัวใจแห่งโพธิจิตได้จุดตัวเองเป็นไฟแห่งการตระหนักรู้อันร้อนแรงโชติช่วง

 

30 กันยายน 2549 หลังการยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหารได้เพียงอาทิตย์เศษ นวมทอง ไพรวัลย์ ขับรถแท็กซี่พุ่งเข้าชนรถถัง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมาในคืนวันที่ 31 ตุลาคม หลังจากออกจากโรงพยาบาลได้ไม่นาน นวมทองในเสื้อยืดสีดำด้านหลังสกรีนบทกวีของศรีบูรพา ตัดสินใจผูกคอตายกับราวสะพานลอย เพื่อต้องการลบคำสบประมาทของรองโฆษกคณะรัฐประหารที่ว่า ‘ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้’

หากนึกถึง ติค กวาง ดุค และเหล่านักรบทางจิตวิญญาณอีกนับไม่ถ้วน ผู้จุดตัวเองเป็นไฟแห่งมโนธรรมสำนึก ภายใต้บรรยากาศอันมืดมิดแห่งการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและลดทอนความเป็นมนุษย์ นวมทอง ไพรวัลย์ คือหนึ่งในบุคคลซึ่งควรถูกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางการเมืองของไทย โลกทัศน์แบบทำไปไม่หวังผลในชาตินี้เช่นนี้คือวิถีแห่งโพธิสัตว์ หนทางแห่งนักรบอันสะท้อนความมั่นคงทางจิตวิญญาณและความไม่สะทกสะท้านสั่นคลอนไปกับพายุแห่งโลกธรรม ยิ่งความทุกข์บีบคั้น หนทางตีบตันมืดมน หัวใจอริยปุถุชนยิ่งส่องสว่างงดงาม

การกระทำอันดูโง่เขลาของพวกเขาสื่อสารคุณค่าบางอย่างที่ไปพ้นจากการเอาตัวรอดของตนเอง สะท้อนอุดมคติแห่งการปลดปล่อยเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์อันข้ามพ้นความกลัว หากการพลีตนเพื่อเสรีภาพและภราดรภาพของมนุษยชาติถูกตัดสินว่าเป็นการ ‘คิดสั้น’ หรือการยึดมั่นถือมั่นทางความคิด แล้วการเอาตัวรอด เห็นแก่ตัว เพิกเฉย หรือสยบยอมต่ออำนาจเผด็จการ ควรถูกมองว่าเป็นวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ หรือการรู้จักฝึกจิตวางใจให้เป็นสุขบนความทุกข์ของผู้อื่นอย่างนั้นล่ะหรือ?

 

ไฟที่ลุกท่วมตัวพวกเขาคือสิ่งที่ควรค่าแก่การเคารพ…

 
“ชีวิตนี้ฉันขออุทิศตนเพื่อเคารพสิทธิมนุษยชน

เชื่อมั่นในเสรีภาพ ความเป็นคนเท่ากัน ในหนทางที่งดงามและสันติ

อย่างที่พวกเขาได้แสดงให้เห็นตรงหน้า

 

 

**********************************************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ ดูจิตจิต นิตยสาร WAY ฉบับที่ 75)

Author

วิจักขณ์ พานิช
เป็นคลื่นลูกใหม่ในหลายฐานะ ทั้งบทบาทด้านการตีความพุทธศาสนา จับสังเกตปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านแง่มุมทางจิตวิญญาณ วิพากษ์วิจารณ์ผ่านข้อเขียน ทำสำนักพิมพ์ 'ปลากระโดด' จนคลี่คลายบทบาทล่าสุดสู่ชีวิตแบบอนาล็อกบนพื้นที่ของ 'วัชรสิทธา' -- พื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า