เลือกตั้งอินเดีย 2019 กดโหวตผิดพรรค ตัดนิ้วตัวเองทิ้ง

การเลือกตั้งอินเดียนับเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อรองรับผู้มีสิทธิลงคะแนนนับร้อยล้าน มีการคำนวณว่าหากใช้กระดาษทำบัตรลงคะแนนต้องตัดต้นไม้ 200,000 ต้น เพื่อนำมาใช้ทำกระดาษที่มีน้ำหนัก 10,000 ตัน กกต. จึงเริ่มใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ Electronic Voting Machine (EVM) ในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2014

ด้วยมาตรฐานที่สูง มีระบบป้องกันการรบกวนข้อมูล ผ่านขั้นตอนปิดผนึกต่อหน้าผู้สมัคร กกต. สื่อมวลชน และประชาชน แน่นอนว่าการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ก็ใช้เครื่อง EVM เช่นกัน

อินเดียเป็นประเทศสหชาติพันธุ์ สหภาษา มีอัตราการอ่านออกเขียนได้ต่ำ เพื่อความแฟร์ เข้าใจง่าย และให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิในการลงคะแนนตามระบอบประชาธิปไตย 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าๆ กัน กกต. อินเดียจึงใช้สัญลักษณ์ของพรรคการเมืองแปะไว้ข้างชื่อผู้สมัครตรงช่องกดโหวตของ EVM

แต่ความเข้าใจง่ายก็กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด แถมยังทำให้เกิดความผิดพลาดถึงขึ้นที่ชายอินเดียคนหนึ่งต้องตรอมใจ หั่นนิ้วชี้ของตัวเองทิ้ง เพราะเขา ‘กดผิดพรรค’

วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2019 ที่เมืองพุลันทศาห์ร (Bulandshahr) ทางตอนเหนือของรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) พาวัน คูมาร์ (Pawan Kumar) ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะลงคะแนนให้ โยเกช ชาร์มา (Yogesh Sharma) พรรคพหุชนสมัชวดี (Bahujan Samaj Party: BSP) แต่เขาต้องสับสนกับสัญลักษณ์หลายสิบที่อยู่บนเครื่อง EVM จึงเผลอกดโหวตให้ โภลา ซิงห์ (Bhola Singh) พรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party: BJP) โดยไม่ตั้งใจ

“ผมตั้งใจจะกดให้พรรคที่ใช้สัญลักษณ์เป็นช้าง แต่ผมดันไปกดดอกไม้ด้วยความเข้าใจผิด” เขาพูดในคลิปวิดีโอที่กลายเป็นไวรัลในอินเดีย

สัญลักษณ์พรรค BJP ของ นเรนทรา โมดี (Narenda Modi) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เป็นรูปดอกบัว ขณะที่พรรค BSP ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามโมดี ใช้รูปช้าง

พรรค BSP เป็นเสมือนตัวแทนของวรรณะจัณฑาล มีฐานเสียงสำคัญคือคนระดับล่างสุดของสังคมอินเดีย คูมาร์ วัย 25 ปี ซึ่งเป็นจัณฑาล จึงรู้สึกผิดหวังกับเรื่องนี้ จนถึงขั้นตัดนิ้วชี้ตัวเองทิ้ง จากนั้นจึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังทำการรักษาไม่นาน เขาออกจากโรงพยาบาลและโพสต์คลิปวิดีโอเรื่องราวที่เกิดขึ้นลงบนโซเชียลมีเดีย

เหตุการณ์ของคูมาร์เกิดขึ้นในเฟสที่ 2 ของการเลือกตั้งทั่วไปที่แบ่งเป็น 7 เฟส เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน – 18 พฤษภาคม ก่อนจะเริ่มนับคะแนนและประกาศผลในวันเดียวกัน 23 พฤษภาคม 2019

อ้างอิงข้อมูลจาก:
indiatoday.in
bbc.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า