ความมั่นคงของระบบยาในประเทศไทยถูกสั่นคลอนอีกครั้ง เมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับแก้ไข) เพื่อตอบโจทย์รัฐบาล คสช. ที่ต้องการเร่งแก้ปัญหาความล่าช้าในการออกสิทธิบัตรที่คั่งค้างอยู่ในระบบกว่า 12,000 รายการ
‘สิทธิบัตร’ ไม่เพียงหมายถึงแค่ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งประดิษฐ์คิดค้นต่างๆ นานา แต่ยังเกี่ยวข้องกับ ‘อุตสาหกรรมยา’ ที่ทุกๆ ชีวิตมีความจำเป็นต้องพึ่งพายารักษาโรคในยามป่วยไข้และในราคาที่เอื้อมถึงได้
หากร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับนี้ถูกปล่อยผ่านไปโดยไม่มีการทัดทาน นั่นหมายความว่า ชะตากรรมของผู้ป่วยในประเทศไทยย่อมจะถูกแขวนไว้บนเส้นด้าย ระหว่างความเป็นและความตาย
Infographic ชุดนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในเบื้องต้นว่า การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร จะนำไปสู่การผูกขาดและการกำหนดกลไกราคายาของบรรษัทข้ามชาติอย่างไร และท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบโยงใยมาถึงประชาชนโดยถ้วนหน้าอย่างไร
‘สิทธิบัตร’ คือ ทรัพย์สินทางปัญญาประเภททรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์คิดค้นและการออกแบบผลิตภัณฑ์
เงื่อนไขการได้รับสิทธิบัตร
- ต้องมีความใหม่
- มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
- ประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้
*สิ่งประดิษฐ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรนี้ รวมถึงยาด้วย
‘สิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด’ (Evergreening Patent)
คือ สิทธิบัตรที่ให้แก่สิ่งประดิษฐ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเพียงเล็กน้อยจากสิ่งประดิษฐ์เดิม แล้วมาขอรับสิทธิบัตร ทั้งที่สิ่งประดิษฐ์ที่อ้างว่า ‘ใหม่’ นั้น ให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากของเดิม ไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น และมักยื่นขอรับสิทธิบัตรเพิ่มหลายๆ ฉบับไว้ให้แก่สิ่งประดิษฐ์เดิม โดยมุ่งหมายที่จะขยายอายุสิทธิบัตรตัวเดิมออกไปเรื่อยๆ
ในกรณีของยา ยาชนิดเดียวอาจมีสิทธิบัตรได้หลายฉบับและมีอายุสิทธิบัตรรวมกันมากกว่า 20 ปี ซึ่งตามกฎหมาย สิทธิบัตรแต่ละฉบับจะมีอายุการคุ้มครอง 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอสิทธิบัตร
ผลกระทบจาก ‘สิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด’ ต่อการเข้าถึงยา
สาธารณชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสิทธิบัตรไม่มีวันสิ้นสุดอายุนี้ ตรงกันข้าม สิทธิบัตรประเภทนี้จะขัดขวางไม่ให้มียาชื่อสามัญแข่งขันในตลาด โดยจะจดสิทธิบัตรในรูปแบบต่างๆ ในยาตัวเดียว เพื่อกีดกันไม่ให้ผู้อื่นทำการวิจัยและพัฒนาหรือผลิตยาชนิดเดียวกันออกมาแข่งขันได้
เมื่อไม่มีผู้แข่งขัน การกำหนดราคายาตามอำเภอใจโดยบริษัทยารายเดียวย่อมทำได้ง่าย ดังนั้น ยาที่มีสิทธิบัตรเช่นนี้จึงมีราคาแพงเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี
ในสหรัฐฯ พบว่า บริษัทยาขอจดสิทธิบัตรให้แก่ยารักษามะเร็งชนิดหนึ่ง (ชื่อการค้า ‘เรฟลิมิด’) ไว้มากถึง 105 ฉบับ และจะมีอายุสิทธิบัตรผูกขาดได้นานถึง 40 ปี ยารักษามะเร็งนี้มีราคาสูงถึง 4,000,000 บาทต่อปี
ในประเทศไทย บริษัทยาข้ามชาติรายเดียวขอจดสิทธิบัตรยารักษาไวรัสตับอักเสบซี (ชื่อสามัญทางยา ‘โซฟอสบูเวียร์’) ไว้มากถึง 14 ฉบับ และจะมีอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรรวมกันนานถึง 30 ปี ถ้าได้รับสิทธิบัตร
สุดท้ายแล้ว ประชาชนจะเข้าถึงยาเหล่านี้ไม่ได้ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะแบกรับค่ายาที่แพงไม่ไหว และไม่สามารถจ่ายยาให้ได้ ประชาชนจะต้องควักเงินซื้อยาเอง หรืออาจไม่ได้รับการรักษา
หมายเหตุ: ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิบัตรยาที่ไม่มีวันสิ้นสุด ศึกษาได้ที่ link นี้https://www.youtube.com/watch?v=FkxaxlX6zqM
มูลค่า ‘ยานำเข้า’ เกือบทั้งหมดเกิดจากยาที่มีสิทธิบัตรหรือได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรแล้วโดยบริษัทยาข้ามชาติ โดย 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นของบริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันและยูโรเปียน
นอกจากนี้ยังพบว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของยาที่มีสิทธิบัตร เป็นสิทธิบัตรยาที่ไม่มีวันสิ้นสุด มีผลทำให้เกิดการผูกขาดในไทยยาวนานกว่า 20 ปี ในช่วงปี 2539-2571 ไทยจะต้องสูญเสียงบประมาณไปกับยาที่มีสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุดเหล่านี้ไม่น้อยกว่า 8,500 ล้านบาท โดยคำนวณมูลค่าเฉพาะยาจำเป็น 59 รายการเท่านั้น