หนังเรื่อง 36 พูดว่า “ถ้าไม่มีของช่วยจำ เราจะจำได้ไหม”
แต่ ฮาวทูทิ้ง ดันเป็นอีกรีเวิร์สที่บอกว่า “ของบางอย่างไม่มีแล้วมันก็จะยังอยู่ตลอดไป” แต่ละครั้งงานของเรามักจะมีคำถามที่แตกต่างกันออกไป 36 อาจจะพูดถึงข้อดีของความทรงจำ แต่ ฮาวทูทิ้ง คือฝันร้ายของความทรงจำ ส่วน Heavy เองอาจเป็นภาระของความทรงจำ
ประโยคข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในบทสนทนาที่ WAY ชวน ‘เต๋อ’ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี มาร่วมพูดคุยในฐานะศิลปินผู้ถ่ายทอดตัวตนของเขาผ่าน medium ต่างๆ exhibition art ครั้งที่ 3 หรือนิทรรศการภาพถ่ายที่ชื่อ Heavy เป็นเครื่องยืนยันว่าตัวเขาไม่ได้ยึดติดกับการทำงานรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่พร้อมจะขยับขยายอาณาเขต พาห้วงคิดและคำถามต่อชีวิตของเขาไปสู่การทดลองที่สร้างความตื่นเต้นและคาดเดาไม่ได้ให้แก่คนดู
ในช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ ของฤดูกาลปลายฝนต้นหนาวที่อย่าคาดหวังความหนาว ณ ใจกลางกรุงเทพมหานครแห่งนี้ เรานัดเจอนวพลที่บางกอกซิตี้ซิตี้แกลเลอรี่ ที่ที่เขาจัดแสดงงานศิลปะทั้ง 3 ครั้ง พวกเราคุยกันอยู่ท่ามกลางภาพถ่ายเข้ากรอบขนาดใหญ่กว่า 120 ภาพ ที่บรรจุความทรงจำส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหลังการทำงานภาพยนตร์หรือในชีวิตประจำวันของเขาเอง บรรยากาศการพูดคุยจึงอวลๆ ไปด้วยอากาศในหนังหลายๆ เรื่องของเขาเองผสมปนเปกันอยู่
เราเริ่มกันตรงนั้น ตรงที่เต๋อ นวพล นับ 3 2 1 กับตัวเองเบาๆ
เล่าจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้ให้ฟังหน่อย
จริงๆ รูปถ่ายที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ เราไม่ได้ถ่ายมาเพื่อจัดนิทรรศการเลย แต่มันเริ่มต้นจากการที่เราทำบ้านใหม่ แล้วนึกอยากมีรูปใหญ่ๆ มาติดฝาผนังบ้าน ก็เลยคิดว่าทำไมเราถึงไม่เอารูปที่ตัวเองถ่ายมาปรินท์ใส่กรอบสักรูปหนึ่ง อยากรู้ว่าถ้ามันมีขนาดใหญ่ ตัวเราเองจะรู้สึกอย่างไรกับมัน ปรากฏว่าพอใส่กรอบขนาด 2 เมตร เสร็จแล้วเราต้องแบกเข้าบ้านด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นรูปญาญ่า จากเรื่อง Fast and Feel Love มันทำให้เรารู้สึกเหมือนแบกญาญ่าเข้าบ้านเลย
พอเอามาตั้งไว้ดูเองที่บ้านก็รู้สึกว่าพาวเวอร์ของมันเยอะเหมือนกันนะ ถ้าเทียบกับการที่มันเคยปรากฏอยู่บนแล็บท็อป แล้วอยู่ดีๆ กลายเป็นรูปขนาด 2 เมตร ก็เลยรู้สึกว่าดีจัง ไม่เคยเห็นงานตัวเองในมิตินี้มาก่อน เพราะปกติหนังของเรา ตัว bodywork ของมันจะปรากฏก็ต่อเมื่อคุณมีโปรเจ็กเตอร์ฉายบนจอ พอรอบฉายจบทุกอย่างก็หายไป อย่างเก่งก็เก็บไว้ได้แค่โปสเตอร์หรืออะไรที่เกี่ยวข้อง เพราะมันไม่มีอะไรให้เก็บ ฉะนั้นเราจึงรู้สึกว่าไม่เคยได้เห็นเนื้องานของตัวเองผ่านสัมผัสเลย แต่พอเป็นรูปภาพมันจบได้ด้วยตัวมันเอง
พอปรินท์รูปขนาดใหญ่ออกมากางดูอย่างเต็มที่ ก็รู้สึกว่า โอ้ สวยจัง ดีจัง แต่ก็จบไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งบางกอกซิตี้ซิตี้มาเห็นงาน เขาบอกว่ามันดีนะ อยากจัดแสดงไหม ผมก็รู้สึกว่า เอ้อ ชีวิตนี้ไม่เคยมีใครชวนทำนิทรรศการภาพถ่ายเลย ผมเองก็ถ่ายรูปไว้เยอะมาก แต่ไม่เคยจัดแสดงจริงๆ จังๆ เต็มที่ก็คือเผยแพร่ทางออนไลน์ แล้วสิ่งที่ผมคิดไปพร้อมๆ กันก็คือ เรื่องน้ำหนัก เรื่องการเคลื่อนย้าย เหมือนกับวันนั้นที่ผมต้องแบกรูปเข้าบ้านเอง อะไรแบบนี้
อีกส่วนหนึ่งอาจเพราะเราไม่ได้เป็นช่างภาพอาชีพ เรายกกล้องขึ้นมาถ่ายด้วยความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง ภาพของเราก็เลยต่างกับคนอื่นอยู่บ้าง เเล้วพอนำมาใส่กรอบ เราก็จะรู้สึกถึงเรื่องน้ำหนักมากกว่าปกติ อาจเพราะเราไม่เคยทำงานลักษณะนี้มาก่อน ก็เลยเป็นที่มาของงานแสดงภาพและไอเดียเรื่องน้ำหนักที่เรารู้สึกได้จากรูปชิ้นเเรกในวันนั้น
คอนเซ็ปต์ของนิทรรศการครั้งนี้เชื่อมโยงกับนิทรรศการก่อนหน้านี้ไหม (I Write You A Lot [2559] / Second Hand Dialogue [2562])
จริงๆ งานนิทรรศการครั้งเเรก (I Write You A Lot) ก็มีภาพถ่ายเป็นส่วนประกอบ แต่เรามองว่ามันอยู่ในรูปแบบของการสร้าง narrative แบบใหม่ผ่าน space แล้วก็มีการเขียนบทเป็นส่วนประกอบหลัก เป็นการเขียนบทที่กำเนิดมาจากรูปถ่าย กำเนิดจากคนที่มาเยี่ยมชมงาน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดว่า นวพลสามารถทำอะไรกับ spece จริงได้อีกบ้าง
ถ้าถามว่านิทรรศการครั้งก่อนๆ เชื่อมโยงมาถึงงานปัจจุบันยังไง มันก็คือการที่เราหาทางเล่าเรื่องต่างๆ ผ่าน space จริง และบาง narrative จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีคนหลากหลายมารวมกัน เกิดสิ่งที่เราเองก็ไม่ได้คาดเดาไว้ เราชอบการเล่นกับพื้นที่ในเซ็นส์นี้ ว่าหากเขาเจอการเขียนบทสดจากร่างกายตัวเอง เจอการแอบฟังโทรศัพท์ เขาจะมีปฏิกิริยาและประสบการณ์ต่อมันอย่างไร
ถ้าจะถามว่ามันสัมพันธ์กับการทำหนังยังไง คือเวลาเราทำหนังแต่ละเรื่อง เราชอบคิดว่าหนังของเรามันทำปฏิกิริยายังไงกับคนดูบ้าง ในเชิงความรู้สึกต่างๆ ไม่ใช่เชิงจะเขียนเรื่องยังไงให้ซึ้ง แต่ว่าพอเจอคัทติ้งแบบนี้ เจอซาวด์แบบนี้ เจอการเล่าเรื่องที่สลับไปมาแบบนี้ คุณมีประสบการณ์กับมันและรู้สึกกับมันยังไง มากกว่าการเขียนยังไงให้มันซึ้งและจบดี ประทับใจ มันคือเรื่องของภาพนี้ต่อภาพนี้ด้วยซาวด์แบบนี้ แล้วคุณรู้สึกกับมันอย่างไร ปกติเวลาทำหนังมันก็ต้องฉายอยู่ในโรงเนอะ แต่ตอนนี้มันอยู่ในห้องจริงๆ มีของจริงๆ แล้วคุณไม่ต้องถูกไดเรคหรือถูกคอนโทรลจากเรา คุณจะเดินไปตรงไหนก่อนก็ได้ จะยกอันไหนก่อนก็ได้ หรือไม่ยกก็ได้ อาจจะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน แต่มันเชื่อมโยงกันเป็นวิธีคิดแบบเดียวกัน
คำโปรยของงานที่บอกว่า เป็นความรู้สึกเสียดายของศิลปินที่ “ไม่อาจแตะสัมผัสผลงานของตัวเองได้” ความหมายคืออะไร
เวลาที่เราทำหนังจบ มันจบไปเลย กลายเป็นเงา เป็นควัน แล้วก็หายไป ถ้ามันจะอยู่ ก็คงจะอยู่ในความทรงจำคน หรือไปตกหล่นตามจุดวัฒนธรรมต่างๆ ที่ยังมีคนเอามุกนี้มาเล่น มันอาจเป็นเหมือนวิญญาณ จับต้องไม่ได้ เต็มที่ก็คือต้องเปิดดูอีกรอบหนึ่งในสักสื่อหนึ่ง มันจึงเป็นความรู้สึกว่า เราไม่เคยได้จับงานตัวเองจริงๆ มันจะอยู่ในหัวมากกว่าเป็นก้อนตั้งอยู่ในบ้าน ต้องปรินท์รูปนั้นแล้วไปตั้งในบ้านมันถึงจะรู้สึกว่า โอ้ นี่งานเรานะ มาตั้งอยู่ในบ้าน เป็นกระดาษที่จับต้องได้ แต่ว่าหนังมันทำอย่างนั้นไม่ได้ เต็มที่ก็คือฉายในทีวีหรือเปิดโปรเจ็กเตอร์ที่บ้าน พอหนังจบมันก็หายไป เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกต่อของพวกนี้เยอะ
ความรู้สึกแบบนี้มันเกิดขึ้นเพราะเราเป็น filmmaker แล้วเคลื่อนมาเป็น photographer มาเป็นศิลปินที่ทำงานกับพื้นที่จริง มันจึงเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นได้ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งไป งานมันก็อาจจะเป็นอีกแบบไปเลย
ศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์มักเริ่มทำงานจากความฝังใจที่กระตุ้นให้ผลิตงานสักชิ้นออกมา คุณเป็นแบบนั้นไหม
ใช่ ปกติเราทำงานจากประสบการณ์หรืออะไรก็ตามที่เจอมาในชีวิตอยู่แล้ว แต่เราไปทำในภาพยนตร์ เป็นสคริปต์ เป็นเรื่องราว ตัวละครต่างๆ ก็มาจากส่วนใดส่วนหนึ่งจากคนที่เราเคยเจอ ในเเง่ภาพยนตร์มันจึงอาจจะชัดกว่า พอมาทำนิทรรศการมันก็เกิดจากประสบการณ์ง่ายๆ ที่เราไปปรินท์รูปมา แล้วจึงเกิดเป็นนิทรรศการขึ้น
อย่างนิทรรศการ 2 ครั้งก่อน อย่าง I Write You A Lot และ Second Hand Dialogue ก็เกิดจากงานเขียนบทของเราซึ่งต้องไปจดจำ source ที่อยู่รอบตัว หูของเรามันก็จะดีกว่าชาวบ้านนิดนึง โดยสัญชาตญาณของคนทำหนัง มันเหมือนกับสัตว์ที่มีวิวัฒนาการขึ้นมา หมายถึงว่าผมพยายามไปฟังแล้วเก็บมาใช้งาน
I Write You A Lot มันก็คือการเขียน ว่าคุณจะแต่งเรื่องต่อจากรูปภาพนั้นว่าอะไร จริงๆ ทุกๆ งานมันมาจากชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพราะว่าเราไม่ได้ทำตามโจทย์ของใคร ส่วนใหญ่จะมาจากว่าเราคิดอะไรอยู่ เรารู้สึกอย่างไรหรือมีอะไรจะพูดในเวลานั้นก็ทำมันออกมา
หนังแต่ละเรื่อง หรือกระทั่ง exhibition ที่ผ่านมา ย้อนกลับมาบอกอะไรกับตัวเราบ้าง
หากมองย้อนกลับไป 10 ปีที่ผ่านมา เราก็คิดว่าโชคดีเหมือนกันที่มีโอกาสได้บันทึกในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต หรือว่าได้รับสิทธิ์ในการบันทึกเรื่องราวและความคิดของตัวเองอย่างอิสระผ่านการทำหนัง โชคดีที่เราสามารถมีไดอารีที่บันทึกชีวิตหรือความคิดในแต่ละช่วงเวลาได้ ถ้าคิดแบบส่วนตัวอีกนิดนึงก็คือ ถ้าหากเราตายไปในสักวันหนึ่ง ก็จะสามารถแทร็กดูได้เลยตั้งแต่เรื่องหนึ่งว่าช่วงชีวิตผมมันจะอยู่ในโซนแถวนี้ๆ แหละ ความสนใจหรือคนที่ผมเจอ มันจะอยู่ในนี้ๆ ในหนังเรื่องที่ผมทำ
อาจเพราะงานที่ผมทำมันไม่ได้มาจากโจทย์ของคนอื่น แต่มาจากโจทย์ของตัวเอง มาจากชีวิตของตัวเอง ถ้าดูรูปในนิทรรศการ Heavy มันก็คือคนที่เราเคยเจอหรือสิ่งที่เราเคยเห็น ข้อดีอย่างหนึ่งคือเวลามันออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจน มันจะเห็นได้ว่าเราเเตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ในจักรวาลของเราเป็นแบบนี้ เราไม่เคยรู้ว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร จนกระทั่งมีเวลาได้ revise ตัวเองว่ารูปร่างหน้าตาโลกของเราเป็นอย่างไร
การเป็นคนทำหนัง คืออาชีพที่อนุญาตให้เอาความคิดของตัวเองออกมาชำแหละ คุณคิดอย่างนั้นไหม
หนังแต่ละเรื่องที่ผมทำ พอมันถูกเขียนมาจากประสบการณ์ คำถามที่ตัวละครมีก็มักจะเป็นคำถามเดียวกับที่ตัวเรามี พอคุณจะเริ่มเขียนบท มันก็ต้องตอบคำถาม เมื่อตัวละครมันสงสัยอย่างนู้นอย่างนั้น เมื่อถึงตอนจบก็ต้องมีคำตอบไม่ซ้ายก็ขวา มันก็เหมือนตัวเรานั่นแหละว่า สรุปแล้วพอเจอสถานการณ์นี้ คำถามนี้ มันมีคำตอบว่าอะไร หรือมีช้อยส์กี่ข้อให้ตอบได้บ้าง เพราะฉะนั้นพอหนังเรื่องหนึ่งจบ เราก็จะได้ get to หัวข้อนั้นไปพร้อมๆ กับตัวละคร
อย่างตอนเราทำเรื่อง ฟรีแลนซ์ จบ หลังจากนั้นเราทำงานน้อยลงนะ มันเหมือนกับว่าคุณได้ขบคิดเรื่องนี้เสียจนรู้ว่าช้อยส์มันมีแค่นี้แหละครับ “มึงเลือกเอาละกัน” หมายถึงนวพลในความเป็นจริงก็ต้องเลือกเเล้วว่าจะเอาอย่างไรต่อ ส่วนใหญ่เมื่อทำหนังเสร็จก็มักจะหมดข้อสงสัยในข้อนั้นไป แล้วไปต่อในเรื่องใหม่
อย่าง ฮาวทูทิ้ง, Fast and Feel Love, Die Tomorrow แต่ละเรื่องก็จะมีคำถามต่อชีวิตในช่วงนั้นของเรา เหมือนคุณได้ตอบคำถามชีวิตไปในแต่ละข้อเลย เพราะคุณมีเวลาปีหนึ่งหรือปีครึ่งในการคิดเรื่องนี้อย่างเดียว ต้องได้สักข้อแหละวะ ต้องได้คำตอบสักอันแหละ เพราะว่าเวลาคุณคิดไม่ออก คุณก็จะเริ่มไปอ่านบทสัมภาษณ์คนอื่นที่เขาพูดถึงหัวข้อนี้ สัมภาษณ์นู่นนี่นั่น หรืออะไรก็ตามที่มันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคำถามที่เรามีอยู่ มันก็คือการค้นหาคำตอบไปในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นพอจบเรื่องหนึ่งมันก็จะจบท็อปปิกหนึ่ง ซึ่งก็ดี เพราะแปลว่าเราจะไม่กลับมาทำซ้ำอีก แต่ถ้าเป็นหัวข้อเรื่องความทรงจำ หรือเป็นหัวข้อที่เกิดขึ้นบ่อยๆ รอบแรกเราอาจสำรวจมุมนี้ รอบที่สองสำรวจอีกมุมหนึ่ง รอบที่สามพลิกไปเป็นอีกทาง มันจะมีหัวข้อที่เราสนใจเป็นพิเศษ แต่ว่าทุกๆ ครั้งคำถามก็จะแตกต่างกัน
เช่น หนังเรื่อง 36 พูดว่า “ถ้าไม่มีของช่วยจำ เราจะจำได้ไหม” แต่ ฮาวทูทิ้ง ดันเป็นอีกรีเวิร์สว่า “ของบางอย่างไม่มีแล้วมันก็จะยังอยู่ตลอดไป” มันก็จะเป็นคำถามที่แตกต่างกันไป 36 อาจจะพูดถึงข้อดีของความทรงจำ แต่ ฮาวทูทิ้ง คือฝันร้ายของความทรงจำ ส่วน Heavy อาจเป็นภาระของความทรงจำ (หัวเราะ) คือมันหาประเด็นพูดได้ไปเรื่อยๆ แล้วแต่วาระ อย่างช่วงก่อนทำ Die Tomorrow เราอาจจะไปงานศพคนที่เรารู้จักเยอะ ก็จะคิดถึงแต่เรื่องความตาย พอหลังจากผ่าน Die Tomorrow ไป เอาจริงๆ มันเข้าใจเรื่องนี้ไปแล้วนะ พอวันหนึ่งที่ความตายนั้นมันเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวเราจริงๆ เราก็จะรู้สึกว่าเหมือนเราได้เรียนรู้เรื่องนี้ไปแล้ว เราก็จะเข้าใจมันได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นหากถามว่าหลังจากทำหนังเสร็จ ชีวิตเปลี่ยนไหม มันเปลี่ยนอยู่แล้ว มันได้อาวุธเพิ่มเข้ามา เราเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มเข้ามา
ช่วงหลังมาสังเกตได้ว่า หนังของคุณมักเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ผมว่ามันก็คงตามอายุ อาจจะเพราะเรามีโอกาสได้ทำหนังถี่ด้วย คนดูจึงเห็น curve ที่เปลี่ยนไปเร็วในช่วง 10 ปีนี้ เพราะว่าทำบ่อย พอทำบ่อยๆ ก็จะเกิดคำถามถัดไปเรื่อยๆ เช่น เรื่องความตาย เรื่องคนอื่นๆ ที่อยู่แวดล้อมในชีวิต คนที่ซัพพอร์ตต่างๆ คำถามก็จะเริ่มขยายขอบเขตออกไป
งานหลังจากนี้ก็อาจจะกว้างไปอีกก็เป็นไปได้ มันคงเป็นไปตามวัยมากกว่า บางทีเวลาแคสนักแสดง เด็กวัยรุ่น เราก็จะบอกเขาว่า ไม่รู้ว่าเราจะได้ทำงานด้วยกันอีกไหมนะครับ เพราะตัวละครเราเนี่ยแก่ขึ้นเรื่อยๆ จากอายุ 20 กลายเป็น 30 ต่อไปอาจจะเป็น 50 ก็ได้ ที่เป็นตัวละครหลัก
จากการเขียนบทเหมยลี่ใน รถไฟฟ้า มาหานะเธอ จนมาถึงการเขียนบทเกาและเจ ใน Fast and Feel Love คุณมีมุมคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนเราเปลี่ยนเเปลงไปอย่างไร
เราคิดว่าพอเราโตขึ้นหรือว่าเจอคนเยอะขึ้น ทำหนังเยอะขึ้น เราก็จะเห็นความสัมพันธ์ที่หลายรูปแบบมากขึ้น มันเป็นไปได้หลายแบบมากจนรู้สึกว่า เราโชคดีที่การทำหนังมันเอื้อให้มีโอกาสค้นหาเรื่องความสัมพันธ์ของคนมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวของเราเองพอใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ ก็ได้เห็นความหลากหลายของความสัมพันธ์
ก่อนทำหนังเรื่อง รถไฟฟ้า มาหานะเธอ เราอาจจะรู้จักคนอยู่ไม่กี่แบบ แต่พอมาถึงเรื่อง Fast and Feel Love ตอนทำรีเสิร์ช เราก็เจอคนที่เขาแต่งงานกัน มีลูกแล้ว แต่พอใช้ชีวิตด้วยกันไปเรื่อยๆ อาจจะรู้สึกว่า เราน่าจะเป็นเพื่อนกันดีกว่า ก็คือตกลงแยกทางกันนั้นแหละ แต่เขาจะรอให้ลูกเรียนจบก่อนเเล้วค่อยแยกทางกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ผมทึ่งว่ามันตกลงกันได้ขนาดนี้เลยเหรอ ก่อนหน้านั้นเราอาจรู้สึกว่าการแต่งงานมันก็ต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป ไม่งั้นก็หย่าร้างกลางทาง แต่นี่มันคือข้อตกลงระหว่างคนสองคนโดยแท้จริง พอใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ ก็จะได้เห็นอะไรพวกนี้มากขึ้น ถ้าเกิดเราไม่ได้ทำรีเสิร์ชในวันนั้น ก็คงไม่ได้ฟังเรื่องอะไรแบบนี้
ทุกๆ การทำหนังของเรา ทำให้เราได้เจอความสัมพันธ์ใหม่ๆ ในช่วงเขียนบท หรือได้พูดคุยกับคน เราจะเจอความย้อนแย้งกันหลายๆ อย่าง เช่น มึงเกลียดเขา แต่ก็ยังอยู่กับเขา บางคนอยู่ด้วยกันเพราะเหตุผลมากกว่าความรัก ความสัมพันธ์มันมีความซับซ้อนมากกว่าที่เรารู้จัก
บางทีคนดูหนังอาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย ใช่เหรอวะ ไม่มีทางหรอก คนเราจะทำอะไรอย่างนี้ เป็นไปไม่ได้ แต่เรารู้สึกว่าจริง กูเจอมาแล้ว เพียงเเต่มึงน่ะยังไม่เจอ บางทีเหตุการณ์เดียวกัน คนมักจะพูดกันว่าถ้าเป็นเราเราคงจะโกรธและเกลียดคนแบบนี้ แต่ทำไมตัวละครในหนังมันถึงไม่รู้สึกอะไรเลย ผมก็จะบอกว่ามันก็มีคนแบบนั้นเหมือนกันนะครับที่อาจจะไม่ได้คิดเหมือนคุณ เพราะฉะนั้นเวลาเราดูหนังของคนอื่น ต่อให้ตัวละครในเรื่องทำให้เรารู้สึกว่าทำไมทำแบบนี้ เราเองก็คงจะไม่ได้รู้สึกว่าแม่งไม่จริงหรอก เพราะเรารู้ว่ามันอาจจะเป็นคนที่เรายังไม่รู้จัก
หรือแม้เเต่พฤติกรรมของคนในข่าวต่างๆ บางทีเขาก็ทำพฤติกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าเหมือนในหนังเลย ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าจะทำโง่ๆ อย่างนี้ มันเป็นไปได้ยังไง มันยิ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า คนมันทำอะไรก็ได้ คนมีอยู่ล้านรูปแบบ การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมต่างๆ มันมีหลายรูปแบบมากๆ
การทำหนังยาวแต่ละเรื่องมักใช้เวลานานมากๆ ทุกครั้งที่จบโปรเจ็กต์ คุณตกตะกอนอะไรจากงานนั้นๆ บ้าง
เราเคยคุยกับทีมงานว่า บางทีพวกเราก็ออกไปทำงานเพื่อกลับมาซื้ออารมณ์ของการไม่ต้องทำอะไรก็ได้ไปสักพักหนึ่งนะ เพราะเราได้ทำงานหนักไปแล้ว ขอเรานอนแบบไม่ต้องคิดอะไรเลย ไม่ต้องคิดว่าเดือนหน้าจะทำอะไร แบบหยุดจริงๆ แล้วมันเป็นความรู้สึกที่ดีจริงๆ จนเข้าใจว่าคนที่เขาไปถึงจุดสูงสุด แล้วมีอารมณ์ของการพร้อมที่จะหยุดพักแล้ว อยากจิบกาแฟดูทะเลเฉยๆ เป็นอย่างนี้นี่เอง
เพราะว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนที่ทำงานเยอะ ตอนเป็นวัยรุ่นก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่พออายุมากขึ้นหน่อยก็จะรู้สึกว่าอินกับพวกโมเมนต์ว่างๆ หลังจากงานเสร็จสิ้นแล้ว การไม่ทำอะไรหลังจากที่คุณผ่านการทำงานหนักแบบสงครามมา ในทางหนึ่งมันจะรู้สึกถึงความสบายใจไร้กังวลได้มากขึ้น หลังๆ มาเราจึงพยายามจะหาวิธีที่ได้มาซึ่งอารมณ์นี้โดยที่ไม่ต้องไปทำงานหนักขนาดนั้น เป็นวิธีคิดแบบคนที่เริ่มแก่ รู้สึกว่าเราไม่ต้องทำงานหนักขนาดนั้นก็ได้ มันมีวิธีบริหารจัดการงานที่ถูกต้องขึ้น เพราะว่าตอนเด็กกว่านี้เรามีแรงมากพอที่จะใส่พลังไปจนหมดเหมือนกับต้องเยอะมันถึงจะเวิร์กสิวะ แต่หลังๆ มานี้ก็รู้สึกว่าไม่นะ ในเมื่อคุณมีสกิลมากขึ้น มันไม่ต้องออกแรงเยอะขนาดนั้นก็ได้ แต่ว่าอันไหนที่เป็นสิ่งที่เรียนรู้ใหม่มันก็ต้องออกแรงเหมือนกัน
อย่างการเขียนบท เราเริ่มเข้าใจว่าไม่ต้องเขียนจนดึกขนาดนั้นก็ได้มั้ง มึงไปนอนเถอะ เพราะถ้าได้นอนอย่างเต็มอิ่ม พรุ่งนี้เช้ามึงจะเขียนออกเลย แบบไม่มีเหตุผลรองรับ อาจจะเป็นเรื่องของสมองแหละที่ขอให้เขาพักแป๊บนึง ให้เขาไปเรียงข้อมูลแป๊บนึง แล้วกลับมาอีกทีหลังจากได้นอนแล้วอาจจะเรียบเรียงออกมาได้ดีกว่า เหมือนจะหันกลับไปมองร่างกายมากขึ้น รู้สึกว่ามันมีผลต่อการทำงานนะ
ถ้าย้อนมองผลงาน ทั้งงานศิลปะและหนังของตัวเองที่ผ่านมา คุณเห็นอะไรบ้างทั้งในฐานะคนทำ และคนดูที่ถอยออกมามองงานตัวเอง
ผมคิดว่าถ้าผมมองเข้าไปที่งานของตัวเอง คงคิดว่างานของไอ้นี่ให้ความตื่นเต้นดี หลังๆ มาเราอาจจะชอบงานที่ตื่นเต้นมากกว่างานที่ดีหรือไม่ดีด้วยซ้ำ ชอบความรู้สึกของการที่ได้ลุ้น ได้ไม่แน่ใจนิดนึง ไอ้งานที่มันแน่ใจแน่ๆ ว่าจะได้อะไรมันก็โอเคแหละ แต่มันไม่ได้ตื่นเต้นเท่างานที่ไม่แน่ใจ เราคิดว่ามันคงเป็นแบบนั้นมั้ง
เช่น หนังเรื่องนี้คุณภาพแบบ best picture มันจะต้องเป็นแบบนั้นแน่ จะไม่เหมือนกับงานนี้ปกแม่งแปลกๆ แต่พออ่านคอนเซ็ปต์แล้วเอาหน่อยแล้วกัน มันจะคนละฟิลลิ่งเลย และเราชอบฟิลลิ่งนี้มากกว่า เราจะรู้สึกกับงานตัวเองแบบนั้นเลย เหมือน ได้เดาว่ารอบนี้เขาจะมาไม้ไหนกันนะ พอมาจัดแสดง Photo แล้ว ทำไมมันจัดแบบนี้ ทำไมไม่ hang บนกำแพงให้หมด มันต้องการอะไร เราต้องยกรูปไหม อะไรประมาณนั้นมากกว่า
จากยุคที่คุณเริ่มมีความฝันที่จะเป็นคนทำหนัง จนมาถึงยุคนี้ วิธีคิดในการทำงานเปลี่ยนไปไหม
จริงๆ มันมาต่างตอนปีนี้ ปีที่แล้วนี่เอง เพราะว่า industry มันเปลี่ยน ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีอีกทีหนึ่ง และเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ หากย้อนกลับไปตอนที่เราทำหนังเรื่องแรก เรื่อง 36 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราก็ได้ทำหนังเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนนี่แหละ หมายถึงมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาในตอนนั้นทำให้การทำหนังง่ายขึ้น ตัดต่อในคอมพิวเตอร์ก็ได้ คุณทำหลายๆ อย่างได้เองที่บ้าน แล้วไปฉายในจอภาพยนตร์ปกติได้ด้วย มัน disruption มากเลยนะ เพราะปกติมันยุ่งยากกว่านั้น แล้วโอกาสที่มนุษย์คนหนึ่งจะได้เข้าไปในสตูดิโอมันยากมากๆ ซึ่งตอนนั้นเราเองก็ได้ประโยชน์จากการ disruption นั้นเหมือนกัน และคนที่ทำหนังมาแล้ว 10 ปี ก็โดน disruption ด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่ ด้วยสตรีมมิ่ง ด้วยพฤติกรรมการดูงานภาพเคลื่อนไหวแบบใหม่ๆ อีกที
ถามว่ามันเปลี่ยนแปลงไปมากไหม อุตสาหกรรมหนังมันก็จะยังมีอยู่แหละ แต่ว่าความสนใจของคนยุคนี้น่าจะกว้างขวางขึ้น คือหนังไม่ได้เป็นก้อนหลักอย่างเดียวแล้ว มันถูกแบ่งเค้กด้วยเกม Youtube TikTok คือบางทีเราจะคิดว่ามันเป็นเพราะวงการหนังเองหรือเปล่า แต่จริงๆ แค่คำว่า moving image มันก็ขยายขอบเขตกว้างกว่าเดิมมากๆ แล้ว
สมัยก่อนคำว่า moving image อาจจะถูกรวบไว้แค่ในทีวี โรงหนัง แต่เดี๋ยวนี้เกมก็ยังทำเหมือนหนังเลย เอายังไงล่ะที่นี้ แถมคุณยังคอนโทรลได้ด้วย Youtube บางช่องสนุกกว่าหนังเสียอีก TikTok แม่งดูฟรี เล่นได้ทั้งวัน คือพอทุกอย่างมันเปลี่ยนหมดอย่างนี้ คำถามมันจะกลับไปที่การผลิตมากกว่า ว่าคราวนี้ผู้สร้างจะเปลี่ยนวิธีสร้างด้วยไหม ตอนนี้เราเป็นใคร เราควรจะสร้างให้ใครดู จะลงโรงหนังหรือลงสตรีมมิ่ง รวมถึงวิธีการสร้างหนังแบบใหม่ก็จะมาจาก text startup ทั้งหลายนี้แหละ แล้วยังมีการใช้ data มาวัดมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ แต่จะเหมาะกับทุกคนไหม แต่ละคนคงต้องถามตัวเองว่า คุณอยากทำแบบไหนมากกว่า คือเราเองไม่ได้รู้สึกว่าอันไหนจะมาแทนแบบไหน แค่ต้องถามตัวเองว่าตอนนี้อยากทำแบบเดิมไหม ถ้าทำแบบเดิมคุณต้องไปอยู่โซนนี้นะ แต่ถ้าคุณอยากทำสตรีมมิ่ง อยากทำหนังที่มัน based on data ซึ่งมันมาจากวิธีใช้เทคโนโลยีของคนอีกทีหนึ่ง คนอาจจะอยากดูอะไรสั้นลง ทุกอย่างต้องไวขึ้น คุณเหมาะกับ slot นั้นหรือเปล่า หรือถ้าคุณเป็นคนที่เกิดจาก slot นั้น คุณก็อาจจะเหมาะกับการทำสิ่งนั้น มันก็จะเป็นอีกเส้นทางหนึ่ง
ผมว่านี่คือสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นมา ทำให้มีทางเลือกย่อยๆ แตกออกไป คนที่ชอบดูหนังอาจจะไม่ได้อยากทำหนังอีกต่อไป อาจจะอยากทำเกม ทำ TikTok Youtube ก็ได้ มันจะกระจายมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ความยากมีข้อเดียวเลยคือ คุณรู้ไหมล่ะว่าตัวเองอยากทำอะไร ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับน้องๆ ในยุคนี้ เพราะมันเหมือนกับบอกว่า น้องครับ น้องมีเส้นทางให้เลือก 10,000 แบบ เลือกเอาแล้วกัน แล้วใน 10,000 แบบนี้ เราคือแบบที่เท่าไหร่วะ 950 หรือ 3,500 มันเยอะไปหมดเลย อย่างสมัยของเรามันมีแค่ 3 แบบ หนังโรง รายการทีวี หรือทำหนังแผ่น มันมีให้เลือกไม่กี่ช้อยส์หรอก แต่ถ้าคุณไม่ fit in กับไอ้ 3 ช้อยส์แรกในสิบปีที่แล้วเลย ยุคนี้อาจจะเป็นยุคของคุณก็ได้ว่า โอ้ ในที่สุด สิ่งที่กูถ่ายเล่นที่บ้าน ไม่มีใครดู มันกลายเป็น channel ใน Youtube ที่มันซูเปอร์ฮิตไปแล้ว ก็เป็นไปได้
คุณปรับตัวยังไงกับการเป็นคนทำหนัง ในโลกปัจจุบันที่การทำวิดีโอเป็นสิ่งสามัญสำหรับคนทั่วไป
ในการทำงานของเราเอง เราอาจจะไม่ได้จำกัดโหมดว่านี่คือภาพยนตร์ หนังสั้น หรือโฆษณา แต่มันสามารถสวิทช์โหมดไปได้เรื่อยๆ เราคิดว่ามันเป็นเพียงช่องทางหนึ่งอยู่แล้วตั้งแต่แรก เราสามารถสลับได้ เปลี่ยนเครื่องมือได้ พอมาวันหนึ่งมันเปลี่ยนรูปร่างไป เราเเค่ดูว่าจะต้องทำยังไงถึงจะจับถนัดมือได้บ้าง ถ้าไม่ถนัดเลย ก็ต้องหาอะไรมาช่วย หรือเราอาจจะไม่ได้สนใจมันแล้วก็ได้ เราแค่เปลี่ยนไปเป็นสิ่งอื่น เพราะฉะนั้น ความเปลี่ยนเเปลงมันเกิดขึ้นอยู่เเล้ว เราก็ดูแค่ว่าเรา fit in กับการเปลี่ยนแปลงนั้นยังไงบ้าง
อย่างที่บอกคือทุกครั้งที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง มันคงเป็นข้อไม่ดีสำหรับคนที่เสียผลประโยชน์จากมัน แต่ในขณะเดียวกัน ทุกๆ ครั้งที่เปลี่ยน มันก็จะมีคนที่ได้ประโยชน์เหมือนกัน เราก็เคยเป็นคนที่ได้ แต่วันหนึ่งเราก็อาจจะเป็นคนที่เสีย ผมรู้สึกว่าก็ไม่เป็นไร ทุกครั้งมันก็ต้องปรับตัวอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ได้คิดว่าเราเสียอะไร มันเป็นแค่เรื่องที่ไม่หยุดนิ่ง เราก็แค่ดูว่าเราจะอยู่พื้นที่ไหนได้บ้าง เพราะผมรู้สึกว่ามันทำให้ดีได้ในทุกแบบ เพียงเเต่ต้องเข้าใจมันก่อนว่าธรรมชาติของมันคืออะไร เราเหมาะกับมันไหม ถ้าไม่เหมาะจะไปยังไงต่อ เรื่องนี้เราพูดได้อย่างเดียวคือ ถ้าโลกนี้ไม่มีอินเทอร์เน็ตเราก็ตายเหมือนกัน เพราะการมาถึงของอินเทอร์เน็ตก็ทำให้เรามีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ชอบเร็วขึ้น
ในยุคที่มีกล้องดิจิทัลที่เป็น DSLR แรกๆ ก็จะมีกลุ่มคนที่บอกว่ารูปมันคุณภาพต่ำเหลือเกินถ้าเอามาถ่ายหนัง แต่จริงๆ มันก็ดีขึ้นกว่าเดิม ดีกว่ากล้อง handycam แน่ๆ มันเปลี่ยนเลนส์ได้ ถึงคุณภาพจะไม่ใช่ที่สุด แต่มันดีขึ้น สำหรับบางคนอาจจะรู้สึกว่า นี่มันคือภัยคุกคามของวงการหนัง แต่เราจะบอกว่ามันไม่เกี่ยว เพราะอย่างน้อยตัวผมเองก็ได้ฝึก ได้ทำ ได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องระยะเลนส์จากการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น
เพราะฉะนั้นถึงวันหนึ่งที่คนไม่ดูหนังโรงแล้ว เราในฐานะที่เป็นคนทำหนังโรง เราก็จะมาดูว่าทำไมกันนะ เราสามารถปรับตัวได้ไหม แต่ถ้ามันไม่ได้แล้วจริงๆ ก็จะถามตัวเองว่าตอนนี้เราอยากทำอะไร ถ้ายังอยากทำภาพเคลื่อนไหว เราเองก็ต้องค่อยๆ ปรับตัวไปตามแต่ละยุค เพียงเเต่ต้องมองมันให้ถูกมุม มองให้กว้างขึ้น
อย่างตอนนี้ความสนใจคุณอยู่ที่ไหน
เราคิดว่าความสนใจของเราก็ยังเป็นเรื่องภาพยนตร์อยู่ดี เพียงเเต่ว่าสิ่งที่เราทำมา 10 ปี มันไม่ได้ออกมาในรูปแบบของหนังอย่างเดียว แต่เราไปทำหนังสือบ้าง จัดนิทรรศการบ้าง สลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราเพียงพยายามดูว่าปีนี้อยากทำอะไร สมมติตอนนี้ผมบอกอยากทำหนังสือ ก็มาดูว่าวงการหนังสือตอนนี้มันเป็นยังไงบ้าง ใครยังซื้ออยู่ ถ้าจะขาย ขายทางไหนได้บ้าง แล้วเราทำแบบไหนได้บ้างในยุคนี้ เทคโนโลยีบางอย่างมันอาจจะก้าวหน้าจนเราทึ่งว่า โอ้โห ไม่น่าเชื่อว่าเราจะทำปกเป็นพลาสติกได้ด้วยตัวเองที่บ้าน อย่างนี้กูทำแบบนี้ดีกว่า อะไรแบบนี้
อย่างที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปร่วม workshop ทำหนังสั้น อยู่ดีๆ ก็ได้เป็นโปรดิวเซอร์ โอ้ ไม่เคยทำ สำหรับเรามันเป็นประสบการณ์ที่ใหม่มากเลย แล้วเราก็สนุกดี มันก็ดีกว่าทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ สมมติว่าช่วงนี้เขียนบท แล้วกระโดดไปทำนั้นทำนี้ ก็ดีเหมือนกัน เพราะว่าความรู้สึกใหม่ๆ ของการทำนั้นแหละจะมาอยู่ในหนังเรื่องต่อไป
ความอยากทำหนังของคุณ ได้รับการเติมเต็มผ่านการทำงานมาหลายปี จนถึงวันนี้ความทะยานอยากยังมีอยู่ไหม และเป็นไปในลักษณะใด
(นิ่งคิด) เราว่าความอยากในการทำหนังของเรามันก็เท่าเดิมแหละ ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ มันยังคงเป็น priority หลัก ถ้าให้เลือกทำอะไรก่อนก็คงทำหนังมั้ง แต่ว่ามันดันเป็น medium ที่ยากที่สุด ใช้เงินจำนวนมาก เพราะฉะนั้นมันเป็นอะไรที่ต้องรอคอย ที่ผ่านมาตัวผมเองก็ถือว่าโชคดีมากที่เว้นไปแค่ปีเดียวก็มีคนมาเสนอว่าทำอันนี้ไหม ทำอันนั้นไหม ก็เลยไม่ค่อยได้หยุดเท่าไหร่
ยังไม่เคยขาดแคลนเรื่องที่อยากจะเล่าใช่ไหม
ผมว่าอาจจะเป็นเพราะเราถามตัวเองเสมอว่า เรื่องใหม่ๆ ที่เราสนใจคืออะไร เราไม่ได้ทำตามความเคยชิน หรือทำเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ เหมือนตัวเองก็พยายามหนีจากตัวเอง เพราะฉะนั้นก็เลยพยายามมองหาว่าเรื่องไหนที่ตัวเองยังไม่เคยเล่าและยังไม่มีคนอื่นเล่า ผมก็เลยคิดว่าไม่ค่อยขาดแคลนเรื่องเล่าเท่าไหร่ แต่ในบางช่วงเราก็รู้ตัว ว่าเราเองก็หมด
ถ้าเมื่อไหร่ที่คิดอะไรออกมาแล้วมันดูคล้ายๆ เดิมไปหมด ก็จะรู้ตัวว่าต้องอ่านเพิ่ม ซึ่งการอ่านเพิ่มของผมมันไม่ใช่การไปซื้อหนังสือเศรษฐศาสตร์มาอ่าน แต่มันจะเป็นแค่ว่าช่วงนี้เราดันเผลอไปอ่านอะไรเองเป็นพิเศษ เช่น ถ้าช่วงนี้ผมสนใจเรื่องสถาปัตยกรรม มันจะไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ตื่นมาแบบ โอเค ปีหน้ากูจะไปสนใจเรื่องตึกนะ มันไม่ใช่ แต่มันจะมาจากการที่เราไปหาโลเคชั่นบ่อยๆ แล้วเจอว่าตึกนี้สวยจัง แล้วตามมาด้วยคำถามว่า ทำไมถึงสวย อันนี้เรียกว่าอะไร มันจะเริ่มค่อยๆ ไปของมันเอง แล้วจะเริ่มอ่านเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าเป็นความสนใจใหม่
อย่างความสนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์การเงินต่างๆ มันอาจจะมาจากชีวิตประจำวันแหละ อยู่ดีๆ กูต้องบริหารจัดการการเงินอะไรแบบนี้ เราก็จะเริ่มอ่านพวกนี้มากขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่เวลาที่เราอ่าน เราก็จะอ่านในเชิงที่มากกว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แล้วเอามาผนวกกับความสนใจอื่นๆ ของเรา เช่น สถาปัตยกรรมกับสังคมสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง เราจะค่อยๆ จับคู่กันไปเรื่อยๆ แล้วต่อมาก็พยายามคิดว่า เราจะทำหนังเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ได้ไหม เพราะมันอาจจะยังไม่ค่อยมีคนทำเท่าไหร่ อันนี้เป็นที่มาของความสนใจใหม่ของผม ที่ไม่ได้ติดอยู่กับเรื่องความสัมพันธ์ของคนหรือสตอรี่
คำว่าหนังในเซ็นส์ของคุณ คิดว่าในอนาคตมันจะ heavy ขึ้น หรือ light ลง
ผมคิดว่าชีวิตผมน่าจะเบาลงเรื่อยๆ ยังคิดอยู่เลยว่า หลังจากทำงานนิทรรศการในรูปแบบนี้แล้ว ก็ไม่น่าจะมีอีกแล้วนะ เหมือนกับว่าทำครั้งเดียว เทกระจาด ถ้านี่คือหนัง มันก็จบไปอีกประเด็นหนึ่งแล้วนะ ถ้าในเชิงถ่ายรูป ผมคิดว่าผมน่าจะถ่ายรูปน้อยลงเรื่อยๆ ความตื่นเต้นต่อสิ่งต่างๆ คงจะน้อยลง ยกเว้นจะเจอความตื่นเต้นใหม่ในอนาคต เราก็ไม่รู้
แต่ความอยากทำหนังมันก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่เรารอได้มากขึ้น อยากทำโปรดักชั่นที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แบบเรื่องนี้ไม่ต้องส่งไปแข่งได้ไหม รออีกแป๊บหนึ่ง ถ้ามีโอกาสค่อยๆ ทำได้ไหม ผมว่าความเร่งมันจะลดน้อยลง แต่คุณภาพน่าจะมากขึ้น เพราะผมเป็นคนที่ถ้าอยากทำอะไรหรือสงสัยอะไร จะทำไปจนทะลุปรอท พอถึงเวลาเลิกก็เลิกเลย เหมือนกับกูได้รับรู้ถึงความรู้สึกทรมานนั้นแล้ว หรือกูได้รับรู้ถึงความฟินนั้นแล้ว มันจะเหมือนทะลุปรอท แล้วพ้นไป ความหนักก็คงจะเบาลง ยกเว้นว่าเจออะไรใหม่ เช่น หนังอีกแบบหนึ่งที่ไม่เคยทำ ก็อาจจะไปเริ่มใหม่กับเฟสใหม่ไปเลย
ถ้าได้พูดคุยกับตัวละครในหนังเรื่องที่ผ่านๆ มา อยากจะคุยเรื่องอะไรกับเขา
ถ้าเป็นนักแสดงที่ร่วมงานกัน เรามักจะรู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนในครอบครัวประมาณหนึ่ง เพราะว่าทุกคนเวลาเราเรียกมาทำงานหรือเจอกัน เขาไม่ได้มาตามใบสั่ง ไม่ใช่ว่าผมต้องทำงานกับคนนี้ทั้งๆ ที่ไม่อยากทำเลย ทุกคนคือคนที่เราเลือก เราบังเอิญเจอ มีโอกาสได้ร่วมงาน เราก็จะทำงานกับพวกเขาอย่างเต็มที่ แม้แต่งานโฆษณาเราก็ไม่ได้ทำด้วยความรู้สึกว่าทำให้มันจบๆ ไป แม้เราจะกำกับนักแสดงในงานโฆษณา แต่เราก็จะรู้สึกว่าเรากำกับการแสดงอยู่ เพียงแต่มันอยู่ภายใต้ร่มของโฆษณาเท่านั้นเอง เราไม่เคยทำงานด้วยความรู้สึกว่ามาทำให้มันเสร็จกันเถอะครับ แล้วก็กลับบ้าน นี่คือความรู้สึกของเราในฐานะไดเรคเตอร์ เรารู้สึกอย่างนั้นกับทุกงาน ทุกคน
จริงๆ แล้วตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราทำหนังเกือบทุกปี เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีคนเหล่านี้ (นักแสดงที่เคยร่วมงาน) อยู่ในชีวิต เราเจอกันเรื่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยอัตโนมัติ แม้ว่าปัจจุบันเขาจะไปทำอย่างอื่นเเล้วก็ตาม อย่างเราดูรูปวี (วิโอเลต วอเทียร์) ใน ฟรีแลนซ์ มันก็ยังคงเป็นวีใน ฟรีเเลนซ์ ยังคงเป็น that girl ที่เวลาดูรูปก็ยังคงจำได้ว่า เราคุยอะไรกันวันนั้น เรารู้สึกอย่างนั้นมากกว่า
แล้วถ้าเป็นตัวละครที่อยู่ในคาแรคเตอร์นั้นล่ะ อยากบอกอะไรกับเขาบ้าง
ตัวละครในหนังของเรา มันเหมือนจะเป็นก้อนความคิดเราในแต่ละช่วงมากกว่า น่าจะเป็นพวกเขาที่มาบอกว่าเราคิดอะไร ด้วยเหตุใดถึงสร้างฉันขึ้นมา มันมาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเรา แล้ว transform มาเป็นตัวละครต่างๆ จนเกือบจะเเยกไม่ได้ระหว่างตัวละครกับตัวเรา เพราะว่าตัวละครเหล่านี้เกิดมาจากบทของเราเอง ไม่มีตัวละครไหนที่มีคนเขียนมาให้เรากำกับ เป็นความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็ดูโรแมนติกดี เราไม่ได้รู้สึกเสียดายเวลาที่ให้ไปกับการทำหนังเลย เพราะว่าที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นมันคือตัวเรา ไม่มากก็น้อย ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยสนใจว่ามันจะประสบผลสำเร็จมากแค่ไหน เราจะรู้สึกว่าเพียงว่านี่คือเราในช่วงวัยต่างๆ
ที่บอกว่าไม่รู้สึกว่าเสียดาย เพราะทำหนังแต่ละเรื่องมันนานมากๆ นานจนเราเคยเขียนไว้ว่า เหมือนกูเอาอายุไปแลกเลยเนอะ ทำเรื่องนี้ตอนอายุ 31 เสร็จอีกทีตอนอายุ 33 ชีวิตหายไปแล้ว 2 ปี อย่างตอนนี้วูบเดียวก็ 39 แล้ว มันเร็วมาก มันเหมือนกับหายไปช่วงหนึ่งเต็มๆ