ชิซาโกะ คาเกฮิ: มือสังหารชาย ฉายา ‘แม่หม้ายดำ’

ภาพประกอบ: antizeptic

 

เธอมีอายุ 70 ปี เคยเป็นเศรษฐินีผู้มั่งคั่ง ได้รับสมญา ‘แม่หม้ายดำ’ หลังจากถูกอัยการญี่ปุ่นฟ้องต่อศาลด้วยข้อหล่าวหาหลอกลวงให้สามีและเพื่อนชายสูงอายุบางคนดื่มเครื่องดื่มผสมไซยาไนด์จนตายตลอดเวลาประมาณ 10 ปี แล้วฉกฉวยรับผลประโยชน์จากเงินประกันชีวิตและทรัพย์สินมหาศาลของคนเหล่านั้น

ศาลแขวงเกียวโตพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลย ชิซาโกะ คาเกฮิ (Chisako Kakehi) ในข้อหาฆาตกรรมชายสามคน หนึ่งในจำนวนนั้นคือสามีของเธอเอง และข้อหาพยายามฆ่าชายคนที่สี่ ซึ่งต่อมาภายหลังตายด้วยโรคมะเร็ง ในตอนท้ายของการพิจารณาคดีหนึ่งอันสุดโด่งดังและตรึงคนญี่ปุ่นค่อนประเทศให้คอยติดตามข่าว

พฤติกรรมใช้สารไซยาไนด์สังหารโหดคู่รักจำนวนหนึ่งของคาเกฮิ ทำให้สื่อมวลชนญี่ปุ่นตั้งสมญา ‘แม่หม้ายดำ’ (Black Widow) ให้แก่เธอ เป็นการเปรียบเทียบกับแมงมุมชนิดหนึ่งที่สังหารคู่ของตนหลังจากเสร็จกิจผสมพันธุ์

ผู้พิพากษา อายาโกะ นาคากาวะ (Ayako Nakagawa) ระบุ “จำเลยหลอกให้พวกเหยื่อดื่มเครื่องดื่มมีส่วนผสมของไซยาไนด์ ด้วยเจตนาฆ่าให้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนในทั้งสี่คดี” ตามการรายงานของสถานีโทรทัศน์สาธารณะ NHK

ผู้พิพากษานาคากาวะปัดข้อต่อสู้ของทนายจำเลยให้ตกไป ตามที่ได้อ้างเหตุผลว่าคาเกฮิไม่อาจรับผิดทางอาญาได้ เนื่องจากเธอประสบภาวะของโรคสมองเสื่อม

คาเกฮิถูกกล่าวหาว่าฆ่าสามีคนที่สี่ อิซะโอะ คาเกฮิ (Isao Kakehi) อายุ 75 ปี เมื่อ 28 ธันวาคม 2013 หนึ่งเดือนหลังจากแต่งงาน นอกจากนี้เธอยังถูกกล่าวหาว่าฆ่าเพื่อนชายสองคนอายุระหว่าง 70-80 ปี รวมทั้งการฆาตกรรมและโจรกรรมทรัพย์ของเพื่อนชายคนอื่น ช่วงปี 2007-2013

อัยการระบุว่า เธอสังหารชายเหล่านั้นหลังจากแต่ละคนยอมลงชื่อเธอไว้ในฐานะผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตซึ่งมีมูลค่ารวมกันถึง 1,000 ล้านเยน (เกือบ 300 ล้านบาท) ตลอดเวลากว่าสิบปี แต่แล้วต่อมาเธอก็สูญเสียเงินเหล่านั้นไปหมดเนื่องจากขาดทุนในตลาดหลักทรัพย์

คาเกฮิมีประวัติความสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือไม่ก็เจ็บป่วย โดยนัดพบกันผ่านบริษัทตัวแทนจัดหาคู่ ซึ่งเธอมักระบุไว้ว่า ชายที่เธอคาดหวังมาเป็นคู่ครองน่าจะมีฐานะร่ำรวยและไม่มีบุตร

เมื่อตำรวจเริ่มสอบสวนในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าเป็นมือสังหาร เธอจึงได้รับสมญา ‘สตรียาพิษ’ (The Poison Lady) หลังตำรวจพบหลักซานว่าเธอซุกซ่อนไซยาไนด์และอุปกรณ์บางอย่างไว้ในกระถางต้นไม้

เจ้าหน้าที่พบร่องรอยยาพิษในร่างกายของชายอย่างน้อยสองคนที่เธอเกี่ยวข้อง และพบว่ามีเศษปนเปื้อนของไซยาไนด์ในถังขยะที่บ้านในเกียวโตของเธอ และยังพบอุปกรณ์สำหรับใช้ยาและหนังสือคู่มือทางการแพทย์เกี่ยวกับการให้ยาที่อพาร์ตเมนต์อีกแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของเมืองเกียวโต

คาเกฮิเคยปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาขณะการพิจารณาคดีเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน แต่แล้วในทันใดเธอก็สร้างความตกตะลึงให้แก่ทุกคนเมื่อประกาศขึ้นกลางศาลยอมรับสารภาพว่า เธอสังหารสามีคนที่สี่ไปในปี 2013

“ฉันฆ่าเขา…เพราะเขาให้เงินแก่ผู้หญิงคนอื่นๆ เป็นจำนวนนับสิบล้านเยน แต่ไม่ได้ให้เงินฉันแม้แต่แดงเดียว” เธอบอกกับศาล ตามรายงานของสำนักข่าว Jiji Press

จำเลยยังแจ้งต่อศาลด้วยว่าเธอพร้อมที่จะถูกแขวนคอ

“แม้ว่าจะถูกประหารชีวิตวันพรุ่งนี้ แต่ฉันก็จะยังคงยิ้มเสมอ” คาเกฮิกล่าวกับผู้พิพากษา

“ฉันรอเวลาอันถูกต้องตามที่ฉันต้องการมาพักหนึ่งเพื่อจะฆ่าเขาเพราะความเกลียดชัง” หนังสือพิมพ์ อาซาฮี (Asahi) รายงานว่าเธอกล่าวเช่นนี้ในศาล

เครือข่ายโทรทัศน์ฟูจิรายงานคำบอกเล่าของเธอว่า การฆาตกรรมเป็นเพียง ‘เรื่องเงิน’ เท่านั้นเอง

แต่แล้วในสองสามวันถัดมาวัน คาเกฮิดูเหมือนจะถอนคำพูดของเธอ หนังสือพิมพ์ Mainichi รายงานสิ่งที่เธอกล่าว: “ฉันจำไม่ได้ (ว่าพูดสิ่งใด)” ซึ่งดูเหมือนเป็นความพยายามกลบเกลื่อนและทำให้สอดคล้องกับเหตุผลในข้อต่อสู้ที่ทนายจำเลยยกขึ้นต่อศาล

ระบบยุติธรรมทางอาญาของญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากหลังจากคาเกฮิถูกจับกุม บางคนตั้งคำถามว่า เหตุใดหลังการเสียชีวิตของคนรักของเธอบางคนก่อนหน้านั้นจึงไม่เป็นที่สงสัยของทางการ ในบางกรณีการชันสูตรศพก็ไม่ได้ทำอย่างละเอียด แม้ว่ามีการพบไซยาไนด์ในร่างของผู้ชายแล้วอย่างน้อยหนึ่งในจำนวนเหล่านั้น

ตลอดการพิจารณาคดีแบบมาราธอนนาน 135 วัน อันสุดโด่งดัง แต่ละวันมีผู้คนกว่า 500 คนรอคิวเข้าห้องพิจารณาคดีในเกียวโตเพื่อรับรู้กระบวนการพิจารณา นี่เป็นคดีที่ยาวนานที่สุดอันดับสองของคณะลูกขุนนับตั้งแต่ปี 2009 เมื่อญี่ปุ่นเริ่มนำระบบพิจารณาคดีผสมที่มีทั้งผู้พิพากษากับคณะลูกขุนมาใช้

เหล่าทนายความของ ‘แม่หม้ายดำ’ ประกาศว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาให้ประหารชีวิต ซึ่งหมายความว่าคดีจะยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก


อ้างอิงข้อมูลจาก:
AFP / afp.com
The Guardian / theguardian.com
NHK / nhk.or.jp

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า