ชายผู้หลงใหลในฝาปิดท่อระบายน้ำ

manhole-2

แปลและเรียบเรียง: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล

 

นักท่องเที่ยวหลายคนมักมองไปรอบๆ ตัว แต่ ฮิเดโตชิ อิชิอิ กลับชอบมองพื้นมากกว่า

ชายชราวัย 65 ปีคนนี้เป็นนักล่าฝาปิดท่อระบายน้ำ เขาใช้เวลากว่าสองทศวรรษออกเดินทางค้นหา ‘ขุมทรัพย์’ อุปกรณ์คู่กายมีเพียงจักรยานพับได้และแผนที่

“มันเหมือนตามหาเพชรพลอย เมื่อผมพบสักแห่งหนึ่ง ผมก็อดยิ้มไม่ได้” อิชิอิยิ้มกว้าง

ข้าราชการวัยเกษียณชาวโตเกียวอย่างอิชิอิถูกดึงเข้าสู่โลกฝาปิดท่อระบายน้ำช่วงอายุสี่สิบ ในตอนนั้นเองสายตาของเขาถูกดึงดูดจากลวดลายบนฝาปิดท่อระบายน้ำที่มีสีสันสวยงามบริเวณหน้าที่ทำการเจ้าหน้าที่เมืองอิเสะในจังหวัดมิเอะ ลวดลายบนฝาปิดท่อระบายน้ำในวันนั้นเป็นรูปกลุ่มผู้แสวงบุญที่เดินทางมาศาลเจ้าเมืองอิเสะในยุคเอโดะ (ปี 1603-1868)

“มันน่ารัก” อิชิอิรำลึกถึง “หลังจากที่เห็น ผมว่ามันน่าตื่นเต้นถ้าได้ตามหาลวดลายที่ต่างกันทั่วญี่ปุ่น”

ตั้งแต่นั้นมาการตามล่าลวดลายบนฝาปิดท่อระบายน้ำก็กลายเป็นแรงขับเคลื่อนในการเดินทางของเขา วันปกติเราจะเห็นเขาขี่จักรยานเป็นระยะไกลกว่าหนึ่งร้อยกิโลเมตร

ปัจจุบัน เขาไปเยือนมาทั้งหมด 1,700 เขตเทศบาลเมือง และบันทึกภาพถ่ายได้ 4,500 รูป การเดินทางและรูปภาพของอิชิอิได้รับความนิยมจากผู้คนที่หลงใหลงานอดิเรกนี้ที่ชื่นชอบความงามของการออกแบบลวดลายฝาปิดท่อระบายน้ำ ผู้ที่สนใจต่างนำไปแชร์ลงในโซเชียลมีเดีย อย่างเช่น ทวิตเตอร์และอินสตาแกรม และรูปเหล่านั้นก็แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว

 

n-manhole-1
ฮิเดโตชิ อิชิอิ / ที่มา: japantimes.co.jp

 

“ฝาปิดท่อระบายน้ำเหล่านี้คืองานศิลปะ เป็นการออกแบบรายละเอียดที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม และยังคงความละเอียดอ่อนตามสุนทรียะฉบับญี่ปุ่น” ฮิเดโตะ ยามาดะ หัวหน้ากลุ่ม Gesuido Koho Purattofomu (GKP: กลุ่มส่งเสริมระบบท่อระบายน้ำ) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้สนใจ รวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของรัฐ และกรมบำบัดน้ำเสียภายใต้การดูแลของกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานของญี่ปุ่น อธิบายเนื้องาน

“ฝาปิดท่อระบายน้ำของญี่ปุ่นคือวัฒนธรรมที่เราภาคภูมิใจ” ยามาดะกล่าว

ตามที่ GKP (กลุ่มส่งเสริมระบบท่อระบายน้ำ) ให้ข้อมูลว่า ลวดลายต่างๆ บนฝาปิดท่อระบายน้ำญี่ปุ่นมีประมาณ 12,000 ลวดลาย แต่ละลวดลายที่เห็นนั้นวาดขึ้นตามเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์หรือธีมของท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ภูเขาฟูจิ และ สะพานแขวนโยโกฮามะ

เทศบาลเมืองหลายแห่งเริ่มตกแต่งฝาปิดท่อระบายน้ำขึ้นตั้งแต่ปี 1980 จากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสมาคมฝาปิดท่อระบายน้ำภาคพื้นดินแห่งญี่ปุ่นว่า ฝาปิดท่อระบายน้ำสามารถนำมาใช้ในการโปรโมทและปรับปรุงภาพลักษณ์ของระบบบำบัดน้ำเสียได้

เบื้องหลังศิลปะของฝาปิดท่อระบายน้ำ ก็คือกลุ่มผู้ผลิตเจ้าเดิมที่ผลิตอยู่แล้ว ได้ร่วมกันส่งแบบต่างๆ เพื่อเข้าประกวดกับเทศบาล จากนั้นเมื่องานชิ้นใดได้รับการคัดเลือก ผู้ออกแบบก็จะรับหน้าที่ดำเนินการผลิตต่อไป

ฝาปิดท่อระบายน้ำมักถูกออกแบบให้เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้น สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในฝาท่อเหล่านี้ การคาดเดาเหตุผลต่างๆ เบื้องหลังภาพไม่ต่างอะไรกับเกมเกมหนึ่ง

“ประเทศอื่นๆ ก็มีฝาปิดท่อระบายน้ำที่สวยงามเช่นกัน” ยามาดะกล่าว “แต่ผมเชื่อว่าไม่มีประเทศไหนที่ออกแบบลวดลายฝาปิดแตกต่างกันไปแต่ละเมืองอย่างเรา”

จำนวนแฟนๆ ที่ชื่นชอบดีไซน์ฝาปิดท่อระบายน้ำที่แตกต่างในแต่ละที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นหลายพันคน แต่อิชิอิเป็นหนึ่งใดบรรดาคนที่ถ่ายรูปอย่างเรียบง่าย ขณะที่คนอื่นๆ คุกเข่าลงบนพื้นที่เปื้อนเพื่อเก็บภาพพิมพ์หมึกบนฝาปิดท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ยังมีคนตามหาฝาปิดท่อระบายน้ำโบราณที่หายากในยุคก่อนสงครามมากกว่าฝาปิดฉบับที่มีสีสันทันสมัย

2016-09-22-manholecover-01

 

อิชิอิกล่าวอีกว่า จำนวนคนสนใจที่เพิ่มขึ้นอาจได้รับแรงสนับสนุนจากงานฉลองท่อระบายน้ำที่มีการจัดมากขึ้น รวมถึงงานการประชุมสุดยอดท่อระบายน้ำประจำปีซึ่งเริ่มจัดในปี 2014 ด้วยเหตุนี้จึงเรียกคืนนั้นว่า ‘คืนฝาท่อระบายน้ำแห่งโตเกียว’ ถือเป็นศูนย์รวมคนสนใจและแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องฝาปิดท่อกัน

เพื่อเชื้อเชิญให้คนเข้าสู่โลกฝาปิดท่อระบายน้ำมากขึ้น เมื่อเดือนเมษายนกลุ่ม GKP (กลุ่มส่งเสริมระบบท่อระบายน้ำ) จึงเปิดตัวคอลเลคชั่นการ์ดรูปฝาปิดท่อระบายน้ำ การ์ดนี้สามารถรับได้ฟรีที่สถานอำนวยความสะดวกในหน่วยเทศบาลเมือง เช่น โรงบำบัดน้ำเสียของท้องถิ่น

GKP ตีพิมพ์การ์ดชุดแรก 30 แบบเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รูปภาพเซ็ตนั้นเป็นที่นิยมมากจนต้องและตีพิมพ์เพิ่มอีก 30,000 ใบในแต่ละเดือน

“และในเดือนนี้มีการ์ดใหม่ 44 รูปที่อยากจะแนะนำ” ยามาดะ นำเสนอ

ปัจจุบันอิชิอิในวัยหกสิบกลางๆ ยอมรับว่าเขาไม่สามารถขี่จักรยานไกลมากได้เหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาได้ยินเรื่องลวดลายบนฝาปิดท่อระบายน้ำที่เขาไม่ได้เห็นมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันอยู่ในเขตคันโต เขาไม่รอช้าที่จะเดินทางไปหาฝาท่อเหล่านั้น

“ผมไม่อาจข่มความตื่นเต้นของตัวเองได้” อิชิอิเผย

“เมื่อเดือนมีนาคมผมได้ยินว่า เขตโชฟู (ในเมืองโตเกียว) ทำฝาปิดท่อระบายน้ำทั้งหมดหกแบบเป็นรูปตัวละครอนิเมะ ‘คิทาโร่’ (GeGeGe no Kitaro) ผมจึงไปดู และมันก็น่าตื่นเต้นตั้งแต่แบบแรกไปจนถึงลายที่หกที่เป็นแบบสุดท้าย” ความรู้สึกทิ้งท้ายของอิชิอิ


ที่มา: japantimes.co.jp

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า