ตุลาการที่รัก (1): ไยจึงหนีห่างประชาชน

“นี่อาจจะเป็นคำตอบของชื่องานที่ว่า ‘ประชาชนอยู่ตรงไหนเมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ คือประชาชนก็มารวมตัวกันอยู่ตรงนี้นั่นแหละครับ”

ณัชปกร นามเมือง ผู้ดำเนินรายการจาก iLaw กล่าวในช่วงเปิดงาน เมื่อเห็นผู้คนมากหน้าหลายตาอยู่ในห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานที่จัดเสวนาในหัวข้อ ‘ประชาชนอยู่ตรงไหน เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ ก่อนหน้าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ 2 วัน

การเมืองไทยในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา คำวินิจฉัยของตุลาการทำให้หลายคนต้องนั่งลุ้นตัวโก่งอยู่หน้าจอ หรือต้องรัวแป้นพิมพ์บนมือถือเพื่อส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วหลายหน เรียกได้ว่าเป็นสถาบันที่ขยับเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านสถานการณ์การเมือง

เมื่อตุลาการมีอำนาจในการชี้ชะตาพรรคการเมือง ก็เสมือนมีอำนาจในการควบคุมทิศทางประเทศไทยไปด้วย ตุลาการที่ควรจะเป็นที่พึ่งให้ประชาชน คุ้มครองสิทธิให้ประชาชน จึงถูกตั้งคำถามอย่างหนักเมื่อประชาชนรู้สึกว่าคำวินิจฉัยของศาลไม่เป็นธรรม

งานเสวนาในครั้งนี้จึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนตามชื่อหัวข้อ ส่วนแรก คือการอธิบายถึงความเป็นใหญ่หรืออำนาจของระบบตุลาการในประเทศไทย ส่วนที่สอง คือการชี้ให้เห็นว่าประชาชนจะทำอะไรได้บ้างในเมื่อความเป็นใหญ่ของตุลาการกำลังเบียดบังประชาชนออกไปเช่นนี้

 

ธีระ สุธีวรางกูร: ตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน?

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระ สุธีวรางกูร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้เริ่มอภิปรายส่วนแรกผ่านหมวกของนักวิชาการนิติศาสตร์ว่า หากมองด้วยสายตาของประชาชน ก็คงเห็นแล้วว่าคำพูดที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงเลย เพราะที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญก็สะท้อนให้เห็นเช่นนั้นมาตลอด

ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยให้กฎหมายที่ผู้แทนมวลชนเป็นผู้เสนอตกไป การวินิจฉัยหนังสือสัญญาที่คณะรัฐมนตรีทำกับประเทศอื่นว่าต้องมีลักษณะแบบนั้นแบบนี้ ไปจนถึงการยุบพรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีก็ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วหลายคน ความรู้สึกของประชาชนก็คงจะคาดการณ์ได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในฐานะที่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน นั่นคือภาษาตลาดทั่วไป

แต่ถ้าพูดในภาษากฎหมาย อาจารย์ธีระกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในทางกฎหมาย เหตุผลที่ทำให้ศาลอยู่ในสถานะที่เป็นองค์กรสำคัญหรือเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีอยู่ 5 อย่างด้วยกัน

หนึ่ง-สถานะของศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรของรัฐในระดับสูง เนื่องจากตัวกฎหมายที่ก่อตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญก็คือรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

สอง-อำนาจหน้าที่ขององค์กร คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยก็คือคดีที่เป็นเรื่องขององค์กรของรัฐ หรือองค์กรของรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงว่าชอบหรือไม่ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นบิดาขององค์กรทั้งหมด

สาม-คำวินิจฉัยของศาล ในตัวกฎหมายไทย มีเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่วินิจฉัยไปแล้วมีผลผูกพันกับองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกองค์กร ขณะที่ศาลอื่นไม่ได้มีอำนาจแบบนี้ ศาลอื่นตัดสินไปก็ผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีนั้น แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยนั้นทั้งหมด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงผูกพันรัฐสภาได้ ผูกพันฝ่ายบริหารได้ ผูกพันศาลได้ด้วย

สี่-เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปแล้ว ไม่มีองค์กรไหนสามารถเข้ามาตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ขณะที่ศาลยุติธรรมถ้าตัดสินไปแล้วก็ยื่นอุทธรณ์ต่อได้ หรือศาลปกครองชั้นต้นตัดสินก็ไปยื่นศาลปกครองสูงสุดได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีชั้นเดียว เมื่อตัดสินไปแล้วทุกอย่างก็จบ ไม่มีองค์กรไหนมาตรวจสอบอำนาจได้

ห้า-กระบวนการในการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการที่พิเศษมาก

“สมมุติคุณเห็นว่าอำนาจในการตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญหย่อนไปหน่อย มันไม่สามารถตรวจสอบได้เลย แล้วคุณต้องการแก้ไขมัน การพยายามที่จะแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรืออำนาจหน้าที่ของศาล รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดว่าถ้าสมาชิกรัฐสภาฝ่ายเสนอขอแก้ไข แล้วผ่านด่านวุฒิสภาและด่านอื่นๆ ไปได้ โดยเสนอเรื่องนี้ขึ้นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้มีผลกระทบต่ออำนาจหน้าที่ของศาลหรือทำให้ศาลทำหน้าที่ได้ยากขึ้น ร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนั้นจะต้องไปออกเสียงประชามติก่อน ถ้าประชามติผ่าน จึงจะมาประกาศใช้บังคับได้”

 

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง: อยู่ตรงข้ามกับประชาชน?

ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักฐานชัดเจนที่ทำให้เห็นว่าระบบตุลาการเป็นใหญ่ก็คือ ‘ความตึงเครียด’

“ระบบการเมืองทั่วๆ ไปก็คือการที่รัฐบาลถูกตรวจสอบ มีคดีขึ้นสู่ศาล ถูกฟ้องร้อง เป็นเรื่องปกติ แต่ในประเทศไทยมีระบบที่เราอยู่กับมันจนเคยชินแล้ว 14 ปี ทั้งๆ ที่ไม่ปกติ เรามีกระบวนการเลือกตั้งหรือกระบวนการทางการเมืองอะไรอยู่สักพักหนึ่ง จนเมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาลก็เกิดความตึงเครียดขึ้นมา เมื่อคำตัดสินออกมาก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลันรุนแรง พรรคนี้ชนะ พรรคนู้นหายไป แล้วเมื่ออ่านคำพิพากษาเสร็จ ทุกคนก็จะด่า แล้วเราก็วนลูปอย่างนี้ไปเรื่อย ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ มันบ่งชี้ว่าอำนาจตุลาการเป็นใหญ่ แล้วกระทบไปถึงการเมืองด้วย”

ลักษณะของศาลจึงเป็นองค์กรที่ไม่จำเป็นต้องตามใจเสียงข้างมาก ศาลธำรงไว้ซึ่งหลักการต่างๆ ไม่ให้เสียงของแต่ละฝั่งออกนอกลู่นอกทาง เพราะนอกจากเจตจำนงของประชาชนแล้ว ก็ยังมีหลักการพื้นฐานบางอย่างที่ต้องคำนึงถึงอยู่ เมื่อเสียงของประชาชนเทไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งจนกระทั่งมันเขวมากไป ตุลาการจะเป็นคนดึงกลับมา

“นี่คือลักษณะของการร่างรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า postpolitical constitution ก็คือโมเดลที่ให้ศาลเป็นองค์กรที่สาม เป็นกรรมการคอยคุมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะพรรคการเมือง นิติบัญญัติ บริหาร ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ศาลต้องควบคุมระบอบจากความเขลา ความเผลอเรอ หรืออารมณ์ชั่วขณะของฝูงชน ความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมาก มันอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของฝูงชนเสมอไป มันมีวิชานิติศาสตร์ มีตรรกะ มีเหตุผลของมันอยู่ในการตีความว่าผิดหรือไม่ผิด”

นั่นเป็นระบบที่ประเทศไทยเอาเข้ามาใส่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 ที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญมา จนกระทั่งปี 2549 ศาลก็เริ่มมีการขยายอำนาจนอกเหนือไปจากขอบเขตที่คนเข้าใจกัน

“เราเข้าใจว่าศาลไม่มีอำนาจมายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่อยู่ดีๆ ศาลมาบอกว่ามีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้ง อันนั้นเป็นครั้งแรกที่ศาลปกครองออกคำสั่งชั่วคราวว่าให้ระงับการเลือกตั้งซ่อม วันที่ 2 เมษายน 2549 จากนั้นไม่กี่วัน ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยตามมาว่าพระราชกฤษฎีกาเรื่องการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนั้นเกิดความฮือฮามากว่าทำไมอยู่ดีๆ ศาลขยายอำนาจตัวเองไป คือกฎหมายไม่มีทางเขียนชัดเจนทุกเรื่องราว มันเขียนเป็นแบบ abstract เป็นลายลักษณ์อักษรลอยๆ เพราะฉะนั้นมันก็มีช่องในการตีความว่าเรื่องนี้ทำได้หรือไม่ได้”

“แต่สิ่งที่ศาลทำ ก็ไกลเกินจากที่เราตีความไปมากๆ นั่นเป็นครั้งแรก เกิดความปั่นป่วน ทุกคนถกเถียงกัน นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ กระโดดเข้าร่วมวงเต็มไปหมด คนแรกๆ ที่จับกระแสได้ก็คือ ธีรยุทธ บุญมี ว่านี่คือตุลาการภิวัฒน์เข้ามาในการเมือง คนพูดเยอะแยะไปหมด แต่มันก็เหมือนเขวี้ยงก้อนหินลงน้ำ สักพักกระแสมันก็เริ่มนิ่ง ทุกคนก็เริ่มยอมรับว่าอันนี้เป็นความปกติใหม่ของการเมืองไทย ก็คือต่อไปนี้ศาลจะเข้ามามากขึ้น”

“ที่ผมบอกว่าศาลไม่จำเป็นต้องเอาใจเสียงข้างมาก ศาลไม่จำเป็นต้องเอาใจประชาชน แต่ศาลก็ยังต้องเป็นผู้รับใช้ประชาชน ต้องมีความรับผิดชอบกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจ ประชาชนควรมีสิทธิคาดหวังกระบวนการยุติธรรมที่มันสมเหตุสมผล”

ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ศาลตัดสินคดีการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 จนถึงวันที่ยุบพรรคไทยรักไทย ศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย judicial activism ตุลาการตีความก้าวหน้า judicial review ตุลาการเข้ามาตรวจสอบอำนาจทางการเมือง ผ่านมาถึงทุกวันนี้ ที่เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเลือกตั้งใหม่ มีคดีขึ้นสู่ศาลใหม่ จากคำว่าตุลาการภิวัฒน์ในตอนนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นศาลแบบใหม่ที่คนไทยกำลังทำความเข้าใจคือ lawfare นิติสงคราม

“ถ้าเกิดเราดูจากชุดคำอธิบายตุลาการตีความก้าวหน้า ยาวเหยียดมา 14 ปี จนถึงนาทีนี้ที่กลายเป็นว่ามันเป็น lawfare เราน่าจะตอบคำถามได้ว่าตุลาการเป็นใหญ่หรือยัง เพราะมันเป็นสิ่งที่เราเห็นมาตลอด ถ้าโยงมาถึงเรื่องยุบพรรคการเมือง มันเห็นได้ชัดเจนไหมว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในปฏิปักษ์สำคัญขององค์กรที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างพรรคการเมือง”

 

อนุสรณ์ อุณโณ: ขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย?

รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นอภิปรายในมุมมองของนักมานุษยวิทยาว่า

“ผมอยากจะชวนพวกเราไปไกลกว่าศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไปให้ถึงตุลาการหรือกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดของประเทศนี้ อย่างที่เราพอจะทราบกันดีว่าตุลาการก็เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยที่แยกออกเป็นสามอำนาจโดยทฤษฎี และเป็นอำนาจที่มาจากประชาชน แต่ประเด็นก็คือว่า ถ้าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แล้วทำไมจู่ๆ ประชาชนประเทศนี้ถึงถูกถีบออกไป”

ย้อนกลับไปในการเปลี่ยนแปลงปี 2475 ที่มาของประชาธิปไตยที่แยกอำนาจออกเป็นสามหมวด อาจารย์อนุสรณ์ชี้ว่า ปัญหาเกี่ยวกับศาลหรือกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ถูกระบุเอาไว้เป็นเหตุผลหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 พูดไว้แค่สั้นๆ ว่าปัญหาคือกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อให้กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย แต่ไม่ได้พูดว่ากระบวนการยุติธรรมมีปัญหาอะไร

ฉะนั้น ในทัศนะของคนที่เปลี่ยนแปลงการปกครองในตอนนั้นก็ยังไม่ได้มองเห็นว่าศาลเป็นปัญหาของประเทศนี้ จึงไม่ต้องประหลาดใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในกระทรวง กรมทั้งหลาย แทบไม่มุ่งไปที่กระบวนการยุติธรรมเลย

ในส่วนของบุคลากรในระบบตุลาการ มีอาชีพเดียวเท่านั้นที่ต้องปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ นั่นคือผู้พิพากษา และระบุไว้ชัดเจนว่าต้องจงรักภักดีกับพระมหากษัตริย์

“ถ้าเอาเฉพาะกรมราชทัณฑ์ ก็ยังคล้ายว่าจะต่อเนื่องมาจากรัฐราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชอยู่ เห็นจากตรงไหน ชื่อภาษาอังกฤษ เราใช้คำว่า department of corrections ตามแบบฝรั่ง แต่ชื่อภาษาไทย กรมราชทัณฑ์ก็ยังไม่เปลี่ยน ยังเป็นการลงทัณฑ์ของพระราชาอยู่ แล้วอำนาจในการลงทัณฑ์ เราก็จะเห็นได้ว่าไม่ได้ตัดสินในนามประชาชน ลองไปดูหมายศาลก็ดี คำพิพากษาก็ดี ก็ตัดสินในนามของพระปรมาภิไธยทั้งนั้น”

สำหรับอาจารย์อนุสรณ์ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยที่แบ่งเป็นสามส่วน สุดท้ายก็ไม่ได้กลับไปยึดโยงกับประชาชนเลย คนที่อยู่ในแวดวงกระบวนการยุติธรรม ทั้งผู้พิพากษาและศาล ก็ตระหนักว่าตนเป็นชนชั้นหนึ่งในสังคม อาจจะเรียกว่าอภิสิทธิ์ชนก็ได้ นั่นคือชนชั้นในความหมายที่ว่ามีสำนึกและผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นกลุ่มที่มีความต่อเนื่องกันมาเป็นสายตระกูล เกาะเกี่ยวกันมาตั้งแต่สถานที่ที่เรียนจุฬาฯ ธรรมศาสตร์

บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงแรก อาจารย์อนุสรณ์มองว่า ในเบื้องเเรกน่าจะถูกออกแบบมาให้ยึดโยงกับประชาชน เป็นองค์กรอิสระที่เข้ามากำกับควบคุมอำนาจฝ่ายบริหาร สร้างกลไกอะไรบางอย่างขึ้นมาให้ยึดโยงกับประชาชน นอกจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ยังกำหนดให้ สว. มาจากการเลือกตั้งอยู่ จนกระทั่งเดือนเมษายน 2549 ที่เป็นผลให้บรรดาศาลทั้งหลายลุกขึ้นมากุลีกุจอเข้ามาจัดการกับเรื่องราวทางการเมือง มีการประชุมร่วมกันของสามศาล มีคำวินิจฉัยออกมาให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ พอถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่มาของ สว. ก็เปลี่ยนเป็นมาจากการเลือกตั้ง 76 คน แต่อีก 74 คน มาจากการจัดตั้ง ที่มาของ สว. ก็เริ่มถอยห่างจากประชาชน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 สว. ก็มาจากการแต่งตั้งล้วนๆ แล้วศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็มาจากการอนุญาตให้อยู่ต่อโดย คสช. วิวัฒนาการของศาลรัฐธรรมนูญที่เดิมอยากจะเข้ามาเป็นกลไกในการกำกับการใช้อำนาจไม่ให้เลยเถิด สุดท้ายมันก็ไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้

“เมื่อมันไม่ได้มีสำนึกที่จะต้องรับผิดกับประชาชน เราจึงเห็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เอื้ออำนวยกับประชาชนหรือคนจน ลากไปตั้งแต่ศาลยุติธรรม มีคำพูดเสมอ คุกมีไว้ขังคนจน ปีที่แล้ววันธรรมศาสตร์สามัคคี ประธานศาลฎีกามาพูดในงาน ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า ส่วนใหญ่ของคนที่ติดคุกคือคนจน แล้วเหตุผลที่คนจนติดคุกในแง่หนึ่งอาจไม่เท่าทันกฎหมาย แต่มันมีราคาในกระบวนการยุติธรรมที่คนจนเข้าไม่ถึง เช่น การจ้างทนาย ไปเอาทนายที่เป็นทนายอาสาอะไรเขาก็แนะนำว่าอย่าไปสู้เลย ยอมๆ ไปเถอะ ติดคุกทีเดียวจบ คุณไม่มีเงินไปขึ้นศาลนู่นนั่นนี่หรอก”

“กระบวนการยุติธรรมมีราคาที่ต้องจ่าย ยังไม่นับว่าในชั้นของการประกันตัว ถ้าไม่มีเงินคุณก็ติดคุกไป หลายคนติดคุกฟรีไปจนกระทั่งตัดสินแล้วว่าไม่ผิด ก็ติดฟรีไปเอาผิดกับใครไม่ได้ อันนี้คือราคาของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อให้ความยุติธรรมกับประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนต้องแบกรับ”

ศาลรัฐธรรมนูญ แทนที่จะได้ทำหน้าที่อย่างที่ถูกออกแบบไว้ กลับกลายเป็นกลไกอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยหรือการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชน ซึ่งเราจะเห็นตั้งแต่วินิจฉัยการเลือกตั้งเป็นโมฆะในปี 2549 และ 2557 หรือการวินิจฉัยให้นายกฯ ตกคุณสมบัติไป ทั้งสมัคร สุนทรเวช ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“เราเห็นถึงความสองมาตรฐาน บางครั้งก็ใช้กฎหมาย บางครั้งก็ไปเปิดพจนานุกรม กลายเป็นว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคนที่ถูกฟ้องเป็นใคร อยู่ฝ่ายไหน มันก็เลยพอจะเดาได้ว่าผลที่ออกมาจะเป็นยังไง ประวัติศาสตร์มันสอนให้รู้ว่ามีแนวโน้มที่จะตัดสินอย่างนั้น”

ประเด็นหลักๆ ของอาจารย์อนุสรณ์ก็คือ ไม่ได้มีแค่ศาลรัฐธรรมนูญศาลเดียวที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำให้เสียงของประชาชนหายไป แต่เราจะเห็นถึงการทำงานรับลูกกันของบรรดาศาลและองค์กรอิสระอื่นๆ ซึ่งก็คือ ป.ป.ช. หรือ กกต. ที่มีความคล้ายกัน คือไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เนื่องจากมีที่มาจากการแต่งตั้ง แล้วก็อยู่ภายใต้การกำกับของกลุ่มคนหยิบมือหนึ่งเท่านั้น

 

สัณหวรรณ ศรีสด: อิสระและความเป็นกลาง

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล อธิบายเพิ่มเติมโดยเปรียบเทียบตามกฎหมายมาตรฐานระหว่างประเทศว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในประเทศอื่นๆ ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นใหญ่ เนื่องจากเป็นองค์กรสำคัญที่เป็นตัวช่วยของประชาชนในวันที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายอะไรที่มาลิดรอนสิทธิ คนก็จะไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ แล้วศาลก็จะออกคำสั่งคำพิพากษาซึ่งมีผลบังคับใช้กับทุกสถาบัน เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชน

“ยกตัวอย่างเช่น ไม่นานมานี้ที่เกาหลีใต้มีการออกคำสั่งออกมาว่าห้ามชุมนุมในบริเวณศาลที่สำคัญ คนก็เอาไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีคำสั่งว่านิติบัญญัติออกกฎหมายแบบนี้ไม่ได้ อันนี้คือศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นกลไกช่วยในการปกป้องสิทธิของประชาชน ในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาก็จะมีบทบาทเช่นนี้”

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย เกิดคำถามขึ้นมากมายว่าศาลรัฐธรรมนูญที่มีการรับรองจากรัฐสภา ได้รับการต่ออายุจาก คสช. ถือว่าถูกต้องแล้วหรือเปล่า ในกฎหมายมาตรฐานระหว่างประเทศมีการพูดถึงประเด็นนี้เช่นกัน ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ก็มีการรวบรวมกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องของความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเอาไว้

“และภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ทุกอย่างที่เขาพูดถึงผู้พิพากษาเขาจะดึงกลับมาที่สองหลักเสมอ นั่นคือความเป็นอิสระและความเป็นกลางของผู้พิพากษา ต้องมีความอิสระและเป็นกลาง ถึงจะสามารถปกป้องหรือประกันสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของประชาชนได้”

อิสระก็คืออิสระจากปัจจัยภายนอก เป็นอิสระจากคนอื่นๆ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามาแทรกแซงตัวผู้พิพากษา ส่วนความเป็นกลางก็คือความเป็นอิสระจากภายใน คือตัวผู้พิพากษาเองต้องเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีธงล่วงหน้าในการตัดสินคดี

ทีนี้แบบไหนจึงเรียกว่าเป็นการแต่งตั้งที่เป็นอิสระ? อย่างการแต่งตั้งโดยระบบรัฐสภาสามารถทำได้หรือไม่ได้ สัณหวรรณให้ข้อมูลว่า มาตรฐานระหว่างประเทศไม่ห้ามการแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ นั่นคือไม่ได้ห้ามให้รัฐสภามีส่วนร่วม แต่ไม่แนะนำให้ใช้ สนับสนุนให้การแต่งตั้งควรทำโดยองค์กรที่เป็นอิสระมากกว่า เช่น ผู้พิพากษาไทยทั่วไปจะถูกแต่งตั้งโดยหน่วยงานที่เรียกว่า กต. แต่ก่อน สมาชิกใน กต. มีสองท่านที่ต้องมาจากรัฐสภา เมื่อไม่นานมานี้ กต. ก็แก้กฎหมายภายในให้เป็นการเลือกตั้งโดยผู้พิพากษากันเอง รัฐสภาไม่ต้องมายุ่ง กรณีนี้ถือว่าเป็นการแก้ไขที่เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ คือทำให้องค์กรมีความเป็นอิสระมากยิ่งขึ้น

“มาตรฐานระหว่างประเทศบอกว่าการแต่งตั้งผู้พิพากษาจะต้องแต่งตั้งตามคุณสมบัติ ไม่ใช่ว่าไปเลือกตั้งอะไรกันมา ไม่เช่นนั้นก็จะมีสหประชาชาติที่คอยติติงอยู่ตลอด เช่นประเทศสโลวาเกีย การที่จะเป็นผู้พิพากษาได้ต้องได้รับการรับรองโดยรัฐสภา ซึ่งสหประชาชาติก็ติติงไป หรือว่าอีกประเทศหนึ่งที่ให้ฝ่ายบริหารลงคะแนนว่าจะให้ใครเป็นผู้พิพากษา สหประชาชาติก็ติติง แล้วจะเป็นอิสระได้ยังไง ในเมื่อฝ่ายบริหารควบคุมฝ่ายตุลาการได้”

แนวคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้จากสภายุโรปก็คือ นอกจากจะต้องเป็นอิสระแล้ว สาธารณชนต้องมองเห็นอย่างนั้นด้วย ถือเป็นความรับผิดชอบของศาลที่ต้องทำให้ประชาชนเชื่อ นี่ก็เป็นประเด็นที่ประเทศไทยขาดอยู่ ว่าการที่รัฐสภาให้การรับรองนั้นไม่มีหลักประกันที่ทำให้คนทั่วไปเชื่อถึงความเป็นอิสระหรือความโปร่งใส

แต่นอกเหนือไปจากนั้น จุดที่สำคัญที่สุดก็คือ ต่อให้กระบวนการเลือกเข้ามาเป็นอิสระแค่นั้น ถ้าสุดท้ายผู้พิพากษาไม่เป็นกลางจากภายในจากจิตใจเอง ก็ยังเป็นการละเมิดกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ และละเมิดสิทธิที่ประชาชนควรมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมอยู่ดี

Author

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า