สังคมสูงวัยในธนาคารขยะ: สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องรอง การเงินและประกันชีวิตสิเรื่องจริง

สองเรื่องที่ไม่น่าเกี่ยวกันได้ แต่เป็นข้อสังเกตจากการบริหารชุมชนในตำบลเอราวัณ อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย และอยากชวนแลกเปลี่ยนกันในที่นี้ คือ ‘ธนาคารขยะ’ กับ ‘สังคมสูงวัย’

ที่น่าสนใจ (และคิดว่าขณะนี้คนน่าจะสนใจ) คือเพราะ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานทั้งในชุมชนออนไลน์และห้างร้านเอกชน ต่างร่วมใจกันเคลื่อนทัพ ‘say no to single-use plastic’ ไม่เอาหลอดพลาสติกบ้าง ไม่เอาถุงพลาสติกบ้าง หลายร้านให้ส่วนลดกับคนที่นำภาชนะบรรจุภัณฑ์มาเอง

แต่เหตุผลจุดเริ่มต้น อันที่จริงไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่นะคะ เดาว่าหมุดหมายสำคัญในไทยเริ่มจากข่าววาฬนำร่องครีบสั้นเกยตื้นที่ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับต่างประเทศ ที่อ้างอิงทั่วไปคือคลิปวิดีโอเอาหลอดพลาสติกออกจากจมูกเต่าเมื่อสองปีก่อน

หลังจากนั้นเวลาที่พูดว่า ‘ไม่เอาถุงพลาสติก’ จึงเป็นที่เข้าใจและไม่ถูกตั้งแง่ว่าเป็นพวก ‘นโยบายทางสิ่งแวดล้อมจัด’

กลับมาที่ ‘ธนาคารขยะ’ ในตำบลเอราวัณ ว่าน่าสนใจจนต้องหยิบมาพูดที่ตรงไหน และเกี่ยวกับ ‘สังคมสูงวัย’ อย่างไร (อย่ามาจับแพะชนแกะนะ!) ซึ่งจะขออธิบายยาวๆ แบ่งเป็นหมวดๆ แต่อยากเกริ่นสั้นๆ ในที่นี้ก่อนว่า

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้โมเดลธนาคารขยะมัน ‘เวิร์ค’ ได้ในพื้นที่ ส่วนตัวเห็นว่าเขาใช้โมเดลการจัดการแบบธนาคารจริงๆ โดยเฉพาะการนำระบบ ‘ประกันชีวิต’ เข้าร่วมด้วย และกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ ‘ผู้สูงวัย’ ในชุมชน

ภาพถ่าย: พีรัช อาชามาส

ที่มาโครงการ ‘ธนาคารขยะ’

ตอนเด็กๆ เคยเป็นสมาชิกธนาคารขยะในหมู่บ้าน และพบว่า ‘วุ่นวาย’ เหลือเกิน เพราะไม่ใช่แค่แยกขวดพลาสติกออกจากกระดาษ แยกกล่องนมออกจากขยะอันตราย แต่เฉพาะขวดพลาสติก มันต้องแยกย่อยระดับ… นี่ขวดนมเปรี้ยว (ขวดขุ่น ตูดมีเส้นขีดกลางหนึ่งเส้น) นี่ขวดน้ำสีใส ในขวดน้ำสีใสก็ต้องแยกฝา ฉลากพลาสติกหุ้มพลาสติกอีกรอบ แล้วจึงส่งขายธนาคารได้อย่างมีราคา

ถ้าไม่แยกทั้งหมดนี้ จะถูกระบุว่าเป็นขยะทั่วไป ราคาต่ำเตี้ยไม่คุ้มกับการหมกขยะไว้ในบ้านเป็นเดือนๆ ให้แม่ด่าเล่น

คนเป็นลูกที่ยังเด็ก มีกำลัง เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ครูเปิด An Inconvenient Truth สารคดีว่าด้วยเรื่องโลกร้อนอันลือชื่อเพื่อให้เข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้ดู แต่ถึงเวลาจริงกลับอยากจะยกขยะให้ซาเล้งฟรีๆ ไม่เอาตังค์ก็ได้ แยกเท่าที่แยกได้แล้วยกให้คนที่มีอาชีพนี้ทำงานต่อดีกว่า

แต่คนเป็นพ่อ ซึ่งตอนนั้นมีอายุเยอะและเป็นฟรีแลนซ์ -ในแง่ที่มีเวลาอยู่กับบ้าน- กลับทุ่มเท (หมกมุ่น) คัดแยกขยะให้ถูกวิธีเพื่อขายให้ได้ราคาดีที่สุด และไม่ได้คิดจะถอนเงินตรงนั้นออกมา แต่มองเป็นเงิน ‘เก็บตาย’ กองไว้ตรงนั้น

ทั้งหมดนี้เพื่ออยากอธิบายให้เห็นภาพว่า การแยกขยะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และวุ่นวายเรื่องการจัดการในระดับหนึ่ง ผลสุดท้ายคือ ด้วยเวลาที่จำกัด ทั้งเราและพ่อฟรีแลนซ์ ก็ค่อยเลิกส่งขยะเข้าธนาคารขยะในหมู่บ้าน และแยกส่งให้ซาเล้งขาประจำแทน

มันเลยเป็นเรื่องฝังใจว่า “เฮ้ยยย… ธนาคารขยะไม่ใช่เรื่องจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการบริหารจัดการที่ต้องสร้างแรงจูงใจอะไรสักอย่างคู่ควบได้”

ซึ่งไอ้ ‘อะไรซักอย่าง’ ที่ว่า มันถูกปรับให้เข้ากับลักษณะของคนในพื้นที่ และปรับจากความต้องการของคนในพื้นที่ โดยตั้งต้นจาก ‘ธรรมนูญสุขภาพตำบล’

อันที่จริง พอพูดคำว่า ‘ธรรมนูญสุขภาพตำบล’ มันให้ภาพธรรมนูญแข็งทื่อ จับต้องไม่ได้ และเป็นธรรมนูญที่เขียนให้ตรงกับธรรมนูญใหญ่ของฝ่ายรัฐอีกที แต่ อุเทน แสงนาโก ปลัดเทศบาลตำบลเอราวัณ และ แดง วงษา กำนันตำบลเอราวัณ ร่วมกันอธิบายว่า ที่มาของธรรมนูญหมู่บ้าน เกิดจากความ ‘อุกอั่ง’ หรือในภาษาท้องถิ่นแปลว่า ‘ความคับข้องใจ’

แดง วงษา / ภาพถ่าย: พีรัช อาชามาส

“ถ้าถามเพิ่น (คนอื่น, เขา) ว่าอยากได้อะไร อยากทำอะไร มีปัญหาอะไร เพิ่นอาจจะตอบไม่ได้ แต่ถ้าให้พูดถึงความ ‘อุกอั่ง’ เพิ่นระบายออกมาได้หมด อุกอั่งแม้กระทั่งลูกผัวตัวเอง (หัวเราะ)” อุเทนอธิบายถึงที่มาของการทำธรรมนูญสุขภาพตำบลในช่วงแรก และเล่าว่าไม่ใช่แค่ให้ชาวบ้านได้ระบาย แต่หลังจากนั้นต้องนำปัญหาที่หลากหลายมาจัดลำดับและต้องประชุมกันอีกหลายรอบ ว่านี่คือปัญหาที่อยากจะแก้ร่วมกันจริงๆ ใช่ไหม ถ้าแก้ แก้อย่างไร

อุเทน แสงนาโก / ภาพถ่าย: พีรัช อาชามาส

“เราใช้เวลาประมาณสองปี เพื่อคุยว่าความอุกอั่งที่อยากแก้คืออะไร ไม่รีบ จะเอาเวลามากำหนดไม่ได้ เมื่อได้แล้ว การทำงานของเทศบาลต้องยึดธรรมนูญเป็นแกน ทำให้มีชีวิตอยู่ตลอด” อุเทนกล่าว

ข้อตกลงร่วมของชุมชน ยกร่างเป็น ‘ธรรมนูญสุขภาพสู่ตำบลสุขภาวะของประชาชนตำบลเอราวัณ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2558’ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2558 แต่เฉพาะโครงการธนาคารขยะ ถูกทบทวนและบรรจุเพิ่มลงในในภารกิจชุมชน และประกาศใช้ฉบับแก้ไขเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ความสำเร็จเชิงประจักษ์ (ซึ่งหมู่บ้านของข้าพเจ้าทำได้ไม่นาน) นอกจากมีความร่วมมือทั้งจากเจ้าหน้าที่เทศบาล ผู้ประกอบการรับซื้อขยะ และจากชุมชน จนเกิดการพัฒนารูปแบบและแรงจูงใจจำนวนหนึ่งในฐานะ ‘ธนาคาร’ ผลลัพธ์โดยตรงอย่างจำนวนขยะที่เคยเกลื่อนในชุมชนก็หายไป (จาก 9 ตัน/วัน ในเดือนมกราคม ปี 61 เป็น 5 ตัน/วัน ในเดือนมกราคม ปี 60) เวลามีงานบุญต่างๆ ไม่เคยมีขยะเหลือ เวลาชาวบ้านออกไปทำงานนอกพื้นที่ก็มีการเก็บขยะข้างนอกเข้ามาขายในหมู่บ้าน

และมีชีวิตขนาดที่โครงการธนาคารขยะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขระบบการบริหารตามปัญหาที่เกิดจริงระหว่างดำเนินโครงการ เช่น การบันทึกยอดเงินร่วมที่ต้องชัดเจนโปร่งใสและมีสำเนาเหมือนกันทั้งสามตัวละคร คือ เจ้าหน้าที่ธนาคาร ผู้รับซื้อขยะ และผู้ฝากขายขยะ, มีการประชุมร่วมกำหนดคณะกรรมการจากตัวแทนหมู่บ้าน, ขยายโครงการจากรีไซเคิลขยะมูลฝอยอย่างเดียว เป็นรีไซเคิลขยะจากอาหารเพื่อทำเป็นปุ๋ย หรือการเข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์รีไซเคิลขยะอาหารจากเทศบาล และอื่นๆ

ภาพถ่าย: พีรัช อาชามาส

สังคมสูงวัยในธนาคารขยะ: สิ่งแวดล้อมเรื่องรอง ระบบประกันชีวิตสิเรื่องจริง

ที่น่าสนใจจริงๆ อยู่ที่หัวข้อนี้ เพราะภาพที่เห็นในวันที่สมาชิกเอาขยะมาขายกัน เกือบทั้งหมดคือคุณลุง คุณป้า คุณย่า คุณยาย มองไปแล้วให้ความรู้สึกเอ็นดูปนตั้งข้อสังเกตว่า ‘นี่มัน aging society’ ชัดๆ

เข้าไปพูดคุยกับสมาชิกที่นำขยะมาขาย อย่าง แม่แตงอ่อน ภักดีกุล อายุ 69 ปี พูดคุยทั่วไปเรื่องกิจวัตรประจำวันและนิสัยการคัดแยกขยะ เธอเล่าว่า ข้อเรียกร้องที่บอกให้คัดแยกขยะอย่างเข้มงวดจริงจังไม่ได้สร้างความวุ่นวายให้กับเธอ เพราะก่อนเข้าร่วมโครงการ ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่อธิบายวิธีคัดแยกอย่างละเอียดและชี้แจงราคาอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่แรก การไม่คัดแยกแล้วขายรวมต่างหากที่เป็นปัญหา เพราะได้ราคาน้อย

เมื่อถามว่า นิสัยคัดแยกขยะแบบนี้เกิดขึ้นกับสมาชิกทุกคนในบ้าน หรือเป็นแค่เธอที่จัดการ เธอเล่าว่าส่วนใหญ่แล้วมีแค่เธอ เพราะลูกหลานต้องไปเรียนหรือทำงานนอกบ้าน บ้างต้องออกไปทำงานต่างเมือง ทำให้เธอซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการบ้าน สะดวกและมีเวลาพอจะคัดแยกมากกว่า (ใช่ไหมว่า การจัดการบ้านเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทักษะและการบริหารงานเต็มเวลา และยังไม่พูดถึงปัญหาแรงงานอพยพเข้าไปทำงานในตัวเมือง)

นอกจากนี้ เธอยังอธิบายด้วยเสียงกระซิบพร้อมกระหยิ่มยิ้ม “ป้าไม่เคยถอนเลย เก็บไว้เป็นเงินตอนตาย และสำหรับ (โครงการ) ฌาปนกิจอย่างเดียว”

โครงการฌาปนกิจที่ว่า เป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่โครงการธนาคารขยะใช้ชวนลูกบ้านให้เข้ามาเปลี่ยนขยะเป็นเงิน ซึ่งนายแดง กำนันตำบลเอราวัณ เปรียบว่าคล้ายกับระบบประกันชีวิต คือเมื่อมีลูกบ้านตาย สมาชิกในโครงการธนาคารขยะทุกคนที่ได้รับสิทธิ (ฝากขยะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหกเดือน) จะต้องจ่ายเงินเข้าโครงการฌาปนกิจเป็นเงิน 20 บาท โดยธนาคารจะรวบรวมเงินที่ได้ส่งให้กับญาติผู้ตายเพื่อเป็นเงินทำศพต่อไป และผู้มีสิทธิรับเงินฌาปนกิจนี้ก็ไม่ใช่เฉพาะสมาชิกที่ฝาก แต่ญาติหรือผู้มีชื่อในสำเนาทะเบียนบ้านเดียวกันก็มีสิทธิได้เงินฌาปนกิจด้วย

และต้องย้ำตรงนี้ว่า แม้ว่าระบบฌาปนกิจจะมีอยู่แล้วในชุมชน แต่โครงการดังกล่าวยังถูกดึงเข้ามาอยู่ในโครงการธนาคารขยะอยู่ดี เพื่อให้เกิดการจัดสรรอย่างเป็นระบบมากขึ้นในแง่การจัดการในระบบธนาคาร

ศีลธรรม ชาภักดี (คนขวา) / ภาพถ่าย: พีรัช อาชามาส

ศีลธรรม ชาภักดี เจ้าหน้าที่โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล อธิบายเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการจำนวน 16 หมู่บ้าน รวม 1,200 ครัวเรือน จาก 2,500 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในตำบล อีก 30 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เข้าร่วมคือชาวบ้านที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ต้องออกไปทำงานต่างจังหวัด หมายความว่า หากอาศัยอยู่จริงในตำบล ชาวบ้านเกือบทั้งหมดเข้าร่วมโครงการ แต่จะฝากมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่กิจกรรมของแต่ละคน เฉพาะยอดเงินฝากต่อเดือนเฉลี่ยที่ 60,000-70,000 บาท ไม่รวมยอดหักเงินฌาปนกิจรายเดือนที่ต้องจ่ายให้แก่สมาชิก

ประเมินจากคนนอก เราตีความว่า ส่วนหนึ่งที่การบริหารจัดการสำเร็จและเห็นผลเชิงประจักษ์ เพราะธรรมนูญพื้นที่เกิดขึ้นจากคนในชุมชน ซึ่งคนที่อยู่ส่วนใหญ่ (ประเมินจากสายตาตลอดสองวันที่เข้าร่วมกิจกรรม) คือคุณลุง คุณป้า คุณย่า คุณยาย ระบบที่เกิดขึ้น จึงเป็นความต้องการของพวกเขา หากลองจับระบบฌาปนกิจในโมเดลธนาคารขยะมาใส่ในธนาคารขยะของมหาวิทยาลัย ทำนายหยาบๆ อาจบอกว่าไม่ได้ผล

และหากเป็นเหตุผลอย่างที่แม่แตงอ่อนเล่าว่า มีแต่เธอที่คัดแยกขยะ เพราะลูกๆ ต้องออกไปทำงานนอกบ้านต่างเมือง นั่นอาจยิ่งเห็นภาพว่า สังคมสูงวัยในต่างจังหวัดเกิดขึ้นจริงแล้ว และไม่ใช่ภาพหม่นเศร้าเสียใจ แต่คือตลาด คือกิจกรรม คือระบบที่หากถูกคิดให้ฟังก์ชั่น (แน่นอนว่าต้องฟังเสียงผู้ใช้) นี่แค่ธนาคารขยะที่จับคู่กับฌาปนกิจ แต่โมเดลอื่นและในพื้นที่อื่นล่ะ? มันจะมีโอกาสทางเศรษฐกิจและเกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ทำได้จริงมากขนาดไหน

และเป็นอีกครั้งที่ (พวกเราปลอดภัย -เดี๋ยว ไม่ใช่พาวเวอร์พัฟเกิร์ล!) ธนาคารขยะสอนให้รู้ว่า จะจับเรื่องสิ่งแวดล้อม จะรอให้คนเปลี่ยนเพราะจิตสำนึกไม่ได้จริงๆ

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า