วิสามัญฆาตกรรม ‘ชัยภูมิ’ และ ‘อะเบ’ ความยุติธรรมที่ยังไม่เกิด

วันที่ 14 กรกฎาคม 2561 ณ สำนักงานกลางคริสเตียน เครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส และ นายอะเบ แซ่หมู่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กลุ่มดินสอสี และภาคีเครือข่าย ได้จัดเสวนาวิชาการและนิทรรศการศิลปะ ในหัวข้อ ‘วิสามัญฆาตกรรมและปริศนาความยุติธรรมทางอาญาที่ยังไม่เกิด: คดี ชัยภูมิ ป่าแส และ อะเบ แซ่หมู่’

วิสามัญฆาตกรรม
อังคณา นีละไพจิตร

โดยมี อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดในภาพรวมของสถานการณ์วิสามัญฆาตกรรมในประเทศไทย โดยนางอังคณากล่าวว่า ถ้าพูดในเรื่องของการวิสามัญฆาตกรรม อาจจะมีอีกคำหนึ่งว่าเป็น ‘การฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม’ การวิสามัญฆาตกรรมเป็นชื่อที่ใช้ในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต เช่น การทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือเสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ โดยเป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เราจึงจะเรียกว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรม

หลักการในการที่เจ้าหน้าที่จะใช้ความรุนแรง หรือว่าทำให้เกิดการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บได้ ก็ต้องมีเงื่อนไขด้วยเหตุผลที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่นั้นต้องปกป้องตัวเอง หรือว่าปกป้องบุคคลอื่นจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทั้งการใช้อาวุธที่จะตอบโต้ก็ต้องได้สัดส่วนกับความรุนแรงหรือว่าการใช้อาวุธของอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

“ดังนั้นในกรณีของการที่เจ้าหน้าที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของบุคคล ในทางกฎหมายก็จำเป็นจะต้องมีวิธีในการไต่สวนกันไป ก็คือการที่ศาลจะเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพื่อที่จะบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ตายเป็นใคร ใครที่เป็นคนทำให้ญาติเขาตาย อันนี้เป็นการไต่สวนเบื้องต้นเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงสามประการ เพื่อที่จะนำมาสู่การดำเนินคดีและเพื่อที่จะพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่กระทำการอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่”

อังคณากล่าวต่อถึงเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมครั้งสำคัญในประเทศไทยเมื่อปี 2539 ก็มีเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมครั้งใหญ่ ที่เป็นที่สนใจของประชาชนในตอนนั้น คือการวิสามัญฆาตกรรมคดี โจ ด่านช้าง ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

“กลุ่ม โจ ด่านช้าง มีประมาณหกคน หลังจากที่เขาได้มอบตัวแล้ว ก็ปรากฏว่าทั้งหกคนถูกนำกลับเข้าไปที่บ้านอีกครั้งหนึ่งเพื่อนำกลับไปทำแผน แล้วก็มีเสียงปืนดังขึ้น ทั้งหกคนเสียชีวิต การวิสามัญฆาตกรรมในครั้งนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จนนำมาสู่การปรับปรุงพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลวิธีกฎหมายพิจารณาความอาญาว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ และการไต่สวนการตายในปี 2542 ซึ่งในการวิสามัญฆาตกรรมหลังจากที่มีการจับกุมผู้ต้องหาทั้งหกคนแล้ว ตอนนั้นก็เป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศนโยบายกวาดล้างยาเสพติด หลังจากที่ศาลไต่สวนการตายกรณีนี้ สภาทนายความได้เป็นโจทก์ในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ที่ทำการวิสามัญฆาตกรรม

“มีอยู่วันหนึ่งขณะที่ศาลนัดไต่สวนคดีที่ญาติของผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ ก็ปรากฏว่าพอทนายไปศาล ศาลได้แจ้งว่า ญาติผู้ตายทั้งหมดได้ถอนฟ้องและไม่ติดใจเอาความทั้งหมด กรณีนี้ก็เลยทำให้ยุติคดีและไม่สามารถที่จะพิจารณาต่อไปได้ ว่าการที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในการวิสามัญฯ นั้นเป็นไปตามหลักยุติธรรมหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ทำการวิสามัญฆาตกรรมในครั้งนั้นก็ไม่ได้ถูกสั่งพักราชการ ไม่ได้ถูกสอบสวนทางวินัยหรือดำเนินคดีทางอาญาใดๆ อันนี้เป็นกรณีแรก”

ต่อมาในช่วงสงครามยาเสพติดปี 2546 ปรากฏว่าเกิดคดีฆาตกรรมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมด 1,187 คดี มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ตัวเลขที่บันทึกไม่แน่นอน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการวิสามัญฆาตกรรมประมาณ 2,500 ถึง 3,000 คน นอกจากนั้นในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจำนวนมากไม่ได้มีการไต่สวนการตายทุกกรณี เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะให้ข้อมูลว่าญาติไม่ติดใจวิสามัญฆาตกรรม หากว่าญาติไม่ติดใจ พนักงานสอบสวนก็จะไม่ทำสำนวนในการไต่สวนการตาย

หลังจากสงครามยาเสพติดก็มาถึงเหตุการณ์ในจังหวัดสามชายแดนภาคใต้ กรณีเหตุการณ์กรือเซะเมื่อเดือนเมษายน 2547 ซึ่งมีแต่มันก็มีผู้เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะ 32 คน ซึ่งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ซึ่งทางกรือเซะเองก็ได้มีการไต่สวนการตาย นัดสุดท้ายศาลก็มีคำสั่งว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแต่อย่างใด ต่อมาทางรัฐบาลเองก็ได้ให้การเยียวยา ในส่วนของคดีในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษก็ไม่มีความคืบหน้า

หลังจากเหตุการณ์กรือเซะมาสู่เหตุการณ์ตากใบในปลายปี 2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 78 คนในช่วงการขนย้ายจากหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารที่จังหวัดปัตตานี กรณีนี้มีการไต่สวนการตาย และศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งการไต่สวนการตายเมื่อปี 2552 โดยศาลมีความเห็นว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามความจำเป็นแห่งเหตุการณ์และสถานการณ์เท่าที่เอื้ออำนวย ศาลไม่ได้เขียนว่าผู้ใดเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต

ในรายงานสรุปการตายมีการเขียนระบุว่า ผู้ตายเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ กรณีนี้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต ทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีความเห็นสอดคล้องกับอัยการ จึงทำให้คดีของเหตุการณ์ตากใบยุติ

อย่างไรก็ดี อังคณากล่าวว่า กรณีตากใบน่าสนใจในแง่ที่ว่า ญาติและครอบครัวได้มาร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิในช่วงรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งให้อำนาจกับกรรมการสิทธิในการฟ้องร้องแทนประชาชน แต่หลังจากญาติมาร้องกับกรรมการสิทธิแล้ว ญาติได้มาขอถอน โดยไม่มีใจให้กรรมการสิทธิดำเนินการต่อ เนื่องจากมีความหวาดกลัว และเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย ซึ่งกรณีตากใบต่อมารัฐบาลก็ได้มีการเยียวยาด้วยจำนวนเงินที่สูงมาก

“ต่อมาก็คือเรื่องที่จะพูดถึงกันวันนี้ ก็คือการวิสามัญฆาตกรรมกรณีชัยภูมิ แล้วก็อะเบ ทั้งสองกรณีนี้ก็เป็นกรณีที่ได้รับความสนใจจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศ เนื่องจากเป็นการวิสามัญฆาตกรรมเยาวชนในกลุ่มชาติพันธ์ุ ชัยภูมิเองก็เป็นนักกิจกรรมรุ่นใหม่ด้วย ชาวบ้านและญาติเองก็ให้ข้อมูลตรงกันว่าชัยภูมิและอะเบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับยาเสพติด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นตอนกลางวัน มีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ และมีกล้องทีวีวงจรปิดที่ตั้งอยู่เป็นระยะในพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุอีกด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ว่าในช่วงเวลาที่วิสามัญเกิดอะไรขึ้น ทำให้ผลของการไต่สวนการตายกรณีนี้ไม่สามารถชี้ชัดว่าแล้วใครเป็นผู้ทำให้ตาย ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรม เราคงต้องยอมรับว่าเรื่องของพยานหลักฐานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อเจ้าหน้าที่เองเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิตและเจ้าหน้าที่เองก็เป็นผู้มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ศาล การถ่วงดุลจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การที่เอกสารไม่ว่าจะเป็นรูปภาพหรือประจักษ์พยาน จึงมีความสำคัญอย่างมาก

“การสรุปในการวิสามัญฆาตกรรมก็คือเมื่อเจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต หลักการก็คือจะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรอิสระ เช่นในการชันสูตรก็จะต้องมีทางอัยการ มีทั้งแพทย์ ที่เป็นอิสระในการไต่สวนการตาย โดยศาลที่เป็นอิสระ การฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากว่ากรณีของการไต่สวนการตายจะทำให้ผู้เสียหายและญาติเข้าถึงการเยียวยาด้านความยุติธรรม

การเยียวยาด้วยเงินอาจจะไม่มีความหมาย แต่ในการเยียวยาเรื่องกระบวนการตุลาการ ซึ่งเป็นอิสระมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิที่จะทราบความจริงการนำคนผิดมาลงโทษ การฟื้นคืนศักดิ์ศรีของผู้เสียชีวิต

กรณีผู้เสียชีวิตจากการวิสามัญฆาตกรรม อังคณามองว่ามักจะถูกเชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นคนผิด เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นคนร้าย เป็นคนไม่ดี แต่ว่าการไต่สวนที่เป็นธรรม การพิจารณาคดีจะเป็นการเปิดเผยเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญมาก การคืนศักดิ์ศรียิ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ตายเสียชีวิตไปแล้วและพูดไม่ได้ การที่เขาถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติด ทำให้ญาติพี่น้องประสบความยากลำบาก ถูกตีตราจากสังคม

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดหลายประการที่จะนำญาติผู้เสียชีวิตเข้าสู่ความยุติธรรม ทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่ผู้ทำวิสามัญฆาตกรรมและมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ศาลไต่สวน ล้วนแล้วแต่มีคำถามจากญาติว่ากรณีข้อมูลต่างๆ มีความเป็นธรรมมีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด ครบถ้วนหรือไม่ หรือในกรณีที่ถ้าหากว่า เจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมเป็นทหาร การไต่สวนหรือการฟ้องร้องดำเนินคดีก็จะต้องถูกนำเข้าสู่ศาลทหาร ซึ่งทำให้ญาติพี่น้องที่เป็นพลเรือนมีความยากลำบากมากขึ้น

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือญาติเองมักจะมีความหวาดกลัว หลายคนที่ให้ข้อมูลเองก็รู้สึกว่าถูกคุกคาม

“กรณีของชัยภูมิ หลังจากที่ชัยภูมิถูกวิสามัญ ดิฉันเองก็ยังได้ไปที่บ้านของชัยภูมิ และมีโอกาสได้พบกับผู้ที่ให้ข้อมูลว่าเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งก็เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง และเขาได้ให้ข้อมูลด้วยวาจา และเขียนเป็นข้อมูลเอกสารให้ด้วย น่าเสียดายว่าหลังจากนั้น เขาก็ได้ติดต่อมาว่าเขาไม่มีอะไรจะให้ข้อมูลในบันทึก หลังจากนั้นพวกเขาหวาดกลัว จนตอนนี้ก็ยังติดต่อเขาไม่ได้เลยและทราบว่าเขาได้หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน”

กรณีของการวิสามัญฆาตกรรม ถ้าหากว่าพยานมีความหวาดกลัวและไม่กล้าที่จะให้ข้อมูล การหาพยานหลักฐานก็จะยิ่งทำได้ยากลำบากมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องของการคุ้มครองพยานจึงมีความสำคัญมาก

“ประเทศไทยเราเองมีปัญหาเรื่องของการคุ้มครองพยานมาโดยตลอด เนื่องจากว่าในคดีสำคัญๆ พยานมักจะหวาดกลัว ไม่กล้าให้การเป็นพยานจนปิดชั้นศาล หลายคนพอปิดชั้นศาลก็กลับคำให้การก็มี เนื่องจากว่าพยานถูกคุกคาม”

ส่วนสุดท้าย อังคณามีข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่จะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปทหาร การสร้างหลักนิติรัฐให้เกิดขึ้นจริงภายใต้สังคมที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐได้โดยไม่ต้องหวั่นเกรงต่ออิทธิพลหรือการคุกคามใดๆ ผู้เสียหายและญาติเองจะต้องสามารถเข้าถึงพยานหลักฐานได้ตามสมควร ผู้เสียหายและญาติจะต้องได้รับการคุ้มครอง การรับรองการให้สิทธิในการประกันตัว การว่าจ้างทนายความ ซึ่งต้องเป็นทนายที่ผู้เสียหายและญาติไว้วางใจ และต้องมีการคุ้มครองพยานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากว่า เราต้องให้ความสำคัญกับพยานโดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานที่เป็นประจักษ์พยานรวมถึงญาติและครอบครัวทุกคน

“ดิฉันต้องขอให้กำลังใจญาติๆ และก็เพื่อนๆ ที่พยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะหาความเป็นธรรม ดิฉันพบว่าในการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ญาติมีความสำคัญมากที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในการที่จะทำให้มีกฎหมายเพื่อที่จะคุ้มครอง ดิฉันเชื่อว่าการต่อสู้ของทุกท่านจะไม่สูญเปล่า แล้วก็ในประสบการณ์ที่เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ดิฉันเชื่อว่าเรายังคงมีความหวังที่จะผลักดันกระบวนการยุติธรรมประเทศไทยให้สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่คนทุกคน ทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ศาสนาวัฒนธรรมใดๆ เราทุกๆ คนจะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน”

วิสามัญฆาตกรรม
น้ำแท้ มีบุญสล้าง

กระบวนการยุติธรรมพวกพ้อง

ในวงเสวนาย่อย ในประเด็น ‘ความท้าทายและข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรมในกรณีต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตโดยมิชอบด้วยกฎหมาย’ น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายและการบังคับคดี จังหวัดกาญจนบุรี บอกเล่ากรณีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีพี่ชายเป็นตำรวจประจำอยู่จังหวัดยะลา แต่จำต้องหนีตายตามพี่ชายที่ลาออกจากราชการเพราะกระทำความผิดด้วยการยัดคดีพ่อค้ายาเสพติดให้กับเด็กหนุ่มที่เป็นโรคออทิสติกคนหนึ่งโดยที่ตนเองไม่ทราบ เหตุเพราะขับรถไปชนอีกฝ่ายถึงแก่ชีวิต จึงต้องการปกปิดความผิดตัวเอง

“สุดท้ายคดีไม่คืบหน้า ทำอะไรไม่ได้ พอกระบวนการยุติธรรมปกติมันให้ความยุติธรรมไม่ได้ ก็เลยมีกระบวนการยุติธรรมผิดปกติ ก็คือพ่อแม่เด็กเขาก็สั่งล่าหัวเลย คือเขาจะเอาคนนี้ เอาน้องมันด้วย ก็เลยต้องหนี สุดท้ายก็ต้องออกจากราชการ แล้วก็เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ นี่คือตัวอย่างกระบวนการยุติธรรมที่คนทำผิดเก็บพยานหลักฐานเอง อยู่ในหน่วยงานตนเอง พวกตนเอง ท่านไม่มีทางได้รับความยุติธรรม ไม่ว่าท่านจะเป็นคนชาติพันธุ์หรือคนไทยแท้ๆ”

ตำรวจนำยาเสพติดมาจากไหน

ประเด็นต่อมา น้ำแท้ตั้งคำถามในส่วนของการยัดยาเสพติดของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามาจากที่ใด โดยน้ำแท้บอกเล่าว่าในกรณีที่มีการจับกุมยาบ้า 10,000 เม็ด แต่มีการแถลงการณ์จับกุมจริงเพียงแค่ 10 เม็ด ต่างฝ่ายก็ต่างได้รับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้ายาหรือตำรวจ อีกทั้งตำรวจยังสามารถนำยาอีก 9,990 เม็ดไปปล่อยขายได้เองอีกในตลาด

การจะป้องกันกระบวนการที่ตำรวจเป็นฝ่ายเก็บพยานหลักฐานฝ่ายเดียวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนตั้งแต่ต้น โดยน้ำแท้ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายตั้งแต่เจ้าหน้าที่ปกครอง นายอำเภอ อัยการ พิสูจน์หลักฐาน ตำรวจ ฯลฯ ต่างมีส่วนในการเข้าไปเป็นพยานรู้เห็นในการเก็บพยานหลักฐานทั้งหมด ไม่ได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

“พอทุกคนเก็บแล้วยังไง หน้าที่ในการดำเนินคดีก็ยังเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ว่าถ้าพยานหลักฐานไม่ได้ถูกนำเข้ามาในสำนวน เช่น พยานในที่เกิดเหตุมีสามปาก แต่มีคนเดียวที่เห็นเหตุการณ์ อีกสองคนนอนหลับ คำถามคือแล้วศาลจะรู้ไหมครับว่าอีกสองคนนอนหลับ ถ้ามันไม่มีเข้ามาในสำนวน ดังนั้น หัวใจของการสร้างความเป็นธรรม มันจะต้องเป็นระบบที่ทุกคนจะต้องเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย

มันจะเสมอภาคได้อย่างไร มันจะเสมอภาคได้ก็ต่อเมื่อเรามีระบบที่มันเข้มแข็ง และเป็นระบบที่เราไม่ต้องมาขอให้เจ้าหน้าที่มานั่งแถลงข่าวว่าผมจะรับประกันคุณว่าผมจะดำเนินคดีนี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะระบบที่ดี เจ้าหน้าที่จะไม่มีทางเลยที่จะบิดเบือนคดีได้ ไม่ต้องมารับประกันอะไรทั้งนั้น นี่คือกระบวนการยุติธรรมที่ผมพยายามจะต่อสู้ ทำไมกระบวนการยุติธรรมไทยถึงจะต้องเป็นสากล

วิสามัญฆาตกรรม
ประทับจิต นีละไพจิตร

บทบาทอัยการต่อกรณีวิสามัญฆาตกรรม

ประทับจิต นีละไพจิตร ตั้งคำถามต่อบทบาทของอัยการจากประเด็นที่น้ำแท้กล่าวมาว่าบทบาทของอัยการไม่ใช่กำหนดแค่มีฝ่ายอื่นๆ แต่ต้องดูด้วยว่ามีฝ่ายอื่นๆ แล้วมีวิธีการดำเนินการอย่างไร

ในส่วนนี้น้ำแท้กล่าวว่า ในส่วนของอัยการได้มีแก้ไขประมวลกฎหมายวิอาญาในส่วนของการชันสูตรศพจากกรณีวิสามัญฆาตกรรมจากเจ้าหน้าที่ด้วยการพยายามให้มีหน่วยงานอื่นเข้าไปรวบรวมหลักฐาน แต่กว่าจะไปถึง เจ้าหน้าที่ก็เก็บกวาดพยานหลักฐานไปหมดแล้ว ยิ่งถ้าเป็นการวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นในที่สาธารณะยิ่งกระทำได้โดยง่าย ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ไม่ควรมีส่วนใดๆ ในการเก็บรวบรวมวัตถุพยานทั้งสิ้น

“การรวบรวมพยานหลักฐานควรจะเป็นเรื่องของอีกหน่วยงานหนึ่ง เช่น ในอเมริกา ถ้าเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทำให้คนตาย พออัยการไปถึงก็จะสั่งรวบรวมพยานหลักฐานเลย เก็บเอง เพราะว่าอัยการมีพนักงานสอบสวนของตัวเอง ตรงนี้เขาสร้างองค์กรตรงนี้ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ แต่ระบบอัยการในบ้านเราตรงนี้หายไปหมดเลยในเรื่องของการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจับ คุณจับเขาเมื่อไหร่ คุณจะต้องแจ้งอัยการทันทีภายใน 24 ชั่วโมง อัยการจะต้องไปดูทันที หนึ่ง ไปดูข้อหาที่ถูกจับว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอไหมที่จะจับเขาข้อหานั้น มีความจำเป็นไหมที่จะต้องใช้กำลังในการจับกุม แล้วข้อหาที่คุณจะแจ้งเขามันเป็นข้อหาที่อัยการจะฟ้องไหม เพราะการแจ้งข้อหาทำไมต้องให้อัยการไปรับรองการแจ้งข้อหา

อย่างกฎหมายบ้านเรา ผมยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่ผมว่ามันวิปลาส คือเวลาตำรวจไปจับปุ๊บก็เอาไปฝากขัง จับเอง แจ้งข้อกล่าวหาเอง ถ้าแจ้งข้อหาหนักก็จะโดนเจ็ดฝาก เจ็ดฝากก็คือฝากไว้ครั้งละ 12 วัน คูณ 7 ก็ 84 พอใกล้ๆ ครบกำหนดก็ส่งสำนวนให้อัยการ แกล้งให้อัยการมีเวลาไม่ทันในการดู แล้วสำนวนก็แต่งนิยายมาเรียบร้อยแล้วว่าไอ้คนนี้มันมีความผิดยังไง อัยการก็สั่งฟ้องครับ

ซึ่งในทางกฎหมายที่น้ำแท้มองว่าวิปลาสตรงนี้เพราะสืบเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายเก็บรวบรวมวัตถุพยานทั้งหมด อัยการแทบไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยในขั้นตอนก่อนสำนวนส่งมาถึงมือ ดังนั้นเมื่อส่งฟ้องแล้วมีการพิสูจน์ในชั้นศาลจึงเป็นไปได้ที่จะเกิดกรณีจับแพะขึ้น แต่ประเด็นคือ ตลอด 80 กว่าวันที่ประชาชนถูกขังไปแล้วนั้นไม่อาจไปเรียกร้องเอาคืนใดๆ ได้เลยจากรัฐ

วิสามัญฆาตกรรม
นพ.กฤติน มีวุฒิสม

ความคาดหวังของนิติเวช

ในส่วนกระบวนสำคัญต่อมาในกรณีวิสามัญฆาตกรรมที่จะต้องมีการพิสูจน์ให้ทราบแน่ชัดว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดย่อมหลีกไม่พ้นที่จะเป็นหน้าที่ของนิติเวชในการพิสูจน์ศพ ซึ่ง นพ.กฤติน มีวุฒิสม แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลระนอง ได้กล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่อัยการน้ำแท้ได้กล่าวไปแล้วว่าในประเทศไทยที่เจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายเก็บรวบรวมพยานหลักฐานนั้นเป็นเพราะประเทศไทยใช้ระบบตำรวจเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศ

กฤตินกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วนั่นระบบเก็บรวบรวมพยานหลักฐานจะมีทั้งสิ้นสามระบบคือ หนึ่ง-ระบบตำรวจเป็นผู้เก็บรวบรวม สอง-เจ้าหน้าที่ศาลแต่งตั้งเป็นผู้เก็บรวบรวม และ สาม-เจ้าหน้าที่แพทย์นิติเวชเป็นผู้เก็บรวบรวม

จริงๆ แล้วในขั้นตอนที่เกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพนะครับ เมื่อกี๊คุณน้ำแท้ได้กล่าวไว้ อันแรกเลย ถ้าดูตามกฎหมายประมวลความอาญา หลักๆ แล้วหน้าที่ของผู้ที่ทำการชันสูตรพลิกศพก็มีหน้าที่จะต้องรักษาสภาพศพให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด และผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องกั้นสถานที่เกิดเหตุให้ดี แต่จริงๆ แล้วบทบาทส่วนใหญ่จะเป็นของตำรวจ โดยเฉพาะสายตรวจ จะเข้าถึงพื้นที่ค่อนข้างเร็ว

นอกเหนือระบบเก็บรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งในประเทศไทยเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียเป็นส่วนใหญ่แล้ว เหตุผลหลักๆ อีกประการหนึ่งคือในเรื่องของพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่กันดาร เจ้าหน้าที่นิติเวชก็จะไปถึงได้ช้ากว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งประจำอยู่ในพื้นที่นั้นๆ อยู่แล้ว

ประเด็นต่อมา กฤตินมองในส่วนของการเชื่อมโยงระหว่างการเก็บพยานวัตถุระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกองพิสูจน์หลักฐานที่ยังไม่มีการประสานงานที่ดีอย่างเพียงพอ ซึ่งหน้าที่ของแพทย์นิติเวชจะข้องเกี่ยวกับการตรวจศพเป็นหลัก นี่เป็นอีกประเด็นที่ในเมืองไทยยังไม่มีการทำงานประสานกันเท่าที่ควร ไม่นับการให้องค์ความรู้ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุที่เจ้าหน้าที่ของไทยยังขาดแคลน หรือเคยเรียนรู้แต่เพียงในห้องเรียน แล้วลืมวิธีปฏิบัติไป

นอกจากนี้ กำลังพลในส่วนของแพทย์นิติเวชในประเทศไทยยังมีน้อย และค่อนข้างจำกัดอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ในขณะที่ต่างจังหวัดมีค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องพึ่งพาแพทย์สาขาอื่นในการตรวจชันสูตรพลิกศพ ซึ่งกฤตินยอมรับว่าแพทย์ต่างสาขาเหล่านั้นยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องชันสูตรพลิกศพ

วิสามัญฆาตกรรม
ไมตรี จำเริญสุขสกล

เสียงเพรียกหาความยุติธรรม

ด้าน ไมตรี จำเริญสุขสกล ญาติของ ชัยภูมิ ป่าแส กล่าวถึงความรู้สึกในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนายชัยภูมิว่า หากจะให้พูดถึงปัญหาที่ต้องเผชิญ ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน เพราะปัญหาที่ได้พบมีมาก ซึ่งครอบครัวไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย อีกทั้งหลังจากชัยภูมิถูกยิงจนเสียชีวิต ก็มีการตั้งข้อหากับญาติอีกสองคน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง ดังนั้นการต่อสู้จึงลำบาก

ต้องใช้เงินประกันสองล้านบาท เราจะไปหาจากไหน มีคนแนะนำให้ไปหากองทุนยุติธรรม แม้จะเป็นช่องว่างเล็กๆ เท่ารูหนู แต่เราก็จะมุดเข้าไปเพื่อหาโอกาสนั้นให้ได้ ซึ่งยุติธรรมจังหวัดก็ให้ความช่วยเหลือ แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะกลัวหลบหนี สุดท้ายคนที่ไม่มีความผิดต้องอยู่ในเรือนจำถึงหนึ่งปีเต็มๆ ตอนนี้คนเหล่านั้นได้ออกมาแล้ว โดยศาลให้ความยุติธรรม ยกฟ้องทั้งสองคน จากนั้น ณ วันนี้จะลุยเรื่องชัยภูมิต่อ

ไมตรีกล่าวว่าตนจะทวงความยุติธรรมให้ชัยภูมิให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องกล้องที่มีความสำคัญ ถือเป็นพยานสำคัญ ซึ่งไม่เชื่อว่าภาพจากกล้องวงจรปิดจะหาย ทั้งที่เป็นคดีใหญ่ และเมื่อทำหายแล้วคนทำหายก็ไม่มีความผิด ครอบครัวอยากเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในเช้าวันนั้น เพราะหากชัยภูมิผิด ก็ทำใจยอมรับได้ แต่ถ้าเขาไม่ผิดจะทำอย่างไร ควรปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่เป็นคนฆ่าชัยภูมิลอยนวลแบบนี้หรือไม่

“แม่เขาที่ป่วยยังมีชีวิตอยู่ ไม่มีใครดูแล พ่อที่เป็นโรคประสาท ไม่ได้ไปหาหมอ น้องเขาไม่ได้เรียนหนังสือหลังจากที่ชัยภูมิตาย และเราก็ถูกกล่าวหาเยอะนะ บอกว่าเราเป็นเครือข่ายใหญ่เกี่ยวกับการค้ายาเสพติด เขาจะรับผิดชอบคำพูดอย่างไร ในเมื่อวันนี้บทพิสูจน์แล้วว่าเราถูกยกฟ้องทั้งหมด เขาฆ่าคน จับคน ทำลายชื่อเสียงครบวงจร เขาจะรับผิดชอบให้กับเราอย่างไรได้บ้าง แม้ที่ผ่านมาเขาพูดว่าเราเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด แต่ผมรู้สึกว่าการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแต่ละขั้นบันไดเข้าถึงยากเหลือเกิน” นายไมตรีกล่าว

ญาติของชัยภูมิยังระบุด้วยว่า ความต้องการสูงสุดในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในครั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะกับกรณีของนายชัยภูมิเท่านั้น แต่ไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับใครอีก และอยากให้คนยากจนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ง่ายและเป็นธรรม ไม่แบ่งว่าใครคือเจ้าหน้าที่ ใครคือประชาชน ที่สำคัญการวิสามัญฆาตกรรมนั้นไม่ควรจะง่ายเช่นนี้

เรามีเสื้อสีที่แตกต่างจากพวกท่านแต่เรามีหัวใจเดียวกัน ผมไม่อยากให้มีชัยภูมิคนที่สองเกิดขึ้น ไม่ว่าที่ไหน ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน หวังว่ากรณีของชัยภูมิจะช่วยให้พวกชนเผ่าตระหนักด้วยว่า ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมา มันจะไม่เกิดอะไรขึ้น พวกเราก็เหมือนมดที่กัดกับช้าง แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราเชื่อในศักดิ์ศรีของมนุษย์ แม้ว่าเราจะไม่สามารถเอาชนะพวกท่านได้ แต่พวกท่านก็ไม่ชนะเช่นกัน เราไม่ได้บอกว่าทหารไม่ดีหรือกองทัพไม่ดีนะครับ เราพูดถึงคนที่ยิงชัยภูมิ ซึ่งก็เป็นมนุษย์เหมือนๆ กันกับเรา ไม่ใช่กองทัพ เพราฉะนั้น ขอนะครับ ขอให้ชัยภูมิเป็นศพสุดท้าย

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า