เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องที่อยู่อาศัย

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ย้อนกลับไปในตอนที่ผมเขียน ‘เรื่องบ้าน เรื่องเรือน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว’ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ความหมายของ ‘บ้าน’ (home) ในเชิงนามธรรมที่เรามักนึกว่าเป็นความหมายที่มาจากความรู้สึกส่วนตัว แท้ที่จริงแล้ว สังคมมีอิทธิพลต่อการให้ความหมายของคำว่า ‘บ้าน’

ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรากล่าวถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ ‘ที่อยู่อาศัย’ (housing) เช่น ทำไมราคาที่อยู่อาศัยจึงแพงนัก จึงไม่ใช่เรื่องความรู้สึกตามกำลังทรัพย์ของแต่ละคน แต่เกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกจากโครงสร้างของระบบที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ ‘ความนิยม’ ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับแบบไม่น่าจะตั้งคำถามอย่าง ‘การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยย่อมดีกว่าการเช่า’ ก็เกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

มุมมองหนึ่ง ที่ผมคิดว่า ช่วยเปิดมุมมองการวิเคราะห์ที่อยู่อาศัยอย่างถึงรากถึงโคน คือมุมมองแบบเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือจะเรียกว่า เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องที่อยู่อาศัย (political economy of housing) ก็ได้ ในเบื้องต้นสำนักคิด ‘เศรษฐศาสตร์การเมือง’ ต่างจาก ‘เศรษฐศาสตร์’ กระแสหลักตรงที่ไม่ได้มองว่า ระบบเศรษฐกิจเป็นส่วนที่แยกออกจากระบบสังคมการเมืองและมีกฎเกณฑ์ของตัวเอง อย่างที่มักเรียกกันว่ากฎเกณฑ์ของกลไกตลาดที่รัฐไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว เศรษฐศาสตร์การเมืองมองระบบเศรษฐกิจในบริบทของสังคมการเมือง และชี้ว่า รัฐมีบทบาทอย่างมากต่อการค้ำจุนระบบเศรษฐกิจ

แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นแนวคิดที่ได้อิทธิพลจากสกุลความคิดมาร์กซิสม์ (Marxism) อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเจ้าสำนักมาร์กซิสม์อย่าง คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และ เฟรดริช แองเกิลส์ (Friedrich Angels) ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์ที่อยู่อาศัยนัก แม้ตัวแองเกิลส์ได้เขียนหนังสือซึ่งเกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยโดยตรงคือ The Housing Question พิมพ์ครั้งแรกปี 1887 และยังบรรยายถึงที่อยู่อาศัยในหนังสือ The Condition of the Working Class in England พิมพ์ครั้งแรกปี 1845 แต่งานสองชิ้นนี้กล่าวถึงสภาพที่อยู่อาศัยอันย่ำแย่ของกรรมกรในอังกฤษ เพื่อต้องการชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขูดรีดแรงงานในระบบทุนนิยม

มานูเอล อัลเบอร์ส และ เบรต คริสโตเฟอร์ส1 (Manuel B. Aalbers and Brett Christophers) ร่วมกันเขียนบทความ ‘Centering Housing in Political Economy’ ตีพิมพ์ในวารสาร Housing, Theory, and Society เมื่อปี 2014 โดยปัดฝุ่นเอาแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์กลับมาวิเคราะห์ โดยชี้ให้เห็นว่า ที่อยู่อาศัย มีบทบาทสำคัญมากต่อระบบทุนนิยมปัจจุบัน เราจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ที่อยู่อาศัยจากมุมมองเศรษฐศาสตร์การเมือง

ประเด็นหลักในบทความของอัลเบอร์สและคริสโตเฟอร์ส คือ การชี้ให้เห็นว่าที่อยู่อาศัยในฐานะ ‘ทุน’ หรือ capital ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงและกำหนดความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยม เริ่มจากการทำความเข้าใจว่า หัวใจสำคัญของ ‘ทุน’ ก็คือการหมุนเวียน เช่น เริ่มจากคนมีเงิน ซึ่งเป็นทุนรูปแบบหนึ่ง แล้วนำเงินไปลงทุนผลิตสินค้าเพื่อขาย เมื่อได้เงินมาก็ชักกำไรขึ้นมาบางส่วน และนำเงินที่เหลือไปลงทุนเป็นวงจรต่อไป

ที่อยู่อาศัยก็เป็นทุนในความหมายนี้ คือ ถูกสร้างโดยแรงงานเพื่อเป็นสินค้าสำหรับขายทำกำไรในระบบทุนนิยม และยังเป็นทุนที่มีส่วนสำคัญในการหมุนเวียนของวงจรทางเศรษฐกิจ เพราะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายกิจกรรม ในปัจจุบันน้อยคนนักที่จะสร้างบ้านด้วยตนเอง หากใครจะสร้างบ้านบนที่ดินส่วนตัวก็ต้องจ้างผู้รับเหมา ซึ่งจะไปจ้างคนงานก่อสร้างอีกทอดหนึ่ง ก่อนจะสร้างบ้านก็ต้องไปซื้อของที่ร้านวัสดุก่อสร้างซึ่งก็ต้องมีลูกจ้างประจำร้าน และต้องไปหาสินค้าจากผู้จัดหามาขาย นี่แค่ตัวอย่างง่ายๆ ของวงจรทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

แต่หากเราคิดถึงขนาดที่ใหญ่ขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้หลายคนซื้อบ้านจัดสรรจากบริษัท ‘อสังหาริมทรัพย์’ ซึ่งเป็นฟันเฟืองหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ทว่าก่อนจะสร้างบ้านหรือคอนโดขาย บริษัทเหล่านี้ก็ต้องไปกู้ธนาคารหรือหาเงินลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้าน จึงไปเกี่ยวพันกับภาคการเงินการธนาคาร ในระหว่างการสร้างบ้านก็ต้องมีการจ้างแรงงาน การใช้เครื่องจักร การจัดหาวัสดุก่อสร้าง เมื่อสร้างบ้านเสร็จจะขายให้ผู้ซื้อ คนซื้อส่วนใหญ่ก็ต้องกู้เงินมาซื้อบ้าน ซึ่งก็จะทำให้ธนาคารได้ปล่อยเงินกู้อีกครั้ง หลังจากซื้อบ้านเสร็จ เจ้าของบ้านก็ต้องตกแต่งบ้าน ต่อเติมห้องครัว จัดสวน รวมไปถึงซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้าน ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการจับจ่ายใช้เงินที่มีส่วนหมุนวงจรเศรษฐกิจ

การเข้าใจภาพรวมเช่นนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจกระจ่างขึ้นว่า เวลาที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่ถ้อยคำสวยหรูว่า “สานฝันให้คนไทยทุกคนมีบ้าน” แต่อยู่ที่ต้องการกระตุ้นให้คนไปซื้อบ้านเพื่อหมุนวงจรทางเศรษฐกิจ เราจึงพบว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ถูกนำมาใช้เสมอในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำและรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการบ้านดีมีดาวน์ ที่ต้องการกระตุ้นให้คนซื้อบ้าน โดยรัฐบาลจะคืนเงินดาวน์ให้ 50,000 บาท ตามที่ผมได้เขียนไว้ในตอนที่แล้ว เพื่อต้องการให้คนไปซื้อบ้าน ไปกู้ธนาคาร สำหรับขับเคลื่อนวงจรเศรษฐกิจ (ผมจะวิเคราะห์มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์อื่น เป็นการเฉพาะในตอนอื่น)

จากที่กล่าวไป เรื่องที่อยู่อาศัยในฐานะทุนหมุนเวียนเป็นเพียงด้านเดียว คือ ด้านการผลิตเพื่อขายที่สัมพันธ์กับวงจรทางเศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัยยังเป็นทุนหมุนเวียนอีกด้านหนึ่ง คือ ด้านการสะสมมูลค่า ที่อยู่อาศัยเป็นสินค้าที่แตกต่างจากสินค้าอื่นๆ อย่างคอมพิวเตอร์ ข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปมูลค่าของสินค้าเหล่านี้ย่อมลดลง นั่นก็เพราะว่าราคาของที่ดินของที่อยู่อาศัยไม่ได้ลดลง ดังนั้น ที่อยู่อาศัยบวกที่ดินจึงมีบทบาทในการสะสมคุณค่า (แต่ในบางสถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัยอาจลดฮวบลงได้เช่นกัน เช่น ช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่แตก) คนจำนวนหนึ่งจึงต้องการซื้อและถือครองที่อยู่อาศัยไว้ เพราะเชื่อในมนตราที่ว่า ที่อยู่อาศัยไม่มีวันราคาตก

ที่อยู่อาศัยซึ่งถูกหมุนเวียนด้วยการซื้อและถือครองไว้ จึงไม่ได้มีแค่คุณค่าในการใช้ (used value) แต่ยังมีคุณค่าในการแลกเปลี่ยน (exchange value) พูดอีกอย่างก็คือ คนเป็นเจ้าของและก็ขายมันในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อมา นักเศรษฐศาสตร์เรียกการเป็นเจ้าของเพื่อคาดการณ์จะขายในราคาที่สูงขึ้นว่า การเก็งกำไร การเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ทำได้หลายทาง เช่น หนึ่ง คนที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้พักอาศัยและคาดหวังที่จะขายในราคาที่สูงขึ้น สอง คนที่เก็งกำไรโดยเฉพาะ คือ ซื้อมาโดยไม่ได้ตั้งใจที่จะอยู่อาศัยเลย แค่รอเวลาสำหรับขายออกแล้วได้กำไร

ไม่ว่าที่อยู่อาศัยจะถูกแลกเปลี่ยนบนฐานของคุณค่าในการใช้ หรือ คุณค่าของการแลกเปลี่ยน แต่ที่ชัดเจนก็คือ มันเป็นการเปิดประตูให้กับการไหลเวียนของทุน ทำให้เกิดอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามมา เช่น ตัวแทนบริษัทอสังหาริมทรัพย์ คนกลางในการซื้อขายบ้านและที่ดิน ทั้งหมดนี้ต่างเป็นส่วนหนึ่งในวงจรไหลเวียนของที่อยู่อาศัย

ความเชื่อมั่นว่า ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยสูงขึ้นเสมอ เราจึงเห็นการสับเปลี่ยนของทุน (capital switching) ตามคำของ เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey)2 นักคิดมาร์กซิสต์ชื่อดังร่วมสมัยที่ชี้ว่า ผู้ที่ได้กำไรจากภาคอุตสาหกรรมอื่นจะนำเงินมาลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อแสวงหากำไรและมีส่วนในการกระตุ้นการหมุนเวียนของวงจรเศรษฐกิจด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างชัดเจน เราจึงเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องดื่มแอลกฮอล์ แต่ผันตัวเองมาตั้งบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ ทั้งประมูลหลายแปลงบนถนนพระราม 4 รวมถึงที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ย่านโรงเรียนเตรียมทหารเก่า และล่าสุดเพิ่งนำบริษัทใหม่ คือ แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น (AWC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

แง่มุมที่สองในการพิจารณาที่อยู่อาศัยในฐานะทุนจากมุมมองเศรษฐศาสตร์การเมือง คือ การมองว่าที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งกำหนดความสัมพันธ์ทางสังคม หากจะใช้คำพูดตามภาษามาร์กซิสต์รุ่นเก่าหน่อยก็จะบอกความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยม คือ ความสัมพันธ์ทางชนชั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า คนนั้นเป็นเจ้าของทุน หรือเป็นลูกจ้างกรรมกร แต่หากประยุกต์แนวคิดนี้สักเล็กน้อยก็จะเป็นว่า เราสามารถนิยามสถานะหรือความสัมพันธ์ทางสังคมผ่านที่อยู่อาศัย เช่น เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย เป็นผู้เช่า หรือเป็นแค่ผู้อาศัย

ความไม่เท่าเทียมในสังคมทุกวันนี้ นอกจากจะดูจากเงินรายได้ เราสามารถดูจากสินทรัพย์ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญอันหนึ่ง ความแตกต่างระหว่างชนชั้นที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยกับชนชั้นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย จึงเป็นความไม่เท่าเทียมในระบบทุนนิยมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ในหมู่คนที่มีสินทรัพย์สามารถพิจารณาแยกย่อยได้จากที่ตั้ง รูปแบบ การออกแบบและการตกแต่งที่อยู่อาศัย ส่วนผู้ที่ไร้ทรัพย์สินก็ปรากฏในหลายรูปแบบ เช่น ผู้อยู่อาศัยที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ผู้เช่า ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย รวมถึงคนรับใช้ตามบ้าน ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัย พวกเขายังต้องทำงานรับใช้ในบ้านที่มีการแบ่งแยกพื้นที่ทั้งทางกายภาพและสังคม

ที่อยู่อาศัยยังมีความสัมพันธ์ต่อการผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางสังคม หรือทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างรุ่นได้ ลองนึกถึงครอบครัวที่พ่อแม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองและสามารถส่งผ่านบ้านให้รุ่นลูกหลานได้ ส่วนครอบครัวที่รุ่นพ่อแม่ยังเช่าที่อยู่อาศัย รุ่นลูกก็ต้องแบกค่าเช่าต่อไป ยิ่งในอนาคตที่อยู่อาศัยราคาสูงในอัตราที่เร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้าง โอกาสที่คนรุ่นใหม่จะเป็นเจ้าของบ้านก็ยากขึ้น

มิติสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างที่อยู่อาศัยกับระบบทุนนิยม ก็คือ มิติด้านอุดมการณ์ อุดมการณ์หลักของระบอบทุนนิยม ก็คือ การส่งเสริมการเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนบุคคล ด้วยเหตุนี้ เราทั้งหลายต่างถูกกล่อมเกลาให้คิดไปในทางเดียวกันหมดว่า การมีบ้านเป็นของตัวเองเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ต้องดิ้นรนทำงานเก็บเงินผ่อนบ้าน เพื่อเข้าถึงที่อยู่อาศัยตามกลไกตลาด เพื่อจะได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ได้สั่งสมความมั่งคั่ง และส่งต่อความมั่งคั่งให้รุ่นลูกหลานได้ลืมตาอ้าปากในอนาคต

แต่หากวิเคราะห์ลึกลงไปจะพบว่า ไม่มีทรัพย์สินส่วนบุคคลใดที่เป็นของ ‘ส่วนบุคคล’ จริงๆ มูลค่าของที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากการมีถนนตัดผ่านหรือตั้งอยู่ใกล้เส้นทางรถไฟฟ้า ล้วนมาจากการลงทุนที่มาจากภาษีของคนในสังคม แต่ผลประโยชน์กลับตกอยู่กับคนส่วนน้อย

คนที่มีต้นทุนที่ดินเป็นมรดกตกทอดหรือคนที่รวยพอจะซื้อที่ดินกักตุนไว้ล่วงหน้า ส่วนคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นพ้องเห็นด้วยกับระบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ก็คือ คนที่พอจะเห็นโอกาสในการแข่งขันไขว่คว้าเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน ได้กักตุนและเก็งกำไรตามกระแสเหมือนชนชั้นนำบ้าง

อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มใหญ่ที่สุดไม่ได้ประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่ และเป็นคนที่ไร้สิทธิ ไม่มีปาก ไม่มีเสียง คือ คนที่ไม่มีความสามารถที่จะซื้อที่อยู่อาศัยตามกลไกตลาด เพราะที่ดินเมืองราคาแพงเกินกว่าจะเอื้อมถึง คนกลุ่มนี้โดยมากเป็นผู้เช่าที่อยู่อาศัยซึ่งแทบไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เนื่องจากเป็นคนทำงานในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ ไม่มีสลิปเงินเดือน ธนาคารจึงไม่ปล่อยเงินกู้ จึงไม่มีโอกาสที่จะกู้เงินซื้อบ้าน

เมื่อเรื่องวนกลับมาที่การปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน เราก็จะถึงบางอ้อว่า การปลูกฝังอุดมการณ์ให้คนต้องเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยก็เพื่อจะให้คนต้องกู้ยืมเงิน ให้ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อและให้วงจรเศรษฐกิจหมุนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่คนกู้ซื้อบ้านอาจจะมีความเสี่ยงว่า จะผ่อนส่งได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ แต่คนที่ได้แน่ๆ คือ สถาบันการเงินที่ได้ดอกเบี้ยจากผู้กู้

การพิเคราะห์ที่อยู่อาศัยจากมุมมองเศรษฐศาสตร์การเมือง ช่วยให้เราตระหนักว่า สิ่งที่คิดว่าเป็น ‘ธรรมชาติ’ อย่างการต้องดิ้นรนเป็นเจ้าของบ้าน แท้ที่จริงเป็นระบบที่ถูกออกแบบขึ้นโดยกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่ ระบบที่ถือเอาที่อยู่อาศัยเป็น ‘สินค้า’ ซึ่งซื้อหากันตามกลไกตลาด ส่วนคนที่ไม่มีปัญญาซื้อ ก็ต้องเช่าที่อยู่ต่อไป

หากเราจะแสวงหาทางเลือกใหม่ของการจัดการที่อยู่อาศัยในระดับโครงสร้าง หัวใจสำคัญก็คือ ต้องลดทอนความเป็นสินค้าของที่อยู่อาศัย (decommodification of housing) ลดทอนการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำด้วยวิธีการใด จะต้องว่ากันตอนต่อๆ ไป

แต่สิ่งสำคัญคือเราจำเป็นต้องรู้เท่าทันว่า มาตรการต่างๆ ด้านอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลเป็นไปเพื่อหมุนวงจรเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และเป็นมาตรการเพื่อช่วยภาคธุรกิจที่มั่งคั่งกว่าคนจำนวนมากในสังคมอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ช่วยให้คนธรรมดาเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้นแต่อย่างใด

 


เชิงอรรถ

  1. ผู้ที่สนใจหัวข้อเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องที่อยู่อาศัย สามารถอ่านได้จากบทความชิ้นนี้ Aalbers, M. B., & Christophers, B. (2014). Centering Housing in Political Economy. Housing, Theory and Society 31(4):373-394.

  2. Harvey, David. 1985. The Urbanization of Capital. Studies in the History and Theory of Capitalist Urbanization. Oxford: Blackwell.

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า