เก้าอี้นายกฯ ในมือหัวหน้า คสช.

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ทำให้เราพอมองเห็นแล้วว่าฝ่ายที่ไม่สนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่สามารถรวมเสียงกันได้ถึง 250 เสียง หรือได้คะแนนเสียงไม่ถึง ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของสภาผู้แทนราษฎร

ผลที่ตามมาไม่ใช่แค่ฝ่ายไม่สนับสนุน คสช. มีโอกาสน้อยลงจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ในการจัดตั้งรัฐบาล หรือมีโอกาสน้อยลงในการลงมติไม่ไว้วางใจในสภา แต่รวมไปถึงการเพิ่มทางเลือกให้กับเครือข่าย คสช. ด้วยว่า จะให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ หรือ เปิดทางให้มี ‘นายกฯ คนนอก’ มาทำหน้าที่แทน

สว.แต่งตั้งฯ ตัวแปรสำคัญที่ถูกวางไว้เพื่อสนับสนุน คสช.

นับแต่ก่อนเลือกตั้งย้อนไปตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญที่ปัจจุบันกลายมาเป็น ‘รัฐธรรมนูญปี 2560’ ได้กำหนดให้ ‘วุฒิสภา’ เป็นเครื่องมือในการช่วย คสช. สืบทอดอำนาจ เนื่องจากในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ ให้นายกฯ มาจากการเลือกร่วมกันระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าในบทเฉพาะกาลยังกำหนดให้ สว. ในช่วง 5 ปีแรกมาจากการสรรหาและคัดเลือกโดย คสช. จำนวน 250 คน หรือ หมายความว่า สว.แต่งตั้งฯ ที่ คสช. เป็นคนคัดเลือกจะได้ร่วมเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ คนต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีรายชื่อ สว.แต่งตั้งฯ อย่างเป็นทางการออกมา แต่ก็มีกระแสข่าวอยู่ตลอดว่าบรรดาอดีตสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ต่างก็ยื่นใบลาออก เพื่อรอรับตำแหน่ง สว.แต่งตั้งฯ

สูตรคำนวณที่นั่ง สส. ยิ่งทำให้ฝ่ายต้าน คสช. เสียเปรียบ

วันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม 2562  กกต. ได้ประกาศผลการเลือกตั้ง จำนวน 349 เขต ขาดเพียง 1 เขต คือ เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ ที่ให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส่วนการประกาศผล สส.แบบบัญชีรายชื่อ กกต. เลือกรับรองเพียง 149 คน ยังขาดอีก 1 ชื่อที่ยังไม่ประกาศ

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การที่ กกต. เลือกใช้สูตรคำนวณที่นั่ง สส. ตามแบบที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แนะนำ ซึ่งไม่ใช่แค่การให้พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงค่าเฉลี่ยก็ได้รับจำนวน สส. 1 ที่นั่ง เท่านั้น แต่ยังทำให้ที่นั่งของพรรคที่ไม่สนับสนุน คสช. มีที่นั่งลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับสูตรที่ยึดหลักว่า พรรคที่มี สส. พึงมีเกิน 1 คนเท่านั้นที่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือสูตรตัดพรรคเล็ก

อีกทั้งหากเราแบ่งกลุ่มของ สส. ในสภาออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ จำแนกตามจุดยืนทางการเมืองที่มีต่อ คสช. ได้แก่ กลุ่มที่สนับสนุน คสช. กลุ่มที่ไม่สนับสนุน คสช. และ กลุ่มที่ยังมีจุดยืนไม่ชัดเจน จะพบว่า ที่นั่งรวมของพรรคกลุ่มที่ไม่สนับสนุน คสช. ลดลง ในขณะที่กลุ่มสนับสนุน คสช. เพิ่มขึ้น ดังตารางข้างล่างนี้

 

พรรค

ที่นั่ง สส. รวม
(สูตรตัดพรรคเล็ก)

ที่นัง สส. รวม
(สูตร กรธ.)

เพื่อไทย 136 136
อนาคตใหม่ 86 80
เสรีรวมไทย 11 10
เศรษฐกิจใหม่ 6 6
ประชาชาติ 6 7
เพื่อชาติ 5 5
พลังปวงชนไทย 1 1
รวม
251
245
รวมพลังประชาชาติไทย 5 5
พลังประชารัฐ 118 115
ประชานิยม 0 1
ประชาชนปฏิรูป 0 1
พลเมืองไทย 0 1
พลังธรรมใหม่ 0 1
รวม
123
124
ประชาธิปัตย์ 54 52
ภูมิใจไทย 52 51
ชาติไทยพัฒนา 11 10
ชาติพัฒนา 3 3
พลังท้องถิ่นไทย 2 3
รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 1 2
พลังชาติไทย 1 1
ประชาภิวัฒน์ 0 1
ไทยศรีวิไลย์ 0 1
พลังไทยรักไทย 0 1
ครูไทยเพื่อประชาชน 0 1
ประชาธรรมไทย 0 1
ประชาธิปไตยใหม่ 0 1
ไทรักธรรม 0 1
รวม
124
129

 

สามทางเลือกในการชิงเก้าอี้นายกฯ ของ คสช.

สำหรับการได้มาซึ่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองจำนวนไม่เกิน 3 รายชื่อ ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า ‘บัญชีว่าที่นายกฯ’ (ตามมาตรา 88) และต้องเป็นบุคคลซึ่งในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสภาผู้แทนราษฎร

โดยผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมี สส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนฯ หรือ 50 คน ร่วมกันเสนอชื่อ อีกทั้งผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับเสียงไม่น้อยกว่า ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของสภาผู้แทนฯ เท่าที่มีอยู่

ทว่าเนื่องจากในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 272 กำหนดให้ช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ ต้องให้ สว.แต่งตั้งฯ มีส่วนในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ ด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับเสียงไม่น้อยกว่า ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของทั้งสองสภา (เท่าที่มีอยู่)

ทางเลือกที่หนึ่ง: เป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง

ทางเลือกแรกที่ คสช. จะคว้าเก้าอี้นายกฯ ก็คือ การรวมเสียงในสภาให้ได้เกิน ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของทั้งสองสภาเท่าที่มีอยู่ (374 เสียง) ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ฝ่ายสนับสนุน คสช. อันประกอบไปด้วย พลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย ประชาชนปฏิรูป ประชานิยม พลเมืองไทย และ พลังธรรมใหม่ รวมกันได้ 124 เสียง หากรวมกับ สว.แต่งตั้งฯ ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. อีก 250 เสียง ก็เท่ากับมี 374 เสียง ซึ่งเพียงพอต่อการเสนอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะมีข้อจำกัดว่า ไม่สามารถควบคุมสภาผู้แทนราษฎรได้ เป็นรัฐบาลจากเสียงข้างน้อยในสภาล่าง

ทางเลือกที่สอง: เสนอชื่อ นายกฯ คนนอก

ทางเลือกที่สอง หาก คสช. ไม่ต้องการเสนอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ก็สามารถใช้กลไกพิเศษตามรัฐธรรมนูญ คือ การเสนอชื่อ นายกฯ นอกบัญชี หรือ นายกฯ คนนอก ได้ โดยขั้นตอนคือ

หนึ่ง สส. + สว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา (374 คน) เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองได้

สอง สส. + สว. ประชุมร่วมกัน และลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา (498 คน) เพื่ออนุมัติการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชี

สาม สส. + สว. มากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา (374 คน) ลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ

ซึ่งวิธีการดังกล่าว คสช. อาจนำมาใช้เมื่อเห็นว่า ต้องการเรียกเสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรให้มากขึ้น ด้วยการหา ‘คนกลาง’ มาเป็นนายกฯ แทน

ทางเลือกที่สาม: ไม่ยอมลงจากตำแหน่ง เป็นนายกฯ รักษาการ

แต่จนแล้วจนรอด หากเป็นนายกฯ เองก็ไม่ได้ จะหาคนมาเป็นแทนก็ไม่ได้ คสช. ยังสามารถอยู่ในอำนาจได้ต่อ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนกับรัฐธรรมนูญในอดีต

อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 265 ให้ คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ ดังนั้น หากสภาไม่สามารถจะเสนอชื่อนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ คสช. และ พลเอกประยุทธ์ก็จะอยู่ในเก้าอี้นายกฯ ต่อไป

ที่สำคัญ และในระหว่างนี้ พลเอกประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ก็ยังมีอำนาจครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวทุกฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. กระทำการใดๆ ก็ได้ และการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระนั้นชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด

Author

ณัชปกร นามเมือง
ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ ผู้เชื่อว่าการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งของการมีชีวิตที่ดี และเลือกหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า