ภูมิทัศน์การเมืองไทยจากเดิมเป็นการต่อสู้ระหว่างคนชนบทกับคนเมือง สองนคราประชาธิปไตย คนเมืองกับคนชนบท เลือกพรรคไม่เหมือนกัน ชอบนโยบายแตกต่างกัน หากแต่ปัจจุบัน ภูมิทัศน์ที่ว่านี้ได้เปลี่ยนไป กลายเป็นสภาพของ ‘สงครามระหว่างรุ่น’ คือ คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ใช้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ตั้งเป็นคำถามไปยังตัวแทนของนักการเมืองที่ถูกเรียกว่า ‘คนรุ่นใหม่ 4 คน’ ซึ่งเข้าร่วมวงเสวนาหัวข้อ ‘คนหนุ่มสาวกับการสร้างการเมืองแบบใหม่ในสังคมใหม่’ หนึ่งในหัวข้อเสวนาที่จัดขึ้นในวาระครบรอบ 70 ปีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในฐานะทั้งความเป็นพรรคการเมืองใหม่ และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ ศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ ตอบคำถามที่ประจักษ์ถามไว้โดยอธิบายว่า ปรากฏการณ์สงครามระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่นี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Brexit ที่อังกฤษ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในมุมของศิริกัญญา เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย น่าเสียดายที่เรายังไม่มีข้อมูลของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ว่าตกลงแล้วคนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่จริงๆ อยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับสัดส่วนของพรรคอื่นๆ
“มันมีเส้นแบ่งชัดเจนขนาดนั้นหรือเปล่าระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า แต่ว่า Brexit คนที่อายุน้อยจะโหวตเลือกอยู่ต่อกับ EU ส่วน คนที่อายุมากก็จะโหวตให้ออก หรือส่วนของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่คนรุ่นเก่าจะโหวตให้เป็นทรัมป์ แต่ว่าคนรุ่นใหม่จะโหวตให้เป็น liberal มากกว่า
“ส่วนของพรรคอนาคตใหม่เองก็ต้องยอมรับว่าเราได้กระแสส่วนหนึ่งมาจากคนรุ่นใหม่ คนที่มีอายุน้อย แต่ว่าเอาเข้าจริงเราก็ยังคิดว่าคนที่สนับสนุนเรามีแค่คนรุ่นใหม่หรือเปล่า เพราะหลายๆ ครั้ง หรือว่ามีจัดกิจกรรมอะไรต่างๆ เราก็จะพบว่าคนที่มาเข้าร่วมก็จะมีคนหลากหลายวัยมาก ตั้งแต่เด็กมัธยมไปจนถึงคุณป้าอายุ 90 กว่า บางทีเราก็เจอเรื่อยๆ ถ้ามองในฮอลล์ เราก็จะเห็นเลยว่ามันไม่ได้มีแค่คนรุ่นใหม่ ก็เลยคิดว่า แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่ คนที่มีความคิดสมัยใหม่อยู่กับเราแน่ๆ แต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องวัยเรื่องเดียว มันอาจจะเป็นในเรื่องของคาแรคเตอร์อื่นๆ แล้วก็คาแรคเตอร์ของพรรคอื่นๆ ด้วย ทำให้คนที่มีความคิดก้าวหน้า ความคิดที่ค่อนข้างที่จะสมัยใหม่ก็อยากที่จะลองอะไรใหม่ๆ อยากที่จะต้อนรับคนที่เป็นหน้าใหม่ ก็จะเป็นคนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่
“แต่แน่นอนว่ามันจะมีการปะทะ อย่างในโซเชียลเราก็จะเห็นว่ามีการถกเถียง มีการด่าทอกัน โดยคนที่สนับสนุนเราก็จะมีการให้ความเห็นว่า ป้าแก่ไปแล้ว คนที่อายุมากก็จะเป็นแบบนี้ เราก็รู้สึกว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่เราพยายามที่จะสื่อสารว่า มันไม่ควรที่จะใช้ความเกลียดชังหรือถ้อยคำที่เป็น hate speech ใส่กัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความแตกต่างเรื่องวัย ว่าเป็นสลิ่ม หรือควายส้ม”
ศิริกัญญาบอกว่า นี่เป็นความพยายามที่จะสื่อสารไปยังผู้สนับสนุน ให้เกิดการโต้เถียงด้วยเหตุผล ไม่จับเอารายละเอียดเรื่อง อายุ วัย ทัศนคติ หรือแนวคิดแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมืองมาเป็นข้อหากล่าวโจมตีให้ร้ายกัน
“เพราะวิธีการที่เราจะไปข้างหน้าได้ เราต้องพาคนขึ้นไปกับยานเราให้มากที่สุด ไม่ใช่ผลักคนที่เห็นต่างออกแล้วไปกันเฉพาะกลุ่มเดิม เราก็ไม่สามารถที่จะผลักดันประเด็นให้มันก้าวหน้าไปได้”
การเมืองบนความหลากหลาย
ประจักษ์ถามต่อว่า ที่ผ่านมามีประเด็นหนึ่งที่พรรคอนาคตใหม่จะโดนโจมตีเสมอ นั่นคือ พรรคอนาคตใหม่ละทิ้งหลักการคุณค่าความเป็นไทย ล่าสุดคือการกล่าวหาว่าล้างสมองเยาวชน ศิริกัญญาให้คำตอบไว้ว่า พรรคอนาคตใหม่โอบรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากกว่า เพราะที่ผ่านมา นิยามความเป็นไทยมักถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางเป็นหลัก ว่าไทยแท้ต้องมีลายกนก หรือไม่ก็รำวงมาตรฐานเท่านั้น ถ้าจะฟ้อนน่าฮ่านหรือแบบอื่นก็จะกลายเป็นความแตกต่างที่ผิดไปจากแบบที่เรียกว่าเป็นมาตรฐานความเป็นไทย
“เรารู้สึกว่ามันทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นเรื่องที่แข็งแล้วก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่มีความยืดหยุ่น สิ่งที่พูดมาตลอด ที่ดูเป็นเด็กหัวรุนแรง จริงๆ แล้วความเป็นไทยแท้มันไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียว ด้วยนโยบายของเราคือการโอบรับพหุวัฒนธรรมความหลากหลายต่างๆ เราก็อยากให้การตีความความเป็นไทยมันมีความเป็นสากลมากขึ้น แล้ววัฒนธรรมท้องถิ่นถูกโอบรับไว้โดยไม่ต้องให้รัฐส่วนกลางให้นิยามแค่ฝั่งเดียว
เรื่องพานไหว้ครู มันก็กลายเป็นวิธีการหนึ่งที่นักเรียนสามารถแสดงออกถึงความคิดเห็นของเขาได้ เราคิดว่าการไหว้ครูมันควรจะเต็มไปด้วยความเต็มใจของเด็กอยู่แล้ว แต่เมื่อมันเกิดพฤติกรรมที่เขาต้องทำ มันก็ควรจะเป็นอิสระเสรีภาพที่เขาจะแสดงออกทางความคิดหรือไอเดียต่างๆ ของเขาด้วย
ความขัดแย้งสองรุ่นที่มีมาช้านาน
ขณะที่ กรวีร์ ปริศนานันทกุล ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย มองว่า ปัจจุบันนี้เรากำลังอยู่ในช่วงการเชื่อมต่อของทั้งสองรุ่น การปรากฏขึ้นของพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นความแตกต่างทางความคิดระหว่างทั้งสองรุ่นอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยกรวีร์ไม่ได้มองว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกันในผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ทว่าความแตกต่างทางความคิดไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีอยู่ในสังคมและประเทศไทยนานแล้ว เพียงแต่พรรคอนาคตใหม่นั้นสามารถสะท้อนจุดยืนและความคิดตรงใจกับคนรุ่นใหม่ ทำให้ดูเหมือนว่าความแตกต่างทางความคิดระหว่างคนรุ่นพ่อรุ่นแม่กับคนที่เป็นรุ่นลูกมีความชัดเจนมากขึ้นเท่านั้นเอง
“สิ่งที่ผมกังวลไม่ใช่ความต่างครับ แต่คือเราจะทำอย่างไรให้บ้านที่พ่อเลือกพรรคหนึ่ง แม่เลือกพรรคหนึ่ง ลูกเลือกพรรคหนึ่ง อยู่ด้วยกันได้โดยไม่ต้องทะเลาะกันต่างหาก ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญ ที่พวกเราไม่ว่าจะอยู่ในพรรคการเมืองใดก็แล้วแต่ ต้องช่วยกันคิด และเป็นโจทย์ที่สังคมไทยต้องช่วยกันในการตอบคำถามและหาทางออกไปด้วยกันในอนาคต”
เปลี่ยนการเมืองใหม่บนฐานการเมืองเก่า
อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พริษฐ์ วัชรสินธุ เห็นด้วยว่าความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างช่วงอายุไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ การทำความเข้าใจจำเป็นต้องเริ่มด้วยพื้นฐานที่ว่า โดยปกติคนแต่ละช่วงวัยมีความเห็นทางการเมืองขั้นพื้นฐานที่แตกต่างกัน อาจจะด้วยเพราะประวัติศาสตร์ที่สะสมมา สิ่งที่เคยเห็นในอดีต สิ่งที่คนอายุน้อยในปัจจุบันอาจจะยังไม่เห็น หรือแม้กระทั่งปัจจัยขั้นพื้นฐาน ความพร้อมที่จะเสี่ยง ในมุมของพริษฐ์ หากตัดเรื่องการเมืองออกไป การตัดสินใจหลายๆ อย่างคนที่มีอายุน้อยอาจจะมีความพร้อมเสี่ยงมากกว่า เพราะมีความเห็นว่า หลังจากตัดสินใจเลือกแล้ว ยังมีอนาคตอีกยาวไกลที่อาจจะเปลี่ยน อาจจะหาวิธีการแก้ต่อผลกระทบที่ตามมาหากการตัดสินใจเสี่ยงครั้งนั้นส่งผลกระทบที่ไม่ดี ในทางกลับกัน คนอายุมากมีโอกาสเลือกทางที่ค่อนข้างปลอดภัย ความเสี่ยงน้อย
“พื้นฐานคนกับช่วงอายุคิดต่างกันอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ พอมาตลบขั้นที่ 2 คือในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา โลกเปลี่ยนแปลงในอัตราที่เร็วขึ้น แล้วมันทำให้อะไรหลายๆ อย่างที่ใหม่ในโลกนี้ คนรุ่นก่อนๆ ไม่คุ้นเคย แล้วพอมาจบท้ายด้วยปัจจัยที่ 3 คือความตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชน มันเลยทำให้ความแตกต่างทางความคิดมันยิ่งทวีคูณขึ้น ผมเห็นได้ชัดเลยคือตอนไปหาเสียง ผลเลือกตั้งครั้งที่แล้วหมู่บ้านนี้เลือกประชาธิปัตย์เยอะมาก ผมก็เข้าไปด้วยความมั่นใจระดับหนึ่ง ปรากฏคุณพ่อคุณแม่ออกมาบอกว่าทะเลาะกับลูก พอออกมา เราก็โปรโมตพรรค เขาบอก ขอโทษนะครับ คราวนี้ เลือกพลังประชารัฐ แต่ลูกจะเลือกอนาคตใหม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ผมแปลกใจในเชิงทฤษฎี
“อย่างไรก็ตาม ผมเคยได้รับคำถามว่าทำไมไอติมถึงเลือกไปอยู่พรรคการเมืองที่อาจจะเก่าแก่ ที่มีอายุใช้งานมานาน ทำไมไม่ตั้งพรรคใหม่เลย ผมก็บอกว่า เพราะผมกลัวเรื่องความขัดแย้งระหว่างช่วงอายุ
ผมมีความรู้สึกว่าการที่เรามีความคิดที่คนรุ่นใหม่อาจจะเห็นด้วย ผมอยากจะลองเข้าไปเปลี่ยนแปลง เพื่อแสดงให้เห็นว่าผมสามารถขับเคลื่อนสิ่งใหม่ๆ ที่ผมต้องการผ่านองค์กรที่มีอายุมานานได้ เพราะท้ายที่สุด นี่จะเป็นทางที่ดีที่สุด ว่าเราเข้าไปบริหารประเทศแล้วเราสามารถขับเคลื่อนสิ่งใหม่ๆ ได้หรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันจะช่วยให้สังคมแตกแยกน้อยลง ไม่ต้องไปลดความแตกต่างทางความคิด ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันเป็นธรรมชาติ
สกัดเจตนารมณ์ของคนรุ่นใหม่
เผ่าภูมิ โรจนสกุล จากพรรคเพื่อไทย เห็นไปในทางเดียวกับท่านอื่นว่า ความแตกต่างทางความคิดของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในอดีตและยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้เป็นความแตกต่างหนักเท่ากับความแตกต่างทางด้านการเมือง โดยไม่จำกัดอายุ ในมุมของเผ่าภูมิคิดว่า ความแตกต่างของคนที่จะเลือกประชาธิปไตยกับคนที่จะเอาการสืบทอดอำนาจ เป็นปัจจัยที่ส่งผลมากต่อความแตกต่างทางความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า
“สิ่งที่เรามองว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเสียงดังขึ้นมาในครั้งนี้ ก็อาจจะเป็นเพราะว่ามีพรรคการเมืองที่อาจจะสกัดเจตนารมณ์ของคนกลุ่มนั้นให้มันดังขึ้นมาได้เท่านั้นเอง แต่ก่อนพรรคไทยรักไทยก็เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ที่สกัดเจตนารมณ์มาได้ ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หนักหนาเมื่อเทียบกับความขัดแย้งทางการเมืองที่แตกต่างกัน
ปัจจุบันมีความแตกต่างทางการเมืองที่หนักขึ้นไปอีก เพราะว่ามันมีความแตกต่างทางการเมืองที่มันจะเอาการสืบทอดอำนาจหรือประชาธิปไตย
“แต่ก่อนมันเป็นความขัดแย้งของอุดมการณ์เชิงความคิดของฝ่ายที่อยู่บนหลักการหลักเหตุผลประชาธิปไตย แต่ก่อนเรายังอยู่ในระบอบเดียวกัน อยู่บนหลักการที่ถูกต้องเหมือนกันเพียงแต่เรามีความคิดที่แตกต่างกัน แต่อันนี้เราอยู่ในระบอบที่อีกอันหนึ่งมันไม่อยู่บนหลักการ มันเลยเป็นความแตกต่างที่มันหาคำตอบยากขึ้น”
ในฐานะตัวแทนของพรรคเพื่อไทยแล้ว เผ่าภูมิอธิบายว่า เราไม่ได้แบ่งแยกว่าจะเอาคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่าในเชิงความแตกต่างทางความคิด แต่พรรคเพื่อไทยมียุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่มองความแตกต่างทางความคิดที่เอาประชาธิปไตยหรือไม่เอาประชาธิปไตยเป็นส่วนสำคัญมากกว่า
“นี่คือที่มาที่ไป ว่าทำไมพรรคเพื่อไทยเน้นความกลมกล่อมและโชว์ความมีวิสัยทัศน์และนวัตกรรมต่างๆ เพราะเราคิดว่าความแตกต่างของอายุมันไม่ได้มีนัยยะสำคัญขนาดนั้น เพียงแต่มีพรรคการเมืองที่สามารถสกัดตรงนั้นออกมาได้” เผ่าภูมิกล่าวทิ้งท้าย