พ่อจนก็สอนลูกให้รวยได้

cover

เรื่อง: นเรศ ดำรงชัย

 

ตั้งแต่ต้นปีนี้ มีข่าวออกมาว่า โตโยต้าอาจจะกำลังประสบภาวะคับขันถึงขั้นเสียตำแหน่งแชมป์รถยนต์นั่งเลยทีเดียว ปัญหาอยู่ที่บรรดาสิทธิบัตรเกี่ยวกับรถยนต์ไฮบริดที่กำลังจะหมดอายุ

รถยนต์ไฮบริดใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ติดตั้งทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในธรรมดา และมอเตอร์ไฟฟ้ากับแบตเตอรีขนาดใหญ่ไว้ด้วย ระหว่างที่รถวิ่งไป เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันกับมอเตอร์ไฟฟ้าจะสลับกันทำงาน เมื่อใช้เครื่องยนต์หรือเหยียบเบรก แบตเตอรีก็จะถูกชาร์จไฟเข้าไปเรื่อยๆ เวลารถติดไฟแดงเครื่องยนต์ก็จะดับ พอจะออกตัวอีกทีก็ใช้พลังงานจากแบตเตอรีส่งไปยังมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนรถ ไม่ต้องติดเครื่องยนต์

วิธีนี้ช่วยให้ประหยัดน้ำมันได้มหาศาล เพราะใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสุดๆ ขนาดว่า 20 กิโลต่อลิตรถือเป็นเรื่องจ้อยมาก

ที่ญี่ปุ่น เดี๋ยวนี้เขาใช้รถยนต์ไฮบริดกันประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ทั้งหมด อัตราการใช้น้ำมันของรถยนต์ไฮบริดที่ญี่ปุ่นเริ่มเข้าไปในโซน 40 กิโลต่อลิตรกันแล้ว เทคโนโลยีเขาพัฒนาไปเร็วมาก ข่าวว่ารถยนต์ไฮบริดตระกูล Prius ที่ขายดีเป็นอันดับหนึ่งของโลก จะออกรุ่นใหม่มาในปี 2015 และจะมีคุณสมบัติพิเศษคือ รถยนต์จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบข้อมูลจราจรเป็นเนื้อเดียวกัน และจะสามารถคาดเดาการใช้น้ำมันได้ล่วงหน้าจากข้อมูลรถติดของเส้นทางที่กำลังจะไป แล้วเอามาปรับระดับการเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงของรถโดยอัตโนมัติ ช่วยให้ประหยัดน้ำมันขึ้นไปอีก

แต่ว่าสิ่งที่กำลังเป็นที่กลุ้มใจของโตโยต้าในเวลานี้ คือ กลุ่มสิทธิบัตรชุดแรก (แปลว่ามีมากกว่าหนึ่ง) ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไฮบริดที่โตโยต้าได้จดเอาไว้ จะเริ่มทยอยหมดอายุลงตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นไป ซึ่งก็คืออีกไม่กี่ปีข้างหน้านี่เอง

สาเหตุที่โตโยต้าสามารถครองความเป็นแชมป์แห่งรถยนต์ไฮบริดมาได้นาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเริ่มตันพัฒนามาก่อนคนอื่น และรถรุ่นพริอุสก็เป็นรถยนต์ไฮบริดรุ่นแรกที่ผลิตจำหน่ายออกสู่ตลาดโลก และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น นำหน้าทิ้งห่างคนอื่นไปไกลหลายขุม

ขณะที่ผู้ผลิตรถรายอื่นกำลังไล่ตามโตโยต้าอยู่ ก็ติดปัญหาคอขวดคือ ต้องใช้เทคโนโลยีอื่นที่ใกล้เคียง ไม่กล้าใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกับของโตโยต้า เพราะกลัวว่าจะถูกฟ้อง (และรับรองได้ว่า ถ้าขืนใช้ก็คงถูกฟ้องแน่นอน)

แต่ถ้าสิทธิบัตรหมดอายุความคุ้มครองลงเมื่อไหร่ นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คราวนี้บรรดาคู่แข่งก็จะแห่กันเข้ามาในตลาดรถยนต์ไฮบริด และผลิตรถดีๆ ออกมาแข่งกับโตโยต้าเป็นที่แน่นอน ถามว่าโตโยต้ากลัวไหม ก็ต้องกังวลแน่นอน แต่ในขณะนี้ผู้บริหารที่ญี่ปุ่นก็ยังต้องแสดงท่าไม่สะทกสะท้านไว้ก่อน

“ถ้าเทียบกับเมื่อตอนออกรถพริอุสรุ่นแรกสู่ตลาดเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน วันนี้เทคโนโลยีได้พัฒนาต่อไปอีกไกลแล้ว การที่บริษัทของเราจะผูกขาดเทคโนโลยีไว้คนเดียวก็คงไม่ดี เดี๋ยวจะกลายเป็นโดดเดี่ยวแบบเต่ายักษ์บนเกาะกาลาปากอส เราคิดว่าการเปิดให้ผู้ผลิตรายอื่นเข้ามาได้มากขึ้นก็น่าจะช่วยให้รถยนต์ไฮบริดเป็นที่นิยมมากขึ้น”

ผมฟังแล้วก็ยังสงสัย เพราะถ้าคิดแบบนี้จริงคงไม่จดสิทธิบัตรตั้งแต่ต้น แต่ผู้บริหารโตโยต้าพูดต่อไปว่า

“จากนี้ถึงภายในสิ้นปี 2015 เรามีแผนจะออกรถยนต์เก๋งไฮบริดรุ่นใหม่ (รวมทั้งการเปลี่ยนโมเดลรุ่นที่ออกมาก่อนหน้านี้แล้ว) รวมทั้งสิ้น 21 รุ่น”

กรณีสิทธิบัตรหมดเป็นกลุ่มครั้งนี้ ถ้ามองจากผู้บริโภคคงต้องบอกว่า ได้ประโยชน์สุดๆ เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันกันขึ้นอย่างดุเดือด บรรดาผู้ผลิตรายอื่นนอกเหนือจากโตโยต้าจะพากันเอารถยนต์ไฮบริดดีๆ ส่งเข้าตลาดมาแข่งกับโตโยต้าแน่นอน เพราะถ้ายอมรับความจริงกัน ถึงวันนี้รถยนต์ไฟฟ้า (ที่ใช้ไฟฟ้าล้วนๆ) ที่ดีที่สุดก็ยังขาดคุณสมบัติในเรื่องของความแรง และที่สำคัญคือระยะวิ่งต่อการชาร์จไฟอีกครั้งหนึ่งยังสั้นกว่าของรถยนต์ไฮบริดอยู่มาก แปลว่าคนที่ขับรถไฟฟ้าจะวิ่งทางไกลกันแต่ละทีต้องคิดแล้วคิดอีก ว่าจะแวะชาร์จไฟที่ไหนดี ในขณะที่คนที่ขับรถยนต์ไฮบริดไม่ต้องคิดเลย เติมเชื้อเพลิงให้เต็มถังหนึ่งครั้งก็วิ่งได้ไกลโข

ระบบสิทธิบัตรเป็นแนวคิดดั้งเดิมของชาติตะวันตก ที่มุ่งคุ้มครองผู้ประดิษฐ์คิดค้นเพื่อไม่ให้ผู้อื่นลอกเลียนแบบนวัตกรรมเหล่านั้นไปใช้ได้โดยง่าย เขาว่ากันว่า สิทธิบัตรเป็นระบบที่คิดขึ้นมาให้ผู้ประดิษฐ์ได้มี ‘แรงจูงใจ’ ที่จะประดิษฐ์คิดค้น เพราะเมื่อคิดค้นขึ้นมาแล้ว เจ้าของสิทธิบัตรอาจปกป้องไม่ให้คนอื่นเข้ามาใช้สิทธิ์ได้เป็นเวลา 20 ปี ระหว่างเวลานั้นก็ต้องรีบหาทางทำของออกมาขายให้ได้มากที่สุด ก่อนที่คนอื่นจะเข้ามาทำมาค้าขายแบบเดียวกับเราหลังหมดอายุของสิทธิบัตร

บทเรียนจากกรณีของรถยนต์ไฮบริดทำให้เห็นว่าจริงเช่นนั้น เพราะที่โตโยต้าสามารถเป็นเจ้าแห่งรถยนต์ไฮบริดได้อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะการคิดค้นของโตโยต้าได้รับการ ‘ล้อมรั้ว’ โดยการจดสิทธิบัตร ป้องกันไม่ให้คู่แข่งรายอื่นสามารถเข้ามาใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ได้เป็นเวลา 20 ปี

พ้นระยะเวลานี้ไปแล้วก็ต้องยอมให้คนอื่นเขาเอาไปใช้ประโยชน์บ้าง

โตโยต้ามาถึงวันนี้ได้ ต้องบอกว่าเป็นหนี้บุญคุณการประดิษฐ์คิดค้นของชายคนหนึ่ง ชื่อ ซากิจิ โทโยดะ (Sakichi Toyoda)

ซากิจิ โทโยดะ มีอาชีพเป็นชาวนา เขาเกิดปี ค.ศ. 1867 ญี่ปุ่นในสมัยนั้นยังเป็นประเทศเกษตรกรรม ซากิจิเห็นแม่ทำนาตอนกลางวัน และทอผ้าตอนกลางคืน วันๆ ใช้เวลามาก ใช้ความอดทน และยากลำบาก แต่ก็ทอผ้าได้วันละไม่มาก

ซากิจิเห็นแม่ทำงานหนักทุกวัน ก็อยากประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือมาช่วยให้แม่สบายขึ้น จึงได้ประดิษฐ์เครื่องทอผ้าขึ้น ทำงานด้วยแรงมือ และพัฒนาต่อ จนทำงานได้ดี เอาไปขาย แล้วเอาเงินที่ได้มาพัฒนาเครื่องต่อ

ระบบสิทธิบัตรที่มาจากตะวันตกเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นในปี 1885 รัฐบาลประกาศออกมาเป็นกฎหมาย ตอนนั้นซากิจิอายุได้ 18 ปี เขาเป็นคนแรกๆ ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ด้วยสิทธิบัตร เขามีโอกาสไปเยี่ยมชมงานแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่จัดขึ้นที่ย่านอุเอโน ในกรุงโตเกียว นั่งดูเครื่องจักรที่นำมาแสดงอย่างละเอียดลออทุกวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น จนพนักงานต้องออกปากไล่ให้เขากลับบ้าน

เขาพบว่าสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายที่นำมาแสดงล้วนเป็นของต่างประเทศเกือบทั้งหมด เขาจึงตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะเอาดีในด้านการประดิษฐ์คิดค้น สร้างผลงานของชาวญี่ปุ่นเองบ้าง เขาพัฒนาเครื่องทอผ้าที่ทำด้วยไม้จนกระทั่งสามารถนำผลงานประดิษฐ์ชิ้นนี้ไปจดสิทธิบัตรในญี่ปุ่นได้ในที่สุด

จากนั้นเขาก็พัฒนาเครื่องทอผ้าของเขาต่อเรื่อยมา จนใช้ระบบไฟฟ้าให้ทำงานได้อัตโนมัติ เครื่องทอผ้าอัตโนมัติของเขาขายดีมากในญี่ปุ่นเพราะมีประสิทธิภาพสูงแต่ราคาครึ่งเดียวของเครื่องนำเข้า โรงงานของเขาส่งผลิตภัณฑ์ไปขายที่อังกฤษ อเมริกา จีน อินเดีย ได้เงินมากมาย ภายหลังอังกฤษสนใจผลงานนี้มากจึงเสนอซื้อสิทธิบัตรในอังกฤษทั้งหมด เป็นเงิน 1 ล้านเยน (ถ้าเป็นเงินสมัยนี้ก็คง 10,000 ล้านเยน)

ซากิจิเป็นเจ้าของสิทธิบัตรในญี่ปุ่นทั้งหมด 84 รายการ และจดในต่างประเทศอีก 13 รายการ ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ภูมิใจมาก และถือว่าเขาเป็นชาวญี่ปุ่นที่โลกให้การยกย่องเป็นตัวอย่าง สิทธิบัตรเป็น ‘รางวัล’ ของคนที่ทำงานหนักเพื่อประดิษฐ์คิดค้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเครื่องประกันความสำเร็จทางการค้า และบ่อยครั้งที่นักประดิษฐ์มักล้มเหลวทางการค้า

ซากิจิเป็นตัวอย่างของ ‘พ่อจน’ ที่ผ่านขีวิตที่เหนื่อยยากในวัยเด็ก แม้หลังก่อตั้งบริษัทเขาก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทางการค้ามากนัก เขากู้เงินจากบริษัทมิตซุยมาลงทุนหลายครั้ง แต่ล้มเหลวบ่อยมาก เพราะมีความเป็นนักประดิษฐ์ ไม่ใช่นักการค้า เขาคิดแต่เรื่องผลงานประดิษฐ์ตั้งแต่เช้ายันดึก มีเรื่องเล่ากันว่า วันหนึ่งเขาเกิดไอเดียบรรเจิดขึ้น รีบเข้าไปที่โรงงานแต่ไม่พบใครเลย เขาตะโกนเรียกคนงานจนคอแห้ง ก็ไม่มีใครตอบ เขานึกว่าเกิดการนัดหยุดงาน ภายหลังจึงมีคนมาบอกว่า เป็นวันขึ้นปีใหม่ พนักงานจึงไปฉลองปีใหม่กันหมด

แต่ในบั้นปลายของชีวิต เขามีวิสัยทัศน์ถึงโลกในอนาคต และสอนลูกว่าต่อไปจะถึงยุคของรถยนต์ ด้วยเงินที่ได้มากการขายสิทธิบัตร 1 ล้านเยนนั้น ซากิจิได้ส่งลูกชายชื่อ คิอิจิโร ไปเรียนที่อเมริกา ลูกชายของเขาไปเห็นที่อเมริกามีคนใช้รถยนต์มากมาย เกิดจุดประกายความคิดขึ้น จึงกลับมาวิจัยและพัฒนาต่อยอดเครื่องยนต์แบบที่ใช้น้ำมันแก๊สโซลีน

หลังจากฝ่าฟันความยากลำบากมากมาย คิอิจิโร โทโยดะ ก็ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรถยนต์โตโยต้าคันแรกคือรุ่น A1 ออกมาได้ในปี 1935 และผลิตจำหน่ายรถยนต์นั่งสำหรับคนทั่วไปแบบ AA ออกมาในปี 1936 และก่อตั้งบริษัทรถยนต์โตโยต้าขึ้นได้สำเร็จในปี 1937 จากนั้นผ่านไปอีกหลายสิบปี โตโยต้าก็ทะยานสู่บัลลังก์ราชาแห่งรถยนต์นั่งของโลก

สำหรับโตโยต้า ความน่ากลุ้มใจที่อาจจะต้องเสียตลาด เสียตำแหน่งแชมป์ มันจะยิ่งใหญ่สักแค่ไหนก็ไม่ทราบได้ ถ้าเทียบกับความทุกข์ยากของมารดาของนักประดิษฐ์ผู้ให้กำเนิดโตโยต้า ที่ต้องทำงานหนักด้วยแรงมือกว่าจะได้ผ้าแต่ละผืน

แต่อย่างน้อยสิทธิบัตรจากน้ำมือของชาวนาที่ประดิษฐ์คิดค้นเพื่อช่วยแม่ที่ทำงานหนัก ก็ได้พาพวกเขาและพาโลกของเรามาถึงวันนี้

 

****************
(หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Dualism นิตยสาร WAY ฉบับที่ 66)

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า