(ต่อจากตอนที่แล้ว)
เรื่องดีที่สุดของวัยรุ่นคืออุดมคติ พวกเขาจะไปข้างหน้าด้วยพลังที่ดีที่สุดและบริสุทธิ์มากที่สุดในช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์ เหตุหนึ่งเพราะพวกเขามีผลประโยชน์พัวพันกับโลกมนุษย์ไม่มากนัก บางคนยังไม่มีอะไรเลย อีกเหตุหนึ่งเพราะพวกเขายังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Executive Function ที่สมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องคิดเหตุผลรอบด้าน เพราะหากมัวแต่คิดรอบด้านเหมือนพวกผู้ใหญ่ก็คงจะไม่กล้าทำและไม่มีวันทำ
นี่คือประโยชน์ของอารมณ์ อารมณ์พาเหตุผลไปข้างหน้าเพื่อสู่อุดมคติที่ดีที่สุด
มนุษย์ต่างจากจักรกลก็ตรงนี้ บางคนคิดว่าสมองมนุษย์ทำงานเหมือนคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่รอบด้าน สมองมนุษย์เหนือกว่าคอมพิวเตอร์แน่ๆ และส่วนที่เหนือกว่านี้เองคืออารมณ์ รวมทั้งจุดสูงสุดของเราคืออุดมคติมิใช่ผลงานสมบูรณ์แบบที่ไร้ข้อผิดพลาดแบบที่หุ่นยนต์ทำ
ประชาธิปไตยมิใช่เรื่องสมบูรณ์แบบ เป็นเรื่องผิดพลาดได้แล้วค่อยๆ แก้ไขกันไป แต่ส่วนที่เป็นอุดมคติคือวัยรุ่นฝันถึงสังคมที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ ซึ่งเป็นเรื่องทำได้ เป็นความฝันที่พวกผู้ใหญ่ไม่กล้าแม้แต่จะจินตนาการถึง หรือไม่กล้าพูด
เมื่อพูดถึงความกล้าพวกเขาก็กล้าหาญกว่าพวกผู้ใหญ่มาก
กว่าที่ Executive Function จะสมบูรณ์นั่นเท่ากับอายุ 25 ปีแล้ว พวกเขามิใช่พวกวัยรุ่น (adolescents) อีกแต่กลายเป็นพวกผู้ใหญ่ (adults) อารมณ์ลดลง ความกล้าลดลง และผลประโยชน์ส่วนตัวมากขึ้น ช่วงเวลาที่ช่วงโชติชัชวาลที่สุดจะผ่านไป
บางคนผ่านช้า บางคนผ่านเร็ว บางคนไม่ผ่านเหมือนทุกๆ เรื่อง
ถัดจากอุดมคติมาที่จริยธรรม งานวิจัยช่วงหลังๆ จากหลายแหล่งพบว่าผู้ใหญ่มีจริยธรรมน้อยกว่าวัยรุ่นมาก สาเหตุอธิบายได้ด้วยเหตุผลคล้ายกัน เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว ตัวเอง ครอบครัว วงศ์ตระกูล มักจะมาก่อน ส่วนรวมเอาไว้ทีหลังได้ ในขณะที่วัยรุ่นมักเอาส่วนรวมขึ้นก่อน ส่วนรวมนี้อาจจะหมายถึงประเทศชาติหรืออาจจะหมายถึงแก๊งของตัว จะเป็นแบบไหนก็ตาม ส่วนรวมมาก่อนอยู่ดี เรื่องตัวเองไว้ทีหลัง
เปรียบเทียบแก๊งเพื่อนกับพ่อแม่ ประโยชน์ของเพื่อนฝูงและแก๊งมักจะมาก่อนพ่อแม่ นี่เป็นพัฒนาการปกติ จึงมีคำแนะนำเสมอว่าพ่อแม่มีหน้าที่ฟังลูกวัยรุ่นพูด อย่าไปขัดคอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าไปลบหลู่หัวหน้าแก๊งของเขา เขาไม่ชอบ
จริยธรรมเริ่มมาอย่างไร จริยธรรมมาจากสองคำ คือ ethics และ moral ซึ่งมีความหมายต่างกัน แต่เนื่องจากตำราจิตเวชศาสตร์ภาษาไทยจำนวนมากใช้คำว่าจริยธรรมแทนคำว่า moral ในทฤษฎีว่าด้วยพัฒนาการทางจริยธรรมหรือ Moral Development ของโคลเบิร์กเสมอมา บทความนี้จึงเลือกใช้คำว่าจริยธรรม และหมายถึงเพียงเรื่องการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตน
โคลเบิร์กเขียนว่าพัฒนาการทางจริยธรรมไปได้สูงสุดถึงประมาณอายุ 21 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงง่ายๆ
ช่วงที่ 1 อายุน้อยกว่า 7 ปี เด็กวัยนี้เห็นตนเองเป็นศูนย์กลางมากอยู่ อะไรที่เกิดขึ้นรอบตัวมีสาเหตุหรือมีความเกี่ยวพันกับตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นเมื่อมีอะไรที่เรียกว่าผิดเกิดขึ้น พ่อแม่เลือกจะทำโทษเขา เขาก็จะยอมรับได้ง่ายว่าเขาเป็นคนผิด อย่างไรก็ตามการทำโทษควรมีความหมายเพียงการดุหรือชักสีหน้า แต่ไม่ตี
เราไม่ตีเด็ก
เราไม่ทำร้ายเด็กและเยาวชน
ช่วงที่ 2 อายุระหว่าง 7-14 ปี เด็กโตและวัยรุ่นลดความเป็นศูนย์กลางของตนเองลงมากแล้ว ในขณะเดียวกันโลกทัศน์เชิงรูปธรรมแปรเปลี่ยนเป็นโลกทัศน์เชิงนามธรรม อะไรที่เขาทำมีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกมากขึ้น ดังนั้นเวลาเด็กทำอะไรบางอย่างแล้วเราอยากให้พฤติกรรมนั้นคงอยู่ เราให้รางวัล เพราะเด็กชอบรางวัล รางวัลเป็นได้ทั้งรูปธรรมคือขนม อมยิ้ม ไปจนถึงรางวัลที่เป็นนามธรรมคือคำชมเชย หรือเงินสด
เงินสดเป็นนามธรรม
ผู้ใหญ่เสียอีกที่มักมองเห็นเงินสดเป็นรูปธรรม
ช่วงที่ 3 อายุระหว่าง 14-21 ปี เด็กวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นจะพัฒนาเรื่องความกลัวที่จะถูกลงโทษ ความพึงพอใจที่จะได้รับรางวัล และลักษณะทางธรรมชาติของรางวัลไปอีกขั้นตอนหนึ่ง เหตุเพราะไม่มีพ่อแม่ที่ไหนจะมาให้รางวัลได้ทุกวัน ให้บ้างไม่ให้บ้างลืมบ้างไม่มีจะให้บ้าง เป็นช่วงเวลาที่การเปลี่ยนผ่านจากนามธรรมยังคงดำเนินต่อไปในขั้นตอนที่สูงขึ้น ไปถึงระดับคุณค่าและอุดมคติ (value & ideal) รางวัลที่เคยเป็นก้อนๆหรือคำชมเชยที่เคยชอบเริ่มลดความหมายลง การทำอะไรสักอย่างที่ดีเป็นไปเพียงเพราะว่าสมควรจะทำเท่านั้นเอง
พัฒนาการด้านจริยธรรมจึงมาถึงจุดสูงสุดของมันที่อายุประมาณหลังวัยรุ่น นั่นคืออุดมคติและการเห็นประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตน จริยธรรมอยู่ที่ปลายทาง เห็นส่วนรวมก่อนส่วนตน แต่ส่วนรวมมิได้หมายถึงสังคมกว้างเท่านั้น
ในยุคสมัยที่การศึกษาคับแคบ การเมืองคับแคบ ส่วนรวมอาจจะมีความหมายแคบๆ ตามไปด้วย เช่น เป็นเพียงกลุ่มหรือแก๊งวัยรุ่นที่มีรสนิยมเหมือนกัน เราจึงปรามาสนักศึกษามาช้านานว่าเอาแต่แต่งตัวเกาหลี ครั้นโลกมาถึงศตวรรษที่ 21 ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างอยู่บนอินเทอร์เน็ต ทุกศาสนา ชาติพันธุ์ เพศวิถีไปจนถึงระบอบการเมืองการปกครอง ได้ปรากฏให้ทุกคนเห็นซ้ำๆ เป็นเวลาหลายปี ตั้งแต่วัยรุ่นชุดใหม่นี้ถือกำเนิด
คือที่บริเวณปี 2000
ดูเหมือนสังคมวัยรุ่นจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ แล้ว พวกเขามองเห็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรม ความยากจน และการไม่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ พวกเขามิได้เห็นเฉยๆ แต่เห็นวิธีแก้ไขด้วย มองเห็นวิธีสร้างสังคมที่ดีกว่า
ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าพวกเขาจะคิดได้เพียงนี้ และสามารถรวมตัวกันเพื่อทำงานร่วมกันได้ดีเท่านี้ เป็นอะไรที่ไม่เคยเห็นในผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเราด้วยซ้ำไป