๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔
โหมโรง
ผมสนิทกับคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ระดับหนึ่ง เมื่อผมเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี ๒๕๐๗ โดยได้รับพระราชทานทุนภูมิพลตลอด ๔ ปีที่ศึกษานั้น เดิมผมตั้งใจจะศึกษาในคณะรัฐศาสตร์
บ้านผมอยู่ตำบลท่าช้างวังหลวง (จังหวัดพระนคร) และผมศึกษาระดับมัธยมศึกษา (มัธยมปีที่ ๑-๘) ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ในเวลานั้น ระดับประถมศึกษาใช้เวลาเล่าเรียน ๔ ปี มัธยมศึกษาตอนต้น ๖ ปี และมัธยมศึกษาตอนปลาย ๒ ปี เรียกว่า ระบบ ๔-๖-๒ รวมเวลา ๑๒ ปี ในขณะที่ระบบปัจจุบันเป็นระบบ ๖-๓-๓ รวม ๑๒ ปีเท่ากัน
เมื่อโรงเรียนเลิก ผมเดินกลับบ้านผ่านสนามหลวง มีเพื่อนร่วมทางด้วยจำนวนหนึ่ง ส่วนมากเรามักจะเล่นฟุตบอลที่สนามหลวงนั้นเอง เมื่อมีไฮด์ปาร์กสนามหลวง เรามักจะยืนฟัง โดยรู้สึกสนุกดี เพราะได้ยินการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ชนิดไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน โดยที่ไม่มีความรู้ว่า ผู้พูดมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และเคยพูดโกหกหรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบจุดยืนทางการเมืองของนักไฮด์ปาร์กเหล่านั้น หลังจากนั้นพากันเดินเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อชมการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะ โดยที่บางวันได้ชมการวิวาทปะทะกันระหว่างคณะเป็นของแถม
เนื่องจากผมฟังไฮด์ปาร์กสนามหลวงสัปดาห์ละหลายครั้ง ทำให้ผมอยากศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ในปี ๒๕๐๗ ที่ผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นั้นเอง อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์เป็นปีแรก แม่ของผมเกลี้ยกล่อมให้ผมละจากคณะรัฐศาสตร์ไปสู่คณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นลูกศิษย์อาจารย์ป๋วย ผมเชื่อฟังแม่ผมด้วยดี
คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เข้าศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี ๒๕๐๔ อันเป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลิกเป็นตลาดวิชา โดยหันมาใช้วิธีการสอบคัดเลือกนักศึกษาเหมือนมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดในเวลานั้น นักศึกษาเก่าพากันติดใบปลิวต่อต้านการเลิกเป็นตลาดวิชา
เมื่อแรกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องศึกษาวิชาพื้นฐานที่คณะศิลปศาสตร์เป็นเวลา ๒ ปี (รุ่นที่หนึ่งและรุ่นที่สอง) แล้วจึงแยกเข้าศึกษาในคณะที่เลือก คุณสุชาติเลือกศึกษาต่อในคณะศิลปศาสตร์ (สาขาวิชาประวัติศาสตร์)
ผมเป็นรุ่นที่สามเรียนวิชาพื้นฐานเพียง ๑ ปี แล้วจึงแยกเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ นักศึกษาที่เข้าคณะเศรษฐศาสตร์ในรุ่นผมส่วนใหญ่มีผลการศึกษาดีถึงดีเด่น เพราะอาจารย์ป๋วยเป็นแม่เหล็กดึงดูดที่สำคัญ แรงดึงดูดนี้ดำรงอยู่ตลอดเวลาที่อาจารย์ป๋วยเป็นคณบดี แรงดึงดูดมีมากขึ้นเมื่อคณะเศรษฐศาสตร์ได้รับเงินช่วยเหลือจาก Rockefellor Foundation (ก่อตั้งปี ค.ศ. ๑๙๑๓)
เมื่อแรกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมถูกจัดให้อยู่ในห้องที่นักศึกษาล้วนแต่เป็นไฮโซ บางคนถือหนังสือภาษาอังกฤษเปลี่ยนเล่มทุกวัน ทำให้ผมรู้สึกตกใจเป็นอันมาก
ในภาคการศึกษาแรก ผลการศึกษาไม่สู้ดีนัก ไม่สมกับที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้อันดับที่สาม เพราะผมเอาแต่เล่น ในภาคการศึกษาต่อมา ผมตั้งใจเรียนมากขึ้น
ภาคที่หนึ่ง เหตุเกิดที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณสุชาติและผมไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เวลานั้นคุณสุชาติมิได้มีผลงานงานเขียนอันเป็นที่รู้จักกันมากเหมือนปัจจุบัน เรารู้จักกันในห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เวลานั้นยังมิได้แปรเปลี่ยนเป็นหอสมุดปรีดี พนมยงค์) เรามักสุมหัวอยู่ใกล้หิ้งหนังสือใกล้ๆ กัน เพราะเราต่างสนใจอ่านหนังสือและเรื่องสั้นเพื่อชีวิต และวรรณกรรมเพื่อประชาชนเหมือนกัน อีกทั้งเรายังสนใจอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และการเมืองไทยเหมือนกัน หลังจากนั้น เรามักจะสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นและความรู้ซึ่งกันและกัน
คุณสุชาติเป็นนักทำหนังสือในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขามีเพื่อนร่วมกลุ่มที่ถนัดการทำหนังสือด้วยกัน เวลานั้นเรียกกันว่า หนังสือเล่มละบาท (ถ้าขายแพงกว่าหนึ่งบาท ไม่มีคนซื้อ) ผมเขียนบทความให้หนังสือเล่มละบาทเหล่านี้เป็นครั้งคราว น่าเสียดายที่มิได้เก็บต้นฉบับไว้
ผมเขียนบทความเรื่องแรกในชีวิตในขณะที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่สาม (เทียบเท่าประถมปีที่เจ็ด) เรื่อง ‘โรงรับจำนำ’ โดยค้นข้อมูลจากหนังสือ วชิรญาณวิเศษ อันเป็นนิตยสารที่ออกในรัชกาลที่ห้า ผมอ่านจากหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเวลานั้นอยู่ที่ตึกแดงข้างสนามหลวง เมื่อปิดภาคการศึกษาฤดูร้อน ผมมักจะไปขลุกอยู่ที่นี่ และรู้จักและสนิทกับเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติบางคน หลายคนมีความรู้เรื่องหนังสือดีมาก เพราะมีเวลาว่างมาก เมื่อไม่ต้องให้เวลาในการให้บริการ ก็มีเวลาว่างอ่านหนังสือ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ผมมักจะคุยด้วย คือ คุณสงวน อั้นคง ผู้เขียนหนังสือชุด สิ่งแรกในเมืองไทย
หอสมุดแห่งชาติเป็น Closed-Stack Library กล่าวคือ หยิบหนังสือเองมิได้ ต้องให้เจ้าหน้าที่หยิบให้ ด้านหลังหอสมุดแห่งชาติเป็นหอพระสมุดดำรงราชานุภาพ เป็น Open-Stack Library กล่าวคือ หยิบหนังสืออ่านเองได้ ผมมักจะมาอ่านหนังสือในหอพระสมุดนี้ เพราะหยิบหนังสือเองได้สมุดนี้ด้วย จนเป็นเหตุให้ผมสะสมความรู้ประวัติศาสตร์ไทยระดับหนึ่ง เวลานั้นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (๒๔๐๕-๒๔๘๖) บางพระองค์ได้เสด็จมาหอพระสมุดนี้ด้วย
ต่อมาเมื่อหอสมุดแห่งชาติย้ายไปท่าวาสุกรี หอพระสมุดดำรงราชานุภาพย้ายไปวังวรดิศ (ถนนหลานหลวง)
นอกจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หอสมุดแห่งชาติ และหอพระสมุดดำรงราชานุภาพแล้ว ผมยังใช้ห้องสมุดอีก ๒ แห่ง แห่งแรกคือ ห้องสมุด The British Council (ก่อตั้งปี ค.ศ. ๑๙๓๔) ในเวลานั้นตั้งอยู่ในห้องแถวเชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เยื้องๆ กับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ Siam Square ในเวลาต่อมา โดยที่การให้บริการลดน้อยถอยลงตามลำดับ จนหมดสิ้นไป เจ้าหน้าที่ The British Council ในเวลานั้นมีความเป็นมิตรมาก มีจิตใจให้บริการ คอยแนะนำให้อ่านหนังสือต่างๆ
อีกแห่งหนึ่งคือ ห้องสมุด USIS (The United Information Services) เวลานั้นตั้งอยู่ถนนพัฒน์พงศ์ อันเป็นถนนที่เชื่อมถนนสีลมกับถนนสุรวงศ์ ผมนั่งรถรางไปที่นั่น ห้องสมุด USIS นอกจากมีบริการให้ยืมหนังสือแล้ว ในตอนเย็นบางวันมีการบรรเลงดนตรีโดยศิลปินชาวอเมริกัน และการสนทนาโดยชาวอเมริกันที่มาเยือนเมืองไทยอีกด้วย
บทความเรื่อง ‘โรงรับจำนำ’ ของผม ตีพิมพ์ในนิตยสาร ดรุณสาร (ตีพิมพ์ปี ๒๕๐๑) เวลานั้นคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เป็นบรรณาธิการ ท่านให้ค่าเรื่องผม ๒๕ บาท ผมดีใจมาก ผมเขียนบทความตีพิมพ์ในนิตยสาร ดรุณสาร มากกว่าหนึ่งเรื่อง แต่เวลานี้หาต้นฉบับไม่พบแล้ว เมื่อคุณนิลวรรณออกนิตยสาร สัปดาหสาร ผมส่งบทความไปให้ท่านพิจารณาตีพิมพ์ด้วย
ความสัมพันธ์ที่ผมมีกับนักทำหนังสือเล่มละบาทเป็นความสัมพันธ์อันยาวนาน หลายคนในปัจจุบัน ทำงานอยู่ตามสำนักพิมพ์ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ
ภาคที่สอง วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์
เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี ๒๕๐๙ คุณสุชาติมิได้รับเลือกเข้าเป็นอาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ (คณะศิลปศาสตร์) โดยที่สาขาวิชานั้นเลือกบัณฑิตอีกท่านหนึ่งเป็นอาจารย์ โดยที่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า อาจารย์ท่านนั้นฉาบฉวยเพียงใด และตื้นเขินเพียงใด
คุณสุชาติเดิมพูดไม่เก่ง อันเป็นเหตุให้เขาไม่เก่งในการแสดงออก เมื่อไม่สามารถเป็นอาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ (คณะศิลปศาสตร์) คุณสุชาติไปเป็นครูโรงเรียนอินทราชัย (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย สถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพ) อันตั้งอยู่ในที่ดิน ซึ่งเดิมเป็นวังเพชรบูรณ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย (๒๔๓๕-๒๔๖๖) ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์การค้า World Trade Center
คุณสุชาติประกอบอาชีพเป็นครูสอนหนังสืออยู่ระยะหนึ่ง นานเท่าไรผมไม่ทราบ ต่อมาเขาเดินไปหาอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งเวลานั้นทำงานเป็นบรรณาธิการวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เพื่อขอทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ปรากฏว่า อาจารย์สุลักษณ์รับเข้าทำงาน
เมื่ออาจารย์สุลักษณ์ออกจากตำแหน่งบรรณาธิการวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ คุณสุชาติเข้าดำรงตำแหน่งแทน
ผมเคยเขียนบทความตีพิมพ์ในวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ บ้าง แต่ไม่มาก เมื่อผมกลับจากการศึกษาในประเทศอังกฤษในปี ๒๕๑๕ คุณสุชาติขอให้ผมเขียนคอลัมน์ประจำในวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ โดยผมใช้ชื่อคอลัมน์ว่า ‘เมืองไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ’ วารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ มีชีวิตอยู่จนถึงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ก็ถึงแก่กาลอวสาน และไม่ฟื้นคืนชีพอีกเลย
ในระหว่างที่ผมเขียนคอลัมน์ ‘เมืองไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ’ นั้น ในระยะแรก ผมส่งต้นฉบับตรงต่อเวลา ครั้นในเวลาต่อมาภาระงานสอนและงานวิจัยมีมากขึ้น การส่งต้นฉบับเริ่มไม่ตรงต่อเวลา
เมื่อควันไฟและบาดแผลจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้รับการเยียวยาระดับหนึ่ง ผมเดินทางไปทำงานวิจัยที่ Princeton University ผมได้เขียนบทความหลายเรื่องส่งมาตีพิมพ์ในวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ด้วย
วิบากกรรม ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ทำให้โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (ก่อตั้งปี ๒๕๐๙) ต้องสูญเสียหนังสือจำนวนมาก เพราะถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐขนไปทำลาย หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเสียดายมากคือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มนี้ประมาณ ๗ ปี ในระหว่างที่ติดคุกลาดยาว เมื่อออกจากคุก คุณจิตรมอบต้นฉบับไว้ให้คุณสุภา ศิริมานนท์ (๒๔๕๗-๒๕๒๙) ก่อนเดินทางไปเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คุณสุภานำต้นฉบับใส่กล่องฝังดินไว้ หลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ คุณสุภามอบต้นฉบับให้คุณชลธิรา (กลัดอยู่) สัตยาวัฒนา นำต้นฉบับไปให้โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จัดพิมพ์ ผมรับผิดชอบการจัดพิมพ์ และตรวจปรูฟต้นฉบับ หนังสือถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐทำลายหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ต่อมาหนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งที่สองโดยสำนักพิมพ์ดวงกมล
ผมเคยเขียนถึงคุณจิตร ภูมิศักดิ์ หลายตอน
● ตอนที่หนึ่ง ๙๐ ปี จิตร ภูมิศักดิ์
fb ลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
● ตอนที่สอง เพลงชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์
fb ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
● ตอนที่สาม แสงดาวแห่งศรัทธา
fb ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
● ตอนที่สี่ เปิบข้าว
fb ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
ภาคที่สาม เหตุเกิดเมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
หลังจากเหตุการณ์การประกอบอาชญากรรมของรัฐที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยการเข่นฆ่าประชาชนและนักศึกษาจำนวนมาก ชีวิตผมเริ่มไม่เป็นสุข ผมมีความรู้สึกว่า ผมถูกตำรวจตามทุกวัน เมื่อเลิกงาน ผมจะนั่งรถเมล์ไปพระโขนง และนั่งชมภาพยนตร์อย่างน้อย ๒ เรื่องในโรงภาพยนตร์พระโขนง ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ชั้นสอง แล้วไปกินข้าวที่ซอยทองหล่อ
เสร็จแล้วนั่งรถมอเตอร์ไซค์เข้าบ้าน เวลานั้นบ้านผมอยู่ในสุขุมวิท ๓๖ (ฯพณฯ ดิเรก ชัยนาม อยู่ในซอยสุขุมวิท ๓๘) กลับถึงบ้านมักจะมีโทรศัพท์เช็คผมทุกวัน
ผมถามเพื่อนร่วมงานว่า ทำไมตำรวจจึงตามผม หรือว่า สงสัยว่าผมเป็นคอมมิวนิสต์ หากสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก็จับได้เลย เพราะเวลานั้นบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป แต่ทำไมไม่จับ เพื่อนคนหนึ่งให้คำอธิบายว่า อาจเป็นเพราะผมสนิทกับอาจารย์ป๋วย เมื่ออาจารย์ป๋วยถูกป้ายสีเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ผมจึงถูกสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย นอกจากนี้ ผมยังเขียนหนังสือชื่อ กลยุทธในการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทย คำว่า กลยุทธเป็นภาษาของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คำอธิบายนี้ดูเข้าเค้า กลยุทธในการแก้ปัญหาความยากจน เดิมเป็นบทอภิปรายของผมในการอภิปรายเรื่อง ‘ประเทศไทยในโลกที่สาม’ จัดที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๖ ผมถือเป็นขนบในการเขียนบทอภิปราย และบทปาฐกถา ตามจารีตของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอังกฤษ ต่อมา นิตยสารตราชู นำไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือ Pocket Book (หาอ่านได้จาก สรรนิพนธ์รังสรรค์ www.econ.tu.ac.th)
หกเดือนแรกหลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ผมมีชีวิตอันรันทดและไม่เป็นสุขมาก เพื่อนอาจารย์หลายคนออกไปอยู่ต่างประเทศ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และอาจารย์ทวี หมื่นนิกร ออกไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น อาจารย์อภิชัย พันธเสน ออกไปอยู่ประเทศออสเตรเลีย ผมเคยคิดเข้าป่าตามนักศึกษา วันหนึ่ง มีสุภาพบุรุษท่านหนึ่งโทรศัพท์ให้ผมไปพบ สุภาพบุรุษท่านนั้นบอกเล่าว่า ท่านเป็นตัวแทน Amnesty International (AI ก่อตั้งปี ๒๕๐๔) ในประเทศไทย (เวลานั้น AI ไม่มีสำนักงานในเมืองไทย) และกล่าวว่า AI เป็นห่วงสวัสดิภาพของผมมาก หากรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ทาง AI จะช่วยให้ผมออกนอกประเทศ และจะให้เงินช่วยประทังชีวิต จนกว่าผมจะหางานทำได้ ผมตอบขอบคุณ แต่ยังไม่ต้องขอรับความช่วยเหลือนั้น หากผมต้องการรับความช่วยเหลือ ผมจะกลับไปบอกกล่าว
หลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ คุณนุกูล ประจวบเหมาะ (๒๔๗๒- ) เรียกผมไปพบที่กรมสรรพากร เวลานั้นท่านเป็นอธิบดีกรมสรรพากร บอกกล่าวว่า หากลำบากใจที่อยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านยินดีรับโอนผมไปอยู่กรมสรรพากร แต่ผมบอกท่านว่า ผมทำอย่างอื่นไม่เป็น นอกจากสอนหนังสือ คุณนุกูลในฐานะอธิบดีกรมสรรพากร เคยเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเรื่อง Taxation in ASEAN โดยผมได้รับเชิญให้เป็นผู้ร่วมอภิปราย
คุณนูกูลจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์จาก University of Melbourne เคยเขียนตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคภาษาไทยเล่มแรกๆ ที่มีเนื้อหาของ Keynesian Economics ท่านก้าวต่อจากตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในที่สุด
ขณะเดียวกัน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล (๒๔๘๖- ) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เรียกผมไปพบ และบอกกล่าวด้วยถ้อยคำเดียวกัน คุณชายจัตุมงคลจบการศึกษาปริญญาตรีจาก University of Cambridge โดยเรียน Part One วิศวกรรมศาสตร์ และ Part Two เศรษฐศาสตร์ เราพูดจาถูกคอกันมาก เพราะจบการศึกษาจากสถาบันเดียวกัน ท่านก้าวจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพามิต อธิบดีกรมสรรพากร และปลัดกระทรวงการคลังในที่สุด เมื่อท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ท่านได้ว่าจ้างให้ผมเขียนแบบเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ ๕-๖ เพื่อกระตุ้นให้มีสำนึกในการเสียภาษีอากร แบบเรียนดังกล่าวชื่อ ภาษีทุกบาทช่วยชาติพัฒนา (กระทรวงศึกษาธิการ ๒๕๒๔) หาอ่านได้จากสรรนิพนธ์รังสรรค์ www.econ.tu.ac.th
ทั้งคุณนุกูล ประจวบเหมาะ และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ล้วนเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของอาจารย์ป๋วย คุณนุกูลมีความภักดีต่ออาจารย์ป๋วยมาก
หลังเหตุการณ์ประกอบอาชญากรรมโดยรัฐเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ผมได้รับโทรศัพท์จากบุคคลนิรนาม ผมถามว่า ใครพูด เขาตอบว่า สีกัน ผมถามว่าสีกันไหน เขาตอบว่า สีกันบ้านทุ่ง ผมเลยรู้ว่า เป็นคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เพราะบ้านเขาอยู่ที่ทุ่งสีกัน ดอนเมือง เรานัดพบกันที่ซอยทองหล่อ เราเดินคุยกันลงไปต้นถนนสุขุมวิท แล้วเดินย้อนไปถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เราเดินคุยประมาณ ๕-๖ ชั่วโมง แล้วตกลงกันว่า จะไม่เข้าป่า ก่อนจากกัน ผมควักเงินให้คุณสุชาติ ๓,๐๐๐ บาท เพราะทราบดีว่า เขาตกงาน คุณสุชาติมองเงินนั้น แล้วกล่าวขอบใจ เขาไม่รับ และกล่าวว่า เขายังพอช่วยตัวเองได้ หากช่วยตัวเองมิได้ จะกลับมาให้ความช่วยเหลือ นี่เป็นอหังการของชายที่หยิ่งในศักดิ์ศรีของตนเอง