โปรดอย่าทำเหมือนเราเป็นขอทาน เราเพียงมาขอเงินคืนในฐานะ ‘ผู้ประกันตน’

1

สาวโรงงานในจังหวัดสิงห์บุรี กับชะตากรรมชีวิตช่วงวิกฤติ COVID-19 โรงงานปิดตาย แต่ชีวิตในวัย 40 ต้องดำเนินต่อ ทว่าการหางานใหม่ในวัยนี้ไม่ง่าย เธอเพียรรับจ้างสารพัดเพื่อประทังชีพ ทั้งงานลูกจ้างเขียงหมู ค้าขายจิปาถะ ทว่าเศรษฐกิจที่วิ่งลงเป็นแนวดิ่ง บ้านที่ยังต้องจ่ายค่างวด รายได้ที่ไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ประกอบกับสภาวะซึมเศร้าที่รุมทึ้ง – เธอเลือกจบชีวิตของตัวเอง

2

เขาโกยยาพาราเซตามอลเข้าปากไปราวสองกล่องเศษๆ ตามด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำก่อนอาเจียนเป็นเลือดข้น หวังจบชีวิตที่สิ้นไร้ไม้ตอก อาชีพค้าขายที่สัมพันธ์กับการท่องเที่ยวกำลังถึงทางตัน บ้านที่ไม่ได้ส่งค่างวดกำลังจะถูกยึด เขาโดนฟ้อง หนี้นอกระบบที่หยิบยืมมากำลังตามรังควาน โรคระบาดชะงักการทำกิน แต่กองหนี้สินไม่หยุกชะงักด้วย

3

ทั้งสองชีวิตรอดพ้นจากความตาย เรื่องเล่าชวนหดหู่จึงเดินทางมาถึง น.สพ.บูรณ์ อารยพล หรือ ‘หมอบูรณ์’ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ทวงคืนไม่ได้ขอทาน’

“พวกเขาเห็นเรามารณรงค์ทวงคืนไม่ได้ขอทาน เขาถึงรู้ว่าเขามีเงินอยู่ในกองทุนประกันสังคมแสนกว่าบาท ที่อย่างน้อยมันมายืดชีวิตเขาได้ในช่วงเวลาแบบนี้”

เป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้วนับแต่การเกิดขึ้นของวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ในระลอกแรก ที่เขาและกลุ่มเรียกร้อง

คนทั่วไปมักจำเขาได้ จากภาพชายนุ่งโสร่ง ถอดเสื้อ กางเต็นท์นอนเอกเขนกในที่สาธารณะ บ้างก็ชูป้ายที่มีใจความบอกความประสงค์ชัดเจน

‘ออก พ.ร.ก. ต่อชีวิตผู้ประกันตน’
‘ขอพบนายกฯ แรงงานถูกทอดทิ้ง’
‘ประกาศขายไต หมอบูรณ์ 0811717xxx’

ขอคืนไม่ได้ขอทานมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลักๆ คือ

หนึ่ง – ขอคืนเงินสมทบกองทุนชราภาพประกันสังคมบางส่วนมาใช้ในสถานการณ์วิกฤติ

“สมมุติเขาสะสมเงินไว้ในกองทุนอยู่ 100,000 บาท เราขอคืนมาสัก 30,000 – 50,000 บาท หรือ 30-50 เปอร์เซ็นต์ โดยขอเป็นรูปแบบเงินกู้ก็ได้ เราไม่เกี่ยง”

สอง – แก้ไขมาตรา 77 ทวิ ที่กำหนดว่า ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือนมีสิทธิได้รับเงิน บํานาญชราภาพตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่มีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ เว้นแต่เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 หรือ 41 ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนถัดจากเดือนที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

“เรามองว่า คนอายุเยอะๆ 40-45 ปี เขาตกงานแล้วบางทีไม่อาจกลับไปทำงานได้ ถ้าไม่มีพันธะต่อกันแล้ว เขาไม่สามารถมาเบิกเงินเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร เลี้ยงดูบุตรได้ เมื่อเข้าข่ายเช่นนี้ เราเรียกร้องให้เขาได้เงินคืนมา ไม่ต้องรอถึงอายุ 55 ปี

การที่คุณไปบังคับให้เขาต้องรอเงินของเขาอย่างเดียวเลย มันเหมือนเขาเห็นเงินอยู่ตรงหน้าในช่วงเวลาที่เขาลำบาก แต่เขาต้องรอ รอแบบไม่ได้ดอกเบี้ย

สาม – กรณีผู้ประกันตนส่งสมทบไม่ครบ 180 เดือน และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงตามมาตรา 38 หรือ 41 ให้ผู้ประกันตนรับเป็นบําเหน็จชราภาพ ซึ่งทางกลุ่มขอให้เปิดให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินสะสมในรูปแบบบำเหน็จหรือบำนาญ

“เขาควรจะมีสิทธิเลือกว่าต้องการเงินรูปแบบไหน อยากได้แบบบำเหน็จหรือบำนาญ ไม่ใช่ว่าบังคับให้เขาต้องรับเงินบำนาญเป็นรายเดือนอย่างเดียว เพราะบางคนได้เดือนละ 2,000 – 4,000 บางคนมองว่า เงินตรงนี้เขาใช้ในชีวิตประจำวันแต่ละเดือนไม่พอ เขาอยากได้เงินก้อนไปบริหาร ไปลงทุนเอง ทำค้าขายทำธุรกิจ อย่าบังคับกันเลย”

4

กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน และหมอบูรณ์ เดินทางไปปักหลักเรียกร้องไปยังทุกๆ ที่ที่คาดว่าผู้มีอำนาจจะเห็นความทุกข์ยากของแรงงานที่เข้าไม่ถึงการเยียวยาของรัฐบาล นับตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 พวกเขาเคลื่อนไหวผ่านการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนง และปักหลักชุมนุมกันอยู่หลายครั้งในหลายสถานที่ ทั้งทำเนีบบรัฐบาล บีทีเอสศาลาแดง สกายวอล์ค ปทุมวัน เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน้ารัฐสภา สำนักงานประกันสังคม

พวกเขาทำทุกทางเท่าที่จะทำได้ ไปยังทุกๆ ที่ที่คาดว่าเสียงของพวกเขาจะถูกได้ยิน จนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 คณะอนุกรรมการศึกษาข้อเรียกร้องในการใช้เงินบำนาญชราภาพก่อนกำหนด ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ มีมติระยะแรกให้ช่วยแรงงานเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงิน และระยะยาวคือ การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้นำเงินบำนาญชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อน ซึ่งข้อนี้ต้องเสนอต่อบอร์ดประกันสังคมต่อไป

ยังไม่ทันได้หายใจโล่งปอด การระบาดระลอกสองก็โหมซัดเข้ามาอีกครั้ง

พวกเขาทำเหมือนว่าเราเป็นขอทานเลย พวกเราเป็นกลุ่มคนที่มาขอเงินชราภาพนะ เราไม่ได้มาขอทานรัฐบาลนะ

“เหมือนเราเอาเงินไปฝากคุณ เราขอเงินเราคืนเถอะในช่วงเวลาวิกฤติ แม้กฎหมายจะไม่เอื้อ แต่เงินตรงนี้มันคือสิทธิของเรา คุณไม่ฟังเราเลย ทำท่าเหมือนเราเป็นขอทานเลย แม้กระทั่งจะเห็นอกเห็นใจก็ไม่มี เขารับเรื่องไปแล้วก็ดอง ไม่คืบหน้า เราเรียกร้องไปหลายๆ ที่ เขาตอบมาอย่างเดียวว่า ‘กฎหมายไม่เปิดช่องให้’

4 มกราคม 2564 บริเวณทำเนียบรัฐบาล หมอบูรณ์และกลุ่มผู้เรียกร้อง ถูกตำรวจเข้าจับกุม หลังการชูป้าย ‘สวัสดีปีใหม่ 2564 ขอให้ลุงตู่มีความสุขนะจ๊ะ’

5

“เราเป็นคนกลุ่มน้อย เราก็กดดันทุกวันนะ คิดกิจกรรมทุกวัน ให้มันไม่แผ่ว เราไม่ได้ไปทำร้ายใคร เราไม่ได้ด่าใคร เราไม่ได้ปิดถนน เราเพียงทำให้เขาอายเท่านั้น …แต่ไม่รู้ว่าเขาจะอายหรือเปล่าน่ะสิ”

หากให้วิจารณ์การรับมือกับโรคระบาดและนโยบายการเยียวยาประชาชนของรัฐบาลในช่วงเวลาที่ผ่านมา เขาว่า ‘รัฐบาลสอบตก’ จากนโยบายที่ไม่ครอบคลุม บางคนได้รับการเยียวยาซ้ำซ้อน หรือบางคนไม่ได้

“เราสงสารตัวเอง สงสารประเทศ สงสารรัฐบาลเหมือนกัน ถามว่าเขารับมือกับโควิด-19 ยังไง ประเทศเรามีอัตราการเสียชีวิตต่ำ แต่ภาคเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การโรงแรม การบันเทิง เงินหายไปหมด หากจะให้วิจารณ์รัฐบาลและตัวนโยบายเราไม่ทิ้งกัน มันทำให้เกิดความลักลั่น แล้วนอกจากผู้ประกันตนในมาตรา 33 แล้ว มันก็ยังมีคนที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตอีกมากที่ถูกมองข้ามไป รัฐบาลควรจะคิดให้ครอบคลุมทั้งหมด บางกลุ่มได้รับการเยียวยาซ้ำ บางกลุ่มไม่ได้เลย”

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า