เรื่อง : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพประกอบ : Nai
วลี ‘กองทัพต้องเดินด้วยท้อง’ ของนโปเลียน โบนาปาร์ต ยังคงจริงเสมอ เพราะมนุษย์ต้องกินข้าว เพื่อบำรุงร่างกายในการทำกิจกรรมของชีวิต ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะใช้แรงกายหรือแรงสมองก็ตาม การกินอาหารไม่มีข้อยกเว้นสำหรับใคร ไม่ว่าจะนอนอยู่บ้านทั้งวันหรือการสังหารศัตรูในสนามรบ
การจัดเสบียงอาหารในเขตสู้รบเป็นภารกิจท้าทายไม่แพ้การออกรบ แม่ทัพย่อมอยากให้พลทหารมีสุขภาพที่ดี อาหารในสนามรบจำต้องเป็นถูกจัดการให้สะดวกต่อการพกพา มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการกิน และควรจะเป็นอาหารที่สะดวกพร้อมกินได้เลย เพราะการทอดไข่ในเขตรบ ไม่มีอะไรการันตีว่านายทหารจะได้รับโปรตีนจากไข่หรือไม่
ระหว่างเหรียญกล้าหาญที่รออยู่บ้านเกิดกับเสบียงทรงชีพ (MRE – Meal, Ready-to-Eat) ในสนามรบ ทหารอเมริกันยอมรับว่าเสบียงทรงชีพเสริมสร้างกำลังใจให้พวกเขาได้ดียิ่ง เสบียงทรงชีพทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกเหมือนกินข้าวที่บ้านแม้จะอยู่ในแดนศัตรู
เสบียงทรงชีพคืออาหารให้พลังงานสูง แต่ออกแบบให้สะดวกพกพา เสบียงทรงชีพของทหารแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมการกินของผู้คนแต่ละชนชาติ เสบียงทรงชีพมื้อเช้าของทหารอิตาลีประกอบด้วยเหล้ารสหวาน 40 ดีกรี ผงคาปูชิโน พาสต้า ซุบถั่ว เนื้อไก่งวงบรรจุกระป๋อง และข้าวผัด (rice salad) มีเตาอบภาคสนามที่ใช้ไม่กี่ครั้งก็ทิ้งสำหรับอุ่นอาหาร
สำหรับประเทศที่ให้ความสำคัญกับอาหารอย่างฝรั่งเศส เสบียงทรงชีพของทหารฝรั่งเศสค่อนข้างจะคล่องตัว แต่มีสุนทรียะ ทหารฝรั่งเศสจะได้รับปาเต๊ ซึ่งคือเนื้อบดผสมไขมัน ปาเต๊โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นซอสสำหรับทา ทำจากเนื้อบดละเอียดหรือส่วนผสมของเนื้อและตับบดหยาบ ๆ และมักผสมไขมัน ผัก สมุนไพร เครื่องเทศ หรือไวน์ นอกจากนี้ยังมีสตูขาเป็ด ซึ่งว่ากันว่าเป็นสตูสูตรฝรั่งเศสแบบดั้งเดิม ล้างคาวด้วยช็อคโกแล็ตพุดดิ้ง เตาทำความร้อนใช้แล้วทิ้งสำหรับต้มกาแฟหรือผงเครื่องดื่มรสชาติต่างๆ
เสบียงทรงชีพของทหารไทยประกอบด้วยมัสมั่นไก่ กระเพรา พะแนงเนื้อ เนื้อเค็ม ผู้เคยลิ้มลองเสบียงทรงชีพของทหารไทยได้แบ่งปันประสบการณ์ไว้ในบล็อกส่วนตัวของเขาว่า “รสชาติถือว่าใช้ได้ แต่คิดว่าควรปรับปรุงให้มีเนื้อเยอะขึ้นหน่อยครับ ข้าวเยอะมาก แต่กับน้อย”
ขณะที่เสบียงทรงชีพของทหารจีนก็มีของว่างอย่างน้ำชาด้วย ก้าวย่างที่น่าจับตาของกองทัพจีนก็อยู่ที่การจัดการเรื่องอาหาร จีนเป็นประเทศที่มีกองทัพใหญ่ที่สุดในโลก การนำเข้าอาหารเพื่อเลี้ยงทหารกว่า 2.3 ล้านนายในกองทัพในยามบ้านเมืองสงบก็ทำให้นึกถึงปริมาณอาหารเป็นจำนวนมาก
ประเทศจีนนำเข้าถั่วเหลืองจีเอ็มโอจากสหรัฐและประเทศอื่นๆ จำนวนกว่า 63 ล้านตัน จีนนำเข้าถั่วเหลืองจีเอ็มโอมาแปรรูปเป็นอาหารหลายชนิด อาหารจีเอ็มโอกระจายไปยังอุตสาหกรรมอาหารของจีน เพื่อรองรับประชากรจำนวนมหาศาล ตั้งแต่เด็กๆ นักศึกษา อาจารย์ ผู้บริโภค รวมถึงเจ้าหน้าที่และทหารในกองทัพ
เดือนพฤษภาคมที่ผ่าน กองทัพจีนก็ได้แสดงแสนยานุภาพ ด้วยการออกคำสั่งให้อาหารภายในกองทัพจีนเป็นอาหารนอน-จีเอ็มโอ การตัดสินใจของกองทัพจีนในครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญซึ่งในอนาคตรัฐบาลจีนอาจจะงดนำเข้าอาหารจีเอ็มโอทั้งหมดภายใน 2 ปีข้างหน้า
การจัดซื้ออาหารนอน-จีเอ็มโอของกองทัพเป็นรูปแบบที่น่าสนใจในการนำร่องให้เกิดกับประชาชนในประเทศ การตัดสินใจของกองทัพจีนยังได้รับเสียงชื่นชนจากภาพนอกอย่างจาก เดบ เมอร์ฟีย์ (Dave Murphy) ผู้ก่อตั้งองค์กร Food Democracy Now
“รัฐบาลจีนได้ตัดสินใจเชิงรุกในการปกป้องประชาชนของพวกเขาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของสารตกค้างในร่างกายซึ่งมีผลมาจากการใช้สารพิษในพืชจีเอ็มโอ ข้อเท็จจริงที่น่าสังเกตก็คือนี่คือการกระทำของจีนแทนที่จะเป็นอเมริกา”
การปฏิเสธอาหารจีเอ็มโอของกองทัพจีนอาจจะทำให้เกิดผลกระทบบริษัทอย่างมอนซานโต เพราะ “มันอาจเป็นการตอกฝาโลกให้มอนซานโต การปฏิเสธสินค้าจีเอ็มโอของจีนคือการทำลายที่งดงาม ตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คำถามก็คือ อะไรคือสิ่งที่รัฐบาลจีนรู้เกี่ยวกับความร้ายกาจของจีเอ็มโอ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐไม่ได้บอกเรา?” เมอร์ฟีย์ ตั้งคำถาม
จีนเคยเป็นดินแดนแห่งถั่วเหลือง แต่หลังปี 1995 จีนก็เริ่มนำเข้าถั่วเหลือง การนำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถั่วเหลืองจีเอ็มโอที่จีนนำเข้าเป็นพันธุ์ที่ต้องใช้ Roundup ซึ่งถูกพัฒนาโดยบริษัทมอนซานโต เป็นที่ทราบกันว่ามอนซานโตตัดต่อพันธุกรรมให้เมล็ดพืชของตนนั้นทนทานต่อสาร Roundup เพียงอย่างเดียว พืชอื่นจึงตายหมดถ้าไม่ใช่ Roundup
รัฐบาลจีนอาจจะมองข้อมูลเรื่องปัญหาสุขภาพรวมถึงการผูกขาดทางอำนาจแบบมอนซานโต ว่าเป็นภัยคุกคามของจีน กระทั่งจีนประกาศนโยบายด้านอาหารภายในกองทัพใหม่ นโยบายการสั่งซื้ออาหารที่นอน-จีเอ็มโอเลี้ยงกองทัพของทหารจีนทำให้เรามองได้ว่า จีนมีวิธีคิดเกี่ยวกับรูปแบบความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป
หากพิจารณาเฉพาะการกระทำนี้ของกองทัพจีน ก็เพียงพอที่จะเป็นตัวอย่างสาธิตให้แก่บรรดาทหารในบางประเทศได้ว่า ทหารควรอยู่อย่างไรให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลก
**************************************
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Food Republic นิตยสาร Way ฉบับที่ 76)