เปิดประวัติฉบับย่อ กกต. ชุดปัจจุบัน ผู้ก่อวีรกรรมยื่นฟ้อง ‘พิธา’ ถือหุ้น iTV

สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ตามรัฐรรมนูญมาตรา 101 จากกรณีถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น 

พรรคก้าวไกลออกมาแถลงการณ์โต้กลับว่า กกต. ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และไม่มีการเชิญพิธาไปไต่สวน ซึ่งเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อระเบียบบังคับ และอาจเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 20,000 บาท”

จากกรณีดังกล่าว ทำให้ประชาชนเพ่งเล็งและตั้งคำถามต่อ กกต. ว่าการยื่นฟ้องเรื่องถือหุ้นสื่อเป็นหนึ่งในกลไกทางการเมืองที่พยายามขัดขวางการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพิธาหรือไม่ แล้วเหตุใดองค์กรที่ควรวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ถึงดูเหมือนกำลังขัดขวางและเลือกข้างเพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม นำมาสู่ความสงสัยว่าคนเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน 

ทั้งนี้ กกต. ที่เข้าร่วมการประชุมพิจารณากรณีนายพิธาถือครองหุ้น ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ประกอบด้วย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กับ กกต. 4 คน ได้แก่ นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นายปกรณ์ มหรรณพ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ และนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.

ทำความรู้จักกับ กกต. ชุดปัจจุบัน 

photo: กรมประชาสัมพันธ์
อิทธิพร บุญประคอง
ประธาน กกต.

เกิดวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2499 จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบการศึกษานิติศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และรองตัวแทนของประเทศไทยในคดีตีความคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าด้วยปราสาทพระวิหาร ปี 2553 และในเวลาต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ จนกระทั่งได้มาดำรงตำแหน่งเป็นประธาน กกต.

photo: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
แสวง บุญมี
เลขาธิการ กกต.

เกิดวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2506 จบการศึกษาจากรัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงจบการศึกษาจากศิลปศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง เกียรตินิยมอันดับ 2 และนิติศาสตรบัณฑิต เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 3 และผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 5 อีกทั้งยังเคยเป็นอดีตอนุกรรมาธิการการปฏิรูปกลไกและระบบการเลือกตั้งในคณะกรรมธิการการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปประเทศ (สปท.)

photo: สำนักงานชลประทานที่ 11
เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ 
กกต. 

เกิดวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2501 จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมโยธา วิทยาลัยเทคโนโลยีเซ็นทรัลนิวอิงแลนด์ (Central New England College of Technology) ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบการศึกษาจากนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนสำเร็จการศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจ จากสถาบันเทคโนโลยีฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีฝ่ายบริหารและรองอธิบดีฝ่ายวิชาการกรมชลประทาน ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน และเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

photo: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ 
กกต. 

เกิดวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2501 จบการศึกษาจากวิทยาศาสตร์บัณฑิต (จุลชีววิทยา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาจบการศึกษาจากสาขาเกษตรเคมี มหาวิทยาลัยคิวชู (Kyushu University) ประเทศญี่ปุ่น ก่อนสำเร็จการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยียีนในการจัดการยีสต์ (Gene Technology on Yeast) สถาบันเทคโนโลยีคุมาโมโตะ (Kumamoto Institute of Technology) ประเทศญี่ปุ่น และเป็นศาสตราจารย์ประจำสายวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกรรมการองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก่อนเป็นกรรมการสภาวิชาการอาวุโส วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และกรรมการบริหารสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกทั้งยังเคยเป็นบรรณาธิการและผู้ประเมินบทความทางวิชาการของวารสารระดับชาติ ภูมิภาคและนานาชาติ นอกจากนี้ยังเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์สิ่งแวดล้อม ฉบับราชบัณฑิตยสถานอีกด้วย 

photo: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ปกรณ์ มหรรณพ 
กกต.  

เกิดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 จบการศึกษาจากนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสำเร็จการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 และ 9 ต่อมาดำรงตำแหน่งประธานสานอุธรณ์ ก่อนดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา และเป็นอนุกรรมการตุลาการ (อกต.) ชั้นศาลฎีกา

photo: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ 
กกต. 

เกิดวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จบการศึกษาจากนิติศาสตร์บัณฑิต และนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยปทุมธานี อีกทั้งยังเคยผ่านการฝึกหลักสูตรอบรมเพื่อหลักนิติธรรมประชาธิปไตย (นธป.) รุ่นที่ 1 ประจำปี 2556 เคยเป็นที่ปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ ต่อมาดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการกฎหมายและประธานอนุกรรมการบริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทยในวาระที่ 1 และ 2 อีกทั้งยังเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

Author

กนกวรรณ เชียงตันติ์
ผู้ถูกเลือกให้ปวดหลัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า