ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ: จากครรภ์มารดา ถึงแก่นนคร การเมืองในโรงเรียนของเด็ก ม.ปลาย

พ่อเป็นผู้สื่อข่าวประชาไท แม่ทำงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เยาว์วัย ลูกชายคนนี้ของบ้านมักติดสอยห้อยตามพ่อกับแม่ไปอยู่ในบรรยากาศที่รายล้อมด้วยประเด็นอันหนักหน่วงทางสังคม

ประชาไท คือสำนักข่าวที่กล้าเล่นประเด็นแหลมคมอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ส่วนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คือองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง โดยเฉพาะมาตรา 112

ขวัญข้าว เป็นหนึ่งในสมาชิก ‘ภาคีนักเรียน KKC’ ซึ่งมีบทบาทเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมภายในโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จังหวัดขอนแก่น มาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเด่นชัดมากขึ้นเมื่อมีการจัดการชุมนุมหน้าโรงเรียนเพื่อประณามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุม ณ แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ผสมสี สารเคมี และใช้โล่ทุบตีผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง

สัปปายะสภาสถาน, 17 พฤศจิกายน เป็นอีกครั้งที่มีเหตุรุนแรงในการชุมนุม ทั้งระหว่างผู้ชุมนุม 2 กลุ่ม และระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ แก๊สน้ำตาคละคลุ้งในหลายจุด เสียงไซเรนดังระงมทั้งบนท้องถนน และหน้าฟีดออนไลน์ ค่ำคืนแห่งความโกลาหล ขวัญข้าวอยู่ที่นั่น บ่ายหลังจากวันนั้น เขากับเรานัดกันสนทนา

ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ สวมเสื้อยืดสีน้ำตาลซีด เปื้อนสีน้ำเงินเป็นจุดๆ ด้านหลังมีข้อความว่า ‘เรือนจำพิเศษประเทศไทย’

คุณใส่เสื้อนักโทษมาให้สัมภาษณ์ เสื้อตัวนี้มีความหมายยังไง

มันเป็นเสื้อของพี่โตโต้ (ปิยรัฐ จงเทพ) ตอนเขาไปขึ้นศาล เขาทำเสื้อขึ้นมาแล้วเราก็ไปขอ เพราะว่าเดือนกันยายนมีกิจกรรมของขอนแก่น เกี่ยวกับเรื่องการเมือง แล้วเราก็เลยทำเป็นธีมนักโทษการเมือง ทำเป็นรูปคุกอะไรอย่างนี้ด้วย ก็เลยขอเสื้อพี่โตโต้มาใส่

เราก็รู้สึกว่าเราอยากเล่นประเด็นเรื่องของพวกพี่กอล์ฟ (ภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือ กอล์ฟ ประกายไฟ) หรือว่าพี่ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน) ที่เขาโดนคดี 112 เพียงเพราะว่าโพสต์หรือเล่นละครเฉยๆ เพราะว่ามันไม่เป็นธรรม เราก็เลยคิดว่าเราอยากทำธีมนี้ แล้วก็อาจจะมีประเด็นในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในประเทศนี้ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันโดนจองจำ

คุณใส่ชุดนักโทษเดินว่อนไปทั่วในที่สาธารณะ มีคนมาถามไถ่ไหม

ก็มีบ้างครับก็มีบ้าง เขาก็เข้ามาถามว่านักโทษเหรอ? อะไรประมาณนี้ อาจารย์ก็แซะๆ ในโรงเรียน

เด็กวัยรุ่นแบบคุณชอบฟังเพลงอะไร

ถ้าก่อนหน้านี้ก็ฟังอีกแนวหนึ่ง แต่ตอนนี้ก็ฟังเพลง ‘สหาย’ ของ จิ้น กรรมาชน ครับ (ร้องให้ฟังทันที) “…นักปฏิวัติเราไม่เคยกลัวตาย แม้ร่างกายจะมลายดับสูญ…” แล้วก็ ‘กิโยติน’ ‘ปีศาจ’ หรือของ มาโนช พุฒตาล เช่น เพลง ‘ลำธาร’ ‘หมอผีครองเมือง’ อะไรอย่างนี้น่ะครับ

นี่มันเพลงคนแก่นะ

ของ มาโนช พุฒตาล นี่ได้อิทธิพลมาจากพ่อ แต่ว่านักปฏิวัติอะไรพวกนี้เราก็ได้ฟังมาจากม็อบ หรือว่าเพลงของ สามัญชน “…ดวงดาวยังประกายทอแสง…” (เนื้อร้องจากเพลง ‘เราคือเพื่อนกัน’)

แล้วที่บอกว่า ก่อนหน้าไม่ได้ฟังเพลงแบบนี้ แล้วฟังเพลงแนวไหนครับ

วัยรุ่นก็แบบ puppy love ก็ฟังแบบซานฟรานซิสโก คาร์เพนเตอร์ ถ้าเป็นวงไทยก็แทตทูคัลเลอร์ อะไรพวกนี้

คาร์เพนเตอร์? โคตรแก่เหมือนกันนะ (หัวเราะ)

ก็มัน… ก็ฟังไปเรื่อยน่ะครับ

คุณอ่านหนังสืออะไรบ้างครับ

ตอนนี้อาจจะไม่ค่อยอ่านเยอะ เราได้จากพ่อแม่มากกว่า แต่ว่าตอนนี้กำลังอ่านเรื่อง ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ของ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล แล้วก็อ่าน ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี (เขียนโดย ผศ.ณัฐพล ใจจริง) การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ ของ เปาโล เฟรรี แล้วก็บทกวีของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที

คุณดูหนังอะไรบ้าง

V for Vendetta แล้วก็มี Les Misérables ถ้าเป็นทางวิทยาศาสตร์หน่อยก็เป็น Interstellar อะไรอย่างนี้น่ะครับ

แบบนี้คุณก็ไม่อินกับ BNK48 น่ะสิ

ใช่ครับ แต่ว่าดาราที่ออกมา call out มากที่สุดคือ BNK ผมก็กลับไปรัก BNK ก็ได้ครับ (ยิ้ม)

จริงๆ คนที่มาแอคชั่นไม่ได้มีแค่นิสิตนักศึกษา ดาราหลายๆ คน โดยเฉพาะดาราวัยรุ่นออกมาพูดกันเต็มไปหมดเลย ไม่มีความกลัวว่าจะพูดไม่ได้ เดี๋ยวไม่มีการจ้างงาน เราซึ่งอยู่ในช่วงวัยเดียวกันมองพวกเขาอย่างไรบ้าง

ผมรู้สึกว่ามันก็เป็นนิมิตหมายที่ดีนะว่าเขาไม่ได้เกรงกลัวต่ออำนาจ หรือว่าสัญญาจ้างเขาก็อาจจะไม่ได้กลัวแล้ว คือพยายามออกมาปกป้องสิทธิ์ แล้วก็มองเห็นคนอื่นมากกว่าตัวเองแล้ว มากกว่าที่จะกลัวว่าตัวเองจะโดนไล่ออก แต่มองถึงปัญหาที่คนอื่นเผชิญอยู่ และตัวเองก็ออกมาร่วมสู้ หรือออกมาเป็นกระบอกเสียงหนึ่ง เพราะว่าเขาก็มีพื้นที่ มีแสงไฟส่องอยู่แล้ว เขาก็ใช้พื้นที่นั้นให้เป็นประโยชน์ เราก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี

อย่างแอมมี่ก็เข้ามาอยู่ใน…

(ตอบทันที) โห ผมนับถือมากเลย เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาขนาดนี้

ถ้า อำพล ลำพูน เราคงไม่แปลกใจเนอะ

อะไรนะครับ

อำพล ลำพูน

คนไหนครับ

รู้จัก อำพล ลำพูน ไหม? หนุ่ย ไมโคร?

ผมไม่รู้จัก (หัวเราะ)

คุณไม่มีซีกหวานๆ ชมพูๆ อะไรอย่างนี้บ้างหรือ

ก็มี แต่เรารู้สึกไม่อินกับมันแล้ว

อันนี้ผมขอพูดเสริมหน่อยนะ เรารู้สึกว่าทำไมหลายๆ คนที่ร้องเพลงเพื่อชีวิตถึงไม่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาชน อันนี้ก็ตั้งข้อสงสัยเหมือนกันว่าทำไมเขาถึงไม่กล้าออกมา นักดนตรีหลายๆ คน ทำไมเขาถึงไม่กล้าออกมาอยู่เคียงข้างประชาชน ทั้งๆ ที่เขาก็ร้องเพลงเพื่อชีวิต

คนที่แต่งเพลงเพื่อประชาธิปไตยหลายๆ คนแทบจะ take side ไปอีกฝั่งหนึ่งเลย

โคตรๆ เลย บางเพลงนี่ผมไม่กล้าฟังเลย

คุณฟัง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ไหม

ผมฟังอยู่ครับ

พ่อแม่เลี้ยงคุณมาอย่างไร การที่ทั้งคู่ทำงานในประเด็นหนักๆ ทั้งการเมือง สิทธิมนุษยชน กฎหมาย เขาแทรกแซงความคิดคุณบ้างไหม

เขาก็แล้วแต่เราจะคิด อาจจะมีบ้างในบางเรื่องบางอย่างที่เราไปถามเขา แต่เขาก็พยายามให้เราคิดเอง สุดท้ายเราโตมาจะเป็นยังไงก็ขึ้นอยู่กับความคิดของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระบวนการคิดของเขา เขาก็ไม่พยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงความคิดเราเลย

การโตมากับครอบครัวที่พ่ออยู่ในสำนักข่าวที่แหลมมาก เราได้โอกาสอะไรบ้างจากการที่อยู่ในวงล้อมแบบนี้

เราค่อนข้างที่จะเป็นคนที่อยู่ในแวดวงการเมืองมานานเนอะ ในช่วงวัยเดียวกันเราก็อาจคิดเยอะกว่า หรือว่าเราอาจจะเห็นอุดมการณ์เป็นหลัก

แล้วแม่ซึ่งอยู่ศูนย์ทนายฯ สู้กับคดีทางการเมือง โดยเฉพาะคดี 112 คดี 116 มันปลูกฝังอะไรในตัวเรา

อย่างน้อยเราได้ไปอยู่กับชาวบ้าน ได้เห็นปัญหาของเขา เห็นชาวบ้านที่เขาสู้กับระบบราชการ เขาพยายามให้เราเห็นถึงปัญหาของชาวบ้าน เห็นถึงวิธีการต่อสู้เหล่านั้น

ดูเหมือนห้องเรียนคุณกว้างมากเลย

ก็ถือว่ากว้างอยู่นะครับ

วันนี้คุณอายุ 17 ปี เรียนอยู่ ม.5 แล้ว ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 ซึ่งมีการชุมนุมทางการเมือง แล้วเด็ก 7 ขวบ แบบคุณติดสอยห้อยตามพ่อแม่ไปอยู่ใจกลางที่ชุมนุม ตอนนั้นคุณสนใจการเมืองหรือยัง

ยังครับ ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ทำไมพ่อแม่ต้องมาม็อบ เพราะเรายังเป็นเด็กด้วย คือพ่อแม่เขาไปทำงานเนอะ เขาก็เลยไปฝากไว้กับคนแปลกหน้า ซึ่งไม่รู้เป็นเรื่องตลกไหมนะครับ คนแปลกหน้าที่พ่อไปฝากไว้ก็คือพี่กอล์ฟ ประกายไฟ ซึ่งเขาเป็นกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับละคร แล้วเราก็ได้ไปทำงานกับพี่เขา ไม่รู้ว่าทำไมอยู่ดีๆ ถึงไปฝากไว้กับคนที่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจเหมือนกัน

แล้วคุณได้ไปเล่นละครด้วย ละครที่เล่นเกี่ยวกับอะไร

จำไม่ค่อยได้ครับ แต่ก็เล่นหลายเรื่องนะครับ พวกแบบ… อาจจะเป็นหุ่นเชิดอะไรอย่างนี้ด้วย เราก็เล่นเป็นตัวเด็กที่ผู้ใหญ่เชิดเราอยู่ประมาณนี้

อยู่ตรงนั้นนานแค่ไหน

จำได้ว่าน่าจะกลับก่อนวันที่เขาสลายการชุมนุม ก่อนวันที่ 10 เมษาฯ ไม่นาน เพราะพ่อแม่เห็นแล้วว่ามันน่าจะเริ่มรุนแรง เขาก็เลยพากลับ

ตอนที่คุณอยู่ในม็อบ เห็นอะไรบ้างในตอนนั้น

ก็เห็นคนเสื้อแดงที่เขามาต่อสู้จริงๆ กินนอนตามถนนจริงๆ ไม่ได้ไปที่อื่นเลย แล้วก็เห็นสภาพชีวิตของคนที่มาเรียกร้องเพื่อสภาพชีวิตที่ดีขึ้นของตัวเองน่ะครับ

จุดที่ไปอยู่มันคือตรงไหนของการชุมนุมครับ

ตรงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ครับ ไปหลายที่มากเลย อย่างช่วงแรกๆ ที่แม่ไป ก็ไปผ่านฟ้า สี่แยกคอกวัว ราชประสงค์ อะไรพวกนี้

วันที่เริ่มมีการสลายการชุมนุม คุณกลับบ้านแล้ว แต่จุดที่เคยนั่งเล่นอยู่ เคยเล่นละคร เคยเดินไปเดินมากับคนแปลกหน้า คุณเห็นภาพนั้นบนทีวี รู้สึกยังไงกับมัน

คนที่เราเคยใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้นด้วย เขาโดนสลาย หรือว่าโดนยิง ก็ใจสลายน่ะครับ

พ่อแม่อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังยังไงบ้าง

ก็บอกว่าตำรวจเขาใช้ความรุนแรง ยิงผู้ชุมนุม เหมือนว่าเหตุการณ์มันบานปลายโดยที่เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า เขาใช้ความรุนแรงเพื่อความชอบธรรมของเขาหรือยังไง หรือเขารอโอกาสนี้

หลังจากนั้นคุณเริ่มกระตือรือร้นอย่างมีนัยยะสำคัญหรือยังว่าการเมืองมันอยู่ใกล้ตัวเราแค่นี้เอง

โดยส่วนตัวก็รู้ว่าการเมืองมันอยู่ใกล้ตัวเรา แต่เราก็ไม่ได้สนใจหรือไม่ได้ทำกิจกรรมพวกนี้อย่างจริงจังขนาดนั้น ก็มีช่วงที่เรากลับไปเรียนบ้าง ส่วนที่เริ่มสนใจจริงๆ ก็เริ่มในช่วงมัธยมนี่แหละครับ เริ่มเคลื่อนไหวจริงๆ ก็ตอน ม.4 นี่เอง

คุณเรียนประถมที่ไหน

เรียนที่โรงเรียนบ้านปากช่อง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เป็นโรงเรียนที่อยู่บนภูเขาเลย

ตอนเกิดรัฐประหารปี 2557 ห้องเรียนเด็กประถมของคุณเป็นอย่างไร

อาจารย์มาบอกว่ามันเกิดรัฐประหารขึ้นแล้วนะ เขาให้เราท่องค่านิยม 12 ประการ อะไรพวกนี้ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าทำไมต้องท่อง คนอื่นก็ท่องไป แต่เราไม่ท่องตามเขา แล้วเราก็โมโห ทำไมต้องมาปิดช่องการ์ตูนที่เราดูทุกวันด้วย

แล้วชั้นมัธยมต้น?

จากบนเขา เราก็ลงมาเรียนที่โรงเรียนเขาวงพิทยาคาร จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ตรงรอยตะเข็บระหว่างกาฬสินธุ์กับมุกดาหาร

ห้องเรียนเป็นอย่างไรบ้าง

ก็เป็นห้องเรียนที่เริ่มมีการพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจหรือการเมืองมากขึ้น แล้วก็เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากกว่าตอนอยู่บนเขาด้วย

แล้วพอมาเรียนที่แก่นนครวิทยาลัย?

การพูดถึง (การเมือง) เริ่มขยายเป็นวงกว้างมากกว่าเดิม เป็นเรื่องปกติ แล้วทั้งโรงเรียนเขาก็พูดถึงเรื่องนี้ด้วย

ก็คุยกันถึงเรื่องการกระทำของรัฐบาล มันเป็นยังไง ดีไม่ดียังไง

เพื่อนในห้องก็มีสนใจบ้าง ไม่สนใจบ้าง แต่เราก็มาขยายต่อ ว่าที่กฎหมายเขาพูดถึงเรื่องสุราเนี่ย มันเอื้อให้กับกลุ่มนายทุนไหม ทำไมเราต้มเบียร์กินเองที่บ้านไม่ได้ ทำไมตะเข็บชายแดนที่เขาโพสต์ขายของที่เขาทำเองถึงผิดกฎหมาย เราก็มีการถกเถียงกันในห้องเรียน

บางทีก็คุยเรื่องกฎหมาย การที่ประยุทธ์เข้ามามันผิดยังไง รัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นการตั้ง สสร. หรือสามข้อเรียกร้องมันคืออะไร เราก็เอาไปพูดกับเพื่อน

เรื่องคนหาย เราก็พูดว่าทำไมเขาต้องหายไป หรือไม่เราก็ตั้งประเด็นขึ้นมาว่า ทำไมคนถึงหายไป หรือถ้าเขาเป็นคนที่เรารู้จักจะเป็นยังไง

กรณีพี่ไอซ์ (สยาม ธีรวุฒิ)​ เป็นคนที่อยู่กลุ่มประกายไฟมาก่อน เคยใช้ชีวิตร่วมกันมาช่วงหนึ่ง เราก็ไปเล่าให้เขาฟัง ประเทศที่มีคนหายไป แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ ทำไมคุณถึงยังอยู่เฉย เราก็พูดในห้องเรียนบ้าง เราพูดกับเพื่อนว่าทำไมอาจารย์ถึงไม่สนใจ หรือทำไมนักเรียนบางส่วนถึงไม่สนใจ ทำไมเขาถึงเป็น ignorant อะไรอย่างนี้

บทบาทของคุณในห้องเรียนเป็นอย่างไร

จะพูดยังไงดี คือถ้าพูดถึงในห้องเราก็เป็นหัวการเมืองคนหนึ่ง เราก็จะคิดถึงการเมือง พูดถึงการเมืองเป็นส่วนใหญ่

ก็ดูเป็นตัวประหลาดนิดนึงละกัน นิดนึง เพราะว่าเท่าที่เราดูชีวิตวัยรุ่นมันก็ไม่มีคนที่คิดถึงการเมืองมากขนาดนี้ ส่วนเราก็มุ่งแต่การเมืองเลย

มีการโต้กลับจากครูที่ไม่โอเคกับท่าทีและการพูดคุยของคุณไหม

เขาก็มีด่าเราบ้าง เวลาเรา action อะไรสักอย่าง หรือว่าติดบอร์ดป้ายคนหาย เขาก็จะไปฉีกบอร์ดเรา

คุณเอาโปสเตอร์คนหายไปติดบอร์ดในโรงเรียนเหรอ

ใช่ แล้วอาจารย์ก็ไปฉีก อะไรอย่างนี้

คิดไหมว่าจะมีปฏิกิริยาแบบนั้น คือโดนฉีกโปสเตอร์

ก็คิดอยู่ว่าอาจารย์คงจะไม่โอเคอยู่แล้วที่จะมาทำอะไรในโรงเรียนเขา หรือว่ามายุ่งอะไรกับเขา เพราะเขารู้สึกว่ามันเป็นทรัพย์สินทางราชการ แต่ผมไม่เข้าใจว่ามันทรัพย์สินราชการยังไง

ราวเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พวกคุณเริ่มตั้งกลุ่มภาคีนักเรียน KKC แรกเริ่มเดิมที เป้าหมายของกลุ่มคืออะไร

จะมีสามข้อเรียกร้องของกลุ่มอยู่แล้ว คือ เดิมทีมันจะเป็นการปฏิรูปการศึกษา ต่อต้านอำนาจนิยมในโรงเรียน หยุดการคุกคามจากคุณครู หรือว่าภายนอกโรงเรียนที่มันมีข่าวออกมา หรือว่าทหาร หรือว่า กอ.รมน. มาเอาข้อมูลนักเรียน เรารู้สึกว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เราก็ออกมาต่อต้านในช่วงแรกๆ แต่พอมันมีสามข้อเรียกร้องของทางกรุงเทพฯ ออกมา เราก็เอามาผสมด้วยกันเพิ่มอีกสามข้อเรียกร้องเข้าไป

เรารู้สึกว่าการที่เราจะไปปฏิรูปการศึกษา การที่เราจะต่อต้านอำนาจนิยมในโรงเรียน หรือการที่เราจะไม่เอาการคุกคาม สุดท้ายแล้วมันก็ต้องเริ่มที่การเอาประยุทธ์ออกไปก่อน ตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นมาจากประชาชน แล้วก็ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรารู้สึกว่ามันจะต้องทำงานไปร่วมกัน

ก่อนมาถึงตัวข้อเสนอสามข้อที่กลุ่มราษฎรตั้งขึ้นมา คุยเรื่องการปฏิรูปการศึกษาก่อน คุณเห็นปัญหาอะไรในห้องเรียน

อันแรกเลย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยความที่เรามาจากโรงเรียนในชนบท อยู่บนเขา จากนั้นมาโรงเรียนในเมืองหน่อย แล้วก็มาระดับเมืองใหญ่แบบนี้ เรารู้สึกว่ามันมีความเหลื่อมล้ำในการศึกษาค่อนข้างมาก ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เป็นแค่เรื่องฐานะอย่างเดียว แต่มันเป็นปัญหาเรื่องโอกาสที่เราได้รับ โอกาสในเมืองกับชนบทมันต่างกันเยอะ คุณภาพของเนื้อหาการศึกษา หรือว่าวิธีการที่คุณครูสอนมันไม่ดี โครงสร้างทางการศึกษาคืออะไร จุดประสงค์หรือเป้าหมายของการศึกษาคืออะไร ทำไมเราทำออกมาแล้วมันได้อีกแบบหนึ่ง เราก็เห็นว่าพวกนี้มันสมควรจะปรับเปลี่ยนได้แล้ว

ห้องเรียนของคุณตั้งแต่ประถม ม.ต้น ม.ปลาย ค่อนข้างต่างกันพอสมควร ทั้งระยะทาง ทั้งพื้นที่ ทั้งสภาพแวดล้อมที่อยู่ ถ้าคุณบอกว่ามันมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในห้องเรียน ลองไล่เลียงจากประสบการณ์ของตัวเองหน่อย จากประถม มัธยมต้น ไล่มาจนถึงมัธยมปลาย คุณเห็นอะไรบ้าง

เอาแบบที่เป็นรูปธรรมนะครับ โรงเรียนที่อยู่ในชนบทไม่มีกล้องจุลทรรศน์สักตัว พอมาโรงเรียนที่อยู่ในอำเภอหน่อยก็มีกล้องจุลทรรศน์หนึ่งตัว แต่พอเรามาอยู่ที่แก่นนครวิทยาลัยมีกล้องจุลทรรศน์เป็นสิบๆ ตัว มันก็เห็นได้แล้วว่าโอกาสที่เด็กจะได้ศึกษาเรื่องพวกนี้มันต่างกันเยอะมาก

ปัญหามันเกิดจากอะไร ทำไมบางโรงเรียนมีอุปกรณ์เยอะแยะ บางโรงเรียนก็ไม่มีอะไรเลย เหมือนถูกลืม

เรารู้สึกว่าปัญหาทั้งหมดนี้มันเกิดจากโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการหรือระบบการศึกษาก็ตาม คือพยายามจะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ดังนั้นคนที่อยู่ในชนบท หรืออยู่ในส่วนต่างๆ จึงพยายามที่จะขวนขวาย หรือว่าผลักดันถีบตัวเองขึ้นมาเรียนในเมือง ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกัน

การที่รัฐไม่ได้กระจายอำนาจ อำนาจทั้งทรัพยากร บุคคล หรืออะไรพวกนี้เข้าไปในส่วนต่างๆ ของแต่ละภูมิภาค มันก็ไปกระจุกอยู่ที่ตัวเมือง สุดท้ายคนจบออกมา ครู บุคลากรที่มีคุณภาพ กลับไม่ไปทำงานตามชนบท เขาพยายามผลักตัวเองเพื่อทำงานอยู่ในหัวเมืองเหมือนกัน สุดท้ายแล้วที่ที่เจริญก็มีอยู่ที่เดียว คือหัวเมืองต่างๆ หรือกรุงเทพฯ

เมืองใหญ่ได้เปรียบทุกอย่าง

ใช่ ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นวงจรที่อุบาทว์มากเลย แต่ถ้าสมมุติเรากระจายอำนาจไปที่ภูมิภาคต่างๆ คนก็ไม่ต้องขวนขวายเข้ามาเรียนในเมือง ทีนี้ทุกพื้นที่มันก็จะพัฒนา

เรื่องการปฏิรูปการศึกษา คุณแอคชั่นผ่านวิธีการอะไรบ้าง

แรกๆ ที่เราเริ่มออกมา เราออกมาเพราะว่ามันมีการคุกคามจากข้างนอกโรงเรียน นักเรียนเขาอยากใช้เสรีภาพของเขา คือการที่เขาชูสามนิ้ว หรือผูกโบว์ขาว แต่กลับโดนคุกคาม ตอนแรกๆ เราสู้เพื่อเรื่องนี้ แล้วเราก็อยากหาเป้าหมายของกลุ่มว่าอยากที่จะปฏิรูปการศึกษา หลังจากนั้นเราก็มีกิจกรรม เช่น กิจกรรมเสวนา หรือใส่ร้ายป้ายสี เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาเห็นว่าเราเป็นอะไรกันแน่ เห็นนักเรียนเป็นอะไร เราจัดกิจกรรมอยู่ข้างนอกโรงเรียน เป็นตลาดบ้าง หรือว่าเป็นร้านหนังสือที่เราไปจัดเสวนา

ก่อนหน้านั้นมันว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษา ทีนี้พอขยับไปประเด็นที่ใหญ่มากคือเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ วันที่ประเด็นนี้ถูกจุดขึ้นมากลางสังคม ทุกคนน่าจะอึ้งกัน

ผมก็อึ้งด้วย ไม่คิดว่าประเทศไทยมันจะมาถึงจุดนี้ได้ การที่เราพูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้โดยที่เราไม่โดนจับกัน ถ้าเป็นแต่ก่อน เราโตมาในยุคอากง (อำพล ตั้งนพกุล) พี่กอล์ฟ พี่แบงค์ (ปฏิภาณ ลือชา) ที่โดนคดี 112 แค่เพราะพูดหรือเล่นละครเสียดสีเฉยๆ แต่ตอนนี้มันมาถึงยุคที่ว่าเราสามารถพูดกันได้โดยเปิดเผย

ข้อเรียกร้องนี้นำไปสู่การพูดคุยในห้องเรียนบ้างไหม เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ก็มีการพูดถึงกันในห้องเรียนว่าทำไมเราต้องปฏิรูป เราก็พยายามจะทำความเข้าใจกับอาจารย์ว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้หมายถึงล้มล้าง มันคือการที่ทำให้สถาบันมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญจริงๆ โดยที่ไม่ใช้พระราชอำนาจนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญ

คุณก็ยังยืนยันว่าเพดานมันอยู่ตรงนี้?

ใช่ เราไม่ได้ล้มล้างการปกครอง

คุณไม่ได้พังเพดาน แค่ขยับให้มันสูงหน่อย?

มันก็สูงมากอยู่นะพี่ (หัวเราะ)

เรื่องสถาบันกษัตริย์ค่อนข้างอยู่กับเรานาน ตั้งแต่ตอนเช้า เข้าห้องเรียน เคารพธงชาติ… (ถามยังไม่จบ)

(ตอบทันที) มันก็มี action นะพี่ ไม่หาย ตอนร้องเพลงสรรเสริญฯ ร้องเพลงชาติ

เฮ้ย คุณมีแอคชั่นขนาดนั้นเลยเหรอ

คนในโรงเรียนเขาทำ ผมก็ยังอึ้งอยู่เลย ถึงแม้ว่ามันจะเป็นกระแส แต่ว่า โห! มันมาถึงจุดนี้ได้ยังไง เราก็ยังตกใจอยู่เลย

หมายความว่ายังไงครับ ตอนเช้าเขาจะมีร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี?

ใช่ครับ แล้วก็ต้องหันหน้าไปทางกรุงเทพมหานคร แต่ว่านักเรียนเกือบทั้งโรงเรียนก็ไม่ได้หัน ไม่ร้องเพลง ตอนแรกๆ มันก็เริ่มจากการที่เราไม่ร้องก่อน จากนั้นมันก็เพิ่ม ยกระดับด้วยการที่เราไม่หัน

เรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องใหญ่ ครูซึ่งอยู่ในระบบแบบนี้มานานเนี่ย…

ก็อึ้ง ทำอะไรไม่ถูก

ทำอะไรไม่ถูก?

ใช่ เขาเห็นเด็กทำอย่างนี้ปุ๊บ เขาก็ไม่กล้าทำอะไรเหมือนกัน

พอคุณเข้าไปแอคชั่นในโรงเรียนเยอะๆ ถึงขั้นจัดชุมนุมกัน เป็นตัวตั้งตัวตีในหลายๆ การเคลื่อนไหว พ่อกับแม่คุยกับคุณยังไงบ้าง

ก็บอกว่าพยายามเซฟตัวเองไว้เท่านั้นเลย แล้วก็อย่าลืมการเรียนด้วย

คำถามต่อจากนี้จะชวนคุยผ่านมุมมองความเชื่ออีกชุด ผมจะตั้งคำถามว่าทำไมไม่เรียนหนังสือ จะมาสนใจอะไรเรื่องการเมือง จะตอบว่าอะไรครับ

ผมก็เรียนด้วยนะ

คือ ผมก็รู้สึกว่าการที่เราออกมาตรงนี้มันก็เป็นการทำเพื่ออนาคตของเราเหมือนกัน ถ้าผมมองจากตอนนี้ไปถึงอนาคตของผมเนี่ย ผมไม่เห็นอนาคตของผมแล้วนะ ผมไม่รู้ว่าผมต้องไปยังไง ผมจบไป ผมก็ต้องตกงานอยู่ดี สรุปว่าผมเรียนไปทำไม?

ตั้งใจเรียนก่อนไหม ก่อนมาชุมนุมน่ะ เรียนได้เกรดเท่าไหร่เชียว

ได้เยอะอยู่นะครับ (หัวเราะ) เกรดเฉลี่ย 3.97 (ฉิบหาย! – เสียงผู้สัมภาษณ์) ไม่รู้เขาปล่อยเกรดไหมนะครับ แต่ผมก็รู้สึกว่าเขาปล่อยเกรดในระดับหนึ่ง

เสียภาษีหรือยัง? ทำไมถึงมาพูดกันจังเลยว่า ภาษีกูๆๆ

เวลาเราซื้อของ หรือเรามาโรงเรียนอย่างนี้ เราก็เสียภาษีอยู่แล้วไง อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเสียภาษีอยู่แล้ว ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มมันก็เป็น 1 ใน 3 รายได้หลักของประเทศอยู่แล้ว เราก็รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของภาษีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราออกมาเรียกร้องภาษีมันก็ถูกต้องแล้ว

คนรุ่นพ่อรุ่นแม่โตมากับไม้เรียว ได้ดิบได้ดีเพราะไม้เรียวเลยนะ

ช่วงแรกๆ ที่ยังมีการใช้ไม้เรียว ผมก็เคยโดนอยู่เหมือนกัน แต่ผมรู้สึกว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่คุณผ่านไม้เรียวมาแล้วจะบอกว่ารุ่นพวกผมต้องผ่านไม้เรียวด้วย มันก็ไม่จำเป็นเสมอไป ไม่จำเป็นว่าพวกคุณโดนไม้เรียวแล้วดี พวกเราโดนไม้เรียวแล้วจะดีเหมือนกัน

ผมก็รู้สึกว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เรามีความแตกต่างกันในตัวของแต่ละคน เพราะฉะนั้น การที่คุณเป็นอีกแบบหนึ่ง แล้วเราจะเป็นอีกแบบหนึ่งก็ถูกแล้ว

ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผ่านมาเราอยู่ในครรลองที่ดีอยู่แล้ว พวกเด็กๆ อย่ามาแหกคอกมาก

ให้ผมตอบยังไงดีอะพี่ น้ำร้อนในสมัยพี่มันอาจจะแค่ 10-20 องศาฯ แต่สมัยผมอาจจะ 100 องศาฯ ก็ได้ ก็เหมือนไม้เรียว การที่คุณผ่านอะไรมา ก็ไม่จำเป็นว่าลูกหลานจะต้องผ่านเหมือนกันแล้วได้ดิบได้ดี ยุคสมัยของโลกมันเปลี่ยนไป ยุคโลกาภิวัตน์มันก็เข้ามาแทนอะไรอย่างนี้

ทรงผมนี่เป็นวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

ดีงามยังไง (หัวเราะ) ผมมองว่าทรงผมเป็นความพยายามที่เขาจะให้เราอยู่ในอำนาจ หรือว่าให้เป็นแบบเดียวกันเพื่อที่เขาจะได้ควบคุมได้ง่ายๆ

ก็เหมือนเดิม คุณโดนยังไงมา ทำไมเราต้องโดนแบบคุณด้วย เราไม่เหมือนกันซะหน่อย คนต่างชาติก็ไม่เห็นจำเป็นต้องตัดผมเหมือนกันนี่

ถ้าใส่เครื่องแบบ เราก็จะรู้ว่าคุณเป็นนักเรียนและเครื่องแบบทำให้ทุกคนเท่ากัน ไม่เหลื่อมล้ำด้วยนะ ทุกคนแต่งเหมือนกันหมดเลย

ผมเคยไปสัมภาษณ์เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำเรื่องการศึกษากับการแต่งกายนะ แค่คุณเดินทางมาด้วยรถยนต์ แค่นี้คุณก็เห็นความเหลื่อมล้ำแล้ว คนหนึ่งนั่งรถเบนซ์มาเลย อีกคนนั่งรถสองแถวมา แค่นี้ก็เห็นความเหลื่อมล้ำแล้วไหม การที่คุณใส่เสื้อผ้ายี่ห้อหนึ่งกับอีกยี่ห้อหนึ่ง แค่นี้คุณก็เห็นความเหลื่อมล้ำแล้วไหม

นอกจากนี้ เครื่องแบบมันยังเป็นสิ่งของที่ฟุ่มเฟือยในสายตาผม ถ้าพูดถึงคนในเมือง เสื้อผ้าแค่ชุดสองชุดเนี่ย มันไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าคุณไปดูในชนบทที่ผมผ่านมา เขาต้องเอาเงินที่พ่อแม่เขาหามาได้ในแต่ละวัน ขวนขวายมาได้ ไปซื้อชุดนักเรียน ซึ่งเงินค่าอุปกรณ์ที่ทางรัฐให้มา ชุดเดียวมันก็หมดแล้ว คุณจะใส่วันนึงแล้วซักเพื่อใส่อีกวัน มันก็ไม่ได้ใช่ไหมล่ะ พ่อแม่เขาก็ต้องหาเงินมาเพื่อซื้อชุดนักเรียนให้อีกอยู่ดี ผมรู้สึกว่ามันเป็นสินค้าที่ฟุ่มเฟือยมากเลย

การที่เราไปโรงเรียน เราใส่ชุดไหนไปก็ได้ไหม เราไปเอาความรู้ เราไม่ได้ไปเป็นแบบเดียวกันทั้งหมดนี่

คุณดูข่าวพระราชสำนักบ้างไหมครับ

ผมปิดตลอด เอาอย่างนี้ดีกว่า

ปฏิเสธไม่ได้นะ คนยุคหนึ่งโตมากับข่าวในพระราชสำนัก ข่าวในพระราชสำนักอยู่ในช่วงไพรม์ไทม์ที่สุด คือ ช่วงที่พีคสุดตอนสองทุ่ม เพราะต่อจากข่าวในพระราชสำนักจะเป็นละครหลังข่าว คุณเคยรู้สึกว่าไหมว่าคนอายุ 40 ปีขึ้นถึงเป็นคอนเซอร์เวทีฟในลักษณะของการโปรเจ้าขนาดนี้

มันอาจจะเป็นการที่เขา PR มาเยอะ หรือโฆษณามาเยอะ

เขาพยายามที่จะปลูกฝังความเชื่อในรูปแบบของเขาให้คนทั่วไปได้เห็นข่าวในด้านดีๆ ของเขา แต่เขาไม่ได้แสดงให้เห็นถึงด้านไม่ดีของสถาบันอะไรอย่างนี้ ผมรู้สึกว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบหนึ่ง แล้วคนที่โตมาในยุคก่อนๆ เขาอาจจะได้รับการโฆษณาชวนเชื่ออย่างนี้มาตลอด

ถ้าเกิดคุณบอกคุณไม่ได้ดู พอเจอข่าวในพระราชสำนักคุณก็ปิด คุณก็จะไม่รู้สิว่าเจ้าทำอะไร

เราเห็นอยู่แล้ว เราเปิดเราก็เห็นโฆษณา PR คือการที่เขาไปทำโครงการในพระราชดำริ หรือทรงไปประทานปริญญาบัตรแก่มหาวิทยาลัย เรารู้สึกว่ามันเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เราก็ไม่ดูดีกว่า มันมีแต่รูปแบบเดิมๆ ทรงไปไหน ทรงทำอะไรบ้าง

อีกไม่กี่ปี คุณคงจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย คิดว่าจะเรียนคณะอะไรครับ

ยังคิดไม่ออกเลยครับ ตอนแรกผมว่าจะไปเรียนต่างประเทศ หมายถึงว่าไปหางานทำแล้วเข้าเรียนต่างประเทศดีกว่าประเทศไทย ไปๆ มาๆ เราก็อยากต่อสู้เรื่องพวกนี้อยู่

แล้วพอเรียนสักพักหนึ่งคุณก็จะต้องจบปริญญาตรี แล้วก็จะมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร คิดว่าจะไปรับไหมครับ

ไม่รับ ไม่รับอยู่แล้วครับ เพราะรู้สึกว่าเราเรียนก็เรียนด้วยเงินของตัวเอง ทำไมเราต้องไปเสียเงินเพื่อรับปริญญาบัตรอีก เราไปเอาความรู้เฉยๆ ไหม?

มันเป็นความศักดิ์สิทธิ์ มีรูปติดในบ้าน มีรูปรับปริญญา

เอารูปรับปริญญาไปอวดกับป้าข้างบ้านเหรอ ไม่เอา

*หมายเหตุ – สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า