เทศกาลกิจเจผ่านไปแล้ว แต่เทรนด์มังสวิรัติแบบคลีนๆ เพียวๆ ‘vegan’ ยังอยู่ในขาขึ้น
Vegan คือการกินมังสวิรัติที่มีความเคร่งครัดในตัวเองมากกว่ากลุ่มที่เรียกว่าเป็น veggie หรือมังสวิรัติทั่วไป เพราะนอกจากจะปฏิเสธเนื้อสัตว์แล้ว vegan ยังไม่กินผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มาจากสัตว์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนม เนย ชีส หรือไข่
Vegan จึงพูดได้อย่างค่อนข้างเต็มปากว่าพวกเขาเป็น ‘สัตว์กินพืช’ ที่แท้จริง โดยอาหารหลักๆ ของกลุ่ม vegan คือสารพัดพืช ธัญพืช ถั่ว ผัก ผลไม้ และต้องพยายามควบคุมการกินให้ได้สารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
ขาขึ้นของ vegan
ปีที่แล้ว ชาวอังกฤษประมาณ 542,000 ประกาศเป็น vegan เพิ่มขึ้นจาก 150,000 คนเมื่อทศวรรษก่อน นี่คือตัวเลขจาก Vegan Society เช่นเดียวกับข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาด Mintel ที่ระบุว่า หนึ่งใน 10 ของประชากรในสหราชอาณาจักรพยายามใช้ชีวิตตามวิถี vegan
“โปรตีนจากพืชได้รับความนิยมสูงขึ้นมากในอังกฤษปีที่ผ่านมา ต้องขอบคุณบรรดาหน่วยงานที่รับรองความเป็นธรรมชาติและคุณค่าทางโภชนาการ” เอ็มมา คลิฟฟอร์ด (Emma Clifford) นักวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจาก Mintel กล่าว
ข้อมูลจาก Mintel ระบุอีกว่า ธุรกิจมังสวิรัติเติบโตเฟื่องฟูในอังกฤษสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น ระหว่างปี 2012-2016 ปริมาณผลิตภัณฑ์ vegan ก้าวกระโดดเพิ่มขึ้น 185 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ 9 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์อาหารที่ยืนยันตัวเองว่าเป็น vegan แท้ๆ เพิ่มขึ้นจากปี 2012 ซึ่งมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์
ข้ามไปฝากอเมริกา จากรายงาน Top Trends in Prepared Foods in 2017 ของบริษัทวิจัย GlobalData บอกว่า ชาวอเมริกัน 6 เปอร์เซ็นต์ประกาศตนนิยม vegan โดยปัจจัยอันดับต้นๆ คือ การเลิกกินเนื้อสัตว์ เพื่อสุขภาพที่ดี เป็นการบริโภคอย่างมีคุณธรรม ไม่สนับสนุนการทำปศุสัตว์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะงานศึกษาที่เปิดเผยว่า 26 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคเนื้อแดงมีความเสี่ยงจะเสียชีวิตด้วยเก้าโรคร้ายแรงมากกว่า และผู้ศึกษาเรื่องหัวใจ American College of Cardiology แนะนำว่า โปรตีนจากพืชมีประโยชน์กับหัวใจมากกว่าโปรตีนจากสัตว์
กล่องนี้เพื่อ vegan
ก่อนหน้านี้ เคลลี สเลด (Kelly Slade) และ คริสซี ลีย์แลนด์ (Chrissy Leyland) เคยจัดแคมเปญเชิญชวนใช้ชีวิตแบบ vegan หนึ่งเดือน พวกเธอบอกว่า “การพบเจอกับกลุ่มที่วอนนาบีอยากเป็น vegan ทำให้เราได้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์มากมาย ที่จะมาท้าทายผู้คนเมื่อพวกเขากำลังเปลี่ยนการกินมาเป็น vegan” ทำให้ทั้งคู่พบว่า สำหรับคนอยากเปลี่ยนวิธีบริโภค เช่น การหาสแน็ค vegan ดีๆ สักกล่องกลับกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ชีวิตยากเย็นมากขึ้น เพราะบางครั้งก็ต้องพลิกกล่องไปมาหาฉลากยืนยันความ ‘แท้’ ว่าไม่มีส่วนผลสมของผลิตภัณฑ์จากสัตว์เจือปน
ปี 2013 สเลดและลีย์แลนด์ก่อตั้งธุรกิจ Vegan Tuck Box ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้นอีกนิด โดยจับผลิตภัณฑ์ของกิน vegan แท้ๆ แปดชนิดรวมใส่กล่อง ตั้งแต่ช็อกโกแล็ต ยันคะน้าอบกรอบ ปัจจุบัน Vegan Tuck Box มียอดจัดส่งมากกว่า 800 กล่องต่อเดือน ใช้ระบบสมาชิก ในราคาเริ่มต้นที่ 9.50 ปอนด์หรือราว 415 บาทต่อเดือน
กดสูตร vegan
เฮนรี เฟิร์ธ (Henry Firth) และ เอียน ธีสบี (Ian Theasby) เริ่มต้นทำเพจเฟซบุ๊ค Bosh! เมื่อมิถุนายนปีที่แล้ว ปัญหาโลกแตกที่พวกเขาและชาว vegan (รวมถึงสายเจและสายมังสวิรัติทั่วไป) เคยเจอ คือการหาสูตรมาทำอาหาร vegan ให้อร่อยโดยไม่ง้อเนื้อสัตว์ เพราะ “โดยทั่วๆ ไปแล้ว อาหาร vegan คือของที่น่าเบื่อ” เฟิร์ธบอกถึงอาหารแบบเก่าเขียวๆ ถั่วๆ ผักๆ “มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น มันต้องทำได้ง่าย และเราอยากจะแชร์มัน”
ในเพจ Bosh! มีคลิปขนาดสั้นแสดงวิธีการทำและสูตรอาหาร vegan มากมาย เช่น โดนัทกล้วยหอม พิซซ่าไม่มีเนื้อสัตว์ ซาโมซ่าแบบ vegan และมียอดกด like ในเฟซบุ๊คถึง 1.4 ล้าน รวมถึงออกหนังสือสูตรอาหาร Bosh!: The Cookbook ออกมาเมื่อเดือนเมษายน
แม้ในทางธุรกิจ vegan จะมีขนาดเล็ก ไม่ใช่สินค้าทำเงินมหาศาล แต่ก็นับเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วในตลาดปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เอ็มมา คลิฟฟอร์ด จาก Mintel ยืนยันเทรนด์นี้ว่า “โปรตีนจากพืชยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นกับโอกาสที่ดีมากๆ ที่จะพัฒนาต่อไปเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในการบริโภคกระแสหลักได้”