Main way
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทศวรรษที่ 1960 – 1970 คือ Renaissance ของหนุ่มสาว โดยเฉพาะในโลกตะวันตก การประท้วงสงครามและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเป็นเป้าหมายใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่วันที่ดีขึ้น แต่วิกฤติเศรษฐกิจในศักราชถัดมา รัฐใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขัดเกลาให้เด็กเรียบร้อย เชื่อฟังคำสอน พร็อพพากันดาซ่อนอยู่ในสื่อบันเทิง คนหนุ่มสาวกลายเป็นมนุษย์ที่ไร้พลังและนั่งดูโฆษณาน้ำอัดลมอยู่หน้าจอทีวี – หรือไม่ก็กินป็อปคอร์น
ปัจจุบัน ในอีกซีกโลกหนึ่ง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เด็กหัวขบถ กับ โจชัว หว่อง ผู้นำการประท้วงที่ฮ่องกงวัย 18 ไม่ได้คล้ายกันแค่เพียงหน้าตา หลังจากหลายทศวรรษที่พลังเยาวชนหนุ่มสาวระเหยไปจากกระแสสังคม การขึ้นสู่ผิวน้ำของเด็กสวมแว่นเนิร์ดๆ สองคนนี้คล้ายจะมีความหมายบางอย่าง
ไม่นานมานี้ ภาพของกลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่งยกมือไหว้เจ้าหน้าที่ภาครัฐท่ามกลางสายฝนขณะใช้ตัวเองเป็นกันชนให้ชาวบ้านที่หน้าวัดโพนทอง ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย พวกเขาเป็นเจ้าของรางวัลเยาวชนต้นแบบ จาก คนค้นฅน อวอร์ด ครั้งที่ 5 จากนั้นกลุ่ม ‘ดาวดิน’ แสดงการไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารจนถูกจับเข้าคุกพร้อมกับนักกิจกรรมอีกจำนวนหนึ่ง
ล่าสุด ณัฐนันท์ วรินทรเวช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่งกระดาษเปล่าในการสอบวิชาหน้าที่พลเมือง ด้วยเหตุผลหนึ่งว่า “เป็นวิชาที่เต็มไปด้วยการยัดเยียดแนวคิดแบบเดียว และปฏิเสธการโต้แย้งแสดงความเห็นต่างตามวิถีประชาธิปไตย”
เราสามารถตั้งสมมุติฐานได้หรือไม่ว่า พวกเขาเติบโตมากับเหตุการณ์ผันผวนทางสังคมและการเมืองในช่วงสองทศวรรษหลัง จนทำให้พวกเขาต้องออกมาทำอะไรบางอย่าง
Interview
ในกระบวนการปฏิรูปประเทศที่กำลังขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติขณะนี้ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา บอกว่า ขบวนการประชาชนได้สร้างกระแสธารการปฏิรูปที่ก้าวหน้ามานานแล้วก่อนการรัฐประหาร และย้ำชัดถ้อยคำว่า “ก้าวหน้ากว่าโครงสร้างอำนาจยุคใดๆ โดยเฉพาะก้าวหน้ากว่าการปฏิรูปตามโครงสร้างและกลไกของ คสช. ที่เขาจัดวางและออกแบบไว้”
เรื่องที่เราพูดคุยกันจึงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อำนาจเถื่อน และการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม
จดหมายที่ไม่ได้ส่ง
พบคอลัมน์ใหม่ล่าสุดในนิตยสาร WAY ‘จดหมายที่ไม่ได้ส่ง’ พื้นที่นี้ว่าด้วยประเด็นทางศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ และวรรณกรรม รับผิดชอบโดยนักประพันธ์และคอลัมนิสต์ผู้มีสำนวนโศกงาม ทินกร หุตางกูร จดหมายฉบับนี้เขียนถึงใคร เขาอาจเขียนถึงเพเนโลป หญิงสาวผู้เฝ้าคอยโอดิสสิอุสกลับบ้าน หรือเขียนถึงแมลงชีปะขาว หรือเขียนถึงดวงจันทร์ หรือเขียนถึงสายควันบุหรี่ของเด้กสาวที่สวมรองเท้าแบบคีบ ฯลฯ
ขอต้อนรับกลับบ้าน และเรายินดีที่จักกล่าว ‘เจ้าชายเสด็จแล้ว’