…พระมหากษัตริย์ของรัฐไทยใหม่ อันเกิดขึ้นจากการรวบรวมเอาดินแดนที่แตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมเข้าไว้ในปริมณฑลรัฐชาติเดียว เพราะเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างสำนึกแห่งเอกภาพ เนื่องจากเมื่อเกิดแนวคิดเรื่อง รัฐชาติ (national state) ขึ้น การเกิดรัฐชาติเป็นสิ่งใหม่ รัฐต้องสถาปนาความเป็นเอกภาพทางสังคมของประชากรของสยามรัฐขึ้น วิธีการสร้างเอกภาพนี้ กระทำผ่านการสร้างและวางรากฐานของอดีตหรือ ‘ประวัติศาสตร์’ ร่วมของรัฐหรือประเทศขึ้น และส่งผ่าน ‘ตัวตน’ ของอดีตชุดใหม่นี้สู่สังคม…
บางส่วนของบทนำจากหนังสือ ชาตินิยมในแบบเรียนไทย ของ สุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ อธิบายพลวัตการรับรู้จากอดีตถึงปัจจุบันของความเป็นเอเชียอาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ก่อกำเนิดขึ้นในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตตัน ได้ก่อตั้งกองบัญชาการ South East Asia Command ขึ้นที่ศรีลังกาในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1943 ทำให้การรับรู้ต่อคำจำกัดความที่กินความหมายต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ทว่าเป็นเพียงการรับรู้จากคนภายนอก ขณะที่คนภายใน การรับรู้นี้เริ่มต้นจากรากของคติความเชื่อในเรื่องจักรวาลวิทยาจากคำสั้นๆ ว่า ‘มณฑล’ ที่มีความหมายแต่เดิมหมายถึงภูเขารายล้อมทั้งเจ็ดของเขาพระสุเมรุ ‘มณฑล’ ในการรับรู้ของรัฐจารีตกลายมาเป็น ‘ปริมณฑล’ ในความหมายของข้าขอบขัณฑสีมาของกษัตริย์โบราณ การส่งต่อความหมายของความเป็นรัฐบรรณาการ (tributary state)นี้ ปักหลักอย่างมั่นคงในยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์รัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การอธิบายการทำศึกสงครามต่อรัฐในขอบเขตปริมณฑลก็เพื่อ ผดุงรัฐ ผดุงราษร์ และกอบกู้เอกราช – หน้า 22
ทั้งตัวตนจาก ‘ภายนอก’ และตัวตนจาก ‘ภายใน’ ส่งต่อมายังการสร้างประชากรรุ่นใหม่ให้จงรักและภักดีต่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่รัฐบาลพลเรือนผสมทหาร และกระทรวงศึกษาธิการผ่านแบบเรียนและระบบที่สร้างคนขึ้นจากไม้เรียว ซึ่ง ‘เชื่อ’ ว่าจะทำให้คนเป็นคนเต็มคน สร้างตัวตนของความเป็น ‘ไทย’ ที่สุเนตรมองว่า ไม่ได้มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
การไม่มีอยู่จริงในทัศนคคติของสุเนตรและคณะเห็นได้ทั้งจากในบท ‘สถานะองค์ความรู้ด้านอุษาคเนย์ในสังคมไทย’ ที่สุเนตรได้เขียนไว้ว่า
...กระนั้นกระบวนการที่นับว่าสำคัญยิ่งและส่งผลต่อเนื่องถึงการรับรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนทัศนคติที่ประชาคมไทยมีต่อประเทศรอบข้างในอุษาคเนย์ปัจจุบัน คือกระบวนการที่องค์ความรู้ฤูก ‘จัดระบบ’ เพื่อสนองประโยชน์ให้กับรัฐไทยที่ปรับตัวเข้าสู่ความเป็นรัฐชาติ…
– หน้า 62
และในบท ‘พม่า ในแบบเรียนของไทย’ ของ นิตยาภรณ์ พรมปัญญา ที่เขียนว่า
…นอกจากเนื้อหาที่มองพม่าในแง่ของคู่แค้นแล้วนั้น สิ่งหนึ่งที่ปรากฏในงานพระราชพงศาวดาร และปรากฏในงานประวัติศาสตร์ชาติ หรือแม้แต่ถ่ายทอดสู่แบบเรียน คือ ‘การอธิบายถึงความกล้าหาญ ความเก่งกาจ และความมีคุณธรรมของชาวไทยควบคู่ไปกับภาพของพม่าในฐานะปัจจามิตร สิ่งเหล่านี้ได้ช่วยเสริมสร้างภาพของพม่าในส่วนของผู้ร้ายผู้เหี้ยมเกรียมขึ้น เพราะบ่อยครั้งเมื่อกล่าวถึงการเข้ามารุกรานของพม่าในอยุธยา คำอธิบายจะกล่าวถึงความสามารถของชาวอยุธยาในการสู้รบ และกล่าวถึงความเสียสละของชาวอยุธยา’
– หน้า 87
หรือในบท ‘ลาว ในแบบเรียนของไทย’ กรกิต ชุ่มกรานต์ มองแบบเรียนในหลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พ.ศ. 2503 ในลักษณะที่ผู้เขียนแบบเรียนต้องการสะท้อนสถานะที่ ‘เหนือกว่า’ ของรัฐไทยที่มีต่อประเทศลาว และมองลาวในฐานะประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบารมี เป็นประเทศที่ด้อยกว่า ซึ่งบางครั้งก็ก่อความรำคาญ ที่กลายเป็นความหวาดระแวงที่มองประเทศเพื่อนบ้านเพียงแค่ในฐานะ
ดังนั้นเราต้องช่วยกันสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติและต้องช่วยกันระวังดูแลคนต่างชาติให้ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศของเราเท่านั้น…
– หน้า 130
กระทั่งในบท ‘กัมพูชา ในแบบเรียนของไทย’ ของ ธิบดี บัวคำศรี ที่มอง กระบวนทัศน์การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับกัมพูชาของรัฐไทยตั้งแต่ยุคจารีตมาจนถึงยุคสงครามเย็นไว้ว่า
…โดยทั่วไปแล้ว แบบเรียนนั้นบรรจุความรู้เกี่ยวกับกัมพูชาไว้ในปริมาณที่มากและทันต่อความเปลี่ยนแปลงตามสมควร แม้บางเรื่องโดยเฉพาะประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่อาจจะตามไม่ทันความเปลี่ยนไปของความรู้อยู่บ้าง เรื่องที่พึงกังวลในอันดับต้นจึงอยู่ที่ว่าความรู้เกี่ยวกับกัมพูชาในแบบเรียนนั้นเป็นความรู้ที่ผูกอยู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นความรู้แบบที่ยึดไทยเป็นศูนย์กลาง…
– หน้า 187
ความล้าหลังทางการศึกษา
อาจจะดูเป็นการกล่าวว่าร้ายต่อผู้เขียนต่างๆ ที่พยายามสร้างชาติจากเถ้าถ่านของความทรงจำที่ผ่านไปแล้วเพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ตระหนักว่าได้เกิดอะไรมาบ้างในประวัติศาสตร์ชาติ แต่ความจริงที่ประจักษ์ตรงหน้าในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งต่อความคิดผ่านจากพระราชพงศาวดารมาสู่แบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ แช่แข็งระบบความคิดเยาวชนในยุคนั้นให้กลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่มองว่า ‘ประชาธิปไตย ไม่ได้มีแต่การเลือกตั้ง’ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ‘ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเดินตามใคร’ กระทั่งการพาประเทศไทยออกจากองค์กรตรวจสอบการคอร์รัปชันสากล เพราะมองว่าต่างประเทศมีอคติต่อประเทศไทย
ประเทศไทยในความเข้าใจของผู้ใหญ่ปัจจุบันกลายเป็นตัวตนของความคิดที่ไม่เพียงไม่เท่าทันต่อโลกปัจจุบัน แต่ยังมองโลกภายนอกไม่เข้าใจโลกภายในประเทศไทย
ทัศนะเช่นนี้ หากจำกัดแค่ในแวดวงแคบๆ อันคร่ำครึของตนเองก็อาจไม่เป็นประเด็นที่ทำให้ผู้เขียนหยิบหนังสือเล่มนี้มารีวิว แต่เพราะอันตรายอย่างหนึ่งของความคิดคับแคบ คือการมองไทยเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง และส่งต่อความคิดนี้ให้กับอนาคตของชาติรุ่นต่อๆ ไป ที่พอเติบโตแล้ว เขาอาจเพิ่งตระหนักว่าในที่สุดแล้ว โลกได้เปลี่ยนแปลงไปไกล แต่ประเทศไทยและตัวตนของเขากลับไม่ได้เคลื่อนจากประวัติศาสตร์เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเท่าไหร่เลย
ถึงจุดนี้ ไม่เพียงแต่เราส่งต่อความล้าหลังทางการศึกษาแล้ว แต่เราได้ปิดกั้นอนาคตทั้งของชาติและเยาวชนไปอย่างน่าเศร้าเสียด้วยซ้ำไป
หากคุณคิดว่านี่เป็นการมองโลกที่ไม่เป็นจริง เหมือนที่แบบเรียนไทยเป็น หวนไปดูค่านิยม 12 ประการสิ