ปฐมปาราชิก การปาราชิกครั้งแรกในพุทธศาสนา เกิดขึ้นตั้งแต่พุทธกาล​

“อดข้าวดอกนะเจ้าชีวาวาย ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา”

แม้บทกลอนข้างต้นของสุนทรภู่จะบอกเราว่า อาหารเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต ไม่เหมือนความรักและความใคร่ ซึ่งหากงดเว้นก็ไม่ทำให้ใครตาย อย่างไรก็ดี ผู้ที่กินอาหารน้อยมื้ออย่างพระภิกษุสงฆ์กลับเข้าไปพัวพันกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ อยู่เสมอ 

ข่าวฉาวคาวโลกีย์ของ ‘หลวงพี่กาโตะ’ พระนักเทศน์ชื่อดัง ซึ่งชวนสีกาไปดูเขื่อนในเวลา 4 ทุ่ม จนเกิดเหตุเกินเลยตามมานั้น ไม่ใช่เรื่องอื้อฉาวครั้งแรกในวงการพุทธศาสนา ย้อนกลับไปสมัยพุทธกาล มีพระรูปหนึ่งเคยพลาดท่าในกรณีเรื่องเพศมาแล้ว จนเป็นที่มาของการบัญญัติสิกขาบทให้การเสพเมถุน (มีเพศสัมพันธ์) ของพระ เป็นโทษสถานหนักที่ผู้ใดละเมิดจะต้องขาดจากความเป็นพระ

และตัวละครเอกในเรื่องนี้มีนามว่า พระสุทิน

พระสุทิน ผู้เป็นต้นบัญญัติข้อห้ามมิให้พระเสพเมถุน

พระวินัยปิฎกเล่มที่ 1 ปรากฏเรื่องราวของพระผู้เป็น ‘อาทิกัมมิกะ’ ซึ่งแปลว่า ผู้กระทำคนแรก ในฐานะที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการบัญญัติข้อห้ามมิให้พระเสพเมถุน (มีเพศสัมพันธ์) ท่านผู้นั้นมีนามว่า พระสุทิน

เมื่อครั้งยังเป็นฆราวาส สุทิน บุตรชายคนเดียวของเศรษฐีกรุงเวสาลี ได้สดับรับฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจนเกิดความเลื่อมใสและขอบวช แต่พระพุทธองค์ไม่บวชให้ใครก็ตามที่บิดามารดายังไม่อนุญาต เมื่อเขากลับบ้านไปหาบิดามารดากลับโดนปฏิเสธคำขอร้องถึง 3 ครั้ง เนื่องจากเห็นว่าหากปล่อยให้ลูกชายเข้าร่มศาสนาแล้วอาจจะถลำลึก ไม่กลับมาใช้ชีวิตในทางโลก จนไม่มีผู้สืบสกุล 

ด้วยความเสียใจ สุทินอดอาหารเพราะคิดว่าหากไม่ได้บวชก็ยอมตายเสียดีกว่า จนเข้าวันที่ 7 เพื่อนฝูงพากันมาเยี่ยมด้วยความเป็นห่วง เมื่อรู้ว่าเปลี่ยนความตั้งใจของเขาไม่ได้ จึงหันไปโน้มน้าวบิดาของสุทินให้ตอบสนองความปรารถนาของบุตรชาย หากยังต้องการเห็นสุทินมีชีวิตรอดต่อไป แม้ในร่มกาสาวพัสตร์

ในที่สุด พ่อแม่ก็ยินยอมให้สุทินบวชตามความประสงค์ พระสุทินประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดี พระสุทินบวชได้ไม่นาน บิดาก็นิมนต์ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ในระหว่างนั้น บิดามารดาร่วมกันโน้มน้าวให้พระสุทินลาสิกขา โดยให้ข้ารับใช้นำเงินทองมากองเป็นสิ่งล่อใจ แต่ไม่สำเร็จ 

ในเวลาต่อมา มารดาพาตัวอดีตภรรยาของพระสุทิน (ก่อนบวช) ไปหาพระสุทินในป่าเพื่อชวนให้สึกอีกครั้ง ครั้นเห็นว่าทำอย่างไรก็ไม่อาจเปลี่ยนใจพระสุทินได้ จึงร้องขอให้พระสุทินมีเพศสัมพันธ์กับอดีตภรรยา เนื่องจากต้องการทายาทไว้สืบสกุลต่อไป ในขณะนั้นยังไม่มีข้อห้าม พระสุทินจึงรับปากว่า “โยม เรื่องนี้อาตมาพอจะทำได้” 

พระสุทินได้เสพเมถุนธรรมกับอดีตภรรยาถึง 3 ครั้ง จนนางตั้งครรภ์ และคลอดบุตรชายชื่อ พีชกะ (แปลว่าเจ้าพืช อันมีนัยเป็นพืชพันธุ์ไว้สืบสกุล) 

พระสุทินกลับวัดแล้วเกิดรู้สึกไม่สบายใจ ฉันอาหารไม่ได้ จนซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง พระรูปอื่นเห็นเช่นนั้นจึงเข้าไปสอบถาม เมื่อล่วงรู้ความจริงก็พากันตำหนิพระสุทิน และนำความไปฟ้องพระพุทธเจ้า จึงเกิดข้อบัญญัติเรื่องปาราชิกขึ้นเป็นครั้งแรก 

“ก็ภิกษุใด เสพเมถุนธรรม ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”

อาบัติปาราชิกถือเป็นโทษสถานหนัก (ครุกาบัติ) ผู้ละเมิดจะสิ้นสภาพการเป็นพระในทันที และไม่สามารถกลับมาบวชได้อีก 

คำถามคือทำไมเพศเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับพระสงฆ์? 

ความพ่ายแพ้ต่อกิเลส

โมฮาน วิชัยรัตนะ (Mohan Wijayaratna) นักมานุษยวิทยาชาวอินเดีย เสนอว่า นักบวชในศาสนาพุทธจำเป็นต้องรักษาพรหมจรรย์ เนื่องจากเพศสัมพันธ์มีโอกาสให้กำเนิดบุตร ซึ่งถือเป็นการสร้างพันธะผูกมัดให้พระสงฆ์ไม่มีอิสระ กล่าวได้ว่าครอบครัว (เมียและลูก) เปรียบเสมือนอุปสรรคขัดขวางไม่พระสงฆ์บรรลุถึงนิพพาน

ยิ่งไปกว่านั้น ศาสนาพุทธยังเชื่อมโยงเพศสัมพันธ์เข้ากับความปรารถนา ครั้นเมื่อพระสงฆ์บวชเพื่อแสวงหานิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะที่ลดตัวตนของตนเองออกไปให้น้อยที่สุดจนไม่ยึดติดเลย เพศสัมพันธ์ที่เล่นกับอารมณ์ของมนุษย์จึงเป็นกิจกรรมที่ทำให้พระสงฆ์ยึดติดกับความปรารถนาและวัตถุแห่งความปรารถนานั้น พระสงฆ์จึงต้องตัดขาดจากเรื่องเพศ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระสุทินว่า เธอออกบวช “เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด” 

พระสงฆ์จึงเปรียบเสมือนนักรบที่ต้องต่อสู้กับความปรารถนาหรือกิเลสตลอดเวลา ครั้นเมื่อไม่อาจต้านทานได้จนปล่อยใจไปกับความสุขทางเนื้อหนังมังสา ซึ่งไม่เที่ยงแท้ถาวรเหมือนวิมุตติสุขที่เกิดจากการหลุดพ้น พระสงฆ์จะกลายเป็นผู้พ่ายแพ้ในสมรภูมิทางธรรม เปรียบเสมือน “คนถูกตัดศีรษะ ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ โดยการต่อศีรษะเข้ากับร่างกายนั้น”

เพราะเหตุนี้ เพศสัมพันธ์จึงไม่ใช่กิจของสงฆ์ ถึงขั้นมีการแนะนำในพระไตรปิฏกว่า หากพระสงฆ์รู้สึกกำหนัด สู้สอดองคชาตเข้าปากงูเห่าหรือหลุมถ่านติดไฟลุกโชนเสียดีกว่าจะร่วมเพศกับใคร เพราะความเจ็บปวดจากงูกัดและไฟไหม้ทำอันตรายได้เพียงร่างกาย แต่มิอาจทำให้จิตใจมัวหมองมีมลทิน

ทางออกเพียงอย่างเดียวของพระสงฆ์ผู้ไม่อาจทานทนต่อกิเลสราคะคือ ลาสิกขาออกไปเพื่อใช้ชีวิตทางโลกอย่างเต็มตัว เพราะผู้ที่ละทิ้งสงครามและหนีออกนอกสมรภูมิ ย่อมไม่ถือเป็น ‘ผู้แพ้’

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า