สำหรับนักศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ‘อำนาจละมุน’ (soft power) ย่อมเป็นคำที่คุ้นหูอย่างยิ่ง เพราะเป็นแนวคิดด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไฟต์บังคับของเจ้าทฤษฎีอย่าง โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือ ‘ปู่ไนย์’ ที่ทุกคนต้องได้เรียน
คำว่า soft power กลายมาเป็นคำฟีเวอร์ติดหูชาวไทยมากขึ้น เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี อยากผลักดัน soft power กับเขาบ้าง แต่ดันพูดผิดเป็น ‘software’ เพราะหวังเกาะกระแสไวรัลเมนู ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ที่ มิลลิ ดนุภา แร็ปเปอร์สาวไทย โชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีคอนเสิร์ตระดับโลกที่สหรัฐ ทำให้คนไทยจำนวนมากพากันพูดถึง soft power ผ่านอาหารไทย และในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองก็ไม่น้อยหน้า โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้ออกนโยบาย ‘1 ครอบครัว 1 Soft Power’ ขณะที่พรรคก้าวไกลออกนโยบาย ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (creative economy) แทนการใช้คำว่า soft power
ดูเหมือนว่าคราวนี้พรรคเพื่อไทยจะเอาจริง ไม่ใช่แค่นโยบายที่ใช้เพื่อการโฆษณาเหมือนที่เคยประกาศเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือดิจิทัลวอลเล็ต โดยเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กพร้อมเดินหน้านโยบาย soft power หลังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พร้อมเน้นยํ้าถึงความเข้าใจในแนวคิดนี้ อีกทั้งระบุว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ไม่เท่ากับ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’
แล้วทั้งสองอย่างนี้คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร ทำไปพร้อมกันได้ไหม WAY ขอย่อยมาให้เข้าใจกันง่ายๆ แบบปู่ไนย์ไม่ต้องยืนงงในดงการเมืองไทย
อำนาจละมุน (soft power)
เป็นแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่คิดค้นโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ โจเซฟ เอส. ไนย์ จูเนียร์ (Joseph S. Nye Jr.) แห่งวิทยาลัยการปกครอง จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard’s Kennedy School of Government)
ใจความสำคัญของ soft power คือแนวคิดเกี่ยวกับ ‘อำนาจ’ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อำนาจที่สามารถโน้มน้าวให้ผู้ถูกกระทำ เต็มใจทำตามสิ่งที่ผู้ใช้อำนาจต้องการ ด้วยวิธีการละมุนละม่อมที่ชวนให้คล้อยตาม ตรงข้ามกับ ‘อำนาจบังคับ’ (hard power) เช่น อำนาจทางทหาร อำนาจทางเศรษฐกิจเพื่อการบีบบังคับประเทศอื่นๆ
แหล่งที่มาของซอฟต์พาวเวอร์ (sources of soft power)
โจเซฟ ไนย์ ระบุที่มาของการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไว้ดังนี้
- วัฒนธรรมที่สามารถโน้มน้าวผู้อื่นได้ เช่น pop culture
- ค่านิยมทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ
- นโยบายต่างประเทศที่ชอบธรรมและใช้อำนาจอย่างมีศีลธรรม
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy)
คือ ระบบเศรษฐกิจที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา การศึกษาวิจัย ที่มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม เช่น งานฝีมือหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะ การออกแบบ ภาพยนตร์ อาหาร แฟชั่น เป็นต้น
อ้างอิง:
- Nye, Jr., Joseph S. “Public Diplomacy and Soft Power”. The Annals of the American Academy of Political and Social Science, vol. 616, 2008, pp. 94-109.
- พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2561