ช่วงใกล้เลือกตั้งมักจะเกิดปรากฏการณ์ย้ายขั้วการเมือง ที่ ส.ส. พรรคหนึ่งย้ายซบอีกพรรค ชนิดสลับฝั่งทางการเมืองไปเลย แม้สาเหตุที่ ส.ส. แต่ละคนตัดสินใจย้ายต้นสังกัดจะแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี ทว่างานศึกษาชิ้นหนึ่งเสนอว่า ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการทำให้นักการเมืองย้ายพรรคคือ อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค กล่าวคือ พรรคการเมืองที่มีชุดอุดมการณ์บางรูปแบบจะเพิ่มโอกาสในการย้ายพรรคของสมาชิกมากขึ้น
บทความวิจัยชื่อ Ideology and Party Switching: A Comparison of 12 West European Countries (2018) ของ เอลิซา โวลปิ (Elisa Volpi) แผนกการเมืองและสังคมศาสตร์ จาก European University Institute ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Parliamentary Affairs ของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University Press: OUP) ศึกษาพรรคการเมืองต่างๆ ใน 12 ชาติยุโรปตะวันตก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 ถึง 2015 เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการย้ายพรรคของ ส.ส. และอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค
โวลปิได้ข้อสรุปว่า ส.ส. สมาชิกพรรคมีโอกาสย้ายสังกัดได้ง่ายกว่าหากพรรคการเมืองมีชุดอุดมการณ์ดังต่อไปนี้
1. เป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สุดโต่ง
พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สุดโต่งมักล้มเหลวในการสร้างความเหนียวแน่นภายในองค์กร และไม่สามารถรักษาความกลมเกลียวของ ส.ส. ภายในพรรค
2. เป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากพรรคอื่น
โวลปิอธิบายว่า ยิ่งพรรคการเมืองมีอุดมการณ์เหมือนกันมากเท่าไร โอกาสที่ ส.ส. จะย้ายพรรคเพราะอุดมการณ์ยิ่งมีน้อยลงเท่านั้น ดังนั้น หากมีพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์แตกต่างอย่างโดดเด่นในสนามเลือกตั้ง ก็มีแนวโน้มที่ ส.ส. จะย้ายพรรคได้ง่ายขึ้น
3. เป็นพรรคการเมืองที่มีความอำนาจนิยมเข้มข้น
พรรคที่มีความอำนาจนิยม มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้เกิดกฎระเบียบควบคุม ส.ส. ในพรรคอย่างเข้มงวด ทว่าโวลปิเห็นว่า แนวทางที่เข้มงวดเหล่านี้จะยิ่งส่งผลให้เกิดการย้ายพรรคมากขึ้น
4. เป็นพรรคการเมืองที่อุดมการณ์คลุมเครือ ไม่ซ้าย ไม่ขวา
ยิ่งพรรคการเมืองมีความไม่ชัดเจนว่า มีอุดมการณ์ทางการเมืองไปทาง ‘ขวา’ หรือ ‘ซ้าย’ มากเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสสูญเสีย ส.ส. ให้พรรคอื่นน้อยลงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โวลปิเห็นว่าข้อสรุปนี้เป็นสาเหตุให้ ส.ส. ย้ายพรรคน้อยกว่าข้อสรุปอื่น
5. เป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเสมอ
หากข้อที่แล้วระบุว่า การมีอุดมการณ์แข็งตัวจะยิ่งส่งผลให้ ส.ส. ย้ายพรรคมากขึ้น ข้อสรุปนี้ก็ระบุว่า พรรคการเมืองที่เปลี่ยนอุดมการณ์บ่อยครั้ง หรือมีความ ‘โลเล’ จะทำให้ ส.ส. ย้ายพรรคมากขึ้น โวลปิเสนอข้อมูลว่า พรรคการเมืองประเภทนี้ก่อให้เกิดการย้ายพรรคโดยเฉลี่ยทุกๆ 2 ปี
โวลปิสรุปว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่หรือพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล มักมีแนวโน้มที่ ส.ส. สมาชิก จะย้ายออกจากสังกัดน้อยกว่าพรรคอื่น ทั้งนี้ การย้ายพรรคที่เกิดขึ้นถี่และบ่อยครั้งในช่วงก่อนเลือกตั้ง อาจเป็นภาพสะท้อนของความล้มเหลวในการทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่ตั้งมั่น
ดังนั้น โจทย์สำคัญของพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง คือการทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันมากขึ้น อนุญาตให้สมาชิกมีมุมมองที่หลากหลาย และลดการควบคุมกำกับการตีความทางอุดมการณ์ภายในพรรคลง เพื่อรักษาจำนวน ส.ส. ให้มากที่สุด
ปล. บทความชิ้นนี้ศึกษาปรากฏการณ์ย้ายพรรคผ่านปัจจัยเชิงอุดมการณ์เป็นหลัก จึงอาจขาดมุมมองที่พิจารณาปัจจัยอื่นๆ อย่าง ผลประโยชน์ เงิน หรือชื่อเสียง
ที่มา: