ฟุตบอลโลก 2022 น่าจะเป็นมหกรรมกีฬาที่แปลกประหลาดครั้งหนึ่งของประเทศไทย เพราะแทบจะไม่มีใครพูดถึงฟุตบอลในเชิงเกมกีฬาแบบเพียวๆ แม้กระทั่งเหล่า ‘เซียน’ ที่ชอบวิเคราะห์ฟุตบอล ทีมเต็ง ทีมรอง ให้คอฟุตบอลได้ร่วมลุ้นทายผล ก็พากันมองทะลุไปถึงเบื้องหลังมหกรรมสุดอลหม่านครั้งนี้
บทสนทนาทั้งในโลกจริงและโซเชียลมีเดียล้วนพุ่งเป้าไปยังเรื่องการซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เพราะไทยน่าจะเป็นประเทศท้ายๆ ที่ปิดดีลกับฟีฟ่า (FIFA) ได้เพียง 2 วัน ก่อนที่นัดเปิดสนามระหว่างกาตาร์ เจ้าภาพ กับเอกวาดอร์จะเปิดฉาก
แต่ความล่าช้าอาจไม่ใช่ปัญหามากเท่ากับราคามหาโหดที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ปิดดีลเอาไว้ที่ 1,000 กว่าล้านบาท โดยส่วนหนึ่งมาจากการลงขันของเอกชนยักษ์ใหญ่ 3 เจ้า คือ ทรู ไทยเบฟ และ ปตท. ราว 400 ล้านบาท เพื่อสมทบกับงบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อีก 600 ล้านบาท ซึ่งมาจากภาษีประชาชน ทำให้สังคมไทยเสียงแตกทันทีว่าเหมาะสมหรือไม่ที่นำเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้มาใช้จ่ายเพื่อความหรรษาของคอบอลที่อาจไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ในประเทศ
“เราไม่ควรทึกทักว่ากีฬาเป็นสมบัติของมนุษยชาติและมีแต่ด้านที่ดีงามเท่านั้น กีฬามีเจ้าของ ไม่ใช่ทุกคนจะได้ประโยชน์จากมันง่ายๆ เพราะเจ้าของพยายามจำกัดสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากมันอยู่เสมอ”
อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า พ้นไปจากการถกเถียงเรื่องการบริหารจัดการที่ล่าช้าของไทยแล้ว บทบาทของฟีฟ่าซึ่งเป็นเจ้าของและผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกเองก็สมควรถูกตั้งคำถาม และยิ่งในห้วงยามที่เศรษฐกิจโลกหดตัวจากโควิด-19 และสงคราม การที่จะได้รับชมฟุตบอลสมควรแลกด้วยราคาแพงลิ่วขนาดนี้อยู่อีกไหม ทั้งๆ ที่สถิติบ่งชี้ว่าความนิยมของมันเริ่มลดลงตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2010 แล้ว
ไม่เฉพาะแค่เรื่องเงินๆ ทองๆ แต่ฟุตบอลโลกที่ฟาดแข้งกลางทะเลทรายในฤดูหนาวปี 2022 นี้ ยังซุกซ่อนด้านมืดเอาไว้อีกมาก ไม่ว่าจะการขูดรีดแรงงานจนมีคนเสียชีวิตนับพัน บาดเจ็บนับแสน การเลือกปฏิบัติ (discrimination) ไม่เคารพสิทธิสตรีและความหลากหลายทางเพศ รวมถึงสารพัดปัญหาที่จะบอกเล่าในที่นี้ กระนั้นฝ่ายเจ้าภาพและผู้จัดอย่างกาตาร์และประธานฟีฟ่าก็ยังออกมาพูดว่า “ให้โฟกัสแค่เรื่องฟุตบอลเถอะ”
แม้ใครบางคนอยากแยกฟุตบอลออกจากปัญหาทางการเมืองและทางสังคม แต่อาจินต์ได้เตือนเอาไว้ว่า ถ้าคุณไม่ใช่ประธานฟีฟ่า “เวลาดูฟุตบอลโลก คุณอย่าสนใจเฉพาะในสนามเพียงอย่างเดียว มันเป็นเวลาที่แสงสปอตไลต์ส่องไปยังกาตาร์ คุณจะส่องหาเฉพาะด้านฟุตบอลที่มันสนุกสนานอย่างเดียวเหรอ หรือจริงๆ แล้วมันมีด้านอื่นที่คุณควรส่องดูด้วย”
ระบบจัดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลของไทยมีความเป็นมาอย่างไร
จริงๆ มันก็ไม่เชิงลิขสิทธิ์นะ น่าจะเรียกว่าซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสด หรือ ‘broadcasting live’ มากกว่า ถ้าไล่ย้อนประวัติการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ฟีฟ่าเริ่มจัดฟุตบอลโลกตั้งแต่ปี 1930 ซึ่งเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) แต่ช่วงแรกๆ ยังไม่มีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ เพราะเทคโนโลยียังไม่พร้อมและยังไม่มีงบประมาณ ฟุตบอลโลกยุคนั้นจึงเป็นรายการเล็กๆ ไม่ได้ใหญ่โตอะไร ผู้จัดอย่างฟีฟ่าก็มีสถานะคล้ายๆ ศูนย์รวมของครูพละ
ฟีฟ่าเริ่มเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับการถ่ายทอดฟุตบอลทางโทรทัศน์ แม้พยายามจะถ่ายทอดตั้งแต่ปี 1950 แต่เพิ่งทำสำเร็จในฟุตบอลโลกปี 1966 ซึ่งอังกฤษเป็นเจ้าภาพ ตอนนั้นไทยได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดด้วย แต่ก็เพียงไม่กี่นัด ผมจำไม่ได้ว่าออกอากาศสดหรือฉายเทปย้อนหลัง แต่เราได้ดูนัดชิงชนะเลิศแน่ๆ อังกฤษได้เข้าชิงและเป็นแชมป์โลกในบ้านตัวเอง ว่ากันว่านี่อาจเป็น ‘first impression’ ที่ทำให้คนไทยชอบดูฟุตบอลอังกฤษมากเป็นพิเศษแม้แต่ในปัจจุบันนี้
นับตั้งแต่ปี 1966 เป็นต้นมา ไทยก็ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดทุกครั้ง อาจไม่ได้ดูครบทุกนัดหรอก แต่ก็ซื้อสิทธิ์จากฟีฟ่าตลอด ช่วงแรกๆ องค์กรที่ซื้อมาฉายคือ ‘ทีวีพูล’ หรือโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ เพื่อถ่ายทอดรายการพิเศษที่เป็นวาระแห่งชาติ ผมไม่แน่ใจในสถานภาพของมันว่า เป็นองค์กรรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือว่ากึ่งๆ แต่เป็น ‘ฟรีทีวี’ ที่มีรัฐเข้ามาเกี่ยวแน่ๆ
เมื่อล่วงเข้าทศวรรษ 2000 ก็เป็นช่วงที่ธุรกิจเคเบิลทีวีเริ่มเติบโต พร้อมๆ กับความนิยมในกีฬาฟุตบอลที่พุ่งสูงขึ้น เอกชนเริ่มหันมาสนใจซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพื่อทำกำไร บริษัทแรกๆ ที่กระโจนเข้ามาน่าจะเป็นบริษัท ทศภาค จํากัด ซึ่งอยู่ในเครือของ ‘ไทยเบฟ’ ทศภาคซื้อสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2 ครั้ง คือ ปี 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมกัน และปี 2006 ที่เยอรมนี จะเห็นว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลเริ่มเปลี่ยนมือจากรัฐมาเป็นเอกชน ซึ่งถ่ายครบทุกนัด ไม่มีโฆษณาคั่น แต่อาจมีโฆษณาวิ่งข้างล่างจอ
จุดเปลี่ยนเกิดช่วงทศวรรษ 2010 ซึ่งเริ่มมีปัญหา ‘จอดำ’ ตอนนั้นบริษัท อาร์เอส จำกัด เป็นผู้ซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดรวดเดียวถึง 2 ครั้ง คือ ฟุตบอลโลกปี 2010 และ 2014 ซึ่งในปี 2010 ยังไม่ทันมีปัญหาอะไร แต่ปรากฏว่าตอนยูโร 2012 เอกชนที่ซื้อสิทธิ์เอาออกฉายเฉพาะกล่องดิจิทัลของตนเท่านั้น ไม่ปล่อยสัญญาณให้ฟรีทีวีจนเกิดอาการจอดำ กสทช. จึงออกกฎ ‘Must Have’ กับ ‘Must Carry’ เพื่อบังคับปล่อยสัญญาณให้เข้าถึงได้อย่างสาธารณะ
กฎนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า แล้วฟุตบอลโลกปี 2014 จะเป็นอย่างไร เพราะอาร์เอสซื้อสิทธิ์เอาไว้ก่อนที่กฎ Must Have จะออก และได้ขายกล่องดิจิทัลให้ลูกค้าไปเยอะแล้ว ซึ่งอาร์เอสเถียงว่า กฎหมายมาทีหลัง จะบังคับใช้ย้อนหลังไม่ได้ ฝั่ง กสทช. ก็บอกว่า อาร์เอสไม่ควรจำกัดสัญญาณเฉพาะกล่องของตน แต่ต้องเปิดให้คนทั่วไปเข้าถึงฟุตบอลได้ จึงมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล มันก็นัวเนียเหมือนปีนี้แหละ ลุ้นกันจนวันสุดท้าย ถ้าผมจำไม่ผิด บอลโลกเริ่มเตะคืนวันที่ 12 มิถุนายน 2014 แต่ศาลปกครองสูงสุดเพิ่งตัดสินในวันที่ 11 มิถุนายน ว่า กฎหมายที่ออกมาทีหลังไม่สามารถบังคับอาร์เอสได้ ถ้ายึดตามนี้ก็จะเจอปรากฏการณ์จอดำอีกแน่ๆ แต่ทันใดนั้น คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ก็เข้ามา
อย่าลืมว่าขณะนั้น คสช. ที่เพิ่งทำการรัฐประหารมาหมาดๆ ไม่ถึงเดือน กำลังเผชิญการต่อต้านและการประท้วงอยู่เรื่อยๆ หัวหน้า คสช. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มอบหมายให้ กสทช. จัดการประเด็นนี้เพื่อหาทาง ‘คืนความสุข’ ให้คนไทยให้จงได้ พูดง่ายๆ คือ คสช. กดดันกลายๆ ให้ต้องถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี
แต่การเล่นบทฮีโรขี่ม้าขาว ทำให้ทั้งอาร์เอสและ กสทช. ซวยตามๆ กัน เพราะตามกฎหมายแล้ว เมื่ออาร์เอสเสียผลประโยชน์ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตรงๆ อย่าง กสทช. ก็ถูก ‘ล็อกคอ’ ให้ต้องจ่ายเงินชดเชยมูลค่า 400 กว่าล้านบาท แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องคืนความสุขกันไป
ฟุตบอลโลก 2014 เกิดขึ้นในช่วงเวลา ‘คืนความสุข’ ให้คนในชาติของ คสช. พอดี เรื่องนี้มีนัยสำคัญอย่างไรบ้างในแง่การช่วงชิงความนิยมทางการเมือง
ตอนนั้น คสช. พยายามใช้กีฬาหลายๆ อย่างเป็นเครื่องมือในการคืนความสุข ฟุตบอลโลกก็เป็นส่วนหนึ่งที่ คสช. โฆษณาและประโคมข่าวยกใหญ่ มีประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวที่บังคับใช้มาตั้งแต่หลังรัฐประหารด้วย
มีข่าวกีฬาเกี่ยวกับ คสช. เรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก ไม่ใช่ข่าวใหญ่ แต่ผมว่ามันประหลาดดี คือตอนนั้นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและออกมาประท้วง คสช. จำนวนไม่น้อยเป็นคนเสื้อแดง และฐานของเสื้อแดงก็อยู่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ทีนี้ ในเดือนกันยายน 2557 ก็มีการจัดฟุตบอลกระชับมิตรนัดหนึ่งระหว่างสโมสรอาร์มี ยูไนเต็ด ซึ่งก็คือทีมกองทัพบก กับสโมสรเชียงใหม่เอฟซี แล้วตั้งชื่อว่า ‘กิจกรรมคืนความสุขให้ประชาชน’ และยังมีทีม VIP ทหารแข่งกับทีม VIP เชียงใหม่ เพื่อชิงถ้วยรางวัลที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนมอบ
ปีถัดมาก็มีข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อ คสช. เชิญนักเทนนิสชื่อดังอย่างโนวัค โยโควิช และราฟาเอล นาดัล มาเดินสายในประเทศไทย ความประหลาดคือพวกเขาต้องเข้าพบนักการเมืองต่างๆ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะต้องใส่ชุดผ้าไหมด้วย มันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่เหมือนกันว่า เห้ย นี่จ้างนักกีฬาระดับโลกมาสร้างความชอบแก่รัฐบาลทหารหรือเปล่า
ถ้ายังจำได้ คาร์ล มาร์กซ์ เคยพูดว่า “ศาสนาคือยาฝิ่น” นักวิชาการที่ศึกษาด้านกีฬาก็เอาไอเดียนี้มาอธิบายว่า กีฬาคือยาฝิ่นของสังคมสมัยใหม่เหมือนกัน เพราะมันถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้อำนาจบางอย่าง และทำให้คนยอมรับการกดขี่บางระดับได้ เพราะคนจำนวนมากใช้กีฬาเป็นกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ ผู้มีอำนาจก็อาจตีเนียนได้ว่า เออ คุณลืมปัญหาสังคมซะ ไม่ต้องสนใจเรื่องการเมือง จันทร์ถึงศุกร์ตั้งใจทำงาน พอเครียดมากๆ ก็ไปดูกีฬาผ่อนคลายในวันหยุด หายเครียดค่อยกลับมาทำงานต่อนะ
ในรอบ 8 ปีที่รัฐบาลประยุทธ์ครองอำนาจ มีมหกรรมฟุตบอลโลกถึง 3 ครั้ง การบริหารจัดการแต่ละครั้งสะท้อนบริบททางการเมืองอย่างไร
การดีลซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา (2014, 2018 และ 2022) มันสะท้อนให้เห็นการบริหารอำนาจของรัฐบาลทหารได้เป็นอย่างดี
ปี 2014 รัฐบาล คสช. ใช้อำนาจแบบดิบๆ เพื่อบีบและกดดัน หรือจะพูดภาษาราชการว่า ‘ขอความร่วมมือ’ ให้ กสทช. จ่ายเงินชดเชยให้อาร์เอส คุณต้องถ่ายทอดสดฟรีๆ ครบ 64 นัด ให้ได้ ไม่ว่าจะติดข้อกฎหมายอย่างไร นี่คือช่วงข้าวใหม่ปลามัน คะแนนความนิยมของ คสช. กำลังพุ่งสูง
ปี 2018 หลังครองอำนาจมาแล้ว 4 ปี คสช. มีเครือข่าย มีความสัมพันธ์อันดีกับทุนเอกชนขนาดใหญ่จำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจดิบล้วนๆ คสช. ทำตัวเป็นโปรโมเตอร์คอยประสานและเชิญชวนบริษัทเอกชนต่างๆ มาร่วมลงขันซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก ได้เงินมา 1,100 ล้านบาท ซึ่งผมว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ สิทธิ์ถ่ายทอดหนนี้ได้มาด้วยพลังแห่ง ‘connection’ ของรัฐบาลทหาร แม้เอกชนหลายรายอาจเริ่มคิดเรื่องผลกำไรจากการลงทุนบ้างแล้ว
ปี 2022 ความชอบธรรมของรัฐบาลลดลงจากหลายกรณี ทั้งโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ และอื่นๆ เริ่มถูกท้าทายและมีการประท้วงมากขึ้น เอกชนต่างพากันเจ็บตัวจากโควิด หรืออย่างน้อยก็อ้างได้ว่าเศรษฐกิจไม่ดี เราไม่มีเงินสนับสนุนมากนักหรอก และยิ่งเมื่อรัฐบาลอ่อนแอลง เอกชนก็เริ่มคิดแล้วว่า จะมาร่วมมือกันง่ายๆ ก็คงไม่ใช่มั้ง เมื่ออำนาจดิบใช้ไม่ได้ คอนเน็กชันก็ชักเริ่มไม่แน่ใจ สุดท้ายมันก็เลยคาราคาซัง แต่ผมเข้าใจว่า ณ วินาทีนี้น่าจะคุยกันลงตัวแล้ว คือใช้เงิน 2 ส่วนรวมกัน ส่วนหนึ่งบีบจาก กสทช. อีกส่วนเอาของเอกชนมาโปะ คราวนี้จึงเป็นการ ‘compromise’ กัน อำนาจดิบครึ่งหนึ่ง คอนเน็กชันครึ่งหนึ่ง
ปัญหาคือ 8 ปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย สุดท้ายก็ย้อนกลับไปเหมือนเก่า กสทช. ยังถูกบีบบังคับเหมือนเดิม จริงๆ แล้วเงิน 600 ล้านบาท ที่เอาจาก กสทช. คือกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หลังจากนี้ก็คงมีปัญหาตามมาแน่ๆ ว่า เอาเงินก้อนนี้มาใช้อย่างนี้มีความชอบธรรมเหรอ แต่รัฐบาลคงไม่แคร์ เพราะตอนนี้ปัญหาเฉพาะหน้าของเขาได้รับการแก้ไขแล้ว ปีหน้าน่าจะมีการเลือกตั้งแล้ว นี่คงเป็นช่วงท้ายๆ ของรัฐบาล เขาจึงพยายามใช้กีฬาสร้างความนิยม
กฎ Must Have ครอบคลุมมหกรรมกีฬา 7 ชนิด ที่คนไทยต้องได้ดูฟรี อาทิ ซีเกมส์ โอลิมปิก หรือเอเชียนเกมส์ ซึ่งเป็นรายการแข่งขันที่ทีมชาติไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วม แต่ฟุตบอลโลกน่าจะไม่มีตัวแทนไทยเข้าร่วมเลย ทำไมมันจึงอยู่ในลิสต์กับเขาด้วย แล้วกฎ Must Have คืออะไรกันแน่ มีที่มาอย่างไร
ผมเข้าใจว่ากฎ Must Have มีที่มาจากอังกฤษ บริบทของมันคือ ช่วงทศวรรษ 1990 ธุรกิจเคเบิลทีวีที่ต้อง ‘จ่ายเพื่อรับชม’ (pay-per-view) กำลังเฟื่องฟู เขาก็กังวลกันว่า คนทั่วไปจะไม่ได้ดูกีฬาซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความหมายกับคนอังกฤษมาก จึงออกกฎให้จัดลิสต์กีฬาบางประเภทที่ต้องเปิดให้รับชมได้อย่างสาธารณะ แนวคิดพื้นฐานคือ กีฬาเป็นสมบัติของมนุษยชาติ ทุกคนจึงควรเข้าถึงกีฬาได้ ไม่ถูกผูกขาดโดยทุนใหญ่ ลิสต์นี้เรียกว่า ‘crown jewels of sport’ หรือเพชรยอดมงกุฎของวงการกีฬา ช่วงแรกๆ ก็มี 6-7 รายการ คือมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ เช่น โอลิมปิก ฟุตบอลโลก แต่รายชื่อกีฬาของเขาไม่ได้เหมือนเดิมตลอดนะ มีการอัพเดทเรื่อยๆ เช่น เพิ่มกีฬาแข่งม้าและรักบี้เข้ามา
แต่ระบบโทรทัศน์ของอังกฤษไม่เหมือนของไทย ฟรีทีวีอังกฤษไม่ได้ฟรีจริงๆ หรอก เพราะมีระบบที่เรียกว่า ‘TV License’ ถ้าจะดูโทรทัศน์ คุณต้องจ่ายค่าใบอนุญาตประจำปีนะ เช่น ช่อง BBC ก็ปีละประมาณ 160 ปอนด์ คือสัญญาณมันลอยในอากาศอยู่แล้วล่ะ ถ้าคุณมีทีวีที่บ้าน คุณเปิดดูช่อง BBC ได้เลย แต่เขาจะมีระบบตรวจจับว่าใครจ่ายเงินหรือเปล่า ถ้าคุณถูกจับได้ว่าไม่ยอมจ่ายค่า license คุณก็ถูกฟ้องนะครับ
มีคนเถียงเหมือนกันว่า ตกลงแล้วมันตรวจจับได้จริงเหรอ ทีวีน่าจะไม่เหมือนเว็บไซต์หรืออินเทอร์เน็ตที่สามารถตรวจสอบเลข IP ได้ง่ายๆ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าตรวจจับได้จริงไหม แต่ประเด็นคือรายการฟรีทีวีอังกฤษมันไม่ฟรี คือรายการเหล่านี้อาจผลิตขึ้นโดยเงินภาษีประชาชน ซึ่งก็ควรจะได้ดูโดยทั่วกัน แต่เงินภาษีอย่างเดียวไม่มากพอไง ถ้าจะดูก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มรายปีด้วย แม้ราคาจะกลางๆ ไม่ได้ถูกหรือแพง แต่ถึงที่สุดแล้วมันก็ไม่ได้ฟรี ดังนั้นรายการกีฬาต่างๆ ที่เป็นเพชรยอดมงกุฎในกฎ Must Have จึงไม่ฟรีเสียทีเดียว เพราะต้องนับรวมต้นทุนใบอนุญาตดูทีวีด้วย
ทีนี้พอไทยรับไอเดียนี้มา เราไม่ได้คิดถึงความแตกต่างของฟรีทีวี และยิ่งไม่ได้คิดว่าการเลือกลิสต์ Must Have ต้องคำนึงอะไรบ้าง เขาก็เลือกเอเชียนเกมส์ โอลิมปิก พาราลิมปิก และมหกรรมอื่นๆ ที่มีนักกีฬาไทยเข้าร่วมแข่งขัน แล้วฟุตบอลโลกดันอยู่ในลิสต์นี้ หากเป็นรายการอื่นๆ ที่มีนักกีฬาไทยไปแข่งก็คงไม่มีใครตั้งคำถามหรอก เพราะนักกีฬาทีมชาติคือคนที่ใช้งบประมาณและภาษีของรัฐ มันจึงเมกเซนส์และชอบธรรมที่จะให้คนไทยได้ร่วมเชียร์ แต่ปัญหาก็คือ เรากำลังพูดถึงฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายซึ่งทีมชาติไทยไม่เคยเข้าถึงรอบนั้นมาก่อน แล้วจะถือว่าเป็นสิทธิ์ของคนไทยที่ควรจะได้ดูถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบนี้โดยที่ไม่มีตัวแทนของตนร่วมแข่งหรือเปล่า
เราก็ต้องตั้งคำถามกันว่า รายการฟุตบอลที่ไม่มีตัวแทนคนไทยเข้าร่วม รัฐไทยต้องสนับสนุนเหรอ หรือควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ให้เอกชนจัดการกันเอาเอง แต่ผมขอหมายเหตุไว้นิดนะว่า เราคงพูดไม่ได้เต็มปากว่าทีมชาติไทยไม่ได้ไปฟุตบอลโลก เพราะฟุตบอลโลกไม่ได้มีแค่รอบสุดท้าย มันยังมีรอบคัดเลือกที่เราส่งทีมเข้าร่วมทุกครั้ง แม้ไม่เคยผ่านถึงรอบสุดท้ายก็เถอะ ถ้ากฎ Must Have จะนับรวมฟุตบอลโลกไว้ในลิสต์จริงๆ มันก็ควรจะเป็นฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกนี่แหละ
อย่าลืมนะว่า กฎ Must Have ของอังกฤษเขาอัปเดตลิสต์กีฬาอยู่เสมอ ถึงที่สุดแล้ว ไทยเราก็คงต้องทบทวนเหมือนกัน ผมเข้าใจว่าตอนนี้ กสทช. พยายามจัดการอยู่ แต่หวังว่าคงไม่ใช่การตัดออกง่ายๆ นะครับ เราต้องคำนึงถึงไอเดียพื้นฐานของมันว่า ประชากรในรัฐควรเข้าถึงกีฬาได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกีฬาที่ใช้งบประมาณของรัฐ หรือกีฬาที่เป็นอัตลักษณ์ของชาตินั้นๆ เช่น อังกฤษมีรักบี้ แข่งม้า หรือคริกเก็ต แต่ไทยไม่ค่อยสนใจประเด็นหลังเท่าที่ควร
ผมเสนอว่า ถ้าจะปรับแก้กฎ Must Have เราควรได้เลือกว่า กีฬาอะไรบ้างที่สำคัญ เราอยากผลักดันกีฬาชนิดไหนให้เป็นอัตลักษณ์ของชาติ คนไทยทุกคนควรได้รับชมกีฬาใด ผมคิดว่ากีฬาไม่ได้มีแค่ฟุตบอล และไม่ได้มีแค่มหกรรมกีฬาขนาดใหญ่
อาจารย์เคยเสนอว่า ฟุตบอลอาจไม่ใช่สมบัติของมนุษยชาติอย่างที่ใครๆ ชอบพูด แต่มันมีเจ้าของ อย่างน้อยเราก็ต้องซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสด โดยเฉพาะฟุตบอลโลกที่แทบจะเป็นตลาดผูกขาดด้วยซ้ำ อยากให้ขยายความเพิ่ม
ฟุตบอลหรือกีฬาโดยตัวมันเองเป็นสมบัติของมนุษยชาติ จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ ใครๆ ก็เล่นกีฬาได้ คุณจะเล่นฟุตบอลหรือเล่นบาสเก็ตบอล คุณก็เล่นของคุณได้ แต่ปัญหาคือ ฟุตบอลโลกที่เราพูดถึงไม่ใช่แค่ฟุตบอลเฉยๆ แต่มันคือ ‘FIFA World Cup’ หรือฟุตบอลโลกของฟีฟ่า พูดอีกแบบคือฟีฟ่าเป็นเจ้าของและเป็นผู้จัดการแข่งขัน ทีมที่จะเข้าร่วมแข่งได้ต้องเป็นสมาชิกของฟีฟ่า ถ้าฟีฟ่าไม่รับรองสถานะ คุณก็เข้าร่วมรายการฟุตบอลนี้ไม่ได้นะครับ
เราอาจไม่เคยนึกว่ามันมีเจ้าข้าวเจ้าของมาก่อน กระทั่งฟีฟ่าเรียกค่าสิทธิ์ถ่ายทอดหนนี้มา 1,600 ล้านบาท เราจึงเห็นว่ามันโคตรแพงเลย ถึงแม้สุดท้ายเขาจะลดราคาให้บ้าง แต่เราเริ่มเห็นเป็นตัวเงินแล้ว มันเห็นกันชัดๆ แล้วว่า ฟุตบอลโลกมีเจ้าของ
เอาเข้าจริงแล้ว มีทีมฟุตบอลของกลุ่มคนหรือดินแดนอีกจำนวนมากเลยที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของฟีฟ่า ในช่วงหลังจึงมีองค์กรฟุตบอลที่จัดแข่งคู่ขนานไปกับฟีฟ่า ชื่อว่า ‘CONIFA’ (สหพันธ์ฟุตบอลแห่งชนอิสระ) สื่อไทยบางเจ้าอาจเรียก ฟุตบอลโลกของคนไร้รัฐ อย่างในปี 2018 CONIFA ก็จัดแข่งฟุตบอลโดยมีทีมเข้าร่วม อาทิ United Korean in Japan ซึ่งเป็นการรวมทีมของคนเกาหลีที่ตั้งรกรากในญี่ปุ่น ทีมทิเบต ทีมของชาวทมิฬ หรือทีมรัฐปัญจาบ เป็นต้น
เราไม่ควรทึกทักว่ากีฬาเป็นสมบัติของมนุษยชาติและมีแต่ด้านที่ดีงามเท่านั้น กีฬามีเจ้าของ ไม่ใช่ทุกคนจะได้ประโยชน์จากมันง่ายๆ เพราะเจ้าของพยายามจำกัดสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากมันอยู่เสมอ เมื่อเรานึกถึงกีฬา ก็ต้องไม่ลืมว่ามันเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นเราจะมองไม่เห็นปัญหาและหาทางจัดการกับมันไม่ได้
การถือครองกรรมสิทธิ์ในฟุตบอลของเอกชนแบบนี้ส่งผลอย่างไร
อย่างที่บอก ฟีฟ่ากลายเป็นองค์กรใหญ่ระดับโลกในทุกวันนี้ได้เพราะรายได้จากการขายสิทธิ์ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ คุณต้องเป็นสมาชิก ต้องยอมรับกฎ และคุณต้องเล่นฟุตบอลภายใต้กติกาของฟีฟ่า จริงๆ แล้วกติกาฟุตบอลในแต่ละที่ไม่เหมือนกันเป๊ะๆ หรอก สมมุติคุณฝึกฝนฟุตบอล 7 คน จนเก่งมากๆ กวาดแชมป์กีฬา 7 สี เป็นว่าเล่น คุณก็อยู่แค่ในไทยเท่านั้นแหละ มันไม่มีรายการแข่งขันในระดับโลกให้คุณ ฟีฟ่ายังไม่รองรับ คุณอาจจะบอกว่ามีฟุตซอล แต่ผมว่านั่นเป็นคนละแพลตฟอร์มกันเลย ฟุตบอลสนามใหญ่ของฟีฟ่าต้อง 11 คนเท่านั้น
เมื่อพูดถึงกีฬา ปัญหาอย่างหนึ่งคือเรามักนึกถึงมันในแง่ดีเกินไปอยู่เสมอ เหมือนท่อนหนึ่งของเพลงฮิตติดหูในไทยอย่าง กราวกีฬา “กีฬาเป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน” แต่ในความเป็นจริง ไม่มีอะไรดีทุกอย่างหรือเป็นยาวิเศษแก้ได้สารพัดโรคหรอกครับ หากพิจารณากีฬาอย่างที่มันเป็นจริงๆ คุณก็อาจทำความเข้าใจมันได้มากขึ้น ฟุตบอลโลกก็เป็นสินค้าที่ฟีฟ่าผลิตขึ้นมาขาย และมันก็ได้รับความนิยมจากลูกค้ามากจนเปรียบเสมือนสิ่งที่ทุกคนต้องเข้าร่วมหรือรับชม ดังนั้นฟุตบอลเป็นสมบัติของมนุษยชาติหรือเปล่า ผมว่าเป็น เพราะทุกคนเล่นฟุตบอลได้ แต่ฟุตบอลโลกคือฟุตบอลใต้กำกับของฟีฟ่า มันคือทรัพย์สินและสมบัติของเอกชน
จริงๆ แล้ว ถ้าคุณอยากเล่นฟุตบอล คุณไม่ต้องเล่นฟุตบอลของฟีฟ่าก็ได้ คุณจัดแข่งขันกันเอง แต่มันก็จะไม่มีใครดูก็เท่านั้น (หัวเราะ) แล้วตลาดนี้ก็ไม่ได้มีแค่รายการของฟีฟ่า อย่างน้อยก็ยังมี CONIFA แต่ถามว่าใครดูบ้างเหรอ ดังนั้นตลาดฟุตบอลโลกจึงเป็นเสมือนตลาดผูกขาด ฟีฟ่าครองอำนาจมานานแล้ว มันจึงกลายเป็นทุนผูกขาดมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณอยากดูฟุตบอลระดับโลก คุณก็ต้องนึกถึงฟีฟ่า
แล้วเราโอเคกับตลาดผูกขาดแบบนี้หรือเปล่าล่ะ ตอนที่ กกท. พยายามต่อรองราคากับฟีฟ่า เราน่าจะเห็นแล้วว่า อำนาจในการต่อรองของเราน้อยมากแค่ไหน พอไม่มีตัวเลือกอื่นๆ ไม่มีคู่แข่ง ฟีฟ่าจะเรียกเท่าไหร่ก็ได้ สถิติที่ผ่านมาบอกชัดว่า ค่าสิทธิ์การถ่ายทอดสดแพงขึ้นเรื่อยๆ ผมมองว่ามันแพงแบบไม่สมเหตุสมผลด้วยนะ ตอนที่ทศภาคซื้อสิทธิ์ 2 ครั้งรวมกัน (2002 และ 2006) ตัวเลขน่าจะไม่เกิน 500 ล้านบาท แต่ตอนนี้เหยียบหลักพันล้านแล้ว
ปัญหาคือ ทำไมราคาของฟุตบอลโลกมันแพงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วบริบทโลก ณ ตอนนี้เพิ่งผ่านโควิดมา เศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ไม่ดีนัก ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องคำนึงด้วยไหมว่า ทุกวันนี้สถานภาพของฟุตบอลเป็นยังไง มันยังเป็นกีฬามหาชนอันดับหนึ่งอย่างไม่มีใครเทียบได้อยู่หรือเปล่า ผมคิดว่าไม่แล้วล่ะ
หมายความว่าฟุตบอลอยู่ในช่วงขาลงแล้วเหรอ
สำหรับผม ฟุตบอลผ่านจุดสูงสุดของมันไปแล้ว ผมคิดว่าความนิยมของฟุตบอลอยู่ในช่วงทศวรรษ 1990-2010 นั่นคือจุดที่พีคที่สุดแล้ว
ทุกวันนี้ กิจกรรมยามว่างของมนุษย์มีมากขึ้น ไอเดียของกิจกรรม entertainment พวกนี้ คือการแย่งกันใช้เวลาว่างของคน คุณอาจจะบอกว่าแย่งเงิน แต่มนุษย์ยังสามารถหาเงินมาจากแหล่งอื่นได้เสมอ แต่เวลาของคนมีจำกัด ดังนั้นกิจกรรมยามว่างที่เริ่มหลากหลายมากขึ้นต่างก็ต้องแข่งกันแย่งเวลาของมนุษย์ ความสนใจของคนเริ่มแตกกระจาย ไม่ได้วิ่งตามกระแสหลักเหมือนแต่ก่อน ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณพูดถึงคนฟังเพลงไทยในช่วงยุค 80-90 ซึ่งเป็นยุคเดียวกับที่ฟุตบอลรุ่งเรือง หากคุณไม่ฟังอาร์เอส คุณก็ฟังแกรมมี่ โอเค อาจมีกลุ่มเล็กๆ ที่ฟังเพลงนอกกระแส กระแสรองหรือ alternative แต่ถามว่า ทุกวันนี้ยังมีไอเดียนอกกระแสแบบนั้นอยู่อีกหรือเปล่า ก็ไม่มีแล้ว เพราะว่าไม่มีอะไรที่เป็นกระแสหลักขนาดนั้นอีกแล้ว
ผมคิดว่าการเสพกิจกรรมบันเทิงของมนุษย์ปัจจุบันก็เป็นแบบนั้น ฟุตบอลอาจยังเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากอันดับต้นๆ หรืออันดับหนึ่งของโลกอยู่ แต่มันไม่ได้ครองอำนาจนำแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว
BBC เคยทำการสำรวจความนิยมของฟุตบอลอังกฤษทุกๆ ปี เรียกว่า ‘Price of Football’ พบว่า มูลค่าของวงการฟุตบอลพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 คนอังกฤษก็วิจารณ์กันว่า ฟุตบอลมันราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ จนคนท้องถิ่นเข้าไม่ถึงอีกแล้ว กลายเป็นว่ามีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดูได้ กราฟราคาพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปี 2015 ผลสำรวจในฤดูกาล 2016-2017 เริ่มพบว่า มูลค่าวงการฟุตบอลอังกฤษเริ่มหยุดเติบโต บางแห่งเพิ่มช้าลง บางแห่งไม่เพิ่มเลย บางแห่งลดลงด้วยซ้ำ ซึ่งสะท้อนว่า ความนิยมของฟุตบอลไม่ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบเดิมแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่
ผลสำรวจยังพบว่า หลายๆ สโมสรต้องมีโปรโมชันขายตั๋วปีสำหรับวัยรุ่นในราคาที่ถูกลง เพราะอยากจูงใจคนรุ่นใหม่ๆ ให้เข้าสนามมากขึ้น ถามว่าทำไม คำอธิบายก็คือ เวลาเข้าไปดูฟุตบอลในสนาม คุณก็อยากสัมผัสบรรยากาศที่สนุกสนาน คุณลองนึกภาพสนามฟุตบอลที่มีแต่คนแก่ๆ หรือพวกเจเนอเรชันที่โตมากับยุครุ่งเรืองของฟุตบอลสิ มันไม่สนุกหรอก สมัยก่อนคนพวกนี้อาจร้องเพลงเชียร์เสียงดัง แต่พอแก่ตัวมันก็เริ่มเงียบ ไม่ครึกครื้น เขายังสำรวจความสัมพันธ์ของวัยรุ่นกับฟุตบอล พบว่า คนรุ่นใหม่อาจยังสนใจฟุตบอล แต่ไม่ได้เข้าสนามหรือดูฟุตบอลมากเท่าเดิมแล้ว เขาสัมพันธ์กับฟุตบอลในแบบอื่นๆ มากกว่า เช่น เล่นเกมหรือเล่น ‘Fantasy Football’
เราจะเห็นแนวโน้มว่า ความสนใจของคนรุ่นใหม่ๆ มันแตกกระจายไปมากกว่าฟุตบอล ในเมื่อเป็นแบบนี้ แล้วฟีฟ่าจะยังคงสถานะผูกขาดฟุตบอลโลกและขึ้นราคาเรื่อยๆ ขนาดนี้ได้อยู่อีกเหรอ ในฐานะลูกค้าเราก็ควรตั้งคำถามนะ ผมอยากรู้เหมือนกันว่า ถ้าไม่ซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสักครั้งจะเป็นยังไง
ดูเหมือนฟีฟ่าเป็นองค์กรที่มีทั้งอำนาจเงินและอำนาจในการต่อรองกับรัฐต่างๆ ในระดับสูง ทำไมองค์กรเอกชนถึงมีอำนาจขนาดนั้น
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในระดับโลก และฟีฟ่าก็เป็นองค์กรจัดการแข่งขันฟุตบอลเพียงองค์กรเดียวที่ถืออำนาจนำ มันจึงมีอิทธิพลในการต่อรองกับรัฐต่างๆ พอสมควร มีการวิจารณ์กันมานานแล้วว่า ฟีฟ่าเป็นองค์กรข้ามชาติที่มีอิทธิพลแบบรัฐซ้อนรัฐ
สมาคมฟุตบอลของแต่ละรัฐเป็นเพียงสาขาหนึ่งของฟีฟ่านะครับ อย่างสมาคมฟุตบอลไทยก็ต้องขึ้นกับฟีฟ่า ไม่ได้ขึ้นกับรัฐไทย ฟีฟ่ามีกฎว่าห้ามเอาการเมืองมาแทรกแซงฟุตบอล เมื่อพูดแบบนี้ก็หมายความว่า รัฐบาลห้ามยุ่งกับสมาคมฟุตบอล มิฉะนั้นคุณจะถูกแบน ไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันใดๆ ของฟีฟ่า ทั้งๆ ที่สมาคมฟุตบอลได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐของตนเอง แต่มันก็ไม่ใช่องค์กรที่รัฐสามารถบอกให้ทำอะไรก็ได้ สถานภาพของมันจึงไม่ต่างจากการเป็นสถานทูตของฟีฟ่าที่ไปตั้งสำนักงานในรัฐต่างๆ อีกที
ถามว่ามันเมกเซนส์ไหม ผมว่าไม่ค่อยเมกเซนส์เท่าไหร่ โดยตัวมันเองแล้วฟีฟ่าไม่ใช่รัฐ แต่มันมีอำนาจมากขนาดนั้นเพราะว่ามันผูกขาดกีฬาฟุตบอลที่ได้รับความนิยมอย่างสูง รัฐต่างๆ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนัก เพราะถ้าไม่อยู่กับฟีฟ่า แล้วไปเล่นฟุตบอลกับสมาคมอื่นๆ ประชาชนในรัฐก็อาจจะไม่พอใจสักเท่าไหร่
ไม่นานมานี้ สารคดี FIFA Uncovered (2022) เพิ่งตีแผ่กระบวนการทุจริตในฟีฟ่าที่เกิดขึ้นยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ น่าสนใจว่ามีตัวแทนจากสมาคมฟุตบอลไทยเข้าไปเกี่ยวพันด้วย การทุจริตแบบนี้ส่งผลกระทบต่อวงการฟุตบอลไทยอย่างไร ใครได้อะไรหรือเสียอะไรบ้าง
ผมคงไม่ลงรายละเอียด แต่จะพูดถึงโครงสร้างของโลกฟุตบอลกว้างๆ ว่า พอฟีฟ่ามีอำนาจรัฐซ้อนรัฐแบบนี้ มันก็จะมีความเป็นมาเฟียอยู่พอสมควร ดังนั้นถ้าใครเข้าถึงอำนาจของฟีฟ่าผ่านทางสมาคมฟุตบอลของรัฐต่างๆ เขาก็จะมีอำนาจชักจูงนโยบายสำคัญของรัฐได้ด้วย ในแง่นี้ การเข้าร่วมเครือข่ายของฟีฟ่าจึงมีความสำคัญมาก
สมาคมฟุตบอลที่เป็นสมาชิกของฟีฟ่าเหล่านี้แหละที่มีสิทธิออกเสียงคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกในแต่ละครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนโยบายของรัฐต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ เช่น หากรัฐใดได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก รัฐนั้นก็จะต้องมีการลงทุนตามมาอย่างมหาศาล การเป็นเจ้าภาพแทบจะเปลี่ยนนโยบายของรัฐนั้นๆ ในช่วงสิบปีถัดไป เพราะต้องลงทุนสร้างสนาม สร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ต่างๆ มากมาย ผมเรียกว่าเป็น ‘Sport Mega-Events’ หรือมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่
เมื่อมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องมากขนาดนี้ ก็เป็นปกติที่จะเกิดการต่อรองในรูปแบบต่างๆ ถามว่ามีการทุจริตแบบไหนบ้าง ผมคงฟังธงไม่ได้ครับ แต่แน่นอนว่าความสัมพันธ์แบบรัฐซ้อนรัฐแบบนี้จะถูกใช้เพื่อหาผลประโยชน์ได้แน่ๆ อย่างเช่นกรณีของรัสเซียและกาตาร์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในระดับโลก
‘Sport Mega-Events’ คืออะไร
การจัดแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่สัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากกีฬา ในทางสังคมวิทยาจะเรียกว่า ‘Sport Mega-Events’ ก็อย่างที่บอกว่ามันส่งผลถึงนโยบายระดับชาติ ตำแหน่งแห่งที่ของรัฐที่จัดแข่งและของรัฐที่เข้าร่วมในสังคมโลก และยังเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของสาธารณะ เพราะคุณต้องสร้าง infrastructure ขึ้นมารองรับจำนวนมาก ถามว่าทำไมกาตาร์อยากเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เหตุผลหนึ่งคือเพราะกาตาร์อยากโฆษณาตัวเองให้โลกเห็น และกาตาร์ก็มีเงิน ถามว่าทำไมเงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะในระยะหลังๆ การจัด Sport Mega-Events ที่โตขึ้นเรื่อยๆ มันต้องใช้เงินก้อนใหญ่
มีมายาคติอย่างหนึ่งว่า มหกรรมกีฬาโลกส่งผลดีต่อรัฐเสมอ ลงทุนแล้วคุ้มแน่ เพราะจะช่วยให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬา เช่น การสร้างสนาม สร้างยิม พัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมขนส่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แฟนบอล และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจของคนในชาติ สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศ หรือพูดอีกแบบก็คือ มหกรรมกีฬาช่วยสร้าง ‘soft power’ ได้ แต่ปัญหาคือ หลายรัฐเริ่มพบแล้วว่า เอาเข้าจริงมันไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเท่าไร ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ กรีซที่เคยจัดโอลิมปิกในปี 2004 แล้วขาดทุนยับ จนกลายประเทศที่ต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจอย่างยาวนาน และส่งผลกระทบไปยังสหภาพยุโรปด้วย
เมื่อมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่เริ่มไม่คุ้มต่อการลงทุน มายาคติเดิมๆ ก็เริ่มพังทลายลง หลักฐานก็ฟ้องแล้วว่าในหลายๆ ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตหรือโครงสร้างพื้นฐานของเมืองต่างๆ ที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพก็ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นนัก กลายเป็นว่าเกิดกระบวนการสร้างเมืองของชนชั้นกลางมากขึ้น หรือทางสังคมวิทยาเรียกว่า ‘gentrification’ สินค้าและบริการอาจดีขึ้น แต่ราคาก็สูงขึ้นด้วย คนท้องถิ่นอาจไม่ได้ประโยชน์จากกระบวนการนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าคนกลุ่มใหม่ๆ ที่มีทุน จนในหลายๆ พื้นที่ คนท้องถิ่นไม่สามารถอยู่ต่อได้ เพราะค่าครองชีพพุ่งสูงมาก นอกจากนี้ การจัดแข่งกีฬาเพื่อสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศชาติก็เป็นเพียงข้อดีระยะสั้นๆ ในระยะยาวไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรนัก ถ้าจะบอกว่ามันทำให้ประชาชนสนใจเล่นกีฬามากขึ้น ผมว่ามันก็ไม่มีหลักฐานมากขนาดนั้น
ตัวอย่างหนึ่งคือ อังกฤษที่เคยจัดโอลิมปิกในปี 2012 ก็ถูกตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้วการลงทุนมหาศาลได้ทิ้งอะไรไว้ให้คนอังกฤษบ้าง นอกจากสนามฟุตบอลที่สโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ใช้ (หัวเราะ) ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการไหลเข้ามาของแฟนบอลก็อาจไม่ใช่ธุรกิจท้องถิ่นด้วยซ้ำ ในลอนดอนมีการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า ‘exclusive zone’ คือรัศมี 1 กิโลเมตร รอบสนามแข่งขันจะต้องไม่มีสินค้าอื่นๆ นอกจากแบรนด์ที่เป็นสปอนเซอร์อย่างเป็นทางการเท่านั้น มีข่าวว่าร้านขายเนื้อ (butcher) ร้านหนึ่งถูกปรับเงินหมื่นปอนด์ เพียงเพราะนำไส้กรอกมาจัดวางเป็นรูปห้าห่วงซึ่งเป็นโลโก้ของโอลิมปิก โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านี้ และร้านขายดอกไม้หลายร้านก็ถูกปรับเพราะจัดดอกไม้เป็นรูปโลโก้หรือคบเพลิง
ไอเดียของ Sport Mega-Events เริ่มถูกท้าทายมากขึ้น ระยะหลังๆ ประเทศต่างๆ จึงไม่อยากเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่เท่าไหร่ ถ้าถามว่าอะไรที่ผลักให้กาตาร์ยอมลงทุนได้มากขนาดนี้ อย่างแรกคือเขามีทุนจำนวนมาก และอยากจะผลักดันวาระบางอย่างของตน อยากจะสร้างพื้นที่ สร้างตำแแหน่งแห่งที่ของตนในสังคมโลก ไม่ต่างจากที่รัสเซียพยายามทำในปี 2018 กาตาร์ก็อยากให้โลกรู้จักตนมากขึ้น แน่นอนว่าช่วงนี้ทั้งโลกอาจสนใจกาตาร์ แต่อย่าลืมว่าความสนใจมีทั้งแง่บวกและลบนะครับ สื่อมวลชนก็เริ่มตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ความชอบธรรมในการเป็นเจ้าภาพของกาตาร์แล้ว
เมื่อต้องลงทุนอย่างมหาศาล เราต้องคิดต่อว่า มรดกของมันคืออะไร การลงทุนครั้งนี้จะทิ้งอะไรให้เราหรือคนรุ่นหลัง ใครจะได้ประโยชน์จากมันบ้าง เฉพาะคนบางกลุ่มหรือเปล่า หรือเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม อันนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องช่วยกันคิดต่อ เช่นเดียวกัน การถ่ายทอดสดฟุตบอลด้วยงบประมาณรัฐ ผลประโยชน์ไปตกที่ใครบ้าง คนไทยทั้งประเทศอยากดูฟุตบอลจริงๆ หรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ เราคงต้องกลับมาคิดกันว่า เมื่อใช้งบประมาณรัฐลงไปแล้ว เราจะได้อะไรกลับมาบ้าง
ในตอนที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก กาตาร์แทบไม่มีความพร้อมมาก่อนเลย สนามก็ยังไม่มี โรงแรมก็ยังไม่พร้อม สภาพอากาศก็ร้อนระอุ หลายคนวิจารณ์ว่า ฟุตบอลโลกจัดขึ้นในทะเลทรายเช่นนี้ได้ก็เพราะเงิน การเป็นเจ้าภาพโดยที่ยังไม่พร้อมนี้ส่งผลกระทบต่อฟุตบอลโลกอย่างไร
กาตาร์ไม่ได้ถูกวิจารณ์แค่เรื่องทุจริตในขั้นตอนเลือกเจ้าภาพหรอก อันนั้นเป็นเพียงเรื่องหนึ่ง อย่าลืมว่าฟีฟ่าเป็นพื้นที่เทาๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปไล่บี้กันอีกที แต่กาตาร์ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกเยอะ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เลยคือ การก่อสร้างสนามฟุตบอลขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด กาตาร์รู้ตัวชัดๆ ว่าจะได้เป็นเจ้าภาพตั้งแต่ปี 2010-2011 เขาต้องใช้สนามจัดแข่งทั้งหมดราวๆ 8 สนาม แต่ขาดอีก 6-7 สนาม กาตาร์จึงเร่งลงทุนสร้างสนามใหม่แทบทั้งหมด
คุณต้องเข้าใจว่า การก่อสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่เป็นสภาพการทำงานที่แย่และอันตรายพอสมควร คนงานต้องขึ้นนั่งร้านที่สูงมากชนิดที่ตกลงมาก็ตายเลย ทำงานก็หนัก ผมยกตัวอย่างสนามฟุตบอลและหอพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรองรับนักกีฬาเอเชียนเกมส์ (ปี 2541) เรื่องเล่าคลาสสิกของเด็กหอในก็คือ เรื่องผี ถามว่าผีมาจากไหน ถ้าคุณลองสืบสาวกลับไป ผีจำนวนมากคือผีคนงานที่ก่อสร้างอาคารเหล่านั้นอย่างเร่งรีบ
การสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างสนามกีฬาจึงอันตรายมาก องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) พยายามวิจารณ์ปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง และมีจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้กาตาร์และฟีฟ่าปรับปรุงคุณภาพชีวิต และจ่ายเงินชดเชยย้อนหลังให้คนงานก่อสร้าง แต่ประธานฟีฟ่าบอกว่า “ให้โฟกัสเรื่องฟุตบอลเถอะ” ซึ่งเราก็ต้องไล่บี้กันต่อไปแหละ ถามว่าทำไมมันเป็นเรื่องที่ควรซีเรียสขนาดนั้น ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า แรงงานที่ทำงานสร้างสนามกีฬาในกาตาร์ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานจำนวนหลักแสน และเสียชีวิตอีก 5,000 กว่าคน แต่กาตาร์หรือฟีฟ่าก็ไม่สนใจใยดีนัก นี่ยังไม่นับรวมการขูดรีด กดขี่ และบังคับให้ทำงานเกินเวลาอีกนะ
ยังมีปัญหาอีกหลายอย่างที่เราต้องใส่ใจ ตั้งแต่เรื่องสิทธิสตรี สิทธิของ LGBT รวมถึงการเลือกปฏิบัติอื่นๆ ผมเคยอ่านบทความหนึ่งที่ตั้งคำถามว่า เราควรมีท่าทียังไงกับฟุตบอลโลกครั้งนี้ดี สื่อควรจะรายงานแต่ข่าวฟุตบอลแบบเดิมไหม หรือเราควรจะแบน เราจะดูฟุตบอลโลกที่แลกมาด้วยชีวิตเลือดเนื้อของแรงงานนับพัน บาดเจ็บนับแสน ทั้งยังมีปัญหาอื่นๆ ไปทำไม ผู้เขียนบอกว่า เขาไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสื่อควรทำอย่างไรแน่ เขาเองเป็นสื่อกีฬาที่ไม่ได้รู้เรื่องอื่นๆ ลึกเท่าไร แต่ก็เป็นหน้าที่ของเขาที่จะไปศึกษาเรื่องการเมืองและเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น เพราะในแง่หนึ่ง นี่เป็นโอกาสที่เขาจะได้นำเสนอด้านมืดเหล่านี้แก่สาธารณชน
พูดง่ายๆ เวลาดูฟุตบอลโลก คุณอย่าสนใจเฉพาะในสนามเพียงอย่างเดียว แน่นอนมันเป็นเวลาที่แสงสปอตไลต์ส่องไปยังกาตาร์ คุณจะส่องหาเฉพาะด้านฟุตบอลที่มันสนุกสนานอย่างเดียวเหรอ หรือจริงๆ แล้วมันมีด้านอื่นที่คุณควรส่องดูด้วย ยังไงข่าวฟุตบอลก็จะถูกนำเสนออยู่แล้ว แต่ผมยังเชื่อและหวังว่า แสงที่ส่องไปยังกาตาร์จะทำหน้าที่ตรวจสอบและขุดคุ้ยเรื่องอื่นๆ ด้วยนะครับ
อย่างที่บอก มหกรรมกีฬาไม่ได้สร้าง soft power ด้านบวกอย่างเดียวหรอก เพราะถ้าจัดการได้ไม่ดีหรือมีปัญหาหลายอย่าง มันจะกลายเป็น ‘soft disempowerment’ หรือการลดอำนาจของตนได้ด้วย พูดง่ายๆ คือยิ่งทำยิ่งแย่
เราเอากรอบนี้มามองการซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดของไทยได้เหมือนกัน เพราะอย่างน้อยมันก็ใช้งบประมาณของรัฐตั้ง 600 ล้านบาท รัฐที่คิดจะใช้กีฬาสร้างความนิยมอาจต้องเผชิญกับ soft disempowerment ไม่ต่างจากกาตาร์ก็ได้ คุณอาจต้องคิดแล้วว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่จากโควิดและน้ำท่วม คนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า รัฐยังพยายามเอางบประมาณก้อนใหญ่มาถ่ายทอดสดกีฬาอีกเหรอ แทนที่จะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่เร่งด่วนกว่า
ถ้าต้องใช้เงินมหาศาล ถูกขูดรีดจากฟีฟ่า และมีคนในประเทศต่อต้านจำนวนมาก คุณไม่ต้องดูก็ได้ไหม มันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น กีฬาอาจเป็นของฟุ่มเฟือย ถ้าจะขาดไปบ้างก็ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตนัก แต่ในเมื่อตกลงซื้อสิทธิ์กันไปแล้วเหมือนที่กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพ เราก็คงยกเลิกอะไรไม่ได้ ดังนั้น สื่อหรือพลเมืองที่แข็งขัน (active citizen) ก็อย่ามัวแต่ดูฟุตบอลก็แล้วกัน เราต้องตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป แล้วรัฐจะได้เห็นว่า กีฬาไม่ได้สร้าง soft power อย่างเดียวแน่ๆ อำนาจทางวัฒนธรรมมันออกได้ทั้ง 2 หน้า จะเป็นบวกก็ได้ เป็นลบก็ได้ ถ้าคุณยังจัดการด้วยชุดความคิดเดิมๆ ก็เตรียมใจพังได้เลยครับ โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ
ในวงการฟุตบอลมักมีคำกล่าวว่า การเมืองกับธุรกิจกำลังคุกคามฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาที่สวยงาม หลายคนจึงมักไม่อยากให้เอาการเมืองหรือธุรกิจมายุ่งกับฟุตบอลนัก อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร
ฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า กีฬาเกี่ยวกับอะไรได้บ้าง จะการเมืองหรือธุรกิจมันก็เกี่ยวพันกันทั้งหมดแหละ ถามว่าจะคิดว่าฟุตบอลไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือธุรกิจได้ไหม ได้นะ ถ้าคิดแบบนั้นก็เหมือนที่ประธานฟีฟ่าบอกให้โฟกัสแต่เรื่องฟุตบอล แต่เราไม่ได้เป็นประธานฟีฟ่านะครับ แล้วจะโฟกัสแค่เรื่องฟุตบอลจริงๆ เหรอ
ฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นครั้งที่ผมสนุกมาก เพราะยังแทบไม่เห็นใครวิเคราะห์ในเชิงฟุตบอลล้วนๆ เลย เช่น ทีมไหนเต็งแชมป์ นักเตะคนไหนเก่ง นักเตะคนไหนเจ็บ ผมว่าคนจำนวนมากยังจำไม่ได้เลยว่า ทีมไหนอยู่กลุ่มอะไรบ้าง เพราะความสนใจพุ่งไปที่การซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดและวิจารณ์นโยบายของรัฐ ซึ่งผมว่าก็ดีเหมือนกัน ถ้าเป็นฟุตบอลโลกหนก่อนๆ เราคงเห็นแต่ข่าววิเคราะห์บอลเท่านั้น ถือเสียว่าปัญหาการซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลทำให้เราโฟกัสเรื่องที่ควรโฟกัสได้มากขึ้น
ฟังดูแล้วอาจคิดว่าผมมองโลกในแง่ดี แต่จริงๆ ก็ไม่หรอกครับ การคอยวิพากษ์วิจารณ์รัฐมันก็คงไม่ใช่โลกสวยแบบนั้น เราทำถูกแล้วที่มองโลกในแง่ร้ายบ้าง