‘1946’ แปลผิด วัฒนธรรมเปลี่ยน: หากแท้จริงแล้วในไบเบิลไม่ได้ระบุคำว่า ‘รักร่วมเพศ’

มันถูกปลดออกจากความไม่ปกติกลายเป็นความสามัญ มันไม่ใช่ทางเลือก ไม่ใช่ความไม่รู้ แต่มันคือตัวตน ตัวตนที่ถูกธรรมชาติสรรสร้างขึ้นมาอย่างประณีต และพระเจ้าก็โอบรับเช่นกัน

‘homosexual’ หรือ ‘รักร่วมเพศ’ คือสิ่งผิดบาปตามคำบรรยายในคัมภีร์ไบเบิล ความหลากหลายถูกพระคัมภีร์ผลักออก เกย์ที่ถูกผลักออกต่างรวมตัวเป็นคอมมิวนิตีหนึ่ง เพราะหากพระเจ้าไม่รัก พวกเขาก็จะรักตัวเอง รักกันและกัน 

ทว่าในคอมมิวนิตีเดียวกัน พวกเขากลับถูกผลักออกอีกที เพราะดันเป็นเกย์ที่เป็นคริสเตียน ศาสนากับเกย์อาจจะต้องเลือกสักทาง เว้นเพียงแต่ประโยคที่บอกว่าเป็นบาป อาจไม่เป็นจริง

ภาพยนตร์สารคดี ‘1964’ บอกเล่าเรื่องราวของ LGBTQIA+ ที่ต่างศรัทธาในพระเจ้า และพวกเขาพลิกฟ้าทำความจริงให้ปรากฏว่า แท้จริงแล้วคำว่า ‘รักร่วมเพศ’ มาจากการแปลที่ผิดพลาด พระเจ้าไม่เคยปฏิเสธเกย์หรือความหลากหลายใดๆ

ตัวตนของผู้ศรัทธา

ภาพยนตร์ค่อยๆ พาไต่ระดับความตื่นเต้นในห้วงอารมณ์ ผู้กำกับเลือกที่จะพาผู้ชมค่อยๆ สำรวจตัวตนของแต่ละบุคคลอย่างช้าๆ ไม่รีบร้อน

บ้างเป็นลูกสาวของพ่อ ลูกสาวที่รู้ตัวมาตั้งแต่เด็กว่ามีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างจากคนในรีต และพ่ออธิษฐานกับพระเจ้าว่า “ขอให้ลูกสาวผมกลับมาเป็นปกติ”

บ้างเป็นคริสเตียนที่เคยต่อต้านเกย์มาก่อนเสียด้วยซ้ำ แต่วันหนึ่งเขาพบตัวตนของตัวเอง….เขาเป็นเกย์ 

“ถ้ามันเป็นทางเลือก ทำไมฉันจึงเลือกกลับไปเป็นผู้ชายแบบเดิมไม่ได้” ความหนืดหน่วงแทรกซึมเข้ามาแทนที่ความว่างเปล่าในจิตใจเพียงช่วงเสี้ยววินาที และวินาทีนั้นเขาโดดเดี่ยว

บ้างเป็นนักเขียนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ถูกศาสนาคริสต์ขับไล่ไสส่ง การไปบรรยายในสถานที่ต่างๆ ว่าแท้จริงแล้ว LGBTQIA+ ไม่ใช่คนผิดปกติ ทำให้เธอต้องเผชิญกับกลุ่มผู้ต่อต้านอยู่เสมอ

ความไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการเดินทางตามล่าหาคัมภีร์ไบเบิลฉบับเก๋ากึ๊กเท่าที่จะหามาได้ ของนักเขียน แคธี บัลด็อก (Kathy Baldock) และเอ็ด อ็อกซ์ฟอร์ด (Ed Oxford) ผู้ช่วย ที่เติบโตมาในชุมชนคริสตจักร ทั้งคู่ติดตามจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวต่อต้านเกย์ในหมู่คริสเตียน ไปจนถึงการแปลพระคัมภีร์ใหม่บนข้อสันนิษฐานว่าเดิมเป็นการแปลที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง

ผู้กำกับ ชารอน ร็อกกี ร็อจจิโอ (Sharon Rocky Roggio) ลูกสาวของพ่อคนนั้น บันทึกการค้นพบเอกสารสำคัญของทั้งสองคน ที่พบว่ามีคำในภาษากรีก 2 คำ ถูกนำมาแปลและตีความรวมกันอย่างผิดๆ ว่า ‘รักร่วมเพศ’ ซึ่งปรากฏครั้งแรกในปี 1946 

คำหนึ่งมีความหมายถูกต้อง ส่วนอีกคำกล่าวถึงลักษณะของคนบาป มีพฤติกรรมทางเพศในทางต่ำทราม เช่น การร่วมเพศกับเด็ก บุคคลที่ล่วงละเมิดทางเพศ ทำร้ายผู้อื่น และอื่นๆ ซึ่งการแปลเป็นภาษาอังกฤษมีความคลาดเคลื่อน ทำให้ต่อมากลายเป็นความเข้าใจว่ารักร่วมเพศเป็นบาป

หลายปีหลังจากการแปลที่ผิดพลาด คณะกรรมการผู้แปลตระหนักดีเมื่อมีคนชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดนี้ ตามการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ แต่ความหมายแฝงของข้อความเหล่านั้นก็ได้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางเสียแล้ว

ความเชื่อและอคิติทางเพศที่สอดประสาน

เหนือสิ่งอื่นใดตั้งแต่ต้นจนจบไม่มีน้ำเสียงของความกราดเกรี้ยว ไม่มีความต้องการเอาชนะคะคาน เรื่องราวดำเนินไปด้วยความเคารพต่อผู้เห็นต่าง ขณะเดียวกันก็มีความหนักแน่นในข้อมูล ยืนหยัดในสิ่งที่ต้องการสร้างการรับรู้และข้อตกลงใหม่ การต้องการประกาศว่ารักร่วมเพศไม่ใช่ความผิดปกติ และพระเจ้าก็บรรจงสร้างพวกเขามาเช่นเดียวกัน มนุษย์เองต่างหากที่ปฏิเสธธรรมชาติจากพระเจ้า

บทสนทนาที่คานงัดกันระหว่างพ่อลูก สาดสะท้อนภาพที่ยืนกันคนละขั้วอย่างจัง คนพ่อพูดด้วยน้ำเสียงเนิบนาบ คนลูกเอื้อนเอ่ยตอบกลับด้วยความหนักแน่น ทั้งคู่ต่างยืนหยัดในเหตุและผลของตัวเอง เป็นความเห็นต่างที่ยังดำรงอยู่ด้วยกันได้ด้วยวุฒิภาวะ

แต่การพูดคุยกันด้วยวุฒิภาวะไม่ได้มีเสมอไปกับครอบครัวอื่น บริบทอื่น และศาสนาแบบอื่น และอย่างไรก็ตามการโต้กลับด้วยคำพูดของคนพ่อชวนให้พินิจพิเคราะห์ถึงการดำรงอยู่ของกระแสต่อต้านและการเลือกปฏิบัติต่อความหลากหลายทางเพศที่ LGBTQIA+ ทั่วโลกต้องเผชิญ ความเชื่อทางศาสนาและอคติทางเพศทำงานสอดรับกันอย่างพอเหมาะพอดี ศาสนาถูกหยิบยกมาใช้เป็นเครื่องมือสนองอคติส่วนตัว และอคติส่วนตัวก็ถูกเอาไปใช้เป็นเหตุผลทางศาสนา เพื่อเอาไว้เอ่ยอ้างให้สอดรับกันอีกที

ความต้องการอย่างน้อยที่สุด คือการถูกยอมรับในฐานะ ‘มนุษย์’ เหตุใดมนุษย์ต้องสูญเสียความเป็นมนุษย์ของตัวเองจากการเฆี่ยนตีโดยบุคคลที่เชื่อในศาสนา และเชื่อว่าตัวเองมีศีลธรรมสูงส่ง การถกเถียงกันของร็อกกีและพ่อของเธอ คือตัวอย่างของคนที่เธอรักมาก และก็เป็นผู้กดขี่เธออย่างมากในเวลาเดียวกัน 

ข้อกล่าวอ้างที่ว่ารักร่วมเพศเป็นบาป เป็นนัยยะทางศาสนาที่ปะทะเต็มๆ กับสิทธิและการถูกยอมรับของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งนี้ถูกนำไปใช้โจมตีกลุ่ม LGBTQIA+ มาหลายศตวรรษ เช่นเดียวกับที่ภาพยนตร์กล่าวถึงช่วงวิกฤตโรคเอดส์ในสหรัฐ เมื่อพวกผู้มีศีลธรรมนำศาสนามัดรวมกับทุกบริบทใช้เป็นอาวุธโจมตี LGBTQIA+ ให้กลายเป็นพวกคนบาปที่ทำให้เกิดวิกฤตโรคติดต่อ

หลังภาพยนตร์จบลง เอ็ด อ็อกซ์ฟอร์ด ได้นั่งพูดคุยกับผู้ชมอยู่พักหนึ่ง เขากล่าวว่าภาพยนตร์ของพวกเขาไม่ได้ทำมาเพื่อโจมตีกลุ่มอนุรักษนิยม แต่ต้องการเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน อย่างน้อยก็เพื่อตระหนักว่าคัมภีร์ที่ทุกคนถือในมือนั้นเกิดจากการแปลผิดจริงๆ และการแปลที่ผิดพลาดนั้นส่งผลต่อความเป็นจริง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้มีความหลากหลาย

ขอบคุณ Doc Club & Pub.

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า