การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของคนไทยเพื่อโต้กลับฝ่ายอนุรักษนิยมจารีต จากแรงส่งทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า นำมาซึ่งชัยชนะของ ‘พรรคฝ่ายประชาธิปไตย’ โดยพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมาเป็นลำดับที่ 1 มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 151 ที่นั่ง ด้วยคะแนนสนับสนุน 14 ล้านเสียง พรรคเพื่อไทยมาเป็นลำดับที่ 2 มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 141 ที่นั่ง ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 10 ล้านเสียง รวมไปถึงพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอื่นๆ ทั้งสิ้น 8 พรรคการเมือง รวม 313 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยมี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
ทว่า กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลและการเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยตะปูเรือใบที่โรยไว้บนเส้นทางของ ‘รัฐธรรมนูญ 2560’ ฉบับเจ้าปัญหา ทำให้ขบวนประชาธิปไตยยางแตก จากการให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โหวตนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งกลไกนี้เคยทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วในปี 2562 แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งก็ตาม
พฤษภาคม: คือฟ้าใหม่ ใกล้มา
ภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลในฐานะที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมาเป็นลำดับที่ 1 ประกาศเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วม โดยส่วนใหญ่คือพรรคฝ่ายค้านเดิม ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ รวม 313 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยมีการจัดทำ ‘บันทึกความเข้าใจร่วมกัน’ หรือ MOU ที่แสดงจุดยืน 23 ข้อ โดยไม่มีการบรรจุเรื่องการแก้ไข ม.112 ลงไป MOU ฉบับนี้ ลงนามโดยแกนนำ 8 พรรคร่วม เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่โรงแรมคอนราด ท่ามกลางความสนใจของประชาชนที่จะได้รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยในรอบ 9 ปี หลังการรัฐประหาร 2557 เสมือนฟ้าใหม่ที่ใกล้มา
ก่อนการประกาศจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วม เกิดกระแสต่อต้านจาก ‘ด้อมส้ม’ เนื่องจากพรรคก้าวไกลจะดึง ‘พรรคชาติพัฒนากล้า’ เข้าร่วมรัฐบาล จนเกิดแฮชแท็ก #มีกรณ์ไม่มีกู เพื่อแสดงพลังไม่เห็นด้วยกับการดึงพรรคที่มี กรณ์ จาติกวณิช อดีต สส. พรรคประชาธิปปัตย์ และหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้าในขณะนั้น ซึ่งเคยร่วม ‘เป่านกหวีด’ กับกลุ่ม กปปส. และเป็นต้นเหตุที่นำมาสู่การรัฐประหาร 2557 ทำให้พรรคก้าวไกลกลับตัวแทบไม่ทัน
มิถุนายน: ความเคลื่อนไหว เริ่มปรากฏ
เดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่ขั้วอำนาจเก่าพยายามดิ้นรนด้วยการเตะถ่วงการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ประชาชนต้องรอประกาศรับรองผลการเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายใน 60 วัน โดย กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง สส. ครบ 400 เขต 100 บัญชีรายชื่อ ในวันที่ 19 มิถุนายน ภายหลังการเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นลงไปแล้วกว่า 1 เดือน
ขณะที่บรรยากาศทางการเมืองของพรรคร่วม 8 พรรค ดูไม่ค่อยสู้ดีนัก โดยเฉพาะระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย จากประเด็นการเลือก ‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’ และการจัดเก้าอี้ ครม. ซึ่งพรรคก้าวไกลยกกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญให้เพื่อไทยดูแล แต่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เมื่อพรรคก้าวไกลจะได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เพื่อไทยสมควรได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ด้วย ท่าทีดังกล่าวเผยให้เห็นรอยร้าวและความขัดแย้งที่กำลังคลี่ตัวออกมา นับตั้งแต่การลงนามใน MOU เมื่อเดือนก่อน
วันที่ 21 มิถุนายน นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ได้ออกมายํ้าหลักการว่า พรรคอันดับ 1 สมควรได้ตำแหน่งประธานสภาฯ แม้ อดิศร เพียงเกษ สส. บัญชีรายชื่อ จะจุดประเด็นว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องเป็นของเพื่อไทยก็ตาม และ สส. พรรคเพื่อไทยก็สนับสนุน
ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองพรรคทวีความรุนแรงมากขึ้น ท่ามกลางกระแสข่าว พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เดินทางไปอังกฤษเพื่อทำดีลลับกับพรรคเพื่อไทย โดยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นพ.ชลน่าน ออกมายืนยันว่าไม่มีดีลลับใดๆ ขณะที่การประชุมหารือ 8 พรรคร่วม ในวันที่ 29 มิถุนายน ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 2 กรกฎาคม
ท่ามกลางปมความขัดแย้งในการเลือกประธานสภาฯ ที่ปะทุเดือด แกนนำพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเข้าหารือร่วมกันในการวางแผนการบริหารรัฐบาลใหม่ในวันที่ 29 มิถุนายน โดยในช่วงเย็นวันเดียวกันนั้นเอง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ออกหนังสือด่วนมาก เชิญ สส. ประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1 ในวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งจะมีการเลือกประธานสภาฯ ในวันเดียวกันด้วย
กรกฎาคม: ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง
ท่ามกลางความขัดแย้งปมประธานสภาฯ ระหว่างทั้งสองพรรคการเมืองคือ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย แกนนำทั้งสองพรรคได้จัดการประชุมหารือนัดสุดท้ายก่อนการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเช้าวันที่ 2 กรกฎาคม
วันที่ 4 กรกฎาคม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เสนอชื่อ วันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ขึ้นเป็นประธานรัฐสภา หลังจากการทาบทามไม่กี่วัน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งปมประธานสภาฯ ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย โดย ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ ‘หมออ๋อง’ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ก่อนจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต่อไป
13 กรกฎาคม ถือเป็นวันชี้ชะตาพรรคก้าวไกลในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล บนขวากหนามของกลไกการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจาก สว. ตาม ม.272 ในรัฐธรรมนูญ และต้องได้เสียงสนับสนุนจากรัฐสภารวม 376 เสียง ซึ่งพิธาต้องได้รับเสียงสนับสนุนอีก 63 เสียง เพื่อให้ครบ 376 เสียง โดยก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลอ้างว่า สามารถหาเสียงสนับสนุนจาก สว. ได้ครบเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนการโหวต พร้อมทั้งร้องขอให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเจตนารมณ์ของประชาชนด้วย
ผลโหวตเลือกนายกฯ ในเย็นวันนั้น พิธาได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. รวมกันเพียง 324 เสียงเท่านั้น โดยมีเสียง สว. สนับสนุน 13 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง ลาประชุม 44 ราย ทำให้พิธาไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลมีความพยายามเสนอชื่อพิธาในการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ทว่าประธานรัฐสภาแจ้งให้ที่ประชุมลงมติตีความข้อบังคับรัฐสภา ข้อที่ 41 ว่า การเสนอชื่อนายพิธาเพื่อให้พิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ถือเป็นการนำญัตติที่ตกไปแล้วมาพิจารณาหรือไม่ หรือเสนอชื่อนายพิธาซ้ำไม่ได้
โดยที่ประชุมรัฐสภา มีมติ 395 เสียง ต่อ 312 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เห็นว่า ไม่สามารถเสนอชื่อพิธาซ้ำอีกครั้งได้ จากนั้นประธานรัฐสภาได้สั่งปิดการประชุมในที่สุด ซึ่งเป็นการปิดประตูตายเส้นทางการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพิธาในทันที และการตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลริบหรี่ลงทันที
วันที่ 21 กรกฎาคม ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ได้แถลงส่งไม้ต่อในการจัดตั้งรัฐบาลให้กับพรรคเพื่อไทย หลังได้หารือกับพรรคเพื่อไทยแล้ว โดยยังคงยึดมติพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคเช่นเดิม
ปลายเดือนกรกฎาคม แพรทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในอินสตาแกรมส่วนตัว ยืนยันการเดินทางกลับของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 10 สิงหาคม ท่ามกลางกระแสข่าว ‘ซูเปอร์ดีล’ และการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยกับพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมจารีตของ 2 ลุง
สิงหาคม: ผีตัวเก่าสูญสลาย ผีตัวใหม่เพิ่งบังเกิด
เดือนสิงหาคม เริ่มต้นด้วยการที่พรรคเพื่อไทยฉีก MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล พร้อมสลับขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ผสมขั้วเก่า จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทยว่า ตระบัดสัตย์ ทรยศประชาชน พร้อมกระแสแฮชแท็ก #เพื่อไทยการละคร รวมถึงเกิดม็อบขนาดย่อมที่หน้าพรรค
การผลักพรรคก้าวไกลออกจากสมการจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยให้เหตุผลว่าหากมีก้าวไกลในสมการ ซึ่งมีนโยบายแก้ไข ม.112 จะทำให้ สว. ไม่โหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย ท่ามกลางกระแสข่าวดีลลับกับกลุ่มอนุรักษนิยมจารีตเพื่อพาทักษิณกลับบ้าน
วันที่ 5 สิงหาคม ทักษิณทวีตข้อความในบัญชีส่วนตัว ขอเลื่อนเดินทางกลับไทย จากเดิมที่ประกาศไว้ว่าจะกลับในวันที่ 10 สิงหาคม ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะส่งสัญญาณดึงพรรคภูมิใจไทยมาร่วมรัฐบาล ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศตัวชัดเจนว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคก้าวไกลอย่างแน่นอน เพราะเป็นพรรคที่มีนโยบายแก้ไข ม.112 ซึ่งทั้งพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทยได้ลงนาม MOU ร่วมกันในวันที่ 7 สิงหาคม โดยมีข้อตกลงร่วมกัน 3 ข้อคือ ไม่แตะ ม.112 ไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และไม่เอาก้าวไกล
วันที่ 11 สิงหาคม มีข่าวสะพัดว่า พรรคเพื่อไทยสามารถปิดดีลเจรจาจัดตั้งรัฐบาลร่วม 12 พรรค เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมี 2 พรรคลุง อยู่ในสมการจัดตั้งรัฐบาลด้วย รวมทั้งสิ้น 315 เสียง และไม่มีพรรคประชาธิปปัตย์เข้าร่วม จนกระทั่งวันที่ 17 สิงหาคม พรรครวมไทยสร้างชาติก็ประกาศร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยตามคาด
วันที่ 21 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ 314 เสียง กับ 11 พรรคร่วมรัฐบาล ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคม โดยมี เศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ทักษิณจะเดินทางถึงปิตุภูมิเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี
22 สิงหาคม ทักษิณเดินทางถึงสนามบินดอนเมืองเมื่อเวลา 09.08 น. การแลนดิงของทักษิณในครั้งนี้ กลบกระแสการโหวตนายกรัฐมนตรีไปโดยปริยาย แม้ว่าการโหวตนายกรัฐมนตรีด้วยการเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน จะเป็นไปด้วยดีและได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา 482 เสียง ทั้งยังได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. 152 และมีเสียงจาก สส. พรรคประชาธิปปัตย์ แหกมติพรรคอีก 16 เสียง ทำให้เศรษฐาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
วันที่ 1 กันยายน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลทั้งหมดนี้ใช้เวลารวม 109 วัน ซึ่งเป็นการจัดตั้งรัฐบาลยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อันเชื่อว่าเป็น ‘รัฐบาลพิเศษ’ ผสมข้ามขั้ว เพื่อสลายความขัดแย้งทางการเมืองอันยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ ปิดฉากตำนาน ‘ผีทักษิณ’ เหลือไว้เพียง ‘ผีส้ม’ ตัวใหม่ที่เพิ่งบังเกิด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ที่แฝงกลไกสกัดกั้นฝ่ายประชาธิปไตยไปทุกอณู และได้แผลงฤทธิ์โต้กลับเจตนารมณ์ของประชาชนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งทั่วไป 2566 ไร้ความหมายไปโดยปริยาย
อ้างอิง
- ผลเลือกตั้ง 2566 : กกต. ประกาศรับรอง ส.ส. ครบทั้งสภา 500 คน
- “ชลน่าน” รับเห็นต่างในพรรคเป็นเรื่องธรรมดา ย้ำหลักการอันดับ 1 ได้ประธานสภาฯ
- เพื่อไทยฉีก MOU สลัด “ก้าวไกล” พ้นขั้วรัฐบาลปมไม่ถอย ม.112
- ทักษิณ ชินวัตร: ย้อนเหตุการณ์สำคัญ จากชีวิตพลัดถิ่นทักษิณสู่แผนการกลับบ้านครั้งล่าสุ
- สรุปเส้นทางสู่ตำแหน่ง “ประธานสภา” – จุดยืนเพื่อไทย-ก้าวไกล
- #โหวตนายกฯ พิธาเสียงไม่พอ “ยัง” ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
- โหวตนายก : ประชุมรัฐสภา จับตา “พิธา” ถูกโหวตเลือกนายก รอบ 2
- เพื่อไทย จับมือ ภูมิใจไทย ประกาศร่วมรัฐบาล เตรียมเดินสายหาพรรคร่วมอื่น ภายในสัปดาห์นี้
- ดีลจบ! รวมไทยสร้างชาติร่วมเพื่อไทย ตั้งรัฐบาล
- เลือกตั้ง 2566 : ปิดดีลตั้งรัฐบาล 8 พรรค 313 เสียง ดัน “พิธา”เป็นนายกฯ
- เลือกตั้ง2566 : วินาทีประวัติศาสตร์ 8 พรรคลงนาม MOU ตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” ตัดมาตรา 112
- ประเทศไทยไร้รัฐบาล 109 วัน! อันดับหนึ่งการเลือกตั้งที่รอรัฐบาลใหม่นานที่สุดของไทย