งุ่มง่าม หัวร้อน สะท้อนตัวตนเราและเขา  

พอล ราบินาว (Paul Rabinow) นักมานุษยวิทยาชื่อดังชาวอเมริกัน เขียนไว้ในหนังสือ สะท้อนประสบการณ์ภาคสนามที่โมร็อคโค (The Reflections on Fieldwork in Morocco, 1977) ของเขาว่าการตีความประสบการณ์ในสนามคือการเข้าใจตนเองจากการเดินทางไกลอันวกวนเพื่อทำความเข้าใจคนอื่น

ผมขออนุญาตเพิ่มอีกหน่อยว่า จากความเข้าใจตนเองนี้มันทำให้เราเข้าใจคนอื่นกระจ่างชัดขึ้นอีกด้วย

ระยะเวลา 14 เดือนที่อยู่ข้างถนนในมะนิลาช่วงปี 2556-2557 ไม่ใช่เวลาสั้นๆ และมันก็เปลี่ยนแปลงมุมมองบุคลิกของผมไม่น้อย

จากวันแรกๆ ที่ไปบุมไบย์ หรือวัดซิกข์กับกลุ่มอาเตะอาร์ลีน ตอนนั้นผมไม่กล้าแม้แต่จะมองหน้าคนไร้บ้านคนอื่นๆ แบบเต็มตา ต้องดึงหมวกแก๊ปลงมาปิดหน้าที่ยังขาวอยู่ของตัวเอง ผมยอมรับว่าตอนนั้นยังแหยง ไม่อยากเป็นจุดเด่น ไม่อยากตอบคำถามต่อหน้าคนมากๆ ว่าผมไม่ใช่คนฟิลิปปินส์ แล้วมาทำอะไร ครั้นเวลาผ่านไป ผมเดินไปบุมไบย์อย่างมั่นใจ คุ้นเคย และรู้สึกได้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่นั่น ไม่ใช่คนแปลกหน้าอีกแล้ว ไม่มีใครฉงนตื่นเต้นที่เห็น ไม่มีแม้แต่คำทักทายว่า ผมมาทำอะไร เพราะพวกเขาก็เห็นจนชินแล้ว ดังที่เล่าไว้ในตอนที่แล้วถึงความแนบเนียนที่ทำให้คนไร้บ้านหลายคนเข้าใจว่าผมเป็นคนไร้บ้านจริงๆ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ผมไม่ใช่คนฟิลิปปินส์

แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะเป็นคนไร้บ้านทุกกระเบียดนิ้ว ยังมีมุมมองและบุคลิกที่ฝังอยู่ในตัว ซึ่งทำให้รู้ตัวดีว่า ผมไม่ใช่คนไร้บ้าน และไม่ใช่คนฟิลิปปินส์ ผมเพียงพยายามที่จะเข้าใจพวกเขา แต่ถึงที่สุดแล้ว ผมไม่ใช่ “พวกเขา”

เรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งที่สะท้อนว่า ผมดิบไม่พอ แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ ก็ไม่รู้จักโกหก วันหนึ่งในช่วงเทศกาลคริสต์มาส หน่วยงานต่างๆ ก็มีการจัดงานเฉลิมฉลอง รวมถึงสำนักงานใหญ่ของตำรวจเมืองมะนิลาก็จัดงานวันคริสต์มาสให้คนจน

อันที่จริง ตอนเช้าผมก็เดินผ่านสำนักงานนี้แล้ว แต่ไม่ได้สนใจ เพราะรู้ดีว่า งานแบบนี้ คนจัดงานจะแจกบัตรเข้างานผ่านกลไกของพวกเขาล่วงหน้าไปแล้ว คนไร้บ้านไม่สามารถเดินดุ่ยๆ เข้าไปร่วมงานได้ ผมเพิ่งรู้ทีหลังว่า สำหรับที่นี่ เขาแจกบัตรไปตามชุมชนแออัดที่อยู่รอบๆ ย่านนั้น

แต่พอตอนสายหน่อย ขณะนั่งว่างๆ อยู่ที่มุมถนน อาเตะโรลิเจล กับผัวของแก ก็จูงมืออุ้มลูกมาบอกว่า เธอมีบัตรที่ได้รับแจกมาแบ่งให้ ซึ่งถือว่าผมโชคดีมาก เพราะอยู่เฉยๆ ก็มีบัตรเข้างานคริสต์มาสไปกินขนม น้ำอัดลม แล้วก็ยังจะได้รับแจกถุงของขวัญ จำพวกข้าวสารอาหารแห้งที่สามารถขายเป็นเงินได้อีก

อาเตะโรลิเจล เป็นผู้หญิงตัวผอมๆ มีลูกเล็กๆ วัยประมาณ 4-5 ขวบคนหนึ่ง 2 ขวบคนหนึ่ง และก็อยู่ในท้องอีกคน ส่วนผัวแกก็หาเงินด้วยการเป็นบาร์คเกอร์ (barker) คือเรียกคนขึ้นรถจี๊ป แล้วได้เงินจากคนขับรถ ทั้งตัวเธอและผัวรูปร่างผอมแก้มตอบเพราะทั้งคู่ต่างใช้ยา ความที่อาเตะโรลิเจลมีลูกเล็กๆ และนอนข้างถนน จึงมักได้รับความเห็นใจ อย่างวันนี้เธอเลยได้ตั๋วเข้างานมาแบ่งให้ผม

ระหว่างทางเดินเข้างาน แกบอกว่า งานคริสต์มาสที่นี่จัดขึ้นสำหรับครอบครัวคนจนเท่านั้น ใครไม่มีลูกเข้าไม่ได้ ผมแทบชะงักว่า อ้าว แล้วผมจะเข้าไปได้ยังไง

แต่ยังไม่ทันได้ถาม เธอก็ส่งมือที่จูงลูกมาให้ผมจูงลูกเธอคนหนึ่งเข้าไปในงาน ส่วนเธอกับผัวจะอุ้มลูกเข้าไปเป็นอีกครอบครัวหนึ่ง เด็กน้อยคนนี้เคยเล่นและคุ้นเคยกับผมดี ไม่ได้มีท่าทีต่อต้านอะไร ไม่งอแง หรือพูดให้ถูกคืองอแงไม่ได้ เพราะดูเหมือนเธอจะมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ขนาดอายุ 4-5 ขวบแล้ว แต่ยังพูดไม่ได้ ทำได้เพียงแสดงออกทางสีหน้า ยิ้มแย้มเวลามีความสุข หรือส่ายหน้าเวลาไม่ชอบเท่านั้น

พอเดินผ่านประตูตรวจบัตรเข้าไปในงาน ก็ต้องไปที่โต๊ะลงทะเบียน ผมกรอกชื่อตัวเองว่า Bun (บุน) ที่พอจะกล้อมแกล้มได้ว่าเป็นชื่อคนฟิลิปปินส์ แต่พอถึงช่องที่ใส่ชื่อเมียก็ทำให้ตกใจว่าจะใส่ชื่อเมียยังไง ไม่มีเมียมาด้วย จากนั้นก็เงิ่กงั่กอยู่หน้าโต๊ะลงทะเบียน หันไปกระซิบถามอาเตะโรลิเจล เมียผมล่ะ ทำยังไงดี ท่าทางคงมีพิรุธน่าดู

อาเตะโรลิเจล ทำหน้าขมวดคิ้ว แล้วพูดเสียงดัง “เลิกกันแล้ว พวกเอ็งน่ะ”

เธอคงรำคาญน่าดูว่าเรื่องโกหกง่ายๆ แค่นี้ทำไมตะกุกตะกักนัก

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมรู้จักตัวเองมากขึ้นก็ตอนตวาดเสียงหงุดหงิดใส่เพื่อนคนไร้บ้าน

วันหนึ่ง ผมพูดตวาดเสียงเครียดกับ ลิโต ว่า

“เฮ้ย ฉันบอกแกหลายทีแล้วว่าอย่าพูดภาษาอังกฤษกับฉัน ทำไมแกยังชอบพูดภาษาอังกฤษกับฉันอีก”

ลิโตทำหน้าเจื่อน แต่ก็ยังบอกขอโทษเป็นภาษาอังกฤษอยู่อีก พอเห็นหน้าเขาสลด ผมก็รู้สึกผิดขึ้นมาทันทีว่าไม่น่าตวาดเขาอย่างนั้น ลิโตเป็นคนไร้บ้านที่เรียนจบปริญญาตรี จึงพูดภาษาอังกฤษได้ดี เขาเคยโชว์ใบปริญญาของเขาให้ดู ก่อนจะเอาไปฝากไว้ที่โบสถ์เพราะกลัวหาย อายุเขาแค่ 30 ต้นๆ รูปร่างผอม หน้าคมเข้ม เพราะมีเชื้อสายจากคนตะวันออกกลาง เนื่องจากแม่ของเขาเคยเป็นพนักงานทำความสะอาดโรงแรม มีงานไซด์ไลน์เป็นคู่ขาให้กับแขกชาวตะวันออกกลาง ก่อนจะยกลิโตให้ครอบครัวคู่หนึ่งรับไว้เป็นลูกบุญธรรม พอพ่อแม่บุญธรรมตาย เขาก็ถูกญาติของพ่อแม่บุญธรรมไล่ออกจากบ้านที่ต่างจังหวัด และก็ค่อยๆ เถลไถลมาหาเพื่อนที่รู้จักผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สุดท้ายก็มาจบลงที่ข้างถนน

ความที่ลิโตเพิ่งมาใหม่ มีแบ็คกราวด์ทางครอบครัวของพ่อแม่บุญธรรรมมีฐานะดีและเรียนสูง ทำให้เข้ากับคนอื่นไม่ค่อยเนียนนัก เขาสุภาพ และดูหน่อมแน้มกว่าผมเสียอีก ยิ่งนึกแล้วก็ยิ่งรู้สึกผิดว่า แทนที่จะเป็นมิตรกับคนใหม่ๆ ที่ยังอ่อนอยู่ ผมดันไปตวาดเขาเสียอีก

สำรวจตัวเองดู คิดว่าตอนอยู่ในสนามปกติผมก็เป็นมิตรกับคนอื่นดี และก็ไม่ใช่คนหัวร้อนง่าย (คนฟิลิปปินส์ เรียกคนหงุดหงิดง่ายว่า ‘หัวร้อน’ ใกล้เคียงกับที่คนไทยเรียกว่า ‘ใจร้อน’ นั่นเอง) แต่ทำไมไปตวาดลิโต ไตร่ตรองแล้วจึงเข้าใจตัวเองว่า เรื่องที่ผมอ่อนไหวและทำให้หัวร้อน มักจะพัวพันกับตัวตนของผมที่ตัวเองอยากเก็บกดซ่อนเอาไว้ คือว่าผมเป็นคนไทย

ผมอยากอยู่กลมกลืนกับคนไร้บ้านให้มากที่สุด ตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก เสื้อผ้า สีผิว รูปร่าง ภาษา บุคลิก ท่วงทำนอง และวิธีการกินอยู่ เพื่อซ่อนตัวเองที่เป็นคนไทย มีการศึกษาสูง และก็ไม่ได้ยากไร้เหมือนคนอื่นเอาไว้ ดังนั้นถ้าใครมาจี้จุดที่อยากซ่อน อย่างลิโตพูดภาษาอังกฤษ ทำให้ผมไม่กลมกลืนกับคนฟิลิปปินส์ มันเหมือนมาจี้จุดอ่อนที่ทำให้หัวร้อน

แน่นอนว่าอยู่กับคนไร้บ้านเกินหนึ่งปี คงไม่ได้มีแต่ผมที่หัวร้อน ตวาดพวกเขา ก็ต้องมีบ้างที่ถูกคนไร้บ้านโมโหตวาดผม คนที่ตวาดเสียงดังที่สุดก็คือ โจโจ๊ะ

เขาเป็นอาสาสมัครช่วยทำกับข้าวที่โรงเรียนปาโกะเช่นเดียวกับผม เราจะเข้าไปทำกับข้าวตอนคืนวันเสาร์เพื่อแจกในวันอาทิตย์ เรียกได้ว่าสนิทสนมกันพอสมควร โจโจ๊ะอายุราว 40 ต้นๆ แต่รูปร่างกำยำแข็งแรง เวลาทำงานเขาชอบถอดเสื้อ นอกจากจะเห็นกล้ามเนื้อที่พร้อมสำหรับงานแบกหามแล้ว ก็ยังเห็นรอยสักเขียนว่า BCJ (ย่อมาจาก Batang City Jail หรือ เด็กคุก) ที่หัวไหล่ด้านขวาด้วย มันบ่งบอกว่าเขาเคยติดคุกมาแล้ว

ผมเคยสัมภาษณ์โจโจ๊ะแล้ว เขาบอกว่าไม่เคยติดคุก รอยสักนี้เขาได้มาเพราะเพื่อนๆ ข้างนอกสักให้เฉยๆ

ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ จึงพยายามหาช่องทางคุยทีเล่นทีจริงหลายครั้ง วันหนึ่งโจโจ๊ะก็บอกว่า เขาโดนคดีฆ่าคนตาย ติดคุกอยู่ห้าปี แต่พอมาอีกอาทิตย์หนึ่งกลับบอกว่าติดแปดปี ผมก็พูดน้ำเสียงล้อเล่นว่าติดกี่ปีกันแน่ พูดหลายทีไม่เคยตรงกันเลย เท่านั้นและครับ โจโจ๊ะตวาดเสียงดังกลับ

“ก็กูบอกมึงไปตั้งหลายครั้งว่ากูไม่เคยอยู่ข้างใน มึงก็ไม่เชื่อ เอาแต่ถามกูอยู่นั่นแหละ” เขากำมือ เชิดหน้า ตาเบิกโพลง ด้วยความโกรธจัด ยังดีที่เขาไม่ปล่อยหมัดมา

ผมรู้ตัวขึ้นมาทันทีว่าได้รุกรานไปในตัวตนของเขามากเหลือเกิน เขาน่าจะหัวร้อนด้วยความรู้สึกเดียวกับผม นั่นก็คือสิ่งที่อยากจะเก็บและซ่อน แต่กลับถูกแซะและแงะโดยผม

ถึงกระนั้นผมคิดในแง่ดีว่า คนที่แสดงอารมณ์โกรธเช่นนี้ออกมาได้เพราะมันก้าวข้ามพรมแดนของการรักษามารยาทไปแล้ว ในบางสถานการณ์ มีบางเรื่องที่เราไม่ชอบ แต่ไม่แสดงออก เพราะต้องรักษามารยาท แต่สำหรับผมกับคนไร้บ้าน ผมอยู่ที่นั่นนานพอ จนรู้จักคุ้นเคย จึงไม่ต้องเก็บต้องซ่อนอารมณ์ ยามหัวร้อน มันก็เลยโพล่งระเบิดออกมา

ผมจำวันที่หัวร้อนมากที่สุดวันหนึ่งของชีวิตข้างถนนได้ เมื่อมาทบทวนดูจึงกระจ่างว่า อาการหัวร้อนวันนั้นสะท้อนวิธีคิดที่ต่างจากคนฟิลิปปินส์ ทำให้รู้ตัวดีว่า ผมคิดแบบคน ‘ฟิลิปปินส์’ ไม่ได้ (ผมเขียน ‘ฟิลิปปินส์’ ก็เพื่อจะแสดงความตระหนักว่า ความเป็น ‘ฟิลิปปินส์’ ที่ผมพูดถึงนี่ ไม่ได้มีแก่นแท้แน่นอนตายตัวว่าคนฟิลิปปินส์ทุกคนจะคิดแบบนี้ เพียงแต่ผมรู้สึกว่าคนฟิลิปปินส์หลายคนมีบุคลิกวิธีคิดแบบนี้)

เหตุการณ์นั้นเป็นวันที่ผมกับคนไร้บ้านไปร่วมงานสัปดาห์ต่อต้านความยากจนสากล ในฟิลิปปินส์กำหนดให้วันที่ 17 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันกำจัดความยากจน มีองค์กรเอ็นจีโอสี่ห้าองค์กร ร่วมกับโบสถ์คาทอลิกของเมืองมะนิลาเป็นผู้จัดงานนี้ พูดตรงๆ ก็คือ ผมกับคนไร้บ้านคนอื่นถูก ‘เกณฑ์’ ให้ไปร่วมงาน เพราะคนที่ถูกชวนไปแทบไม่รู้เลยว่างานนั้นจะมีอะไรบ้าง รู้แค่ว่าเจอกันกี่โมง มีอาหารกลางวันเลี้ยง มีรถไปส่ง และขากลับยังมีค่ารถให้กลับมามะนิลา

ผมหงุดหงิดกับการจัดงานแบบนี้ งานที่อ้างว่าเพื่อคนจน แต่คนจนแท้ๆ เป็นได้แค่ตัวประกอบ งานที่จัดก็ไม่ได้มีมรรคผลอะไรดีขึ้นกับคนจนเลย

พอไปถึงงาน ผมก็พบว่า มีชื่อองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศร่วมจัดด้วย มีนิทรรศการที่เตรียมมาอย่างดี แขวนไวนิลรูปภาพทั้งคนจนผู้น่าสงสาร คนจนผู้ยิ่งใหญ่ ไว้กับอาคารโรงเรียนหลายแผ่น ช่วงเวทีนำเสนอพวกเขาก็มีวิดีโองานที่ลงไปทำในชุมชนแออัด แต่ขอโทษนะครับ ชาวบ้านในชุมชนของเขาไม่ได้มาพูดหรือมานำเสนออะไรในงานวันนั้น

ผมดูแล้วก็นึกอยู่ในใจว่า ชาวตะวันตกผมแดงเหล่านี้ รู้ไหมว่าคนไร้บ้านที่มานั่งดูนิทรรศการของคุณถูกเกณฑ์มา นิทรรศการของคุณไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพวกเขาเลย คุณสนับสนุนวิธีการเกณฑ์คนมาร่วมงาน อย่างนี้หรือที่เรียกว่าการมีส่วนร่วม หรือการเสริมความเข้มแข็งให้คนจน

แต่ดูเหมือนมีแค่ผมคนเดียวที่หงุดหงิดกับบรรยากาศของงานวันต่อต้านความยากจน ที่คนไร้บ้านเป็นแค่ตัวประกอบและผู้ชมเท่านั้น

เพื่อนๆ คนไร้บ้านต่างรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มาร่วมงานที่มีคนตะวันตกผิวขาวผมแดงเป็นผู้ร่วมจัดงาน อาร์ธูร (Arthur – คนฟิลิปปินส์ออกเสียงเป็นอาร์ธูร ไม่ใช่ อาร์เธอร์) คนไร้บ้านที่จบปริญญาตรี ซึ่งผมคาดหวังว่าเขาจะเห็นอะไรหรือมีความรู้สึกร่วมกับผมบ้าง แต่เปล่าเลย เขายิ่งตื่นเต้น และกระซิบกระซาบตลอดเวลาเกี่ยวกับคนตะวันตกที่เห็นในงาน พยายามนับว่ามีคนตะวันตกกี่คนกัน และคาดการณ์ว่าพวกเขามาจากชาติไหน จากอเมริกาหรือซีกยุโรป อย่างฝรั่งเศส อังกฤษ เขาพยายามไล่ชื่อประเทศตะวันตก แรกๆ ผมก็บอกเขาเสียงเรียบๆ ว่า ไม่แคร์พวกนี้เลย แต่อาร์ธูรยังไม่หยุด เขาตื่นเต้น และก็คุยว่า พวกนี้ต้องมีเงินเยอะแน่ๆ เลย

กระทั่งทนไม่ไหว ต้องตวาดเขาว่า “พอแล้ว ไม่อยากฟัง” โดยที่อาร์ธูรก็งงๆ ว่า ผมหัวร้อนด้วยเรื่องอะไร ไม่เห็นมีอะไรน่าโมโห

ตลอดชีวิตภาคสนาม วันนั้นน่าจะเป็นวันที่ผมไม่ชอบ ‘คนฟิลิปปินส์’ มากที่สุด และก็เหยียดชาติพันธุ์ เหยียดประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุด เรียกได้ว่าสิ่งที่นักมานุษยวิทยาพร่ำสอนกันว่า อย่าเอาชาติพันธุ์ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ผมตบะแตกเอาวันนั้น

ผมคิด เฮ้อ ประเทศนี้ก็คงต้องอยู่อย่างนี้ จิตสำนึกของคนฟิลิปปินส์นี่ยอมรับการถูกปกครองมาก (colonized mind) ไม่คิดเลยว่าพวกเขาจะเปลี่ยนประเทศนี้ด้วยตัวเอง คิดแต่ว่าคนตะวันตกเหนือกว่า เข้มแข็งกว่า และเป็นผู้ที่จะมาช่วยพวกเขา โดยที่ไม่ตระหนักว่าฟิลิปปินส์ถูกขูดรีดโดยคนตะวันตกไปเท่าไหร่แล้ว

แต่หลังจากอารมณ์เย็นลง ผมขอโทษอาร์ธูร และพยายามเรียกสติ เอาแนวคิดอะไรทั้งหลายที่เรียนมาบอกตัวเองว่า แทนที่จะหงุดหงิดพวกเขา ผมควรจะโกรธเดือดดาลกับระบอบอาณานิคมและพวกชนชั้นนำของประเทศนี้ที่ร่วมกันขูดรีดพลเมืองของประเทศตัวเอง และทิ้งมรดกความยากจนและความสิ้นหวังให้กับผู้คนในประเทศนี้

ยิ่งครุ่นคิดต่อไปก็ยิ่งตระหนักมากขึ้นว่า ผม-ในฐานะนักมานุษยวิทยา กำลังเรียนรู้ที่จะมีประสบการณ์ชีวิตแบบคนไร้บ้าน เพื่อเข้าใจเงื่อนไขชีวิต ประสบการณ์และความรู้สึกของพวกเขา ทว่าผมก็ไม่ใช่คนไร้บ้าน และไม่ได้เป็นชาวฟิลิปปินส์

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า