สังคายนารถโดยสารสาธารณะ ต้องรออีกกี่ศพ?

bus-1

 

นับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาล ‘สงกรานต์เลือด’ อันเป็นช่วงเวลาที่คนไทยต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นใบไม้ร่วง หรือไม่ก็พิกลพิการจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เทศกาลแห่ง ‘ความสุข’ จึงกลายเป็นเทศกาลแห่ง ‘ความเศร้า’ ที่คนไทยต้องมานั่งลุ้นกันแทบทุกปีว่า สถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง จังหวัดไหนแชมป์ จังหวัดไหนโค่นแชมป์

7 วันสงกรานต์อันตราย ปีนี้กำหนดไว้ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2557 กระทรวงคมนาคมคาดการณ์ตัวเลขไว้ว่า จะมีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาประมาณ 4.1 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะของบริษัทขนส่งประมาณ 1.27 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ทุกหน่วยงานเริ่มมีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง ทั้งบนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนให้น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่อาจการันตีได้ว่า อุบัติเหตุจะเป็นศูนย์ได้หรือไม่

 

 

bus-2

 

+ รถบัส 2 ชั้น ยิ่งสูง-ยิ่งเสี่ยง

ความตื่นตัวในการรณรงค์ลดอุบัติเหตุในเทศกาลวันหยุดยาวปีนี้ หลายหน่วยงานพุ่งเป้าไปที่รถทัวร์ 2 ชั้น สืบเนื่องจากโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นจากรถโดยสารประเภทนี้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เหตุการณ์แรกคือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 รถทัวร์ทัศนศึกษาจากจังหวัดนครราชสีมา พุ่งชนท้ายรถพ่วง บนถนนสาย 304 อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เสียชีวิต 16 ศพ ถัดมาวันที่ 24 มีนาคม 2557 เป็นรถทัวร์ของคณะเทศบาลท่าสายลวด ตกเหวบริเวณดอยรวก อำเภอเมือง จังหวัดตาก เสียชีวิต 30 ศพ

กระทรวงคมนาคมได้สรุปจำนวนรถโดยสารสาธารณะที่มีความสูงเกิน 3.60 เมตร ซึ่งเข้าข่ายต้องทดสอบการทรงตัวบนพื้นลาดเอียง 30 องศา มีจำนวนทั้งสิ้น 17,588 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถ 2 ชั้น 5,741 คัน ขณะที่ผู้ประกอบการนำรถมาเข้ารับการทดสอบการทรงตัวเพียง 1,250 คัน ผ่านเกณฑ์ทดสอบ 705 คัน และไม่ผ่านเกณฑ์ 545 คัน

ดังที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาเปิดเผยว่า ร้อยละ 45 ของรถบัส 2 ชั้นที่นำมาทดสอบกับกรมการขนส่งทางบกนั้นไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากมีค่าความลาดเอียงไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้รถมีโอกาสหลุดโค้งได้หากแล่นด้วยความเร็ว

อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่รถทัวร์ 2 ชั้นเท่านั้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทก็สมควรที่จะได้รับการตรวจสอบควบคุมอย่างเข้มงวดด้วยเช่นกัน ทั้งสภาพตัวรถ อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยภายในรถ รวมถึงสภาพความพร้อมของผู้ขับขี่

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านความปลอดภัยของถนนก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ความลาดชัน ทางข้าม ทางแยก การติดตั้งไฟและป้ายสัญญาณเตือนต่างๆ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลของกรมทางหลวงพบว่า ถนนที่มีความเสี่ยงสำหรับการเดินรถสาธารณะมีทั้งสิ้น 85 เส้นทาง จำนวนกว่า 100 จุด ที่ผู้ขับรถจะต้องระมัดระวัง เนื่องจากเป็นทางคดเคี้ยว ลาดชัน และทางโค้ง โดยหลังจากนี้จะเร่งสรุปรายละเอียดและเผยแพร่เส้นทางที่มีความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งและผู้ขับขี่นำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์

สถิติในปี 2556 มีรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่เกิดอุบัติเหตุจำนวน 256 คัน มีผู้บาดเจ็บ 1,423 ราย เสียชีวิต 151 ราย ส่วนปีนี้จะทุบสถิติหรือไม่ เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

 

 

bus-3

 

+ ถามหามาตรฐานความปลอดภัย

‘หยุด! การตายจากรถโดยสารสาธารณะ’ คือแนวทางการเคลื่อนไหวรณรงค์อีกครั้งของเครือข่ายผู้เสียหายจากบริการรถโดยสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายทนายความอาสาเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง และกรุงเทพมหานคร ซึ่งรวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องต่อ อัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอให้เร่งหามาตรการคุ้มครองความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร โดยเฉพาะการลดความสูญเสียในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทมิฬที่กำลังคืบคลานมา

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 เมษายน 2557 ตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายจากรถโดยสารสาธารณะ เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางบก โดยมีข้อเสนอสำคัญเร่งด่วน 3 ประการคือ

  1. ยกเลิกการให้บริการรถโดยสาร 2 ชั้น ในเส้นทางเสี่ยง
  2. ควบคุมการใช้ความเร็วของรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเข้มงวด
  3. เร่งประกาศใช้ ‘แบบมาตรฐาน’ และ ‘ระบบทดสอบ’ เช่น โครงสร้างความแข็งแรงของรถ เก้าอี้ที่นั่ง และการทดสอบความลาดเอียงบนพื้นถนนของรถโดยสาร 2 ชั้น โดยเฉพาะรถที่มีความสูงเกิน 3.6 เมตร

เป้าหมายของเครือข่ายฯ คือ สงกรานต์ปีนี้ต้องหยุดยั้งการตายของผู้โดยสารจากการใช้บริการรถสาธารณะทุกประเภท ทั้งรถทัวร์ รถเมล์ รถตู้ รถเสริม รถผี รถเถื่อน นั่นหมายความว่า กรมการขนส่งทางบกต้องกำหนดมาตรการที่เข้มข้นและสามารถบังคับใช้ได้จริง

สวนีย์ ฉ่าเฉลียว ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุจากรถทัวร์โดยสารจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 97 ศพ ในจำนวนนี้เป็นรถทัวร์โดยสาร 2 ชั้น จำนวน 2 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตถึง 46 คน ในเวลาห่างกันไม่ถึง 1 เดือน

“ข้อเสนอของเครือข่ายผู้บริโภคคือ ต้องยกเลิกการใช้รถโดยสาร 2 ชั้น ในเส้นทางเสี่ยงที่มีผลการศึกษาว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยและรุนแรง เพราะอุบัติเหตุและความไม่ปลอดภัยไม่ได้เกิดจากปัจจัยด้านมาตรฐานของตัวรถเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับถนน ลักษณะพื้นที่ ความชำนาญในเส้นทางของคนขับ และการใช้ความเร็ว ซึ่งควรมีการควบคุมการใช้ความเร็วอย่างอย่างเหมาะสม เข้มงวด เคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงควรมีป้ายเตือนตามจุดเสี่ยงต่างๆ” สวนีย์กล่าว

ชุติกานต์ นันตะนะ ตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายจากรถโดยสารสาธารณะ บอกเล่าประสบการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของตนเองว่า เทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2553 เธอต้องสูญเสียสามีที่เป็นเสาหลักของบ้านจากอุบัติเหตุในคืนวันที่ 12 เมษายน ซึ่งสามีของเธอได้เดินทางไปกับรถทัวร์เสริม

จากบันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า พนักงานขับรถใช้ความเร็วสูงและประมาท เมื่อมาถึงถนนสายมิตรภาพ จากนครราชสีมามุ่งหน้าไปทางจังหวัดขอนแก่น ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 213-214 ตำบลโนนตาเถร อำเภอโนนแดง รถเกิดเสียหลักตกถนน พุ่งเฉี่ยวชนต้นไม้ข้างทางและพลิกคว่ำ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารเสียชีวิตคาที่ 2 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 23 คน ส่วนคนขับหลบหนีไปในช่วงชุลมุน

บทเรียนที่เกิดขึ้นกับชุติกานต์ถือเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้โดยสารทุกคนซึ่งมีโอกาสประสบอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ และก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดหน่วยงานรัฐจึงปล่อยปละละเลยให้ผู้ประกอบการนำรถโดยสารที่ไม่ได้มาตรฐานมาให้บริการประชาชน

 

 

 

+ อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจ ‘รถเสริม’

การเดินทางอันคับคั่งในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ส่งผลให้จำนวนรถไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ผู้ประกอบการจึงมีการจัดหา ‘รถเสริม’ มาให้บริการ เพื่อรองรับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งรถดังกล่าวอาจไม่ได้รับการตรวจสภาพมาก่อน

นายแพทย์ธนะพงษ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ให้ข้อมูลว่า ประเด็นที่น่ากังวลคือ การนำรถเสริมมาใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากเป็นรถโดยสารที่ไม่มีคุณภาพ สภาพชำรุดบกพร่อง คนขับไม่ชำนาญเส้นทาง หรือมีคนขับเพียงคนเดียว ก็จะเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและความรุนแรงได้

CauseofAccident
ที่มา: ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

“สำหรับมาตรการเร่งด่วนเพื่อหยุดความสูญเสีย ในมุมของนักวิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มีอยู่ 5 ประการ ประกอบด้วย ประการแรก เร่งประกาศใช้ ‘แบบมาตรฐาน’ และเตรียม ‘ระบบทดสอบ’ คือ โครงสร้างความแข็งแรง (roll over test) การยึดเกาะของเก้าอี้ เข็มขัด ทดสอบความลาดเอียงสำหรับรถที่สูงกว่า 3.60 เมตร

“ประการที่ 2 ผู้ประกอบการและกรมการขนส่งทางบกควรมีระบบตรวจสอบและกำกับ ‘ความเสี่ยงหลัก’ ได้แก่ คนขับต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะ ความชำนาญเส้นทาง การกำกับความเร็ว เช่น ติดตั้ง GPS หลีกเลี่ยงการใช้รถทัวร์ 2 ชั้น ในเส้นทางลาดชัน ผ่านภูเขาสลับซับซ้อน หุบเหว

“ประการที่ 3 การกำกับให้มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ประการที่ 4 ปรับปรุงเส้นทางและจุดเสี่ยง ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน และประการสุดท้ายคือ เร่งทบทวนหลักเกณฑ์ความคุ้มครองดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ” นายแพทย์ธนะพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ เครือข่ายผู้เสียหายจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะยังสนับสนุนมาตรการที่กรมการขนส่งทางบกประกาศใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้โดยสาร เช่น การติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในรถโดยสารสาธารณะทุกที่นั่ง การควบคุมความเร็ว การควบคุมมาตรฐานของรถโดยสาร 2 ชั้น การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการบรรทุกเกิน รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

ทางด้านอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ระหว่างนี้จะมีการพิจารณาปรับลดความสูงของรถโดยสาร 2 ชั้น จากเดิมสูง 4.30 เมตร ให้เหลือ 4.00 เมตร เพิ่มสมรรถนะระบบห้ามล้อ โดยกำหนดให้ต้องเป็นระบบ ABS และระบบหน่วงความเร็ว (Retarder) กำหนดให้รถโดยสาร 2 ชั้น ทั้งรถใหม่และรถเก่าต้องผ่านการทดสอบการทรงตัวของรถทุกคันภายในปี 2558

ขณะเดียวกัน กรมการขนส่งทางบกก็ได้พยายามเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการ โดยล่าสุดมีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับและสภาพรถ รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขในการประกอบการขนส่งอย่างเคร่งครัด ซึ่งคาดว่าในปี 2557 จะสามารถช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุลดลงได้

“กรมการขนส่งทางบกได้เปิดศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ โทร. 1584 ระหว่างวันที่ 8-17 เมษายนนี้ ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต เอกมัย สายใต้ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสถานีขนส่งผู้โดยสารทั่วประเทศ หากประชาชนไม่ได้รับความสะดวกหรือถูกเอาเปรียบจากการใช้บริการ เช่น เก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด ไม่ส่งผู้โดยสารถึงจุดหมาย สามารถโทรมาร้องเรียนได้” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว

 

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า