สมชาย ที่รัก
มีกติกาเล็กๆ ระหว่างคุณกับลูกสาวคนที่สอง หากมีปัญหาเกิดขึ้นในครอบครัว เธออยากให้คุณกลับบ้าน กลับมาพูดคุย ทำความเข้าใจ กลับมาชำระล้างสิ่งหมองใจ แบ่งปันทุกข์ให้เธอ คุณตอบตกลง แต่สุดท้ายคุณละเมิดกติกา
คงเป็นช่วงเวลายากลำบากสำหรับคุณและครอบครัว จึงทำให้ประทับจิต เด็กสาวอายุ 21 เมื่อ 13 ปีก่อน ผลิตข้อตกลงนี้กับพ่อของเธอ “เพราะช่วงนั้นพ่อเครียดกับงานมาก”
งานของคุณเหมือนระบบรากชอนไชของต้นพญาสัตบรรณ ดันและแทรกและซอนและเซาะทำลายโครงสร้างวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงที่ดำรงมาอย่างดึกดำบรรพ์ ต้นพญาสัตบรรณมีดอกสวยงาม แต่กลิ่นหอมฉุนเกินไปสำหรับบางคน
คุณเขียนร้องเรียนไปยังองค์กรต่างๆ ขอความเป็นธรรมให้ประชาชน 5 คนที่ถูกซ้อมทรมานระหว่างควบคุมตัวและสืบสวนในคดีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส
ผลจากการกระทำดังกล่าว จำเลยทั้ง 5 คนต้องยอมรับสารภาพตามที่เจ้าพนักงานตำรวจประสงค์ เป็นการแสดงคำรับสารภาพและทำแผนประกอบคำรับสารภาพโดยการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่บังคับ มิได้รับการเยี่ยมญาติ และไม่มีโอกาสได้พบทนายความในขณะสอบปากคำ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาทั้งสิ้น
การกระทำเช่นนี้ย่อมมิชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่อย่างใด อันเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นโดยสิ้นเชิง
หนังสือร้องเรียนฉบับนี้ ลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 หนึ่งวันก่อนที่คุณจะถูกทำให้หายไป
คุณพยายามรวบรวม 50,000 รายชื่อเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึก คุณรับรู้ว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยและประชาชนถูกทำให้หายไปจำนวนมากภายใต้อำนาจพิเศษ ก่อนที่คุณจะกลายเป็นผู้ถูกกระทำดุจเดียวกับความไม่เป็นธรรมที่คุณเรียกร้องเพื่อคนอื่น
ใครบางคนโค่นต้นพญาสัตบรรณ กลิ่นหอมฉุนหายไป…
หนึ่งเดือนก่อนที่คุณจะถูกทำให้หายไป คุณตกใจง่าย หวาดระแวง คนแปลกหน้ายืนหน้าบ้านตอนกลางคืน คุณย้ายขึ้นไปทำงานชั้น 4 ของบ้าน เป็นชั้นที่สมาชิกในบ้านไม่ค่อยใช้งาน พกโทรศัพท์ในกระเป๋าเสื้อตลอดเวลา พฤติกรรมเหล่านี้อยู่ในสายตาของประทับจิต ก่อนที่มันจะกลายเป็นความทรงจำของเธอในอีก 13 ปีต่อมา
หลังถูกทำให้หายไปในวันที่ 12 มีนาคม 2547 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้นให้สัมภาษณ์ในวันที่ 16 มีนาคมว่า คุณไม่ได้หายตัวไปไหน “เพียงแต่มีปัญหาทะเลาะกับภรรยา จึงหลบมาอยู่ที่กรุงเทพฯ และขาดการติดต่อกับคนอื่น”
เขาคงไม่รู้ว่าครอบครัวของคุณอยู่กรุงเทพฯ ลูกๆ และครอบครัวของคุณก็อยู่กรุงเทพฯ
“เพราะแม่ก็บอกตามตรงว่าก่อนออกจากบ้าน แม่ทะเลาะกับพ่อ เพราะไม่อยากให้พ่อออกไป แม่ก็น่าจะรู้เรื่องงานหลายอย่างที่พ่อทำ พ่อพยายามกันแม่ออกจากความไม่ปลอดภัยหลายๆ อย่าง” ประทับจิตเล่า
ระหว่างความสบายใจของครอบครัวกับงาน คุณเลือกอย่างหลัง มีเพียงคุณที่รู้ว่าทำไมคุณจึงเลือกอย่างนั้น คุณเลือกที่จะทำมัน และออกจากบ้านไป ทำงานของคุณให้เสร็จ แล้วกลับบ้าน ภรรยาของคุณทำได้เท่านี้
“เรารู้สึกถึงความเครียดของแม่ เพราะแม่ใกล้ชิดลูก พูดได้เลยว่าในมุมมองของเด็กคนหนึ่ง เราอยู่ข้างแม่ เพราะรู้ว่าเขาเป็นผู้หญิงที่รับความกดดัน” คืออดีตกาลความคิดในวัย 21 ของเธอ
คุณไม่ทำตามข้อตกลง ประทับจิตโกรธคุณเหมือนเด็กหญิงไม่พูดกับพ่อ เพราะผิดสัญญา
เธอรักคุณมาก และพยายามอธิบายถึงความรักนั้น ผ่านแววตา เรื่องราว สิ่งที่เธอทำ เธอสนใจทุกอย่างในชีวิตคุณ งานเขียนของคุณในหนังสือพิมพ์ คุณนำข้อเขียนเหล่านั้นให้ลูกสาวอ่าน ถามความคิดเห็นของเธอ ไม่ว่าคุณจะไปบรรยายที่ไหน คุณจะชวนเธอไป เมื่อลงจากเวทีคุณถามเธอว่า “ดีมั้ย พ่อพูดดีมั้ย แม้กระทั่งช่วงที่เขาจะสมัครกรรมการสิทธิมนุษยชนรุ่นแรก เขาเขียนสคริปต์ เพราะมี oral test เขาให้เราอ่านก่อนว่าเป็นอย่างไร เขาพูดให้เราฟังว่าตรงกับสคริปต์มั้ย เขาให้เกียรติเรา เขาทำแบบนี้กับแม่ด้วย เขาให้เกียรติเราในฐานะเพื่อนทางความคิด”
ช่วงที่เธอต่อต้านนโยบายปิดห้องละหมาดของมหาวิทยาลัย คุณช่วยอ่านร่างจดหมายที่เธอจะถือเข้าไปเจรจา “เราจำได้ว่าเขาแก้บรรทัดสุดท้ายในจดหมายฉบับนั้น แล้วสอนสั้นๆ ว่า ‘เรายอมได้หากยังคงอยู่บนหลักการ แต่อะไรที่ยอมไม่ได้ก็ต้องบอกเขาตรงๆ ว่ายอมไม่ได้’ เป็นส่วนหนึ่งที่เราประทับใจ งานของเขามาเหลื่อมซ้อนกับงานของเรา เราได้เรียนรู้จากพ่อ”
สำหรับเธอ คุณคือแบบอย่าง สำหรับคุณ เธอคือ first reader มันจำเป็นมากสำหรับงานเขียนและงานทางความคิดที่ต้องมีคนอ่านที่ไว้ใจ กล้าที่จะพูดตรงๆ กับคุณ คุณเลือกเธอ คือรางวัลชั่วนิรันดร์สำหรับเธอ
“พ่อเป็นคนให้กำลังใจเราเก่งที่สุดเท่าที่ชีวิตเราเคยมีมา กอดเราแน่น ทุกครั้งที่เรากอดเขา ให้มั่นใจได้ว่าเขาจะกอดเรากลับ”
ในความรับรู้ของประทับจิต คุณคือทนายความเลือกข้างผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ผลักและดันคนด้อยโอกาสด้านความยุติธรรมให้เข้าถึงกระบวนการ ทำงานสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ชายบ้านนอกแต่ชอบแสดงความรู้สึก คุณรักลูกและครอบครัวเท่าความยุติธรรม
ภรรยาของคุณบันทึกช่วงเวลาที่คุณถูกทำให้หายตัวไปในหนังสือ บันทึกนอกบรรทัด 4 ปีที่หายไป
วันที่ 11 มีนาคม 2547 คืนนี้คุณสมชายไปค้างบ้านเพื่อน แต่ก็โทรกลับมาคุยกับลูกๆ เหมือนเช่นเคย
วันที่ 12 มีนาคม 2547 คุณสมชายโทรมาที่บ้านแต่เช้า แต่ดิฉันไม่อยู่เพราะไปส่งครองธรรม ลูกสาวคนที่ 4 ที่โรงเรียน ตอนเย็นคุณสมชายก็ยังคงโทรมาคุยกับลูกๆ เหมือนเช่นเคย
ประมาณ 21.00 น. ดิฉันพยายามโทรหาคุณสมชาย คืนนั้นเป็นคืนวันศุกร์ ซึ่งปกติคุณสมชายจะไม่นำงานมาทำต่อตอนกลางคืนเนื่องจากวันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุด แต่ก็ไม่สามารถติดต่อเขาได้ ดิฉันคิดว่าเขาคงเหนื่อยและอยากพัก จึงได้แต่ฝากข้อความไว้
วันที่ 13 มีนาคม 2547 ดิฉันตื่นแต่เช้าตามปกติ ช่วงสายๆ พยายามติดต่อเขาอีก แต่ก็ยังไม่สามารถติดต่อได้ จำได้ว่าเขาเคยบอกว่าวันเสาร์มีนัดประชุมชมรมนักกฎหมายมุสลิม แถวๆ คลองตัน
ผมอยากหยุดชั่วขณะไว้ตรงนี้ เหมือนนักสืบหยุดเทปวิดีโอกล้องวงจรปิด ช่วงเย็นของวันที่ 12 มีนาคม ภรรยาบอกว่า คุณสมชายก็ยังคงโทรมาคุยกับลูกๆ เหมือนเช่นเคย คุณโทรมาจากที่ไหนกันนะ คุณโทรมาหาลูกทั้งห้าคนของคุณ แต่มีลูกคนเดียวที่ไม่ยอมรับสาย ประทับจิตนั่งมองโทรศัพท์สั่น ผละหนีจากมัน ระหว่างที่เธอไม่รับสาย คุณรอจนสายตัดไปหรือคุณกดตัดสายเองนะ เธอคาดหวังว่าการไม่รับโทรศัพท์ในวันนั้น จะทำให้คุณกลับบ้าน ทำตามกติกาเล็กๆ ระหว่างคุณสองคน
“เราตั้งใจไม่รับโทรศัพท์ เพราะคิดว่าพ่อควรจะกลับบ้าน มารู้อีกทีตอนเขาหายไปแล้ว ไม่มีใครติดต่อได้ เพื่อนนัดหมายกับเขาไว้ แต่ติดต่อไม่ได้ พ่อเป็นคนตรงเวลา เขามีนัดขึ้นศาลที่นราธิวาสในวันที่ 15 มีนาคม แต่ติดต่อไม่ได้เลย เขาไม่เคยลืมนัดหมายศาล แล้วเป็นคดีสำคัญ คดีความมั่นคง เพื่อนก็ค่อนข้างมั่นใจ เพราะเคยได้ยินพ่อพูดเปรยว่าถูกขู่อุ้ม แต่พ่อไม่บอกที่บ้าน”
หลังรู้ข่าวร้าย สิ่งแรกที่ทำคือประคองดวงจิตจวนแตกเข้าไปในกล่องรับฝากข้อความโทรศัพท์ คุณชอบฝากข้อความเสียงถึงลูกๆ เธอกดฟัง ในนั้นเป็นเสียงพูดสุดท้ายระหว่างคุณกับเธอ ความรู้สึกผิดประทับจิตเธอ
“คิดถึงมากเลยแบ๋น ทำไมไม่รับโทรศัพท์ กินข้าวรึยัง” เสียงพูดสุดท้ายของคุณกลายเป็นความทรงจำประทับจิตเธอในอีก 13 ปีต่อมา
“นี่เป็นเรื่องที่เรารู้สึกล่มสลาย มันทำลายเรา เราบอกกับตัวเองตอนนั้นว่า จะไม่อนุญาตให้ตัวเองมีความสุขอีกเลยในชีวิต”
เธอเรียนเก่ง เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คุณเคยวิจารณ์เธอว่าฟุ้งที่เลือกเรียนรัฐศาสตร์ คุณอยากให้เธอเรียนกฎหมายหรือไม่ก็อักษรศาสตร์) หลังคุณถูกทำให้หายไป เธอเรียนปริญญาเอก ควบคู่กับการทำงานที่มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ภรรยาของคุณเป็นประธานมูลนิธิ (ตอนนี้เธอเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ผู้หญิง 5-6 คนลงพื้นที่เก็บข้อมูลสถานการณ์ความไม่สงบที่ภาคใต้ ประทับจิตดูแลโปรเจ็คท์เรื่องการบังคับบุคคลให้สูญหาย
“เราเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง บันทึกข้อมูลด้วยตัวเอง มูลนิธิฯส่งข้อมูลนี้ไปให้สหประชาชาติ ถึงคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหาย”
จากปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหายในภาคใต้ เธอขยายไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประเทศที่กลืนคนหายเข้าไป ไร้ร่องรอย
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เธอทำวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ภายใต้การดูแลของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ศึกษาความเป็นมาและรูปแบบ รวมทั้งเทคนิควิธีการของภาครัฐในการบังคับบุคคลให้สูญหาย ผลิตองค์ความรู้เรื่องการบังคับให้สูญหายเผยแพร่วงกว้าง ซึ่งสังคมไทยขาดแคลน
การหายไปของคุณขับเคลื่อนชีวิตเธอไปข้างหน้า ผลักดันทุกชีวิตในบ้านไปข้างหน้า
ดิฉันมักตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมสังคมจึงปล่อยให้มีการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่สังคมต้องรับผิดชอบ
หลัง 1 ปีของการหายไปของคุณสมชาย ดิฉันจึงเริ่มตั้งคำถามกับลูกๆ ว่า เราจะทำอย่างไรต่อไป
แต่ที่สุดทุกคนในครอบครัวเห็นพ้องกันว่า เราจะต้องไม่ยอมให้พ่อถูกทำให้หายไปโดยเราไม่ทำอะไรเลย เราคงไม่มีความสุขกับการรับความช่วยเหลือ ที่มีผู้เสนอให้มากมายโดยต้องแลกกับความเจ็บปวดของคุณสมชาย
เมื่อลูกๆ เข้าใจ ดิฉันจึงเริ่มคิดว่า จะทำอะไรได้บ้างนอกจากการต่อสู้คดีในชั้นศาล
ข้างต้นคือความนึกคิดของภรรยาหลังคุณหายไป 1 ปี บทบาททั้งหมดของเธอในเวลาต่อมา ยืนยันความคิดของวันนั้น สำหรับประทับจิต เธอไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป หลังคุณถูกทำให้หายไป ไม่มีใครในบ้านเหมือนเดิมอีกต่อไป
“การที่พ่อหายไปทำให้แม่ออกมาทำงานข้างนอก ได้ทำในสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับแม่ ฉันมองแบบนั้น ฉันคิดว่ามันไม่ใช่แค่การบรรเทาทุกข์ แต่มันเปลี่ยนเราเป็นอีกคนหนึ่ง เป็นคนที่ไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป” เธอก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นของการเปลี่ยนแปลง
ประทับจิตศึกษาวิจัยเทคนิควิธีการบังคับบุคคลให้สูญหาย พบว่าเป็น “วิธีการกำจัดคนที่รัฐคิดว่าเป็นปฏิปักษ์ รัฐใช้องคาพยพที่เป็นทั้งกฎหมาย กฎระเบียบ ปิดบังความจริง มันทำให้การบังคับให้สูญหายโดยรัฐรุนแรง”
ถ้าคุณยังอยู่ คุณจะวิจารณ์การให้สัมภาษณ์ของเธออย่างไร
“ในสังคมไทยไม่มี perception เรื่องการอุ้มหาย เราพบว่าหลังจากการหายไป ก็จะมีประกาศออกมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐไทยไม่ใช่ว่าเขานิ่งเฉยนะ เขาให้ข่าวตลอด แต่เป็นการให้ข่าวว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้สูญหาย ทุกเคสเจอคล้ายๆ กัน”
การพิสูจน์ตัวเองคือการโต้กลับของครอบครัวหลังคุณหายไป คุณถูกกล่าวหาว่า เป็นทนายโจร คุณคงเคยได้ยินคำนี้มาก่อนที่จะหายไปด้วยซ้ำ “เขาเจ็บปวดกับคำนี้มาก เขาไปช่วยว่าความให้ผู้ต้องสงสัยในสามจังหวัดชายแดนใต้ หลังพ่อหายไปจึงเป็นปีที่ยากลำบาก เพราะเราต้องพิสูจน์ เราตกลงกันว่าจะทำตัวเองให้ดีที่สุด ทำชีวิตให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเราต้องการพิสูจน์ว่า พ่อของเราไม่ใช่คนเลว”
เธอยกระดับข้อมูลเป็นทฤษฎี ทำแคมเปญรณรงค์ผลักดันทั้งเชิงความรู้และกฎหมาย ส่งต่อข้อมูลของเหยื่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายทั่วประเทศไทยไปยังคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหาย สหประชาชาติ เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงกระบวนการเยียวยา และความยุติธรรม
คุณคงสงสัยว่า ไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำได้เลยหรือ ใช่ คดีของคุณก็เช่นกัน 11 ปี 3 เดือนผ่านไป กรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงยุติการสอบสวน เนื่องจากไม่ปรากฏผู้กระทำผิด ยังไม่มีใครรู้ชะตากรรมของคุณ และยังมีคนสูญหายอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดคนหนุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงก็หายไป เขาชื่อ บิลลี่ พอละจี ล่าสุดนักต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกินก็หายไป เขาชื่อ เด่น คำแหล้
จนถึงนาทีนี้ยังไม่เคยมีใครได้รับโทษจากการบังคับให้บุคคลสูญหาย พวกเขายังลอยนวลพ้นผิด แขวนค้างบนความโอ่อ่าชั่วนิรันดร์ ส่วนพวกคุณสาบสูญชั่วกาล
เราอยู่กันแบบนี้ คุณก็รู้
ถ้าคุณยังอยู่ คุณน่าจะได้อ่านเปเปอร์ทุกชิ้นที่เธอทำ คุณจะได้ทำหน้าที่ first reader ให้เธอบ้าง แต่ถ้าคุณยังอยู่ เธอก็คงไม่มีโอกาสศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
การศึกษาเชิงวิชาการในเรื่องการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทำให้เธอย้อนกลับมาทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ครอบครัว และคุณ
วันหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว คุณเดินเข้ามาในห้องหับแห่งจินตนาการของเธอ นั่งบนเก้าอี้ในความคิดตรงข้ามเธอตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา เขาให้เธอจินตนาการว่า ถ้าคุณอยู่ตรงนี้ เธออยากพูดอะไรกับคุณ สิ่งที่เธอพูดคือเรื่องราวในวันนั้น วันที่คุณไม่ทำตามกติกาเล็กๆ ระหว่างกัน
“เราบอกเขาทุกอย่างและอธิบายถึงเหตุผลที่ไม่รับโทรศัพท์ และสุดท้ายคือพูดขอโทษ วันนั้นเป็นครั้งแรกที่ได้พูดคำว่าขอโทษ ขอโทษพ่อที่นั่งเก้าอี้ในความคิดของเรา ขอโทษนะ ขอโทษจริงๆ และจะทำทุกอย่างให้ดีขึ้น”
เธอเอ่ยขอโทษคุณที่อยู่ในจินตนาการ ไขกุญแจพาตัวเองออกมาจากหลุมดำของความรู้สึกผิด เธอขอโทษคุณ และให้อภัยตัวเอง
เธออายุ 33 แล้ว เป็นผู้ใหญ่เต็มคน ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ไม่ฟุ้งใช่มั้ย สำหรับเส้นทางที่เธอเลือก เหมือนครั้งหนึ่งที่คุณวิจารณ์ว่าเธอฟุ้ง เพราะเลือกเรียนรัฐศาสตร์
ในฝันคืนหนึ่ง คุณกลับมาที่บ้าน ใช้ชีวิตตามปกติ คุณพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเธอเรื่องการเมือง เธอจำรายละเอียดในฝันได้รางเลือน แต่กลับแจ่มชัดในความรู้สึกยามตื่น เธอได้เพื่อนทางความคิดกลับคืนมา เหมือนฝันเป็นจริง
เพียงความทรงจำเท่านั้น คุณไม่ได้หายไปไหน ยังคงดำรงและประทับจิตของเธอ เหมือนกลิ่นดอกพญาสัตบรรณส่งกลิ่นในฤดูหนาว.
อ่านสารคดีชุด จดหมายไม่มีผู้รับ
ไม่มีผู้ชายในบ้านฟาเดล
นูรียาตามหาหลุมศพสามีผู้สาบสูญ